ประเทศอาเซียนแม้ว่าจะเป็นคู่แข่งทางด้านการส่งออกสินค้าประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะ เวียดนาม กัมพูชา ลาว และอินโดนีเซียซึ่งมีข้อได้เปรียบทางด้านต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ ประกอบกับ การได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) จากประเทศผู้นำเข้าสำคัญของโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา และ กลุ่มสหภาพยุโรป จึงเป็นปัจจัยที่นับเป็นข้อได้เปรียบสำคัญของประเทศเหล่านี้ แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกัน อาเซียนก็เป็นตลาดส่งออกสิ่งทอประเภทต้นน้ำและกลางน้ำอันประกอบไปด้วยผ้าผืน เส้นด้าย และเส้นใยประดิษฐ์ ที่สำคัญของไทยด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจาก ประเทศเหล่านี้มีพัฒนาการทางด้านมูลค่าการส่งออกเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอปลายน้ำที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การผลิตวัตถุดิบยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ หรือบางส่วนที่ผลิตได้ก็ยังมีคุณภาพไม่เพียงพอที่จะใช้ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก ทำให้ต้องนำเข้าวัตถุดิบเพื่อไปผลิตเป็นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งไทยนับเป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญ เนื่องจากมีข้อได้เปรียบหลายประการ ทั้งด้านภาษีจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน รวมไปถึงการมีพรมแดนติดต่อกันทำให้มีต้นทุนการขนส่งสินค้าข้ามแดนต่ำ รวมทั้งทำให้มีความสะดวกรวดเร็วในการส่งมอบสินค้า ประการสำคัญ คุณภาพสินค้าของไทยก็อยู่ในระดับมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ซึ่งปัจจุบัน อาเซียนเป็นตลาดส่งออกคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 28.5 ของมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำของไทย แต่คาดว่าในอนาคต การส่งออกเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจากอาเซียนที่มีต้นทุนการผลิตต่ำจะเพิ่มบทบาทความสำคัญมากขึ้นในตลาดโลก ประกอบกับ ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนที่กำหนดให้ปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าประเทศสมาชิกเหลือร้อยละ 0 จะมีผลบังคับในช่วง 1 มกราคม 2553 จะยิ่งทำให้อาเซียนเกิดการพึ่งพาวัตถุดิบระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งไทยเองก็มีความพร้อมทางด้านการป้อนวัตถุดิบสิ่งทอที่มีคุณภาพให้กับประเทศในอาเซียนมากทีเดียว
อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องเป็นจำนวนมาก โดยประกอบไปด้วยอุตสาหกรรม 3 ขั้นตอนได้แก่ อุตสาหกรรมต้นน้ำ(Upstream) ประกอบด้วย การผลิตเส้นใย(เส้นใยธรรมชาติ เส้นใยสังเคราะห์) อุตสาหกรรมกลางน้ำ(Middlestream) ได้แก่ อุตสาหกรรมปั่นด้าย ทอผ้า ถักผ้า ฟอกย้อมและพิมพ์ตกแต่งสำเร็จ และอุตสาหกรรมปลายน้ำ(Downstream) ได้แก่ การผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป ถุงมือ ถุงเท้า ชุดชั้นใน เคหะสิ่งทอต่างๆ โดยอุตสาหกรรมสิ่งทอประเภทต้นน้ำและกลางน้ำนั้น เป็นวัตุถุดิบสำคัญที่ส่งต่อไปยังอุตสาหกรรมปลายน้ำคือเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มต่างๆ สำหรับประเทศไทยนั้น นอกเหนือจากผลิตเพื่อป้อนให้กับโรงงานในประเทศแล้ว ยังมีปริมาณที่เหลือเพื่อส่งออกเป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าสูงถึงปีละประมาณ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าดังกล่าวใกล้เคียงกับการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยที่มีมูลค่าประมาณปีละ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำของไทยนั้นเพิ่มขึ้นจาก 2,273.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2549 มาเป็น 2,525.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2550 แต่ในปี 2551 และปี 2552 นั้น การส่งออกได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าสำคัญทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น โดยมูลค่าส่งออกปี 2551 อยู่ที่ 2,507.