ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ครึ่งหลังปี’52 : จะกระเตื้องขึ้น…ถ้าราคาแข่งขันกับเวียดนามได้

ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยเผชิญปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการขยายตัวของการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังลดลงเหลือ 561.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหดตัวลงถึงร้อยละ 34.0 โดยมีเพียงตลาดจีนเพียงตลาดเดียวที่อัตราการขยายตัวของการส่งออกยังคงเป็นบวก ความหวังของผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของจีนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจของจีนที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปยังตลาดจีนนั้นมีปัจจัยที่ต้องกังวล คือ การที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากเวียดนาม โดยในช่วงครื่งแรกปี 2552 เวียดนามเบียดไทยขึ้นครองอันดับหนึ่งในตลาดจีน ในการส่งออกมันอัดเม็ดและมันเส้น ส่วนสตาร์ชมันสำปะหลังแม้ว่าไทยยังคงรั้งอันดับหนึ่งในตลาดจีน แต่อัตราการขยายตัวของสตาร์ชมันสำปะหลังของเวียดนามในตลาดจีนในช่วงครึ่งแรกปี 2552 นั้นก็สูงกว่าไทยมาก

แม้ว่าจีนจะยังคงมีความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 แต่ความหวังที่จีนเลือกที่จะนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น จนกระทั่งทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 กระเตื้องขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าราคาส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยจะต้องสามารถแข่งขันกับเวียดนามได้ หรือเวียดนามลดการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เนื่องจากผลผลิตในปี 2553 ลดลง หรือนำผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังนั้นไปเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานผลิตเอทานอลที่กำลังจะเปิดดำเนินการ

ดังนั้น ราคาส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในช่วงครึ่งหลังปี 2552 จึงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินทิศทางการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่กำหนดราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังนั้นมีหลากหลายปัจจัย ทั้งปริมาณการผลิตมันสำปะหลังในปี 2552/53 การเทรกแซงตลาดมันสำปะหลังของรัฐบาล และการระบายสต็อกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงเกษตรฯคาดการณ์ปริมาณการผลิตมันสำปะหลังในปี 2552/53 นั้นใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา นับว่ายังคงอยู่ในเกณฑ์สูง ส่วนการแทรกแซงตลาดผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังนั้น รัฐบาลเปลี่ยนจากมาตรการจำนำเป็นประกันราคา ทำให้คาดว่าราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในช่วงครึ่งหลังปี 2552 น่าจะมีแนวโน้มต่ำลงกว่าในช่วงครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ยังต้องติดตาม คือ การตัดสินใจระบายสต็อกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของรัฐบาล เนื่องจากเดิมนั้นเป็นการประมูลราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในสต็อกของรัฐบาลของบรรดาผู้ส่งออก โดยรัฐบาลเป็นผู้กำหนดปริมาณและราคาขั้นต่ำในการระบายสต็อกในแต่ละล็อต แต่จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 มีการอนุมัติให้เปลี่ยนจากการเปิดประมูลมาเป็นการยื่นเสนอซื้อกับคณะกรรมการระบายสินค้า ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้ดูแล และมีการเจรจากับผู้เสนอซื้อเป็นรายๆไป รวมทั้งยังอนุมัติให้จำหน่ายมันเส้นในประเทศ โดยจำหน่ายให้กับโรงงานเอทานอล ซึ่งทำให้คาดว่าราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในสต็อกรัฐบาลจะไม่ต่ำมากนัก เนื่องจากในปีนี้รัฐบาลมีทางเลือกในการระบายสต็อกมากขึ้น จากความต้องการมันเส้นและแป้งมันเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคากากน้ำตาลมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จูงใจให้โรงงานเอทานอลที่สามารถจะใช้วัตถุดิบได้ทั้งมันเส้น/แป้งมัน และกากน้ำตาล ทั้งที่เปิดดำเนินการแล้ว และจะเปิดดำเนินการปี 2553 ต่างหันมาเพิ่มการรับซื้อมันเส้นและแป้งมัน ทำให้ปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในประเทศในช่วงครึ่งหลังปี 2552 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจจะส่งผลต่อเนื่องให้ราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตพลังงานทดแทนปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น รัฐบาลอาจจะยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งระบายสต็อก โดยอาจจะชะลอเพื่อรอราคาที่คาดว่าน่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางที่น่าจะช่วยบรรเทาภาวะขาดทุนที่จะเกิดขึ้นในการระบายสต็อก ดังนั้น การตัดสินใจในการเลือกการระบายสต็อกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังก็เป็นปัจจัยกำหนดราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 เช่นกัน

การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง…ในช่วงครึ่งแรกปี’52
ในช่วงครึ่งแรกปี 2552 ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 2,726 พันตัน มูลค่า 561 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้ว ทั้งปริมาณและมูลค่าหดตัวลงร้อยละ 13.4 และ 34.0 ตามลำดับ โดยการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลัก (ยกเว้นจีน) มีแนวโน้มลดลง ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ส่วนประเทศที่การส่งออกยังเพิ่มขึ้นแต่อัตราการขยายตัวไม่มากนัก คือ ฟิลิปปินส์ อินเดีย และบังคลาเทศ
อย่างไรก็ตาม การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปจีนกระเตื้องขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่การส่งออกหดตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 และจีนเป็นประเทศเดียวที่การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงครึ่งแรกปี 2552 ทั้งมันเส้น และแป้งมัน กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปจีนเท่ากับ 237.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.3 (ช่วงครึ่งแรกปี 2551 การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปจีนหดตัวถึงร้อยละ 41.4)

จีนเป็นประเทศที่นำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ทั้งในรูปของมันอัดเม็ดมันเส้น และแป้งมัน มูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นในปี 2551 จีนมีการนำเข้ามันเส้นจากทั่วโลกลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2550 เนื่องจากสถานการณ์ในปี 2551 ราคามันเส้นในจีนปรับตัวสูงขึ้นเป็น 170 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ยกเลิกการสนับสนุนการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการที่ผลิตเอทานอลเพื่อส่งออก ทำให้การส่งออกเอทานอลลดลงอย่างมาก ประกอบกับรัฐบาลจีนมีนโยบายชะลอการนำเข้ามันเส้นจากต่างประเทศ โดยเน้นการใช้วัตถุดิบทดแทนในประเทศ หลังจากนั้นในปี 2552 จีนก็หันกลับมาเพิ่มการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเช่นเดิม แต่กลับไปนำเข้าเพิ่มขึ้นจากเวียดนามมากกว่านำเข้าจากไทย กล่าวคือ ในช่วงครึ่งแรกปี 2552 นับเป็นครั้งแรกที่เวียดนามแซงไทยขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในการส่งออกมันอัดเม็ดมันเส้นในตลาดจีน โดยมูลค่าการส่งออกมันเม็ดมันเส้นของเวียดนามไปยังตลาดจีนเพิ่มขึ้นเป็น 212.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนในตลาดจีนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 55.8 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกมันเม็ดมันเส้นของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 162.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 8.1 และมีสัดส่วนเพียงร้อยละ42.8

สำหรับ เวียดนามที่เป็นคู่แข่งสำคัญของไทยนั้น จากข้อมูลของ CELCระบุว่า ในปี 2551/52 เวียดนามมีปริมาณผลผลิตมันสำปะหลัง 9.4 ล้านตัน เติบโตจากปีก่อนร้อยละ 14.6 ราคาส่งออกเอฟโอบีของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามอย่างน้อยตันละ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น มันเม็ดและมันเส้นไทยราคาเฉลี่ยตันละ 150 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนเวียดนามราคาเฉลี่ยตันละ 95 ดอลลาร์สหรัฐฯ และสตาร์ชมันสำปะหลังไทยราคาเฉลี่ยตันละ 330 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนเวียดนามราคาเฉลี่ยตันละ 240-250 ดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจาก ราคาส่งออกมันเส้นของเวียดนามจะต่ำกว่าไทยแล้ว การที่อาณาเขตของเวียดนามและจีนมีพรมแดนติดต่อกัน ทำให้เวียดนามสามารถส่งมันเส้นผ่านชายแดนทางภาคเหนือเข้าสู่จีน ซึ่งมีข้อตกลงการค้าชายแดนระหว่างทั้งสองประเทศ และรัฐบาลจีนและรัฐบาลเวียดนามยังมีความตกลงร่วมกันภายใต้นโยบายส่งเสริมการค้าชายแดน ดังนั้น จึงทำให้มันสำปะหลังจากเวียดนามมีศักยภาพในการแข่งขันกับไทยเพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่ไทยอยู่ในฐานะได้เปรียบจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-จีนมาตั้งแต่ปี 2547

