การส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคมหดตัวร้อยละ 25.7 (yoy) ถือว่าใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 25.9 (yoy) โดยการส่งออกของไทยไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ไม่ว่าจะเป็นตลาดอาเซียน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่อัตราหดตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 30.6 ร้อยละ 20.8 ร้อยละ 24.6 และร้อยละ 24.0 ตามลำดับ เนื่องจากอานิสงส์ของเศรษฐกิจของกลุ่มแกนนำหลักของโลกที่เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น ขณะที่การส่งออกของไทยไปตลาดจีนกลับมาติดลบสูงขึ้นเป็นร้อยละ 21.6 (yoy) เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่มีอัตราหดตัวชะลอลงค่อนข้างมากเหลือร้อยละ 3.5 (yoy) นับว่าเดือนกรกฎาคมเป็นเดือนแรกที่การส่งออกของไทยไปจีนหดตัวสูงขึ้น หลังจากที่อัตราติดลบของการส่งออกของไทยไปตลาดจีนชะลอลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมา 5 เดือนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าการส่งออกไปจีนในเดือนกรกฎาคมที่หดตัวสูงขึ้นค่อนข้างมากน่าจะมีสาเหตุจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้
ความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ยังไม่มั่นคงนัก โดยเฉพาะกลุ่มจี 3 ได้แก่ สหรัฐฯ กลุ่มยูโร และญี่ปุ่น เนื่องจากปัญหาการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงอ่อนแรง แม้ว่าจะมีสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจหลายๆ ด้านของกลุ่มจี 3 ปรากฏออกมาอย่างชัดเจนมากขึ้นแล้วก็ตาม ภาวะซบเซาของตลาดต่างประเทศส่งผลให้ภาคส่งออกของจีนในเดือนกรกฎาคมหดตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 23 (yoy) จากที่ชะลอลงเหลือร้อยละ 21.4 ในเดือนก่อนหน้า (yoy) สินค้าส่งออกของจีนที่มีอัตราหดตัวสูงขึ้นในเดือนกรกฎาคมจากเดือนเดียวกันของปี 2551 (yoy) เช่น เครื่องไฟฟ้าและเครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์เหล็ก เสื้อผ้า และรองเท้า
การส่งออกของจีนที่ซบเซาในเดือนกรกฎาคมส่งผลให้จีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนเพื่อใช้ผลิตส่งออกชะลอลงตามไปด้วย โดยการนำเข้าของจีนในเดือนกรกฎาคมหดตัวสูงขึ้นเเป็นร้อยละ 14.9 (yoy) เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 13.2 ในเดือนมิถุนายนก่อนหน้า (yoy) แต่ยังถือเป็นอัตราหดตัวน้อยกว่าในเดือนอื่นๆ ก่อนหน้านี้ การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปของจีนหลายรายการในเดือนกรกฎาคมมีอัตราหดตัวสูงขึ้น (yoy) เทียบกับในเดือนก่อนหน้า เช่น ยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์ พลาสติกขั้นต้น ผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องไฟฟ้าและเครื่องจักร
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนกรกฎาคมนี้ที่หดตัวเร่งขึ้น เนื่องจากฐานเปรียบเทียบในเดือนกรกฎาคมของปี 2551 ที่มีมูลค่าส่งออกค่อนข้างสูง ซึ่งถือเป็นเดือนที่มีการส่งออกสูงที่สุดในปี 2551 โดยมีมูลค่าส่งออก 1,665 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับมูลค่าส่งออกเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 ที่อยู่ที่ 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (มูลค่าส่งออกไปจีนอยู่ระหว่าง 1,330 – 1,447 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ส่งผลให้การส่งออกในเดือนกรกฎาคมของปีนี้มีอัตราหดตัวเร่งขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ปัจจัยอีกประการน่าจะมาจากการปรับความสมดุลในการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนที่จีนได้ปรับเพิ่มการนำเข้าในช่วงก่อนหน้านี้ไปบ้างแล้ว หลังจากที่เศรษฐกิจจีนปรับตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 7.9 ในช่วงไตรมาสที่ 2 จากที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่ำที่สุดในอัตราร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรก ซึ่งได้รับผลกระทบจากความต้องการในต่างประเทศที่ทรุดตัวอย่างหนัก และเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ทำให้ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในช่วงดังกล่าวปรับลดลงและลดการเก็บสต๊อกสินค้า ซึ่งในปัจจุบันเมื่อสินค้าคงคลังเริ่มเข้าสู่ระดับปกติแล้ว ทำให้คาดว่าภาคธุรกิจในจีนคงจะเริ่มชะลอการสั่งซื้อสินค้า ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าของจีนชะลอลง
ปัจจัย 3 ประการข้างต้นส่งผลกระทบให้สินค้าส่งออกของไทยไปจีนในเดือนกรกฎาคมมีอัตราหดตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 21.6 (yoy) เมื่อเทียบกับในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า (ไตรมาสที่ 2) ที่ลดลงร้อยละ 9.1 แต่ก็ยังถือว่าเป็นอัตราชะลอลงจากไตรมาสแรกที่การส่งออกไปจีนชะลอลงร้อยละ 27.6 หากเทียบการส่งออกในเดือนกรกฎาคมกับเดือนก่อนหน้า (m-o-m) พบว่าการส่งออกในเดือนกรกฎาคมกลับมาหดตัวร้อยละ 6.4 ถือเป็นอัตราติดลบเดือนแรกหลังจากที่การส่งออกสามารถขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันมาในช่วง 5 เดือนก่อนหน้า แต่มูลค่าส่งออกไปจีนในเดือนกรกฎาคมก็ยังถือว่าอยู่สูงกว่าเดือนอื่นๆ ของปีนี้ ยกเว้นเดือนมิถุนายนก่อนหน้าที่ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก
การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนกรกฎาคมปรับลดลงในทุกหมวดไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรกรรม อุตสาหกรรมเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม และสินแร่/เชื้อเพลิง โดยสินค้าส่งออกประเภทหลักๆของไทยไปจีน ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรม (สัดส่วนร้อยละ 78) หดตัวร้อยละ 2.3 จากที่ขยายตัวร้อยละ 7 ในเดือนก่อนหน้า และสินค้าเกษตรกรรมซึ่งรวมกสิกรรม ปศุสัตว์และประมง (สัดส่วนร้อยละ 16.7) หดตัวร้อยละ 29 (yoy) จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.5 ในเดือนมิถุนายน (yoy) ส่วนสินค้าส่งออกอื่นๆ ที่มีสัดส่วนไม่มากนัก ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 42 จากที่ลดลงราวร้อยละ 6 ในเดือนก่อนหน้า และการส่งออกสินแร่และเชื้อเพลิงหดตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 84 จากที่ลดลงร้อยละ 52 ในเดือนก่อนหน้า
สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีนในเดือนกรกฎาคมหลายรายการที่หดตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 3 เดือนก่อนหน้า ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบหดตัวร้อยละ 15.4 (จากที่ลดลงร้อยละ 13.6 ในไตรมาสที่ 2) แผงวงจรไฟฟ้าหดตัวร้อยละ 11.6 (ลดลงร้อยละ 6.1 ในไตรมาสที่ 2) น้ำมันสำเร็จรูปหดตัวร้อยละ 87 (จากที่ลดลงร้อยละ 41 ในไตรมาสที่ 2) และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ที่หดตัวร้อยละ 21.9 (จากที่ขยายตัวร้อยละ 13.1 ในไตรมาสที่ 2) และยางพาราที่ลดลงร้อยละ 52.8 (จากที่หดตัวร้อยละ 26.4 ในไตรมาสที่ 2) สินค้าส่งออกที่ขยายตัวชะลอลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และวงจรพิมพ์ สำหรับสินค้าส่งออกของไทยไปจีนที่ขยายตัวสูงขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง
อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มการส่งออกของจีนน่าจะปรับดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลุ่มยูโรและญี่ปุ่นที่ทยอยประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น นำโดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 2 โดยเติบโตร้อยละ 0.9 (QoQ) จากที่ติดลบใน 4 ไตรมาสก่อนหน้า ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกลุ่มยูโรในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ก็ปรับดีขึ้นเช่นกัน โดยอัตราหดตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 1.0 และร้อยละ 0.1 (QoQ) ตามลำดับ จากที่ติดลบร้อยละ 6.4 และร้อยละ 2.5 ในไตรมาสแรก ซึ่งสะท้อนชัดเจนมากขึ้นว่าเศรษฐกิจกลุ่มจี 3 ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว และคาดว่าจะค่อยๆ ปรับดีขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งน่าจะสนับสนุนให้การส่งออกของจีนไปยังกลุ่มจี 3 ที่เป็นตลาดส่งออกหลักของจีนที่กระเตื้องขึ้น ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบมูลค่า 586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 โดยมีดำเนินการระยะเวลา 2 ปี และมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจสาขาต่างๆ เพื่อกระตุ้นภาคการบริโภคและการลงทุนในประเทศ เช่น การกระตุ้นกำลังซื้อโดยการอุดหนุนการซื้อรถยนต์และเครื่องใช้ในบ้าน ทำให้คาดว่าปัจจัยบวกเหล่านี้น่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้ให้ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ที่อาจขยายตัวเป็นบวกเนื่องจากฐานเปรียบเทียบของการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงเดียวกันของปี 2551 ที่ค่อนข้างต่ำ
สรุป การส่งออกของไทยไปจีนยังคงเผชิญกับความผันผวนจากภาวะอุปสงค์ในตลาดโลกที่อ่อนแรงและยังฟื้นตัวไม่มั่นคงนัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าส่งออกของจีนในตลาดโลกสะท้อนจากการส่งออกของจีนในเดือนกรกฎาคมที่หดตัวสูงขึ้นหลังจากที่ชะลอลงในเดือนก่อนหน้า ส่งผลกระทบต่อความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนเพื่อใช้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมชะลอลง และทำให้สินค้าส่งออกของไทยไปจีนที่เกี่ยวข้องในภาคการผลิตของจีนต้องได้รับผลกระทบให้ชะลอลงตามไปด้วย โดยการส่งออกของไทยไปจีนในเดือนกรกฎาคมหดตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 21.6 (yoy) เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่มีอัตราหดตัวชะลอลงค่อนข้างมากเหลือร้อยละ 3.5 (yoy) นับว่าเดือนกรกฎาคมเป็นเดือนแรกที่การส่งออกของไทยไปจีนหดตัวสูงขึ้น หลังจากที่อัตราติดลบของการส่งออกของไทยไปจีนชะลอลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมา 5 เดือนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน หากเทียบการส่งออกในเดือนกรกฎาคมกับเดือนก่อนหน้า (m-o-m) พบว่าการส่งออกในเดือนกรกฎาคมกลับมาหดตัวร้อยละ 6.4 ถือเป็นอัตราติดลบเดือนแรกหลังจากที่การส่งออกสามารถขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันมาในช่วง 5 เดือนก่อนหน้า แต่มูลค่าส่งออกไปจีนในเดือนกรกฎาคมก็ยังถือว่าอยู่สูงกว่าเดือนอื่นๆ ของปีนี้ ยกเว้นเดือนมิถุนายนก่อนหน้าที่ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก
นอกจากนี้สาเหตุอื่นๆ ที่เหลือที่มีส่วนทำให้การส่งออกในเดือนกรกฎาคมหดตัวเร่งขึ้นในระดับสูง ได้แก่ ฐานเปรียบเทียบในเดือนกรกฎาคมของปี 2551 ที่มีมูลค่าส่งออกค่อนข้างสูง ซึ่งถือเป็นเดือนที่มีการส่งออกสูงที่สุดในปี 2551 โดยมีมูลค่าส่งออก 1,665 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับมูลค่าส่งออกเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 ที่อยู่ที่ 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจัยอีกประการน่าจะมาจากการปรับความสมดุลในการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนที่จีนได้ปรับเพิ่มการนำเข้าในช่วงก่อนหน้านี้ไปบ้างแล้ว หลังจากการที่สินค้าคงคลังเริ่มปรับลดลงในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเริ่มส่งผลรุนแรงในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจจีนไตรมาสแรกชะลอตัวต่ำสุด และเมื่อเศรษฐกิจจีนปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 ทำให้การสั่งซื้อสินค้าในช่วงที่ผ่านมาได้ปรับเพิ่มขึ้นส่งผลให้สินค้าคงคลังเริ่มเข้าสูระดับปกติแล้ว ทำให้คาดว่าภาคธุรกิจในจีนคงจะเริ่มชะลอการสั่งซื้อสินค้า ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าของจีนชะลอลง
อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มการส่งออกของจีนน่าจะปรับดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลุ่มยูโรและญี่ปุ่นที่ทยอยประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น นำโดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 2 โดยเติบโตร้อยละ 0.9 (QoQ) จากที่ติดลบใน 4 ไตรมาสก่อนหน้า ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกลุ่มยูโรในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ก็ปรับดีขึ้นเช่นกัน โดยอัตราหดตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 1.0 และร้อยละ 0.1 (QoQ) ตามลำดับ จากที่ติดลบร้อยละ 6.4 และร้อยละ 2.5 ในไตรมาสแรก ซึ่งสะท้อนชัดเจนมากขึ้นว่าเศรษฐกิจกลุ่มจี 3 ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว และคาดว่าจะค่อยๆ ปรับดีขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งน่าจะสนับสนุนให้การส่งออกของจีนไปยังกลุ่มจี 3 ที่เป็นตลาดส่งออกหลักของจีนที่กระเตื้องขึ้น ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบและมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจต่างๆ เพื่อกระตุ้นภาคการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ทำให้คาดว่าปัจจัยบวกเหล่านี้น่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้ให้ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ที่อาจขยายตัวเป็นบวกเนื่องจากฐานเปรียบเทียบของการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงเดียวกันของปี 2551 ที่ค่อนข้างต่ำ