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯลดลงร้อยละ 0.7 ส่วนช่วง 7 เดือนแรกปี 2552 มีมูลค่าส่งออก 1,316.3ล้านดอลลาร์สหรัฐฯลดลงร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าส่งออกส่วนใหญ่จะเป็นผ้าผืน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49.5 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำ รองลงมาได้แก่ด้ายเส้นใยประดิษฐ์สัดส่วนร้อยละ 24.0 เส้นใยประดิษฐ์สัดส่วนร้อยละ 19.9 และด้ายฝ้าย สัดส่วนร้อยละ 6.6 ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า มูลค่าการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกปี 2552 ติดลบทุกรายการสินค้า โดยที่ปรับลดลงมากที่สุดได้แก่ เส้นใยประดิษฐ์ลดลงร้อยละ 208 ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ลดลงร้อยละ 19.9 ด้ายฝ้ายลดลงร้อยละ 16.1 และผ้าผืนปรับตัวลดลงในอัตราที่น้อยสุดคือร้อยละ 6.5
ตลาดส่งออกวัตถุดิบสิ่งทอขั้นต้นและขั้นกลางของไทยนั้น มีการพึ่งพาตลาดส่งออกหลักทั้ง สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เพียงร้อยละ 14.7 ของมูลค่าการส่งออกผ้าผืน เส้นด้าย และเส้นใยประดิษฐ์เท่านั้น ซึ่งแยกเป็น ตลาดสหภาพยุโรปสัดส่วนร้อยละ 7.7 สหรัฐฯสัดส่วนร้อยละ 3.9 และญี่ปุ่นสัดส่วนร้อยละ 3.1 ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.2 จะส่งออกไปยังประเทศหรือกลุ่มประเทศที่เป็นฐานการผลิตและส่งออกเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มรายสำคัญของโลก ซึ่งประเทศเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ หรือประเทศที่ยังมีการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำน้อยกว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อาทิ ประเทศในกลุ่มอาเซียน(สัดส่วนร้อยละ 28.5) ประเทศตะวันออกกลาง(สัดส่วนร้อยละ 15.2) ประเทศเอเชียใต้เช่น อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ(สัดส่วนร้อยละ 14.1) และจีน(สัดส่วนร้อยละ 6.7) ดังนั้น ไทยจึงเผชิญการแข่งขันทางด้านการส่งออกของสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำน้อยกว่าสิ่งทอปลายน้ำประเภทเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งมีการพึ่งพาตลาดส่งออกหลักมากถึงประมาณร้อยละ 80.0
เป็นที่น่าสังเกตว่า อาเซียนนั้นเริ่มมีบทบาทสำคัญในฐานะตลาดส่งออกสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำ เนื่องจากประเทศในกลุ่มอาเซียนได้พัฒนาจนกลายเป็นผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปรายสำคัญของโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำอาทิ เวียดนาม กัมพูชา ลาว และอินโดนีเซีย ดังจะพิจารณาได้จากมูลค่าการส่งออกเครื่องนุ่งห่มของประเทศเหล่านี้ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ เวียดนามจากที่มีส่วนแบ่งตลาดส่งออกเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มในตลาดโลกสัดส่วนร้อยละ 0.9 ในปี 2000 เพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 1.6 ในปี 2006 กัมพูชาจากส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.5 ในปี 2000 มาเป็นร้อยละ 0.9 ในปี 2006 ขณะเดียวกันประเทศในอาเซียนเอง หลายๆประเทศก็ยังมีการผลิตสิ่งทอไม่ครบวงจร โดยเฉพาะสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง หรือมีปริมาณความต้องการในประเทศไม่มากพอที่จะลงทุนตั้งโรงงานเองเนื่องจากไม่คุ้มต้นทุน หรือสินค้าที่ผลิตได้มีคุณภาพมาตรฐานไม่ตรงตามที่ประเทศผู้นำเข้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มกำหนด ทำให้จำเป็นต้องมีการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบประเภทผ้าผืน เส้นด้าย เส้นใยประดิษฐ์ที่มีคุณภาพจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากไทยซึ่งมีข้อได้เปรียบทางด้านต้นทุนค่าขนส่ง รวมทั้งข้อได้เปรียบด้านภาษีนำเข้า จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน
ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ส่งผลทำให้การส่งออกสิ่งทอประเภทผ้าผืน เส้นด้าย เส้นใยประดิษฐ์ของไทยไปยังตลาดอาเซียนมีเพิ่มขึ้นจาก 560.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2549 เพิ่มขึ้นเป็น 656.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2550 และ 711.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2551 สำหรับช่วง 7 เดือนแรกปี 2552 เนื่องจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกอยู่ที่ 375.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯลดลงร้อยละ 11.0เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่สัดส่วนการส่งออกไปตลาดอาเซียนก็เพิ่มขึ้นเป็นลำดับจากร้อยละ 24.6 ของมูลค่าการส่งออกผ้าผืน เส้นด้าย เส้นใยประดิษฐ์ในปี 2549 ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 26.0 ในปี 2550 และ 28.3 ในปี 2551 สำหรับช่วง 7 เดือนแรกปี 2552 ส่วนแบ่งตลาดตลาดอาเซียนอยู่ที่ร้อยละ 28.5 ตลาดส่งออกผ้าผืนที่สำคัญในอาเซียนได้แก่ เวียดนาม ลาวและสิงคโปร์ ตลาดด้ายฝ้ายได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนตลาดด้ายเส้นใยประดิษฐ์ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย และสำหรับตลาดเส้นใยประดิษฐ์ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
จะเห็นได้ว่า ตลาดอาเซียน นับว่ามีอนาคตสดใสสำหรับการส่งออกวัตถุดิบสิ่งทอของไทย โดยเฉพาะภายหลังจากที่เศรษฐกิจโลกสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ จะทำให้ความต้องการบริโภคเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจะมีมากขึ้น ประเทศไทยรวมถึงประเทศในอาเซียนที่มีต้นทุนการผลิตต่ำอาทิ เวียดนาม กัมพูชา ลาวและอินโดนีเซีย จะเป็นผู้ผลิตเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มเพื่อป้อนตลาดโลกที่โดดเด่น นอกจากนี้ ประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ต่างมีการวางเป้าหมายในด้านการเพิ่มบทบาทการผลิตเพื่อส่งออกเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มในตลาดโลก อาทิ เวียดนาม มีการตั้งเป้าหมายเลื่อนอันดับจากประเทศผู้ส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอันดับที่ 9 ของโลกในปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 1 ใน 5 ของโลกในปี 2558 ในขณะที่ลาวก็กำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 ปี 2549-2553 กำหนดให้อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นหนึ่งในสินค้าที่เพิ่มรายได้ด้านการส่งออก สำหรับกัมพูชานั้นก็ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมสิ่งทอเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากปี 2551 ที่ผ่านมา กัมพูชามีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็นอันดับ 1 จากจำนวนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมทั้งหมด ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ส่งผลทำให้ความต้องการวัตถุดิบสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำของประเทศในอาเซียนเพิ่มขึ้นตามมูลค่าการส่งออกเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบที่มีคุณภาพที่นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งรวมถึงไทยที่สินค้ามีการพัฒนาคุณภาพจนเป็นที่ต้องการของตลาดโลก