ส่วนการส่งออกสตาร์ชมันสำปะหลังในตลาดจีน แม้ว่าไทยจะยังคงครองอันดับหนึ่งในตลาดจีน แต่อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกของเวียดนามอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าไทยมาก กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกสตาร์ชมันสำปะหลังของไทยในช่วงครึ่งแรกปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 62.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยครองสัดส่วนตลาดร้อยละ 60 ของตลาดสตาร์ชมันสำปะหลังที่จีนนำเข้าทั้งหมด ในขณะที่เวียดนามครองอันดับสอง และในช่วงครึ่งแรกปี 2552 มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 39.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50.5 โดยมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 37.8

ราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังช่วงครึ่งหลังปี 52…หลากปัจจัยกำหนด
คาดการณ์ว่าราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในช่วงครึ่งหลังปี 2552 มีแนวโน้มผันผวนกว่าในช่วงครึ่งแรกปี 2552 และคาดว่าราคามีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงครึ่งแรกปี 2552 จากผลกระทบจาก ดังนี้

-สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดการณ์ผลผลิตมันสำปะหลังปีเพาะปลูก 2552/53 รวมทั้งประเทศ 29.471 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีเพาะปลูกที่ผ่านมาใกล้เคียงกัน แม้ว่าราคาในปีที่ผ่านมาจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2551 แต่การที่รัฐบาลก็ยังเข้าแทรกแซงตลาดโดยการรับจำนำในปี 2551 ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังยังสามารถขายมันสำปะหลังได้ในราคาสูงกว่าต้นทุนการผลิต ผลผลิตมันสำปะหลังในปี 2552/53 ยังมีปริมาณมาก นับว่าเป็นปัจจัยกดดันราคามันสำปะหลังในช่วงครึ่งหลังปี 2552 ต่อเนื่องถึงปี 2553

-มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 11 สิงหาคม 2552 เห็นชอบกับปรับนโยบายแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง จากการรับจำนำมาเป็นการประกันราคาของรัฐบาล โดยเริ่มดำเนินการในปีเพาะปลูก 2552/53 (กันยายน 2552) เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจะได้รับราคาเท่ากับราคาประกัน 1.70 บาท/กิโลกรัม เฉพาะในส่วนที่รัฐบาลรัฐบาลกำหนดไว้ไม่เกิน 12 ตัน/ราย ส่วนผลผลิตที่เกินจากนั้นราคาก็จะเป็นไปตามราคาตลาด ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลัง รวมทั้งผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ราคาจะผันผวนไปตามอุปสงค์และอุปทานของตลาด ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก

-การทยอยระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในสต็อกของรัฐบาล เนื่องจากในปี 2552 รัฐบาลเข้าแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังในปริมาณมาก ปริมาณสต็อกของรัฐบาลยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคาในช่วงต่อไป ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปยังจีน เนื่องจากสถานะการแข่งขันกับเวียดนามในตลาดจีนจะดีขึ้น
จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 เห็นชอบผลการประมูลมันเส้นปริมาณ 6.43 แสนตัน มูลค่า 2,645.49 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 4 บาทต่อกิโลกรัม จากที่เปิดประมูล 1 ล้านตัน รวมทั้งเห็นชอบให้จำหน่ายมันเส้นในประเทศโดยจำหน่ายให้แก่โรงงานเอทานอล จำนวน 28,000 ตัน ส่วนแป้งมันสำปะหลัง 8 แสนตัน ไม่อนุมัติการระบายสต็อกเพื่อการส่งออก เพราะผู้ที่เสนอประมูลให้ราคาต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ 8 บาทต่อกิโลกรัม

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติปรับเกณฑ์การจำหน่ายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพื่อการส่งออกใหม่จากที่เคยระบายสต็อกเฉพาะกับผู้ส่งออก เป็นการระบายสต็อกให้กับผู้ประกอบการในประเทศด้วย กล่าวคือ กรมการค้าต่างประเทศระบุว่าสต็อกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่เหลืออยู่ในปัจจุบันแยกเป็นมันเส้น 2.78 ล้านตัน และแป้งมัน 8.18 ล้านตัน จะแบ่งออกมา 5 แสนตันเพื่อจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการในประเทศเพื่อผลิตพลังงานทดแทน ที่เหลือจึงจะเปิดระบายให้กับผู้ส่งออกหรือจำหน่ายในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล โดยมีการเปลี่ยนเงื่อนไขจากเดิมที่มีการเปิดประมูลไปเป็นการเสนอซื้อและเจรจาเป็นรายๆไป ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่สนใจเสนอราคาซื้อได้โดยตรงต่อคณะทำงานดำเนินการระบายสินค้าที่มีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นประธาน ตามวันและเวลาที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนด ทั้งนี้ จะมีการออกประกาศแจ้งเป็นการทั่วไปให้ผู้สนใจยื่นเสนอราคาและปริมาณขอซื้อพร้อมหลักฐานได้ทุกวันที่กำหนดของสัปดาห์ ขณะเดียวกันจะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของบริษัทที่เสนอราคาทั้งสถานะ คุณสมบัติ รวมถึงความน่าเชื่อถือของใบสั่งซื้อและเมื่อคณะทำงานได้เจรจาต่อรองกับผู้ซื้อแล้วให้เสนอคณะกรรมการด้านการระบาย คณะกรรมการระดับนโยบาย และครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป

ซึ่งการปรับวิธีการระบายสต็อกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทำให้คาดว่าราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ต่อเนื่องถึงปี 2553 จะไม่ลดต่ำลงมาก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่อาจจะทำให้ราคาส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไม่ได้ต่ำลงมาก ทำให้อาจจะยังคงเป็นอุปสรรคในการแข่งขันกับเวียดนามโดยเฉพาะในในตลาดจีน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้แก่

-ทิศทางราคาธัญพืชยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะส่งผลให้ความต้องการพืชพลังงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่คาดการณ์ว่าราคาน้ำตาล และข้าวโพดในปี 2552/53 มีแนวโน้มสูงขึ้น อันเป็นผลจากการคาดการณ์ผลผลิตในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ดังนั้น แนวโน้มความต้องการมันเส้นเพื่อผลิตเอทานอล โดยเฉพาะจากจีน น่าจะมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นรัฐบาลก็อาจจะตัดสินใจชะลอการระบายสต็อกเพื่อรอขายในช่วงที่ราคาสูงกว่านี้

