การค้าไทย-กัมพูชาครึ่งหลังปี’ 52 …แนวโน้มดีขึ้น

การค้าระหว่างไทยกับกัมพูชาทั้งการค้าระหว่างประเทศและการค้าชายแดนมีมูลค่าลดลงอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตการเงินโลกที่กดดันให้เศรษฐกิจกัมพูชาชะลอตัวลงอย่างหนักตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2551 เป็นต้นมา โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย-กัมพูชาและมูลค่าการค้าตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกจากไทยไปกัมพูชาลดลงถึงร้อยละ 25.5 (YoY) และร้อยละ 16.9 (YoY) ตามลำดับ แม้ IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจกัมพูชาในปี 2552 อาจจะหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับ ร้อยละ 11 ในช่วงปี 2547-2550 แต่สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อาจจะช่วยให้เศรษฐกิจกัมพูชามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นและเป็นผลดีต่อการค้าระหว่างไทยและกัมพูชา อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบอีกหลายประการที่มีผลต่อทิศทางการค้าระหว่างไทยกับกัมพูชาในช่วงที่เหลือของปีนี้ อาทิ สถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาจากกรณีเขาพระวิหารและภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของกัมพูชา

การค้าไทย-กัมพูชาครึ่งแรกปี 2552 หดตัว…ตามวิกฤตการเงินโลกที่กดดันเศรษฐกิจกัมพูชา
ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ การค้าระหว่างประเทศไทย-กัมพูชาหดตัวลงไปแล้วกว่าร้อยละ 25.5 โดยการส่งออกของไทยไปกัมพูชาที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 96.4 ของการค้ารวมระหว่างไทยและกัมพูชาหดตัวลงร้อยละ 25.1 ต่ำกว่าการนำเข้าของไทยจากกัมพูชาที่หดตัวร้อยละ 36.6 ขณะที่การค้าชายแดนไทย-กัมพูชาซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของการค้ารวมไทย-กัมพูชา มีมูลค่าลดลงเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 16.9 โดยการส่งออกและนำเข้าของไทยผ่านชายแดนลดลงร้อยละ 16.4 และร้อยละ 27.2 ตามลำดับ แม้ว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทย-กัมพูชาจะลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 แต่การนำเข้าของไทยจากกัมพูชาที่ลดลงในอัตราที่สูงกว่าการหดตัวของการส่งออกทำให้ไทยยังคงเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับกัมพูชาทั้งการค้าระหว่างประเทศและการค้าชายแดน สาเหตุสำคัญที่ทำให้มูลค่าการค้าตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาลดลงไม่มากนักเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าโดยรวมของไทย-กัมพูชาคือ สินค้าที่ไทยและกัมพูชาทำการค้าผ่านชายแดนระหว่างกันนั้นเกือบทั้งหมดเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ชาวกัมพูชาจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ผักผลไม้ เครื่องปรุงรสอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น ขณะที่สินค้าอีกส่วนหนึ่งเป็นการส่งออกสินค้าจากไทยผ่านประเทศกัมพูชาไปยังเวียดนามและจีนตอนใต้

หากแยกพิจารณาออกเป็นรายสินค้าจะพบว่า สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปกัมพูชา 10 อันดับแรกเกือบทุกรายการมีมูลค่าการส่งออกลดลงหรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ยกเว้นสินค้าปศุสัตว์อื่นๆ และน้ำตาลทรายที่ขยายตัวสูง โดยสินค้าที่ไทยส่งออกลดลงมากส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้แก่ กลุ่มยานพาหนะ เช่น รถจักรยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 72.3) รถยนต์ (ลดลงร้อยละ 68.7) รวมถึงยานพาหนะอื่นๆ (ลดลงร้อยละ 43.5) เนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนลดลงทำให้ต้องลดการใช้จ่ายสินค้าที่ไม่จำเป็น รวมถึงกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ที่ลดลงร้อยละ 41.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 209.7 ขณะที่ปูนซีเมนต์ขยายตัวเพียงร้อยละ 7.3 เนื่องจากการชะลอตัวหรือความล่าช้าของโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของกัมพูชา ส่วนสินค้าส่งออกจากไทยไปกัมพูชาที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นได้แก่ วิทยุ โทรสาร โทรศัพท์ หนัง สิ่งปรุงรสอาหารและน้ำตาลทราย เป็นต้น

วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการส่งออก การท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศของกัมพูชา เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การส่งออกจากไทยไปกัมพูชาในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 25.1 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกต่อเศรษฐกิจกัมพูชา ได้ดังนี้

การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของกัมพูชาได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป เนื่องจากในแต่ละปีกัมพูชาส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปถึงร้อยละ 90 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด โดยการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของกัมพูชาที่ลดลงถึงร้อยละ 35 (YoY) ในช่วงแรกของปีนี้ทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มของกัมพูชากว่า 5 หมื่นรายต้องว่างงาน หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออกทั้งสองไม่กระเตื้องขึ้นก็อาจจะทำให้อัตราการว่างงานของกัมพูชาเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนคนในปีนี้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกัมพูชาได้ออกมาตรการช่วยเหลือบริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นของชาวต่างชาติโดยขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีกำไรของบริษัทเอกชนออกไปจนถึงปลายปีนี้ ซึ่งอาจจะช่วยให้อัตราการว่างงานในประเทศลดลง

