ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ธุรกิจกองทุนรวมมีการขยายตัวของ NAV 13.76% จากสิ้นปี 2551โดยได้รับแรงหนุนจากการแสวงหาช่องทางการลงทุนของผู้ออม ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในรูปแบบที่อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์และการปรับขึ้นของดัชนีหุ้นจากระดับ ณ สิ้นปี 2551 ซึ่งช่วยหนุน NAV ของกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น แต่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าธุรกิจกองทุนรวมคงจะเผชิญความท้าทายทั้งจากการแข่งขันและช่องทางการออมต่างๆที่มีมากขึ้น นำโดย พันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาล และหุ้นกู้ภาคเอกชน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะยาว นอกจากนี้บลจ.คงจะต้องเตรียมหาผลิตภัณฑ์การลงทุนสำหรับลูกค้าเพื่อรองรับโอกาสการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป รวมทั้งเป็นทางเลือกและดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในตลาดกองทุนรวมมากยิ่งขึ้น
ภาพรวมธุรกิจกองทุนรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2552
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวม ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2552 ขยายตัว 13.76% จากสิ้นปี 2551 ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 1,736,832.2 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจาก 1,526,811.5 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2551 โดยจำนวนรวมของกองทุนทั้งหมดตลอดครึ่งแรกของปี 2552 พบว่ามีทั้งสิ้น 1,054 กอง ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแยกประเภทตามนโยบายการลงทุน พบว่ากองทุนรวมเกือบทุกประเภท NAV ปรับเพิ่มขึ้น นำโดย กองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ที่ NAV ขยายตัว 17.45% โดยปัจจัยที่หนุนกองทุนรวมประเภทดังกล่าวคงจะมาจากความต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของนักลงทุน ขณะที่อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ก็ยังคงสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ขณะเดียวกัน กองทุนรวมประเภทตราสารทุน NAV ขยับขึ้นถึง 15.62% เนื่องจากการพุ่งทะยานของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ปรับขึ้นมามากกว่า 30% จากช่วงปลายปี 2551 อย่างไรก็ตาม กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่แม้ว่า NAV จะยังคงขยายตัวแต่ก็เป็นอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยขยายตัวเพียง 1.33% เทียบกับ 7.78% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาแยกเป็นกองทุนรวมแบบพิเศษพบว่า NAV ของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ปรับขึ้น 13.97% และ 32.67% ตามลำดับ โดยได้รับแรงหนุนจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ปรับตัวขึ้นมามากกว่า 30% จากปลายปี 2551 ขณะเดียวกัน แม้ว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เพิ่มขึ้นในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี 2551 ที่ 700,000 บาท/ปี กลับมาอยู่ระดับเดิมที่ 500,000 บาท/ปี ตลอดช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 นั้น แต่ NAV ของกองทุนรวม RMF และ LTF ก็ยังขยายตัวอย่างชัดเจน โดยเม็ดเงินที่เพิ่มเข้ามานั้น เป็นเงินลงทุนจากการเข้าทยอยลงทุนของพนักงานประจำ โดยนักลงทุนกลุ่มนี้ได้ลงทุนโดยการหักเงินออกจากบัญชีเงินฝากทุกสิ้นเดือน ขณะที่บรรยากาศการลงทุนค่อนข้างเอื้ออำนวยมากขึ้น อาทิ การปรับขึ้นของตลาดหุ้นไทยและภาวะเศรษฐกิจเริ่มมองเห็นสัญญาณการฟื้นตัว ก็เป็นอีกปัจจัยที่หนุนให้นักลงทุนรายใหม่ซึ่งต้องการสิทธิประโยชน์ทางภาษีและออมเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณ เข้ามาลงทุนในกองทุนรวม RMF และ LTF เพิ่มด้วย นอกจากนี้ เนื่องจากสัญญาณบวกของเศรษฐกิจต่างประเทศเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น ตลอดจนการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นของตลาดหุ้นในต่างประเทศ ทำให้บลจ. กลับมาลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) อีกครั้ง โดยจำนวนกองทุนเพิ่มขึ้นถึง 41 กอง จากปลายปี 2551 โดย NAV ของกองทุนรวม FIF ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2552 ขยับขึ้น 23.85% เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2551
แนวโน้มธุรกิจกองทุนรวมในช่วงที่เหลือของปี 2552: โอกาสในการเสนอขายกองทุนหลายประเภทโดยอาศัยจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
สำหรับแนวโน้มธุรกิจกองทุนรวมในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าธุรกิจกองทุนรวมคงจะเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันและช่องทางการออมต่างๆที่มีมากขึ้น นำโดย พันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาล และหุ้นกู้ภาคเอกชน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะยาว นอกจากนี้บลจ.คงจะต้องเตรียมหาผลิตภัณฑ์การลงทุนสำหรับลูกค้าเพื่อรองรับโอกาสการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป รวมทั้งเป็นทางเลือกและดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในตลาดกองทุนรวมมากยิ่งขึ้น
โดยปัจจัยที่คาดว่าจะมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจกองทุนรวมในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ที่สำคัญได้แก่
• การเสนอขายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งในช่วงกลางเดือน ก.ค. 2552 อาจทำให้บลจ. ต่างแข่งขันกันดุเดือดยิ่งขึ้นในการหาผลิตภัณฑ์กองทุนใหม่ๆ เพื่อดึงดูดเงินลงทุนของผู้ออมในระบบ ในขณะที่ผู้ออมหรือนักลงทุนมีทางเลือกที่ค่อนข้างหลากหลายมากขึ้น หลังการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งของรัฐบาลที่ออกไปแล้วจำนวนรวม 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้จุดชนวนให้สถาบันการเงินทยอยนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินออมระยะยาวที่ให้อัตราดอกเบี้ยจูงใจ ขณะที่ หุ้นกู้ภาคเอกชนก็มีรอเข้าตลาดอยู่จำนวนมาก ซึ่งการเคลื่อนย้ายเงินออมไปยังทางเลือกต่างๆ ที่หลากหลายนั้น อาจส่งผลต่อกระแสเงินลงทุนในกองทุนรวม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ากองทุนรวมต่างๆ สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ประเภทใดออกมาเพื่อดึงดูดผู้ออมในยามนี้
• เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังอาจมีการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากยังคงต้องเผชิญความไม่แน่นอนหลายประการ ทั้งนี้ แม้จะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายโครงการของภาครัฐ ขณะที่การระดมเงินกู้ภายในประเทศของรัฐบาลก็ได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้น รวมถึงทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้ แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังอาจยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความรุนแรงของการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ตลอดจนสถานการณ์การเมืองในประเทศและเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการทรัพย์สินของบลจ. และอาจทำให้การสร้างผลตอบแทนของกองทุนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ไม่สูงเท่ากับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า
• แนวโน้มเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย จากการคาดการณ์ของตลาดและนักวิเคราะห์ต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและไทยในระยะถัดไป จึงทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะสูงขึ้น จากโอกาสการขยับขึ้นของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยไทยนั้น จากความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่ ทำให้คาดว่า กนง.น่าจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายที่ระดับอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปจนถึงสิ้นปี 2552 เป็นอย่างน้อย ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นผู้นำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบใหม่นี้ ได้เริ่มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อจูงใจผู้ออมมากยิ่งขึ้นแล้ว ซึ่งหากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีความต่อเนื่องหรือมีการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากโครงการพิเศษ ก็อาจเป็นปัจจัยที่กระทบต่อเม็ดเงินที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดกองทุนรวม นอกจากนี้ เนื่องจากตลาดมีมุมมองว่าวัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยสิ้นสุดลงแล้ว รวมทั้งความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของปริมาณอุปทานพันธบัตรและการคาดการณ์ถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่คงจะปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2552 นี้ เป็นต้นไป อาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเกือบทุกประเภทอายุเริ่มขยับสูงขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตรรัฐบาลระยะปานกลางถึงระยะยาว ซึ่งคงจะส่งผลกระทบต่อราคาของตราสารหนี้และ NAV ของกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ประเภทอายุดังกล่าวให้ปรับลดลงไป กระนั้นก็ดี จากสถานการณ์ดังกล่าวอาจเป็นโอกาสที่ดีสำหรับกองทุนบางประเภท อาทิ กองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารทุน และกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นน้อยกว่า
• ความผันผวนของตลาดหุ้น ทั้งนี้แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะได้รับแรงหนุนจากกระแสความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งคงจะเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในโลก กระนั้นก็ดี นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าทิศทางของตลาดหุ้นไทยในระยะถัดไป อาจปรับขึ้นได้แต่ด้วยความผันผวนจากแรงขายทำกำไรเป็นระยะๆ เนื่องจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ปรับตัวขึ้นมามากกว่า 30% แล้ว จากช่วงสิ้นปี 2551 นอกจากนี้ ยังรวมถึงผลของการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจหลักของโลกและไทยว่าจะออกมาตามที่ได้คาดหวังกันไว้มากน้อยเพียงใด โดยหากเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ ยังบ่งชี้ถึงภาวะไร้เสถียรภาพ ความผันผวนของตลาดหุ้นก็อาจกดดันต่อมูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นได้ ขณะที่หากเครื่องชี้เศรษฐกิจบ่งชี้ถึงความต่อเนื่องของการฟื้นตัว ก็น่าจะหนุนให้ตลาดหุ้นกลับมาคึกคักมากขึ้น อันจะส่งผลดีต่อกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นได้