ปัจจัยสนับสนุนประการต่อมาคือ ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนซึ่งเป็นข้อได้เปรียบอย่างสำคัญของไทยเมื่อเทียบกับสินค้านอกกลุ่ม ทั้งนี้อาเซียนกำหนดให้ประเทศสมาชิกปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าทั่วไปซึ่งรวมถึงสินค้าประเภทสิ่งทอลงเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 สำหรับสมาชิกเดิม และภายในปี 2558 สำหรับสมาชิกใหม่อันได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า แต่อัตราภาษีที่จัดเก็บก่อนถึงปี 2558 ก็อยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 5 ซึ่งปัจจัยดังกล่าว นับเป็นการสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกในอาเซียนมีการพึ่งพาวัตถุดิบระหว่างกันมากขึ้น และไทยเองก็มีความพร้อมด้านนี้ค่อนข้างมาก เนื่องจากมีการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอแบบครบวงจรทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ประกอบกับที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยมีการพัฒนาทางด้านเครื่องจักร เทคโนโลยีการผลิตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สิ่งทอที่ผลิตได้มีคุณภาพมาตรฐาน โดดเด่นเป็นที่ยอมรับของตลาดโลกเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา ลาวหรือพม่า อีกทั้งการมีพรมแดนติดต่อกันก็ช่วยให้สินค้าจากไทยมีต้นทุนการขนส่งสินค้าข้ามแดนต่ำ รวมทั้งทำให้มีความสะดวก รวดเร็วในการส่งมอบสินค้า ช่วยให้ผู้นำเข้าสามารถบริหารสต็อกสินค้าได้มีประสิทธิภาพภายใต้ต้นทุนที่ลดลง
สำหรับปัจจัยพึงระวังที่อาจส่งผลกระทบต่อไทยในฐานะเป็นผู้ส่งออกสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำให้กับตลาดอาเซียน ได้แก่ สินค้าจากประเทศคู่แข่งที่มีต้นทุนการผลิตต่ำอาทิ อินโดนีเซีย ซึ่งมีการผลิตสินค้าสิ่งทอแบบครบวงจรเช่นเดียวกับไทย รวมทั้งจีน ซึ่งจะได้รับประโยชน์ทางภาษีเช่นเดียวกับประเทศสมาชิกอาเซียนอันเป็นผลจากข้อตกลงอาเซียน-จีน นอกจากนี้ การที่ประเทศผู้นำเข้าสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มรายสำคัญของโลกทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีการเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานสิ่งทอในประเทศอาเซียนที่มีต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่ำอาทิ เวียดนาม กัมพูชา ลาว ซึ่งจะทำให้ลดการพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศลงได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการของไทย จึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับปัจจัยลบดังที่กล่าวมาแล้ว อาทิ การพัฒนาคุณภาพผ้าผืน เส้นด้าย เส้นใยประดิษฐ์ ให้สูงขึ้นเพื่อรองรับการผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่ต้องการคุณภาพมาตรฐานระดับสูง ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการของไทยก็ควรพิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการเข้าไปหาลู่ทางลงทุนตั้งโรงงานในอาเซียนเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้มากขึ้น
กล่าวโดยสรุปแล้ว อาเซียนนับเป็นตลาดส่งออกสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำประเภท ผ้าผืน เส้นด้าย และเส้นใยประดิษฐ์ที่สำคัญของไทย เนื่องจากมูลค่าการส่งออกเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มของประเทศในอาเซียนที่มีต้นทุนการผลิตต่ำอาทิ เวียนดนามกัมพูชา ลาว และอินนีเซียมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ แม้ว่าไทยเองจะมีคู่แข่งทั้งอินโดนีเซีย และจีน แต่การมีพรมแดนติดกันกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งสะดวกต่อการขนส่ง ประกอบกับสินค้าไทยมีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดโลกจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญต่อการเพิ่มมูลค่าส่งออกในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาท ผู้ประกอบการไทยเองควรหามาตรการอื่นๆรองรับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาทิ การพัฒนาคุณภาพสินค้าให้สูงขึ้น รวมถึงการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศในอาเซียน และประการสำคัญคือ การเร่งกระจายตลาดส่งออกใหม่ๆอาทิ จีน ประเทศในเอเชียใต้ เช่น ปากีสถาน อินเดีย และบังคลาเทศ รวมทั้งประเทศอเมริกากลางเช่น กัวเตมาลา ฮอนดูรัส ซึ่งถือเป็นฐานการผลิตเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มที่สำคัญของโลก ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป