ในช่วงที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งประกอบไปด้วยการผลิตเพื่อการส่งออกและเพื่อการใช้ภายในประเทศได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก โดยในด้านของการส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 ได้หดตัวลงไปแล้วร้อยละ 26.9 ขณะที่ในด้านของการขายในประเทศก็ได้รับผลจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจและความไม่มั่นใจของผู้บริโภคที่แม้ว่ามีการกระเตื้องขึ้นมาบ้างแต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ โดยในช่วงครึ่งปีหลัง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงและความผันผวนต่างๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อภาพรวมของสถานการณ์และปัจจัยที่จะส่งผลต่อแนวโน้มของอุตสาหกรรมดังต่อไปนี้
สถานการณ์การส่งออก.. ที่ผ่านมาแม้จะยังหดตัวสูงแต่เริ่มเห็นทิศทางที่ดีขึ้น การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 หดตัวร้อยละ 26.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไตรมาสที่ 2/2552 การส่งออกหดตัวร้อยละ 23.6 ชะลอลงจากร้อยละ 30.4 ในไตรมาสที่ 1/2552 ขณะที่ในรายเดือนก็เช่นเดียวกัน ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาแม้ว่าการส่งออกจะยังคงหดตัวอยู่ในอัตราสูงแต่ก็เริ่มเห็นทิศทางที่ดีขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกเดือนมิ.ย. หดตัวร้อยละ 19.9 (YoY) เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย. และเดือนพ.ค. ที่หดตัวร้อยละ 24.0 และ 26.9 ตามลำดับ โดยเมื่อแยกดูในรายประเทศ จะเห็นว่าการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ฮ่องกง และสิงคโปร์ ยกเว้นจีน ล้วนแต่ลดลงมาก ขณะที่การส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียอื่นๆ อาทิ เวียดนาม อินเดีย มาเลเซีย ได้กลับมาขยายตัวเป็นบวก
ในช่วงครึ่งหลังของปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยจะเป็นไปในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าหลัก รวมถึงกลุ่มประเทศยุโรป โดยสภาวะถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้จะยังมีผลทำให้การส่งออกชะลอตัวต่อในช่วงไตรมาสที่ 3/2552 อย่างไรก็ดี ในไตรมาสที่ 4/2552 คาดว่าน่าจะเห็นมูลค่าการส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้อีกครั้ง โดยปัจจัยสนับสนุนที่จะช่วยให้การส่งออกฟื้นตัวช่วงปลายปี ประกอบไปด้วย
– การฟื้นตัวของประเทศจีน และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ซึ่งเป็นตลาดใหม่ของผู้ส่งออก ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้ ตัวอย่างเช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย มาเลเซีย อิหร่าน ซึ่งการส่งออกยังขยายตัวได้ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีประเทศในแถบเอเชีย อาทิ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ซึ่งแม้ว่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากวิกฤติเศรษฐกิจแต่ก็มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวก่อนสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป
– ในอีกด้าน แนวโน้มของเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น ก็อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศให้มีการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีซึ่งเป็นช่วงเทศกาลได้
– ผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หลายๆ ประเทศนำมาใช้ ทั้งทางตรง เช่น การให้เงินอุดหนุนการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นและจีน และทางอ้อมโดยการเพิ่มรายได้/อำนาจการซื้อ ของประชาชนในประเทศ
– และผลของฐานของปีก่อนที่ต่ำ โดยในไตรมาส 4/2551 มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยขยายตัวติดลบร้อยละ 17.3 (YoY)
โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มจะฟื้นตัวก่อนกลุ่มอื่น ได้แก่ กลุ่มตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ และกลุ่มเครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ จากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคเอเชียและตลาดใหม่ ขณะที่กลุ่มโทรทัศน์และส่วนประกอบนั้นแนวโน้มของการส่งออกขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในสหรัฐฯ เป็นหลัก ด้านครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่มอื่นๆ เนื่องจากการชะลอตัวของตลาดยุโรป ทั้งนี้ แนวโน้มของตลาดส่งออกที่มีทิศทางที่ดี คือ จีน เวียดนาม อินเดีย ตามมาด้วยประเทศ เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ซึ่งเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว ส่วนการฟื้นตัวที่ชัดเจนของตลาดสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยุโรป อาจมีความล่าช้ากว่าตลาดอื่นๆ ตามลำดับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ด้านตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วงต้นปี 2552 .. ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการจับจ่าย โดยปริมาณการจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศในหลายๆ สินค้า อาทิ โทรทัศน์ หม้อหุงข้าว ยังหดตัวสูง แต่ในบางสินค้า เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ก็มีการปรับตัวดีขึ้น ซึ่งคงยังต้องติดตามดูสถานการณ์ต่อไปว่าการฟื้นตัวของยอดจำหน่ายในกลุ่มนี้จะเป็นแนวโน้มในระยะยาวหรือไม่ ทางด้านการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า การเปลี่ยนแปลงของค่าดัชนีผลผลิตในช่วงเดือน เม.ย. และพ.ค. มีการกระเตื้องขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีความผันผวนรายเดือนค่อนข้างสูง
สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะยังชะลอตัวอยู่เนื่องจากความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่และการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจซึ่งยังเป็นแรงกดดันความเชื่อมั่นและการออกไปใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงต่อไป โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ามีปัจจัยที่จะมีอิทธิพลต่อการผลิตและการบริโภคเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศประกอบไปด้วยหลายปัจจัยโดยปัจจัยที่คาดว่าจะสนับสนุนภาวะตลาดมีดังต่อไปนี้
– การใช้มาตรการการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 และระยะที่ 2 น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น และส่งผลดีต่อสภาวะรายได้รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นอกจากนี้ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไป ก็น่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้
– การโยกย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย เช่น การย้ายฐานของผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นเข้ามาในไทยเมื่อช่วงปลายปี 2551 โดยหวังให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย น่าจะมีผลในการกระตุ้นตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มีความคึกคักมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการในตลาด
– การแข่งขันระหว่างผู้ผลิตเพื่อแย่งฐานลูกค้า ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ยกตัวอย่างเช่น การจัดแคมเปญและโปรโมชั่นต่างๆ มากขึ้น การออกสินค้าใหม่เพื่อกระตุ้นตลาด ซึ่งก็อาจมีผลต่อผู้บริโภคในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งก็มีการแข่งขันด้านราคาทั้งในระหว่างผู้ประกอบการที่อยู่ในประเทศและระหว่างโลคัลแบรนด์กับสินค้าจีนโดยเฉพาะในตลาดระดับกลาง-ล่าง โดยแรงกดดันด้านราคาอาจส่งผลต่อยอดขายของเครื่องใช้ไฟฟ้าแม้ว่าปริมาณการขายจะเพิ่มขึ้น
ทางด้านปัจจัยเสี่ยง ที่สำคัญที่สุด ได้แก่
– การชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศจากสภาพเศรษฐกิจที่แม้ว่าจะผ่านจุดต่ำสุดของช่วงเศรษฐกิจถดถอยมาแล้ว แต่แรงขับเคลื่อนที่มีต่อภาคบริโภคยังคงอ่อนแอ ขณะเดียวกันความต้องการจากภาคธุรกิจก็ยังซบเซาเนื่องจากการชะลอตัวของโครงการสร้างที่อยู่อาศัยและสำนักงาน ซึ่งจะทั้งกระทบยอดขายโดยรวม และทำให้การขายของเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนชิ้นใหญ่ อาทิ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ และสินค้าประเภทเครื่องเสียงและโทรทัศน์ อาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีราคาย่อมเยากว่า นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากด้านการเมืองซึ่งอาจมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปี
– ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมันและวัตถุดิบ ซึ่งทำให้การวางแผนการจัดซื้อและการผลิตมีความท้าทายมากขึ้น ขณะที่ในด้านการบริโภค หากราคาน้ำมันมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปลายปีก็อาจส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของประชาชนได้
– ปัจจัยจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งอาจทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3/2552 และไตรมาสที่ 4/2552 ตามฤดูกาล และอาจส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกในการใช้จ่ายของประชาชน นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโรคยังเป็นปัจจัยที่อาจทำให้การจัดงานมหกรรมแสดงสินค้าและงานอีเวนต์ต่างๆ ของผู้ผลิตที่หวังกระตุ้นยอดขายในช่วงครึ่งหลังของปี อาจมีจำนวนลดลงหรือไม่คึกคักเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกตื่นตัวและระวังรักษาสุขภาพมากขึ้น เป็นโอกาสทางการตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าบางกลุ่ม เช่น เครื่องฟอกอากาศ เครื่องปรับอากาศที่มีระบบฟอกอากาศ เครื่องอบโอโซน หรือแม้แต่เครื่องทำน้ำอุ่น ซึ่งได้รับอานิสงส์จากกระแสความใส่ใจในสุขภาพของผู้บริโภค เป็นสินค้าที่มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวดีในปีนี้ ขณะเดียวกันการที่คนอยู่กับบ้านมากขึ้นหรือหลีกเลี่ยงการไปโรงภาพยนตร์ก็อาจเป็นโอกาสทำตลาดของสินค้ากลุ่มเอวี เช่น โทรทัศน์ ชุดโฮมเธียเตอร์ เครื่องเล่นดีวีดี กลยุทธ์สร้างโอกาสบนวิกฤติจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ฯ จึงเป็นแนวทางหนึ่งของผู้ประกอบการในการผลักดันยอดขายในครึ่งหลังของปีนี้ เช่น ทำโปรโมชั่นขายชุดโฮมเธียเตอร์แถมเครื่องฟอกอากาศหรือแถมบลูเรย์ เป็นต้น
นอกจากกลุ่มสินค้าที่กล่าวไปข้างต้น กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กก็เป็นกลุ่มที่ยังสามารถขยายตัวได้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวเนื่องจากมีราคาไม่แพงผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ง่าย ส่วนสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนขนาดใหญ่อื่นๆ เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศรุ่นธรรมดา คาดว่าในปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัวเนื่องจากผู้บริโภคชะลอการซื้อสินค้าใหม่ขณะที่การซื้อเพื่อทดแทนมีน้อย อย่างไรก็ตาม การขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนอาจมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นได้หากภาคอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวได้เร็ว
โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในช่วงครึ่งปีหลังอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยจะยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ โดยในด้านของการส่งออก คาดว่าแนวโน้มของการส่งออกในช่วงต่อไปอาจปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น แม้ว่าจะเป็นไปในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป โดยการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไทยน่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีเมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับคืนมา โดยมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของประเทศจีนและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่เป็นตลาดใหม่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หลายๆ ประเทศได้มีการนำมาใช้ และผลของฐานในปีก่อน อย่างไรก็ตาม โดยรวมทั้งปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงครึ่งปีหลังจะหดตัวร้อยละ 1 ถึงร้อยละ 7 ชะลอลงจากร้อยละ 26.9 ในช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้ตลอดทั้งปี 2552 การส่งออกอาจหดตัวในช่วงร้อยละ 13 ถึงร้อยละ 17 (มูลค่าประมาณ 15,000-15,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยสินค้าส่งออกที่คาดว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวเร็ว คือ กลุ่มตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ และกลุ่มเครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ ซึ่งตลาดในเอเชียมีการกระเตื้องขึ้นตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนกลุ่มเครื่องปรับอากาศน่าจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าเนื่องจากการชะลอตัวของตลาดยุโรป
ด้านการบริโภคภายในประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศช่วงครึ่งปีหลังจะยังคงมีแนวโน้มหดตัวอยู่ สาเหตุหลักจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัจจัยกดดันอุปสงค์ในประเทศ ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ความเสี่ยงในเรื่องของไข้หวัดใหม่สายพันธุ์ใหม่ฯ และปัจจัยการเมือง ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศทั้งปีอาจลดลงร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 7 (มูลค่าประมาณ 75,000-77,000 ล้านบาท) อย่างไรก็ดี ผลจากการตื่นตัวของประชาชนเรื่องไข้หวัดฯ อาจทำให้สินค้าบางกลุ่ม เช่น เครื่องฟอกอากาศ เครื่องปรับอากาศที่มีเครื่องฟอกอากาศ เครื่องอบโอโซน เครื่องทำน้ำอุ่น เติบโตได้ดี นอกจากเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กซึ่งเป็นกลุ่มที่น่ายังสามารถขยายตัวได้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดยังมีความเสี่ยงรอบด้าน ในส่วนของผู้ประกอบการควรมีการปรับตัวโดยการเพิ่มความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจทั้งด้านการผลิต การขาย และการบริหารจัดการ โดยสำหรับการขายในประเทศ ผู้ประกอบการควรเลือกทำแคมเปญการตลาดอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพโดยการเน้นไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน โดยการพัฒนาภาพลักษณ์ของสินค้าที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคน เช่น การเน้นในเรื่องของดีไซน์ให้มากขึ้น เพื่อจับตลาดกลาง-บน และโดยการรักษาฐานลูกค้าเดิมด้วยการสร้างความเข้มแข็งด้านบริการหลังการขาย ทั้งนี้ เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้ประกอบการควรต้องมีการควบคุมต้นทุนเพื่อให้ราคาสินค้าสามารถแข่งขันกับรายอื่นๆ ได้ ส่วนกลยุทธ์ทางการตลาดอื่นๆ ที่จะช่วยกระตุ้นตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง อาจทำได้ด้วยการเพิ่มโปรโมชั่นโดยการแถมสินค้าเพื่อดึงดูดผู้ซื้อ การให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับลูกค้าเก่าที่กลับมาซื้อสินค้าอีกครั้ง และการออกสินค้ารุ่นพิเศษที่อาจมีสีสัน รูปลักษณ์ หรือฟังก์ชั่นที่เปลี่ยนไปเล็กน้อยเพื่อสร้างบรรยากาศทางการตลาด เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็ไม่ควรละเลยที่จะลงทุนเพื่อปรับปรุงนวัตกรรมของสินค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันระยะยาว โดยสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในระยะยาว คือ สินค้ากลุ่มที่มีนวัตกรรมการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ เช่น ตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศที่มีระบบปล่อยอนุภาคไฟฟ้าขจัดเชื้อโรค ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีมาร์จินสูง
ในด้านที่เกี่ยวข้องการการค้าระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ส่งออกควรมีการติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจในต่างประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งอาจเป็นโอกาสในการส่งออกสำหรับสินค้าบางประเภทอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในจีนและญี่ปุ่น ทั้งนี้ผู้ส่งออกควรมีการกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดในเอเชียและตะวันออกกลางอื่นๆ ที่ยังสามารถขยายตัวได้ และปรับการผลิตให้มีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับการกลับมาของคำสั่งซื้อในอนาคต นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังควรมีการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนและประเมินสัญญาซื้อขายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่นิ่งและแนวโน้มราคาในตลาดโลกยังมีความผันผวน