• การครบกำหนดอายุไถ่ถอนของกองทุนบางประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทุนพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ที่บลจ.ต่างๆ เสนอขายมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2552 เป็นต้นมา โดยคาดว่าในช่วงปลายปีนี้ กองทุนพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้จะครบกำหนดอายุไถ่ถอนเป็นจำนวนมาก (ประเภท 6 เดือน) ทั้งนี้หากการนำเสนอกองทุนใหม่ๆ ของบลจ. ไม่สามารถชดเชยการครบกำหนดอายุไถ่ถอนของกองทุนดังกล่าวได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็อาจมีผลต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ จากการปรับตัวที่ดีขึ้นของเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ อาจทำให้บรรดาบลจ. เริ่มสรรหาผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกในช่วงปลายปีนี้ ขณะที่ บลจ.อาจนำเสนอผลตอบแทนของกองทุนในอัตราที่เป็นที่น่าพอใจเมื่อคำนึงถึงความเสี่ยงและระยะเวลาการลงทุน เพื่อเป็นการดึงดูดผู้ออมหรือนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในตลาดกองทุนรวมมากขึ้น โดยกองทุนรวมที่คาดว่าบลจ. อาจเสนอขายในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่
กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ กองทุนรวมที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ และกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นของตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ขณะที่ราคาสินทรัพย์หลายประเภทในตลาดโลกเริ่มพุ่งทะยาน เช่น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมัน ตลอดจนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับบลจ.ในการกลับเข้าไปลงทุนในตลาดต่างประเทศอีกครั้ง ดังจะเห็นได้จากผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เริ่มนำเสนอออกสู่ตลาดขณะนี้ ได้แก่ กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้เป็นกองทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่จูงใจกว่าเงินฝากประจำและพันธบัตรรัฐบาลในประเทศที่มีอายุตราสารใกล้เคียงกัน ซึ่งกองทุนประเภทดังกล่าวยังคงปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ผู้ลงทุนประเภทบุคคลธรรมดายังได้รับประโยชน์จากมาตรการของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) 15% ให้กับนักลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนในพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารกลาง (MSB-Monetary Stabilization Bond) และกระทรวงการคลัง (KTB-Korea Treasury Bond) อีกด้วย นอกจากนี้ กองทุนรวมที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ก็เป็นอีกกองทุนหนึ่งที่คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากการทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวมอาจสร้างผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงให้กับนักลงทุนได้ ขณะที่กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นของตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Equity Fund) ก็ถูกคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นอีกกองทุนหนึ่งที่บลจ. จะนำเสนอขายให้กับนักลงทุนในระยะถัดไป เนื่องจากตลาดคาดว่าเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่จะทยอยฟื้นตัวก่อนกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆ เนื่องจากรัฐบาลและธนาคารกลางพร้อมใจดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีเศรษฐกิจจีนเป็นแกนหนุนหลัก
กองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน ทั้งนี้ บลจ. หลายแห่งเริ่มเสนอขายกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/2552 เนื่องจากสามารถสร้างอัตราผลตอบแทนให้กับนักลงทุนในระดับที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในประเภทอายุเดียวกัน อาทิ หุ้นกู้ในท้องตลาด เรทติ้ง AAA อายุ 3-5 ปี จ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ย 3.9%, เรทติ้ง AA จ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ย 4.0%, เรทติ้ง A จ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ย 3.9% และหุ้นกู้เรทติ้ง BBB จ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ย 4.6% ต่อปี (ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ณ วันที่ 15 ก.ค. 2552) นอกจากนี้ จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป อาจช่วยหนุนการออกหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจ ในขณะที่ บลจ.ก็ทำการเลือกลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอันดับความเชื่อถืออยู่ในระดับที่ดี เพื่อลดความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในกองทุนทั้งสองประเภทแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับบลจ.ในการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาซื้อกองทุนทั้งสองประเภทในช่วงที่ราคาหุ้นปรับฐานลงไป ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าตลาดหุ้นไทยอาจปรับฐานในช่วงไตรมาส 3/2552 เนื่องจากแรงขายทำกำไรของนักลงทุนต่างชาติ ในขณะเดียวกัน บลจ.ต่างๆ อาจอาศัยจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนในช่วงปลายปีจากโอกาสการปรับขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้
กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นปันผล ทั้งนี้ บลจ. อาจนำเสนอกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นปันผลให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในจังหวะที่พื้นฐานเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยกองทุนดังกล่าวจะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่างๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน นอกจากนี้แม้ว่าอาจจะมีการปรับฐานของตลาดหุ้นไทยลงไปบ้าง แต่ผู้ลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นเงินปันผล ก็ยังจะได้รับรายได้ที่สม่ำเสมอจากเงินปันผล ซึ่งจะมีข้อดีมากกว่าการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นทั่วไปที่ผู้ลงทุนคาดหวังว่าจะได้กำไรจาก Capital Gain เพียงอย่างเดียว
สรุปโดยรวม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ธุรกิจกองทุนรวมมีการขยายตัวของ NAV 13.76% จากสิ้นปี 2551 โดยได้รับแรงหนุนจากการแสวงหาช่องทางการลงทุนของผู้ออม ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในรูปแบบที่อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์และการปรับขึ้นของดัชนีหุ้นจากระดับ ณ สิ้นปี 2551 ซึ่งช่วยหนุน NAV ของกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น ทั้งนี้ สำหรับภาพรวมธุรกิจกองทุนรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 นั้น มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวม (ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2552) มูลค่าเท่ากับ 1,736,832.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,526,811.5 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2551 โดยจำนวนรวมของกองทุนทั้งหมดตลอดครึ่งแรกของปี 2552 พบว่ามีทั้งสิ้น 1,054 กอง และเมื่อพิจารณาแยกประเภทตามนโยบายการลงทุน พบว่ากองทุนรวมเกือบทุกประเภท NAV ปรับเพิ่มขึ้น นำโดย กองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ และกองทุนรวมประเภทตราสารทุน
สำหรับแนวโน้มธุรกิจกองทุนรวมในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าธุรกิจกองทุนรวมคงจะเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันและช่องทางการออมต่างๆที่มีมากขึ้น นำโดย พันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาล และหุ้นกู้ภาคเอกชน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะยาว นอกจากนี้บลจ.คงจะต้องเตรียมหาผลิตภัณฑ์การลงทุนสำหรับลูกค้าเพื่อรองรับโอกาสการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป เพื่อเป็นทางเลือกและดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในตลาดกองทุนรวมมากยิ่งขึ้น โดยปัจจัยที่คาดว่าจะมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจกองทุนรวมในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ที่สำคัญได้แก่ การเสนอขายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งในช่วงกลางเดือน ก.ค. 2552 รวมถึงหุ้นกู้ต่างๆ ของภาคเอกชน ซึ่งได้จุดชนวนให้สถาบันการเงินทยอยนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากระยะยาวที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อดึงดูดผู้ออม อย่างไรก็ตามบรรยากาศการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยังขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจไทยที่อาจฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากยังคงต้องเผชิญความไม่แน่นอนหลายประการ รวมทั้งยังคงต้องติดตามแนวโน้มเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย ความผันผวนของตลาดหุ้น ตลอดจนการครบกำหนดอายุไถ่ถอนของกองทุนบางประเภท
ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้กองทุนรวมต่างๆ อาจหันมานำเสนอผลิตภัณฑ์ที่อาศัยโอกาสการลงทุนยามที่เศรษฐกิจเร่งฟื้นตัว ได้แก่ กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ กองทุนรวมที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ และกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นของตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ขณะที่ราคาสินทรัพย์หลายประเภทในตลาดโลกเริ่มพุ่งทะยาน เช่น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมัน ตลอดจนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการบลจ.ในการกลับเข้าไปลงทุนในตลาดต่างประเทศอีกครั้ง ส่วนกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน ทั้งนี้ บลจ.หลายแห่งเริ่มเสนอขายกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/2552 เนื่องจากสามารถสร้างอัตราผลตอบแทนให้กับนักลงทุนในระดับที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในประเภทอายุเดียวกัน นอกจากนี้ จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป อาจช่วยหนุนบริษัทเอกชนในการออกหุ้นกู้ เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจ ขณะที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในกองทุนทั้งสองประเภทแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับบลจ.ในการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาซื้อกองทุนทั้งสองประเภทในช่วงที่ราคาหุ้นปรับฐานลงไป ขณะเดียวกันก็อาจอาศัยจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนในช่วงปลายปีจากโอกาสการปรับขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ ส่วนกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นปันผล นั้น บลจ. อาจนำเสนอกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นปันผลให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในจังหวะที่พื้นฐานเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยกองทุนดังกล่าวจะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่างๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนด้วย