-การที่ราคากากน้ำตาลมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเป็นแรงจูงใจให้โรงงานเอทานอลที่สามารถใช้วัตถุดิบทั้งกากน้ำตาล และมันเส้น/แป้งมัน ทั้งที่เปิดดำเนินการอยู่แล้ว 3 โรงงาน(กำลังการผลิต 325,000 ลิตรต่อวัน) และที่จะกำลังจะเปิดดำเนินการอีก 3 โรงงาน (กำลังการผลิต 550,000 ลิตรต่อวัน) จะหันมาใช้มันเส้น/แป้งมันเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคาของมันเส้นและแป้งมัน ปัจจุบันทางกระทรวงพลังงานกำลังจะเจรจาขอซื้อแป้งมันในสต็อกของรัฐบาล 280,000 ตันเพื่อนำไปผลิตเอทานอล ซึ่งถือว่าเป็นการซื้อเพื่อจำหน่ายในประเทศและต้องผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จากปริมาณแป้งมันในสต็อกของรัฐบาลที่มีอยู่ทั้งหมด 800,000 ตัน
สมาคมผู้ผลิตเอทานอลคาดว่าการรับซื้อแป้งมันเพื่อผลิตเอทานอลนั้นจะช่วยลดต้นทุนการผลิตเอทานอลที่ใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ และช่วยลดปัญหาการขาดแคลนกากน้ำตาล เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูหีบอ้อย ทางสมาคมเอทานอลระบุว่าราคาแป้งมันที่ทางโรงงานเอทานอลจะรับซื้อไม่ควรเกิน 7 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตเอทานอลใกล้เคียงกับการใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ ในขณะที่ราคาแป้งมันในสต็อกของรัฐบาลอยู่ที่ 10 บาทต่อกิโลกรัม และราคาที่รัฐบาลตั้งเกณฑ์ในการระบายสต็อกไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 8 บาทต่อกิโลกรัมในการระบายสต็อกแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งคงต้องมีการเจรจากันต่อไป โดยรัฐบาลก็ส่งสัญญาณในการช่วยผู้ผลิตเอทานอล โดยการอนุมัติการจำหน่ายมันเส้นในประเทศให้กับโรงงานเอทานอล

อย่างไรก็ตาม การระบายสต็อกแป้งมันให้กับโรงงานเอทานอลนั้นนับว่าเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับรัฐบาล นอกจากการระบายสต็อกให้กับผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยหากรัฐบาลต้องการกระตุ้นการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในตลาดจีน รัฐบาลจะต้องระบายสต็อกในปริมาณมากพอที่จะเป็นปัจจัยกดดันราคาส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยลดลงไปอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลคงต้องรับภาระขาดทุนอยู่ในเกณฑ์สูง

จากปัจจัยต่างๆ คาดการณ์ว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจะขยายตัวในเชิงปริมาณ โดยราคาส่งออกในช่วงครึ่งหลังปี 2552 น่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับในช่วงครึ่งปีแรก โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังครึ่งหลังจะอยู่ในระดับ 2.5-2.7 ล้านตัน ขณะที่มูลค่า 525-594 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วปริมาณการส่งออกครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 27.6-37.8 ขณะที่มูลค่าส่งออกหดตัวร้อยละ 13.2-1.8 ทั้งเนื่องจากการปรับเกณฑ์ในการระบายสต็อกของรัฐบาล ซึ่งคาดจะมีผลต่อราคาส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยไม่ลดต่ำลงมากนัก

นอกจากราคาส่งออกของไทยแล้ว ประเด็นที่ยังต้องติดตามสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของเวียดนาม คือ ปริมาณการผลิตมันสำปะหลังของเวียดนามในปี 2552/53 และการตั้งโรงงานเอทานอลในเวียดนาม 2 แห่ง โดยร่วมทุนกับสิงคโปร์ และญี่ปุ่น ซึ่งใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ ความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพื่อป้อนโรงงานเอทานอลของเวียดนามจะทำให้ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของเวียดนามลดลงมากน้อยเพียงใด ซึ่งมีผลโดยตรงกับสถานะการแข่งขันระหว่างไทยกับเวียดนามในตลาดจีน

บทสรุป
ตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังมีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับมันสำปะหลังในประเทศ เนื่องจากผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยพึ่งตลาดส่งออกถึงร้อยละ 60 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ดังนั้น การส่งออกที่หดตัวอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 นับว่าส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับมันสำปะหลังทั้งหมด รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังด้วย