การท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นแหล่งรายได้อันดับสองของกัมพูชาได้รับผลกระทบอย่างหนักจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง ส่งผลให้อัตราการจองห้องพักที่ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 40-50 และโรงแรมกว่า 72 แห่งทั่วประเทศกัมพูชาต้องลดจำนวนพนักงานลงระหว่างร้อยละ 33 ถึงร้อยละ 50 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด อัตราการว่างงานที่สูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปียังคงเป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวกัมพูชาในช่วงที่เหลือของปีนี้ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกัมพูชาอาจได้ปัจจัยบวกจากการเปิดสายการบินแคมโบเดียอังกอร์แอร์ ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติกัมพูชาที่มีเที่ยวบินระหว่างกรุงพนมเปญเมืองหลวงของกัมพูชาไปยังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศคือ นครวัด ในจ. เสียมราฐ และจ. สีหนุวิลล์ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลชื่อดังของกัมพูชา การอำนวยความสะดวกในการเดินทางท่องเที่ยวภายในกัมพูชาอาจทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้นได้ในระดับหนึ่ง

การลงทุนจากต่างประเทศในภาคก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ของกัมพูชาชะลอตัวอย่างหนักตามวิกฤตการเงินโลก เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะเกาหลีใต้ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในอุตสาหกรรมก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องเผชิญกับภาวะสินเชื่อตึงตัวและความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินในประเทศแม่ ส่งผลให้การลงทุนในภาคการก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของกัมพูชาเข้าสู่ภาวะชะงักงันและคาดว่าจะมีแรงงานภาคก่อสร้างของกัมพูชาราวร้อยละ 30 ต้องว่างงานลงในปีนี้ นอกจากนี้การร่วงลงอย่างหนักของราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่เคยพุ่งขึ้นถึงร้อยละ 200-300 ในปี 2551 ยังกดดันให้ผลตอบแทนของนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศลดลงและอาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และพัฒนาที่ดินของกัมพูชาซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยคุกคามสำคัญต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของกัมพูชา

การค้าไทย-กัมพูชาครึ่งหลังปี 2552 ดีขึ้น…ตามสัญญาณบวกของเศรษฐกิจโลกแต่ยังมีปัจจัยเสี่ยง
สำหรับการค้าระหว่างไทย-กัมพูชาในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การค้าไทย-กัมพูชาทั้งในด้านการค้าระหว่างประเทศและการค้าชายแดนน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น แม้ว่ายังคงมีปัจจัยลบหลากหลายประการ ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปปัจจัยที่คาดว่าจะมีผลต่อทิศทางการค้าไทย-กัมพูชาในช่วงครึ่งหลังของปี ดังนี้

ทิศทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มจะขยายตัวได้ดีขึ้น ตามสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของกัมพูชา ประกอบกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกัมพูชาที่ได้ปัจจัยบวกจากการเปิดสายการบินแห่งชาติและการเปิดเสรีภาคบริการในสาขาการท่องเที่ยวภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งมีเป้าหมายให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ร้อยละ 70 ในปี 2553 อาจจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากอาเซียนเข้ามาในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้มากขึ้น เศรษฐกิจกัมพูชาที่กระเตื้องขึ้นจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นทั้งในด้านการลงทุนและการบริโภคให้กับชาวกัมพูชาได้มากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้และอาจจะทำให้การส่งออกสินค้าของไทยกระเตื้องขึ้นได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์กัมพูชายังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยควรจับตาอย่างใกล้ชิดเนื่องจากอาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของกัมพูชาซึ่งจะบั่นทอนบรรยากาศด้านการบริโภคและการลงทุนในที่สุด

การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคของกัมพูชาในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ จึงทำให้กัมพูชาต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะจากเวียดนามและไทย เนื่องจากต้นทุนการผลิตในประเทศกัมพูชาสูงกว่าการนำเข้าค่อนข้างมาก ขณะที่การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นหลักโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่กัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากต่างประเทศ โดยในแต่ละปีกัมพูชามีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศถึงร้อยละ 80-90 ของความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคของกัมพูชา โดยในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยถึงร้อยละ 90 สาเหตุสำคัญที่ทำให้กัมพูชานำเข้าจากไทยค่อนข้างสูงคือ 1. รสนิยมผู้บริโภคชาวกัมพูชาที่ชื่นชอบสินค้าไทยและมีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าไทยว่ามีคุณภาพดีและมีความคุ้มค่า ทำให้คนกัมพูชาตัดสินใจเลือกใช้สินค้าไทยเมื่อเทียบกับสินค้าชาติอื่นที่มีระดับราคาใกล้เคียงกัน 2.สภาพภูมิประเทศบริเวณชายแดนไทยและกัมพูชาที่เป็นที่ราบทำให้การนำเข้าสินค้าจากไทยสะดวกรวดเร็วกว่าชายแดนด้านติดกับเวียดนามซึ่งเป็นที่ราบสูงสลับภูเขา

การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งทางบกระหว่างไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะการเปิดใช้เส้นทางหมายเลข 48 จาก จ.ตราด ผ่านเกาะกงเพื่อไปยังสะแรอัมเปิล จ.พระสีหนุวิลล์และเส้นทางหมายเลข 67 จากด่านผ่านแดนช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษไปยังอัลลองเวง จ. อุดรมีชัย ไปถึง จ. เสียมราฐ จะช่วยให้การขนส่งสินค้าจากไทยไปกัมพูชามีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ไทยยังได้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปเที่ยวนครวัดและสถานที่พักผ่อนชายทะเลในเขมรให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวต่อในประเทศไทยมากขึ้น

ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาจากกรณีข้อพิพาทปราสาทพระวิหารที่เริ่มขึ้นตั้งแต่กลางปี 2551 และยังยืดเยื้ออยู่ในปัจจุบัน อาจจะเป็นปัจจัยคุกคามต่อบรรยากาศด้านการค้าของไทยและกัมพูชาโดยเฉพาะการค้าตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศ หากความตึงเครียดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาเกิดขึ้นในระยะสั้นคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนไทย-กัมพูชามากนัก ยกเว้นการค้าชายแดนในบริเวณที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ข้อพิพาทอย่างจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ แต่หากเหตุการณ์ความตึงเครียดบานปลายออกไปจนก่อให้เกิดการปิดด่านชายแดนไทย-กัมพูชา อาจจะเป็นอีกปัจจัยลบหนึ่งที่ทำให้การค้าชายแดนไทย-กัมพูชาในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีแนวโน้มหดตัวลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการส่งออกที่ไทยหวังให้กัมพูชาซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพสูงช่วยกอบกู้ภาคการส่งออกของไทยที่หดตัวลงอย่างหนักในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ สำหรับในระยะยาวแล้ว ข้อพิพาทระหว่าง 2 ประเทศไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อโอกาสทางการค้าของไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนของไทยในกัมพูชาอีกด้วย เพราะความขัดแย้งของสองประเทศอาจก่อให้เกิดความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐของกัมพูชาและกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยทั้งในด้านโอกาสทางธุรกิจและความปลอดภัย นอกจากนี้สินค้าและบริการของไทยอาจเผชิญกับกระแสต่อต้านจากชาวกัมพูชาอย่างรุนแรงจนเปิดโอกาสให้สินค้าจากประเทศคู่แข่งของไทยอย่างเวียดนามและจีนสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากสินค้าไทยได้เพิ่มขึ้น

สรุป การค้าระหว่างไทยกับกัมพูชาทั้งการค้าระหว่างประเทศและการค้าชายแดนมีมูลค่าลดลงอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตการเงินโลกที่กดดันให้เศรษฐกิจกัมพูชาชะลอตัวลงอย่างหนักตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2551 เป็นต้นมา โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยและกัมพูชาที่ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกจากไทยไปกัมพูชาลดลงถึงร้อยละ 25.5 (YoY) เช่นเดียวกับการค้าตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาที่ลดลงร้อยละ 16.9 (YoY) แม้ว่าการค้าระหว่างไทย-กัมพูชาจะมีมูลค่าลดลง แต่การนำเข้าของไทยจากกัมพูชาที่ลดลงในอัตราสูงกว่าการหดตัวของการส่งออกทำให้ไทยยังคงเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับกัมพูชาทั้งการค้าระหว่างประเทศและการค้าชายแดน แม้ว่ามูลค่าเกินดุลการค้าจะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สาเหตุสำคัญที่ทำให้มูลค่าการค้าตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาลดลงไม่มากนักเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าโดยรวมของไทย-กัมพูชาคือ สินค้าที่ไทยและกัมพูชาทำการค้าผ่านชายแดนระหว่างกันนั้นเกือบทั้งหมดเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ชาวกัมพูชาจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันสินค้าที่ไทยส่งออกผ่านชายแดนกัมพูชาส่วนหนึ่งเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกส่งผ่านประเทศกัมพูชาไปยังเวียดนามและจีนตอนใต้ สำหรับการค้าระหว่างไทย-กัมพูชาในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การค้าไทย-กัมพูชาทั้งในด้านการค้าระหว่างประเทศและการค้าชายแดนน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจกัมพูชาปี 2552 อาจจะหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ร้อยละ 0.5 แต่สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อาจจะช่วยขับเคลื่อนภาคการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของกัมพูชา และจะช่วยให้เศรษฐกิจกัมพูชามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบอีกหลายประการที่อาจจะมีผลต่อทิศทางการค้าระหว่างไทยกับกัมพูชาในช่วงที่เหลือของปีนี้ อาทิ สถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาจากกรณีเขาพระวิหารที่ปะทุขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2552 และภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของกัมพูชาที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของกัมพูชา