ทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ประสบภาวะชะลอตัวในช่วงครึ่งแรกปีนี้ ด้วยอัตราการหดตัวทางเศรษฐกิจที่สูงถึงร้อยละ 7.1 ในไตรมาสแรก แต่คาดว่าจะชะลอการหดตัวลงเหลือประมาณร้อยละ 5.6 ในไตรมาสที่สองปีนี้ ได้ส่งผลกระทบถึงธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีอัตราการชะลอตัวตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม สภาวะที่เลวร้ายสุดของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านไปแล้ว โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี น่าจะหดตัวลดลงเป็นลำดับโดยอยู่ในกรอบหดตัวประมาณร้อยละ 0.7-3.6 ทำให้เฉลี่ยทั้งปีจีดีพีอาจหดตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 3.5-5.0 โดยมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการฟื้นตัวดีขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกบางรายการ ซึ่งปัจจัยบวกดังกล่าว น่าจะช่วยลดทอนผลกระทบด้านลบจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ และการแพร่กระจายของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1) ลง
อย่างไรก็ตาม การฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอาจยังต้องใช้เวลาอีกระยะ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการตัดสินใจซื้อหรือลงทุนในสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ อาจยังไม่กลับคืนมาเร็ว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัยค่อนข้างมาก เนื่องจากประมาณร้อยละ 60 ของเบี้ยประกันวินาศภัย มาจากการรับประกันภัยรถ
ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 อัตราเบี้ยประกันวินาศภัยโดยรวมเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลงจากร้อยละ 5.4 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 0.2 ตามการหดตัวของการรับประกันภัยรถ และภัยทางทะเลและขนส่ง ซึ่งเป็นผลจากยอดขายรถยนต์รวมในประเทศที่หดตัวลงมากถึงร้อยละ 26.2 ขณะที่รถจักรยานยนต์หดตัวลงร้อยละ 30.5 เช่นเดียวกับภาคการค้าระหว่างประเทศทั้งส่งออกและนำเข้าที่หดตัวลงถึงร้อยละ 23.0 และ 36.8 ตามลำดับ ส่วนเบี้ยประกันอัคคีภัยปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากคอนโดมิเนียมที่เพิ่งสร้างเสร็จ และมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์1 ขณะที่การรับประกันภัยเบ็ดเตล็ด มีการขยายตัวสูงที่สุดส่วนหนึ่งเป็นผลการปรับค่าความเสี่ยงภัยอากาศยานสูงขึ้น
สำหรับทิศทางธุรกิจประกันวินาศภัยในช่วง 7 เดือนที่เหลือของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าน่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ โดยที่เบี้ยประกันภัยรับตรงรวมในปีนี้ น่าจะยังคงรักษาอัตราการขยายตัวเป็นบวกได้แต่ในอัตราที่ชะลอลงจากปีที่แล้ว ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1.ประกันอัคคีภัย แม้ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะประสบภาวะตกต่ำจากผลของวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้อำนาจซื้อและความเชื่อมั่นของประชาชนโดยภาพรวมลดลง แต่กระแสความต้องการลงทุนในคอนโดมิเนียมที่มีสูงมากในช่วง 2-3 ปีก่อน และสร้างเสร็จพร้อมโอนในปลายปีที่แล้วถึงต้นปีนี้ ส่งผลให้ยอดโอนจดทะเบียนที่กรมที่ดินในปีนี้ยังคงเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ปริมาณการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยรายใหม่ในช่วงเดียวกันก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในช่วง 7 เดือนที่เหลือของปี แม้จะมีความชัดเจนของมาตรการรัฐในการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังต่ออายุการลดค่าธรรมเนียมการโอน และการจดจำนอง ออกไปอีก 1 ปี รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ซื้อบ้านในปีนี้ให้สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท แต่ปริมาณการโอนจดทะเบียนที่อยู่อาศัย อาจค่อนข้างทรงตัวหรือปรับขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากปีที่แล้วตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะส่งผลให้เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงสำหรับการประกันอัคคีภัยในปี 2552 อาจจะเติบโตอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 0-2 ชะลอตัวลงจากปีที่แล้วที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 เป็นประมาณ 7,500-7,650 ล้านบาท
2. ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง การส่งออกไทยได้รับผลกระทบเชิงลบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกค่อนข้างแรง โดยในปีนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกของไทยอาจจะหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 14.5-17.5 ขณะที่การนำเข้าคาดว่าจะหดตัวประมาณร้อยละ 23.5-27.0 เทียบกับในปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 16.8 และ 26.4 ตามลำดับ โดยการหดตัวของภาคการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้คาดว่าเฉลี่ยทั้งปีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงสำหรับการประกันภัยทางทะเลและขนส่งในปี 2552 จึงน่าจะปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 9.0-11.0 เป็นประมาณ 3,700-3,800 ล้านบาท จาก 5 เดือนแรกที่หดตัวลงถึงร้อยละ 17.3
3. ประกันภัยรถ การเติบโตของตลาดประกันภัยรถขึ้นอยู่กับยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่เป็นสำคัญ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ายอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในประเทศปีนี้อาจจะหดตัวประมาณร้อยละ 22.0-25.0 หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ประมาณ 460,000-477,000 คัน ลดลงกว่าปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 2.7 หรือคิดเป็นยอดขายรวม 614,078 คัน ทั้งนี้ แม้ปริมาณรถที่จดทะเบียนรวมยังคงเพิ่มขึ้น แต่จากกำลังซื้อโดยรวมที่ลดลงทำให้มีการลดการซื้อประกันภาคสมัครใจลง และคาดว่าจะส่งผลให้เบี้ยประกันภัยในปีนี้อยู่ในกรอบของการหดตัวร้อยละ 1 ถึงขยายตัวประมาณร้อยละ 1 เป็น 63,500-65,000 ล้านบาท เทียบกับปี 2551 ที่เติบโตร้อยละ 4.5
ทั้งนี้ การรับประกันภัยรถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือภาคบังคับ และสมัครใจ สำหรับการประกันภัยรถภาคบังคับ หรือประกันภัยบุคคลที่สามนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าน่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 0.0-1.0 เป็นประมาณ 10,600-10,700 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับฐานในปีที่แล้วที่มีการนับรวมประกันภาคบังคับไว้ในประกันภาคสมัครใจประเภท 1 และทำให้เบี้ยประกันภาคบังคับในปี 2551 หดตัวลงร้อยละ 4.4 ขณะที่ในปีนี้กลับมาใช้ระบบเดิมที่แยกการประกันภาคบังคับออกจากภาคสมัครใจ ทำให้คาดว่าเบี้ยประกันภาคบังคับน่าจะปรับตัวเพิ่มตามปริมาณรถโดยรวมที่เพิ่มขึ้น
ส่วนการประกันภัยรถภาคสมัครใจนั้น คาดว่าจะปรับตัวอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ -2.0 ถึง 1.0 เป็นประมาณ 52,900-54,000 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ ตามการคาดการณ์ว่ายอดขายรถในช่วงครึ่งหลังจะฟื้นตัวขึ้นจากในช่วงครึ่งแรกของปี นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการแข่งขันเสนอเบี้ยประกันราคาต่ำลงสำหรับรถป้ายแดง ประกอบกับมีการออกประกันสมัครใจประเภท 2 และ 3 ในราคาต่ำออกมาเสนอขาย ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อประกันที่มีราคาถูกลงเพื่อประหยัดรายจ่าย ถึงแม้ว่าเมื่อเทียบกับปี 2551 จะยังชะลอลงมาก ซึ่งสะท้อนผลของการชะลอลงของอำนาจซื้อของผู้บริโภค และยอดรถใหม่ที่ลดลงก็ตาม
4. ประกันภัยเบ็ดเตล็ด2 การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ยังคงเป็นที่มาของรายได้หลักในหมวดนี้ โดยมีมูลค่าเบี้ยประกันภัย และอัตราการเติบโตสูงที่สุดด้วยเลขสองหลักต่อเนื่องมาหลายปี เนื่องจากความตื่นตัวในเรื่องการเสี่ยงภัยที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าในปีนี้จะเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลง แต่ยังคงเป็นตัวนำของธุรกิจ นอกจากนี้ เบี้ยประกันความรับผิดต่อบุคคลภายนอก มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นมากในปีนี้จากการบังคับใช้กฎหมายการประกันภัยความรับผิดต่อสินค้าไม่ปลอดภัย จึงส่งผลให้เบี้ยประกันภัยเบ็ดเตล็ดในปี 2552 อาจจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0-7.0 ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงต่อเนื่องจากปี 2551 ทั้งนี้ ยังไม่รวมผลของการลงทุนภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ซึ่งคาดว่าอาจจะยังดำเนินการได้ไม่เต็มกำลังในปีนี้ อย่างไรก็ตาม หากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เริ่มจริงจัง ก็อาจผลักดันให้เบี้ยประกันเบ็ดเตล็ดกลับมาขยายตัวอย่างโดดเด่นได้อีก ทั้งในหมวดการประกันวิศวกรรม และความรับผิดต่อบุคคลภายนอก
บทสรุป
ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 ธุรกิจประกันวินาศภัยมีเบี้ยประกันรับรวม 43,939 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 โดยมีสาเหตุหลักจากการหดตัวของเบี้ยประกันภัยรับจากรถ และภัยทางทะเลและขนส่ง อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ ธุรกิจประกันวินาศภัยน่าจะมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นตามยอดขายรถ และการส่งออก ที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา และคาดว่าจะส่งผลให้เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงในปีนี้ อาจจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 0.6-2.5 หรือคิดเป็นจำนวนเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมประมาณ 106,900-108,950 ล้านบาท ชะลอตัวลงจากปีที่แล้วที่อยู่ในระดับร้อยละ 5.4
ทั้งนี้ การรับประกันภัยทางทะเลและขนส่ง คาดว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวมากที่สุดในปีนี้ เนื่องจากภาคการค้าระหว่างประเทศที่ชะลอตัวลงมาก ส่วนการรับประกันภัยรถ ซึ่งมีสัดส่วนเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงสูงที่สุดนั้น คาดว่าอาจจะหดตัวร้อยละ 1 ถึงขยายตัวได้เล็กน้อยประมาณร้อยละ 1 ตามฐานปริมาณรถที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การประกันเบ็ดเตล็ดนั้น คาดว่าจะเป็นกลุ่มเดียวที่น่าจะยังขยายตัวเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับปีที่แล้วในระดับประมาณร้อยละ 6-7 ขณะที่ประกันอัคคีภัย คาดว่ายังขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 0-2