สาเหตุที่การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังหดตัวอย่างมาก เนื่องจากประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังสำคัญของไทย(ยกเว้นจีน) ต่างชะลอการนำเข้า โดยเฉพาะสหภาพยุโรป อันเป็นผลมาจากปริมาณธัญพืชในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น และหันไปนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากประเทศในอเมริกาใต้และแอฟริกา อย่างไรก็ตาม จีนซึ่งเป็นประเทศที่ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังมากเป็นอันดับหนึ่ง (สัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 40) แม้ว่าจะขยายการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังมากขึ้น แต่ก็หันไปเพิ่มการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากเวียดนามมากกว่าไทย อันเนื่องราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของเวียดนามถูกกว่าไทยมาก ทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 เวียดนามแซงไทยขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของแหล่งนำเข้ามันเส้นของจีน

สำหรับในช่วงครึ่งหลังปี 2552 ถ้าจะหวังให้จีนนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทยเพิ่มขึ้น จนกระทั่งกระตุ้นให้ตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังกระเตื้องขึ้นได้นั้น ราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ไทยส่งออกคงจะต้องลดลงไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเวียดนาม โดยปัจจัยที่กดดันราคาในช่วงครึ่งปีหลังมีเพียงปริมาณการผลิตมันสำปะหลังในปี 2552/53 ยังอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่การเปลี่ยนระบบการแทรกแซงตลาดจากการจำนำราคาเป็นการประกันราคา โดยกำหนดราคาประกันไว้ค่อนข้างสูง และการเปลี่ยนวิธีการระบายสต็อกของรัฐบาล อาจจะทำให้ราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในช่วงครึ่งหลังปี 2552 จะไม่ตกต่ำลงไปมากนัก นอกจากนี้ ประเด็นที่ยังต้องติดตามที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในช่วงครึ่งหลังปี 2552 อาจจะไม่กระเตื้องขึ้นตามที่คาด คือ การที่โรงงานเอทานอลที่สามารถใช้วัตถุดิบได้ทั้งกากน้ำตาลและมันเส้น/แป้งมัน(ปัจจุบันดำเนินการผลิตแล้ว 3 โรงงาน และกำลังจะเปิดดำเนินการผลิตอีก 3 โรงงาน)จะหันมาใช้มันเส้น/แป้งมันเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคากากน้ำตาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเอทานอลมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยกระทรวงพลังงานจะเจรจาซื้อแป้งมันในสต็อกของรัฐบาลเพื่อนำไปผลิตเอทานอล ส่งผลให้รัฐบาลมีทางเลือกในการที่จะระบายสต็อกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง จากเดิมที่ต้องระบายเพื่อการส่งออกเท่านั้น นอกจากนี้ การที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลให้ราคาพืชพลังงานทดแทนมีแนวโน้มสูงขึ้นตามไปด้วย รัฐบาลอาจจะตัดสินใจชะลอการระบายสต็อกเพื่อรอราคาที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ผลก็คือ ราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ส่งออกของไทยอาจจะไม่ได้ลดต่ำลงมากนัก ทำให้สถานะการแข่งขันของไทยในตลาดจีนอาจจะไม่ดีขึ้นอย่างที่คาด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังต้องติดตามประกอบไปด้วย คือ ปริมาณการผลิตมันสำปะหลังในปี 2552/53 ของเวียดนาม และการเปิดโรงงานเอทานอลที่ใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ ซึ่งย่อมจะมีผลกระทบต่อทั้งปริมาณ และราคาส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของเวียดนาม

นอกจาก ตลาดจีนแล้วตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่น่าจับตามอง คือ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เนื่องจากทั้งสองประเทศนี้ สถานะการแข่งขันของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี และไทยก็ยังคงครองอันดับหนึ่งได้ทั้งในรูปของมันเม็ดมันเส้น และสตาร์ชมันสำปะหลัง ส่วนตลาดสหภาพยุโรปนั้น ความต้องการค่อนข้างผันผวน โดยขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิตธัญพืชภายในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป รวมทั้งผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยไปยังสหภาพยุโรป ต้องเผชิญการแข่งขันกับประเทศในอเมริกากลางและแอฟริกา