การส่งออกพ้นจุดต่ำสุด … ครึ่งปีหลังมีโอกาสติดลบเป็นตัวเลขหลักเดียว

จากการรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยล่าสุดโดยกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 19 สิงหาคม 2552 แม้ว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การส่งออกโดยรวมในเดือนกรกฎาคม 2552 ยังหดตัวในอัตราที่สูงใกล้ๆ กับเดือนมิถุนายน แต่มูลค่าการส่งออกที่ปรับฤดูกาลขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นก็น่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้การส่งออกของไทยดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนต่อๆ ไป จึงน่าจะสามารถกล่าวได้ว่า การส่งออกในเดือนกรกฎาคมนี้ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อสถานการณ์และแนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี 2552 ดังนี้

การส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2552 หดตัวลงร้อยละ 25.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับเดือนมิถุนายน ที่หดตัวร้อยละ 25.9 และถ้าพิจารณาตัวเลขการส่งออกที่ไม่รวมทองคำ ก็จะให้ภาพในทิศทางเดียวกัน โดยหดตัวลงร้อยละ 24.5 ใกล้เคียงกับอัตราลบร้อยละ 24.9 ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการส่งออกยังคงหดตัวสูง แต่ถ้าพิจารณาในด้านมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมาที่ 12,908 ล้านดอลลาร์ฯ จาก 12,335 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนมิถุนายน และมูลค่าการส่งออกที่ปรับฤดูกาลก็ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า (Month-on-Month) ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 จึงอาจกล่าวได้ว่า การส่งออกของไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ส่วนในด้านการนำเข้าในเดือนกรกฎาคม ลดลงร้อยละ 32.5 (YoY) ซึ่งสูงกว่าอัตราการหดตัวที่ร้อยละ 29.3 ในเดือนก่อน โดยที่สำคัญเป็นผลมาจากการหดตัวของการนำเข้าเชื้อเพลิง อย่างไรก็ดี มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาที่ 12,202 ล้านดอลลาร์ฯ จากเดือนก่อนมีมูลค่า 11,398 ล้านดอลลาร์ฯ ที่สำคัญ การนำเข้าสินค้าทุน และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ยังมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งยังคงเป็นสัญญาณชี้นำที่ดีต่อภาวะส่งออกในเดือนข้างหน้า สำหรับดุลการค้าในเดือนมิถุนายนเกินดุล 706 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงจาก 937 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อนหน้า โดยภาพรวมในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 การส่งออกมีมูลค่า 81,115 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวลงร้อยละ 23.9 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 69,418 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 34.9 ดุลการค้าเกินดุลสูงถึง 11,697 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่ขาดดุล 812 ล้านดอลลาร์ฯ ในปีก่อน ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าที่จะผลักดันการส่งออกให้ติดลบน้อยที่สุด โดยปรับเป้าหมายการส่งออกในปี 2552 ให้สูงขึ้นเป็นหดตัวร้อยละ 10.0-18.0 จากเดิมกำหนดไว้ที่หดตัวร้อยละ 15.0-19.0

