ในไตรมาส 2 ปี 2552 ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล (โดยครอบคลุมสินเชื่อเงินสดที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันทั้งของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และNon-Bank โดยไม่รวมสินเชื่อบัตรเครดิต) ยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะปัญหาการเลิกจ้างงานที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่องในบางภาคธุรกิจ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของผู้บริโภคบางกลุ่ม ทำให้ไม่สามารถผ่อนชำระสินเชื่อต่อไปได้ จะเห็นได้ว่าภาพรวมจำนวนบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลในเดือนมิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา มีประมาณ 9,147,561 บัญชี ลดลงร้อยละ 18.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (ที่มีจำนวนบัญชีประมาณ 11,198,164 บัญชี) สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการได้ทำการยกเลิกบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลในกลุ่มผู้บริโภคที่มีปัญหาการผ่อนชำระ นอกจากนี้ภาวะที่เศรษฐกิจยังคงมีปัจจัยลบรุมเร้าทำให้ผู้ประกอบการต่างระมัดระวังมากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งมีผลทำให้การขยายตัวของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลนั้นชะลอตัวลงตาม ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปประเด็นสำคัญของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2551 และวิเคราะห์แนวโน้มสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วงที่เหลือของปี 2552 ดังนี้
ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลไตรมาส 2 ปี 2552 ยังคงชะลอตัว
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปภาพรวมธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในไตรมาส 2 ปี 2552 ดังนี้
ภาพรวมจำนวนบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลในไตรมาส 2 ปี 2552 : กลุ่ม Non – bank หดตัวรุนแรง … ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจ
ภาพรวมปริมาณสินเชื่อส่วนบุคคลในทุกกลุ่มผู้ประกอบการไตรมาส 2 ปี 2552 มีปริมาณบัญชีทั้งสิ้น 9,147,561 บัญชี หดตัวร้อยละ 18.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แย่ลงกว่าที่หดตัวร้อยละ 15.5 ในไตรมาสแรก และที่หดตัวร้อยละ 4.7 ในปี 2551 ทั้งนี้ปริมาณบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลที่หดตัวในไตรมาส 2 ปี 2552 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจาก ผู้ประกอบการมีการปิดบัญชีลูกค้าบางรายที่ประสบกับปัญหาในการผ่อนชำระสินเชื่อในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมถึงสถาบันการเงินได้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อ โดยเฉพาะในเรื่องของความสามารถในการผ่อนชำระของผู้ขอสินเชื่อท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงสูง
โดยเมื่อแยกพิจารณาตามกลุ่มผู้ประกอบการ พบว่า
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย ในไตรมาส 2 ปี 2552 มีบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลประมาณ 1,812,775 บัญชี หดตัวร้อยละ 6.4 แรงขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 1.1 ในไตรมาสแรก และแย่ลงจากที่มีการเติบโตร้อยละ 4.8 ในปี 2551
กลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศ ในไตรมาส 2 ปี 2552 มีบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลประมาณ 741,559 บัญชี หดตัวร้อยละ 3.9 แรงขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 2.2 ในไตรมาสแรก และแย่ลงจากที่มีการหดตัวร้อยละ 0.6 ในปี 2551
กลุ่มสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือ Non-Bank ในไตรมาส 2 ปี 2552 มีบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลประมาณ 6,593,227 บัญชี หดตัวร้อยละ 22.3 มากขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 20.9 ในไตรมาสแรก และแย่ลงจากที่มีการหดตัวร้อยละ 7.2 ในปี 2551
ภาพรวมธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในไตรมาส 2 ของปี 2552 : ชะลอตัวจากไตรมาสแรก…โดยเฉพาะกลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศ
จากรายงานตัวเลขยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบในไตรมาส 2 ของปี 2552 มีมูลค่าประมาณ 222,396 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.5 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 ในไตรมาสแรก และลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 8.2 ในปี 2551 โดยมูลค่าของยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 โดยมูลค่ายอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลสิ้นเดือนมิถุนายน 2552 ลดลงประมาณ 7,978 ล้านบาท จากสิ้นเดือนตุลาคม 2551 ที่มีมูลค่าประมาณ 230,374 ล้านบาท ซึ่งเป็นเดือนแรกที่สินเชื่อส่วนบุคคลมีแนวโน้มขาลง ทั้งนี้มูลค่าของยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลที่ยังคงลดลงเป็นผลมาจากผู้ประกอบการมีการปิดบัญชีลูกค้าบางรายที่ประสบกับปัญหาในการผ่อนชำระสินเชื่อ และผู้ประกอบการมีการตัดหนี้สูญออกจากระบบเร็วขึ้น ทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อบุคคลจึงชะลอตัวลงอย่างมาก ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเป็นรายผู้ประกอบการแล้ว พบว่า
ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 2 ของปี 2552 แม้ยังคงมีอัตราการขยายตัวเป็นบวก แต่เป็นอัตราที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 104,084 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 11.8 ในไตรมาสแรก และชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 19.3 ในปี 2551
ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในไตรมาส 2 ของปี 2552 หดตัวอย่างรุนแรง โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 19,781 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 10.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 8.9 ในไตรมาสแรก และหดตัวร้อยละ 6.9 ในปี 2551
สถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-Bank) มียอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลไตรมาส 2 ของปี 2552 หดตัวลงเช่นกัน โดยมีมูลค่าประมาณ 98,531 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 ในไตรมาสแรก และแย่ลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 ในปี 2551
ยอดค้างชำระสินเชื่อส่วนบุคคลเกิน 3 เดือนขึ้นไป : ภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูง
ภาพรวมยอดค้างชำระสินเชื่อส่วนบุคคลเกิน 3 เดือนขึ้นไป ในไตรมาส 2 ปี 2552 ยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยมีมูลค่าประมาณ 8,457 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากในไตรมาสแรกที่มีมูลค่าประมาณ 8,300 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่มีมูลค่าประมาณ 8,253 ล้านบาท ในขณะที่เมื่อเทียบสัดส่วนระหว่างยอดค้างชำระสินเชื่อส่วนบุคคลเกิน 3 เดือนขึ้นไป กับยอดสินเชื่อรวม พบว่า ในไตรมาส 2 ปี 2552 ยอดค้างชำระสินเชื่อส่วนบุคคลเกิน 3 เดือนขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 3.8 ของยอดสินเชื่อคงค้าง เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.7 ในไตรมาสแรก และเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.6 ปี 2551 ทั้งนี้สาเหตุของการขยายตัวของยอดค้างชำระสินเชื่อส่วนบุคคลเกิน 3 เดือนขึ้นไป ที่ยังคงเพิ่มขึ้นนั้นน่าจะมาจากผู้บริโภคเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานของผู้บริโภคบางกลุ่ม ทำให้ผู้บริโภคบางรายประสบกับปัญหาสภาพคล่อง และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเป็นรายผู้ประกอบการแล้ว พบว่า
ยอดค้างชำระสินเชื่อส่วนบุคคลเกิน 3 เดือนขึ้นไป ของธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 2 ของปี 2552 มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 3,329 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากในไตรมาสแรกที่มีมูลค่าประมาณ 3,076 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่มีมูลค่าประมาณ 3,094 ล้านบาท ในขณะที่เมื่อเทียบสัดส่วนระหว่างยอดค้างชำระสินเชื่อส่วนบุคคลเกิน 3 เดือนขึ้นไป กับยอดสินเชื่อรวม พบว่า ในไตรมาส 2 ปี 2552 ยอดค้างชำระสินเชื่อส่วนบุคคลเกิน 3 เดือนขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 3.2 ของยอดสินเชื่อคงค้าง เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกปี 2552 และปี 2551 ที่ล้วนอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ของยอดสินเชื่อคงค้าง
ยอดค้างชำระสินเชื่อส่วนบุคคลเกิน 3 เดือนขึ้นไป ของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศไตรมาส 2 ของปี 2552 ลดลง โดยมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 869 ล้านบาท ลดลงจากในไตรมาสแรกที่มีมูลค่าประมาณ 1,009 ล้านบาท และลดลงจากปี 2551 ที่มีมูลค่าประมาณ 1,249 ล้านบาท ในขณะที่เมื่อเทียบสัดส่วนระหว่างยอดค้างชำระสินเชื่อส่วนบุคคลเกิน 3 เดือนขึ้นไป กับยอดสินเชื่อรวม พบว่า ในไตรมาส 2 ปี 2552 ยอดค้างชำระสินเชื่อส่วนบุคคลเกิน 3 เดือนขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 4.4 ของยอดสินเชื่อคงค้าง ลดลงจากร้อยละ 4.9 ในไตรมาสแรก และลดลงจากร้อยละ 5.8 ปี 2551 ทั้งนี้สาเหตุของการลดลงของยอดค้างชำระสินเชื่อส่วนบุคคลเกิน 3 เดือนขึ้นไปในกลุ่มนี้น่าจะมาจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้มีการยกเลิกบัญชีของลูกค้าที่มีปัญหา และมีตัดหนี้เสียออกจากระบบเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา
ยอดค้างชำระสินเชื่อส่วนบุคคลเกิน 3 เดือนขึ้นไป ของสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-Bank) ในไตรมาส 2 ของปี 2552 เพิ่มขึ้น โดยมีมูลค่าประมาณ 4,259 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากในไตรมาสแรกที่มีมูลค่าประมาณ 4,215 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากในปี 2551 ที่มีมูลค่าประมาณ 3,910 ล้านบาท ในขณะที่เมื่อเทียบสัดส่วนระหว่างยอดค้างชำระสินเชื่อส่วนบุคคลเกิน 3 เดือนขึ้นไป กับยอดสินเชื่อรวม พบว่า ในไตรมาส 2 ปี 2552 ยอดค้างชำระสินเชื่อส่วนบุคคลเกิน 3 เดือนขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 4.3 ของยอดสินเชื่อคงค้าง เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.2 ในไตรมาสแรก และเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.8 ปี 2551 ทั้งนี้สาเหตุที่ยอดค้างชำระสินเชื่อส่วนบุคคลเกิน 3 เดือนขึ้นไปเพิ่มขึ้นนั้น น่าจะมาจากการที่ในช่วงก่อนหน้าผู้ประกอบการ Non-Bank บางรายได้เน้นการปล่อยสินเชื่อไปยังกลุ่มคนทำงานตามแหล่งนิคมอุตสาหกรรม และเน้นการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งต่อมาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจกลุ่มคนทำงานเหล่านี้ส่วนหนึ่งประสบกับปัญหาถูกเลิกจ้างงาน และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ ทำให้ผู้ประกอบการอาจจะมีการยกเลิกบัญชีเกิดขึ้น
สำหรับแนวโน้มธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วงที่เหลือของปี 2552 คาดว่าน่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ทั้งนี้จากการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดในเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่แสดงให้เห็นว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยเริ่มสะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณเชิงบวก ประกอบกับตัวเลขการว่างงานในเดือนมิถุนายน ลดลงเหลือร้อยละ 1.4 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 1.7 ในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ทำให้คาดว่าแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไปน่าจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทำให้คาดว่าธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลน่าจะกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี โดยจะเป็นไปในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงสูง ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาทิ หากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความล่าช้าออกไป และปัญหาความไม่สงบทางการเมือง อาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และรายได้ของผู้บริโภคด้วย ก็ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในระยะที่เหลือของปีนี้เช่นกัน
ในขณะที่แนวโน้มการแข่งขันในธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลครึ่งหลังปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลอาจจะเริ่มกลับมาทำตลาดมากขึ้นตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ประกอบการจะยังคงใช้กลยุทธ์การเข้าหาลูกค้า โดยการกระจายจุดให้บริการสินเชื่อให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึง รวมถึงการปรับผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เช่น ระยะเวลาการผ่อนชำระนานขึ้น เป็นต้น แต่เนื่องจากสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสินเชื่อที่ไร้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งจัดว่าเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ และ Non-bank ยังคงระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ โดยผู้ประกอบการบางรายยังคงไม่ปรับลดเกณฑ์เงินเดือนขั้นต่ำลง (ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ จากเดิมที่ผู้ประกอบการบางรายเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 7,000 บาทต่อเดือน หรือน้อยกว่านั้น ได้ถูกปรับขึ้นมาเป็นรายได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน หรือสูงกว่า) ขณะที่การอนุมัติวงเงินของสินเชื่อในส่วนของผู้ขอสินเชื่อใหม่ยังคงอยู่ในสัดส่วนที่ไม่สูงนัก เช่น จากเดิมที่อนุมัติไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ โดยเปลี่ยนมาเป็นไม่เกิน 3 เท่าของรายได้ รวมถึงผู้ประกอบการยังคงเลือกเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีอาชีพที่มีความเสี่ยงต่ำ เป็นต้น ทำให้การฟื้นตัวของสินเชื่อส่วนบุคคล น่าจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนกว่าผู้ประกอบการจะเชื่อมั่นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาวะการจ้างงานมีความแข็งแกร่งกลับคืนมาแล้ว