สินค้าที่มีการปรับตัวดีขึ้นในเดือนนี้ ได้แก่ กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ที่หดตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 13.9 (จากที่หดตัวร้อยละ 19.9 ในเดือนก่อน) จากสินค้าเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ส่วนกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทรงตัวอยู่ที่หดตัวร้อยละ 17.0 (จากที่หดตัวร้อยละ 17.7 ในเดือนก่อน) โดยสินค้าที่มีทิศทางดีขึ้น ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้าและวงจรพิมพ์ แต่คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของไทย หดตัวสูงขึ้นกว่าเดือนก่อน เนื่องจากการส่งออกไปยังจีนลดลง สำหรับสินค้าอื่นๆ ที่ปรับตัวดีขึ้น เช่น กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม หดตัวร้อยละ 9.0 (จากที่หดตัวร้อยละ 11.7 ในเดือนก่อน) จากสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปและผ้าผืน ขณะที่ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 7.0 (จากที่หดตัวร้อยละ 12.6 ในเดือนก่อน) สำหรับสินค้าสำคัญที่ยังคงหดตัวสูง อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 44.0 (จากร้อยละ 39.9) จากการส่งออกรถยนต์ โดยเฉพาะรถปิ๊กอัพ แต่การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 นอกจากนี้ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรหดตัวสูงขึ้น จากสินค้า เช่น ข้าว ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย ไก่แปรรูป เป็นต้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข่งขันในตลาดโลกมีความรุนแรง ซึ่งสินค้าไทยอาจเสียเปรียบในด้านราคาที่สูงกว่าคู่แข่ง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลาดใหม่ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นตลาดที่มีทิศทางดีในช่วงที่ผ่านมา กลับหดตัวสูงขึ้น สวนทางกับตลาดหลักที่ปรับตัวดีขึ้นในเดือนนี้ โดยการส่งออกไปยังตลาดใหม่ติดลบร้อยละ 25.2 จากที่หดตัวร้อยละ 18.2 ในเดือนก่อน เนื่องจากการส่งออกไปยังจีนหดตัวสูงขึ้นมาถึงร้อยละ 21.6 จากที่หดตัวเพียงร้อยละ 3.6 ในเดือนก่อน โดยเป็นผลมาจากการส่งออกที่ลดลงของสินค้าสำคัญ คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และยางพารา ขณะที่สินค้าที่เคยเพิ่มสูงอย่างมากเช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ก็ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี ตลาดใหม่ที่ยังมีการขยายตัว ได้แก่ อินเดีย พม่า สาธารณรัฐเช็ก บังกลาเทศ เป็นต้น ในด้านตลาดหลัก ปรับตัวดีขึ้นทุกตลาด หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 26.2 จากร้อยละ 32.8 ในเดือนก่อน โดยสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 20.8 (จากร้อยละ 22.7 ในเดือนก่อน) ญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ 24.6 (จากร้อยละ 27.8 ในเดือนก่อน) ประเทศยุโรปที่พัฒนาแล้วหดตัวร้อยละ 25.4 (จากร้อยละ 28.6 ในเดือนก่อน) ประเทศอาเซียนเดิม 4 ประเทศ หดตัวร้อยละ 30.7 (จากร้อยละ 42.5 ในเดือนก่อน)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สภาวะที่การส่งออกหดตัวรุนแรงด้วยอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 20 ดังเช่นเดือนที่ผ่านๆ มานั้น น่าจะยุติลงแล้ว และจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยมีมูลค่าการส่งออกในแต่ละเดือนสูงกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่มีมูลค่าเฉลี่ย 11,588 ดอลลาร์ฯ ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกหดตัวในอัตราที่น้อยลงมาที่ประมาณร้อยละ 15 ในเดือนสิงหาคม และเหลือเป็นตัวเลขหลักเดียวในเดือนตุลาคม ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวในแดนบวกเป็นครั้งแรกของปีนี้ได้ในเดือนพฤศจิกายน

เหตุผลที่คาดว่าการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในต่างประเทศเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นค่อนข้างชัดเจน โดยตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2552 ของประเทศชั้นนำส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3/2552 ยังบ่งชี้การปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคการผลิตและภาคอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่าจะมีสัญญาณลบแทรกเข้ามาบ้าง เช่น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของสหรัฐฯ ยังคงลดลง ตัวเลขอัตราว่างงานยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในระยะอันใกล้นี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่รัฐบาลของประเทศชั้นนำ อย่างกลุ่ม G-3 (สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น) และประเทศจีน นำออกมาใช้ จะยังคงมีผลต่อเนื่องให้เกิดการฟื้นตัวในภาคการผลิตและการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนความต้องการอุปโภคบริโภคสินค้าในประเทศเหล่านี้ให้ขยายตัวดีขึ้น ขณะที่กลุ่มประเทศในเอเชียที่หลายประเทศกลับมาขยายตัวได้ดีกว่าคาดเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) รวมทั้งเอเชียยังเป็นภูมิภาคที่น่าจะฟื้นตัวได้เข้มแข็งกว่าในภูมิภาคอื่นๆ กิจกรรมการผลิตกลับมาดีขึ้นของภูมิภาคเอเชียนี้ จึงน่าจะหนุนให้คำสั่งซื้อสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนประกอบที่ไทยส่งออกไปยังเอเชียมีทิศทางที่ดีขึ้น ในฐานะที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนของเครือข่ายการผลิตในภูมิภาค

สินค้าที่มีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ก่อนคาดว่าจะเป็นกลุ่มสินค้าสำหรับผู้บริโภค เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย นอกจากนี้ สินค้าวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิต เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง เหล็ก เคมีภัณฑ์และพลาสติก ก็น่าจะมีการเติบโตตามไปพร้อมกับตลาดสินค้าขั้นสุดท้ายด้วย ขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ก็อาจมีโอกาสส่งออกดีขึ้นในตลาดที่ได้รับผลบวกจากมาตรการของภาครัฐในการกระตุ้นการซื้อรถยนต์ใหม่ เช่น ในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ส่วนรถยนต์สำเร็จรูปอาจไม่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการเหล่านี้เท่าไรนัก แต่ก็อาจมีปัจจัยบวกมากขึ้นจากโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพเติบโต เช่น ตะวันออกกลางและแอฟริกา อย่างไรก็ดี แม้คาดว่าภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะดีขึ้นกว่าช่วงเวลาก่อนหน้า แต่การฟื้นตัวคงจะอยู่ในขอบเขตที่จำกัด เนื่องจากปัญหาการว่างงานและความเชื่อมั่นที่ยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ

จากทิศทางเศรษฐกิจในต่างประเทศที่มีการปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับกรอบล่างของประมาณการตัวเลขส่งออกของไทยในปี 2552 เพิ่มขึ้น เป็นหดตัวร้อยละ 14.5-17.5 จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่หดตัวร้อยละ 14.5-19.0 โดยการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสหดตัวชะลอลงมาเป็นตัวเลขหลักเดียว จากที่หดตัวสูงร้อยละ 23.5 ในช่วงครึ่งปีแรก

โดยสรุป ตัวเลขการส่งออกในเดือนกรกฎาคม แม้ว่ายังคงมีอัตราติดลบสูงร้อยละ 25.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มูลค่าการส่งออกที่ปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่แนวโน้มในเดือนต่อๆ ไป คาดว่าจะยังคงปรับตัวดีขึ้น จากการที่ประเทศส่วนใหญ่น่าจะหลุดพ้นจากภาวะถดถอยได้อย่างทั่วถึงมากขึ้นในไตรมาสที่ 3/2552 และโดยส่วนใหญ่แล้วน่าจะกลับมาขยายตัวในแดนบวกในไตรมาสสุดท้ายของปี ทิศทางดังกล่าวทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่าการส่งออกของไทยผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดมาแล้ว และมูลค่าการส่งออกน่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงระยะต่อไป มีมูลค่าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 13,000 ล้านดอลลาร์ฯ ส่งผลให้การส่งออกหดตัวชะลอลงมาที่ประมาณร้อยละ 15 ในเดือนสิงหาคม และเริ่มขยายตัวได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉลี่ยแล้ว มีโอกาสติดลบน้อยลงมาเหลือเพียงตัวเลขหลักเดียว จากที่หดตัวสูงร้อยละ 23.5 ในช่วงครึ่งปีแรก และทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกทั้งปี 2552 อาจจะหดตัวอยู่ระหว่างร้อยละ 14.5-17.5 โดยกรอบล่างดีขึ้นกว่าเดิมที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 14.5-19.0

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมองว่า แรงขับเคลื่อนการส่งออกของไทยที่สำคัญ น่าจะมาจากตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียที่มีจีนและอินเดียเป็นศูนย์กลางของพลังที่จะผลักดันการเติบโตของภูมิภาค อีกทั้งจะมีปัจจัยหนุนจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่จะยิ่งชัดเจนขึ้นในปีข้างหน้าที่ความตกลงการค้าเสรีหลายกรอบจะมีผลบังคับใช้ เช่น ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย การเปิดเสรีภาคการบริการในกลุ่มประเทศอาเซียนในสาขานำร่อง รวมทั้งกรอบความตกลงด้านการลงทุนระหว่างอาเซียน-จีน ทั้งหมดนี้น่าจะสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการค้าระหว่างกันภายในภูมิภาคยิ่งขึ้น สำหรับประเทศ G-3 ที่เป็นตลาดหลักของไทยนั้นก็ยังมีความสำคัญ แต่การฟื้นตัวของประเทศในกลุ่มนี้ยังมีความไม่แน่นอน โดยสิ่งที่หลายฝ่ายยังกังวลคือเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้อาจจะกลับมาชะลอตัวเมื่อผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจค่อยๆ หมดไป

ทั้งนี้ ธุรกิจที่คาดว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ก่อน โดยพื้นฐานแล้วน่าจะเป็นกลุ่มสินค้าสำหรับผู้บริโภค เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ขณะเดียวกัน สินค้าวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิต เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง เหล็ก เคมีภัณฑ์และพลาสติก ก็น่าจะมีการเติบโตตามไปพร้อมกับตลาดสินค้าขั้นสุดท้าย และความต้องการใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ประเด็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการส่งออกในการแสวงหาโอกาสในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวนี้ สิ่งสำคัญคือการติดตามอย่างเข้าใจต่อกระแสที่นำการฟื้นตัว เช่น ในระยะสั้นในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า ปัจจัยที่จะผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศอาจยังคงเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในแต่ละประเทศ ขณะที่ในระยะเวลาที่ไกลออกไปในปีข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอาจจะทำให้โครงสร้างการผลิตและการแข่งขันของบางอุตสาหกรรมเปลี่ยนโฉมหน้าไป อย่างเช่นการพัฒนาเทคโนโยลีรถยนต์สำหรับอนาคต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีกระแสหลักอาจมีผลทำให้ธุรกิจบางประเภทก้าวขึ้นมามีความสำคัญมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ธุรกิจบางประเภทอาจล้าสมัยลงไป การก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จและการอยู่รอดของผู้ประกอบการในการส่งออกของไทยในอนาคต