การส่งออกไก่แปรรูปของไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้เลี้ยงไก่ขยายปริมาณการเลี้ยงไก่เนื้อ และผู้ประกอบการส่งออกไก่แปรรูปก็ปรับประมาณการส่งออกไก่แปรรูปในปี 2552 จากที่คาดการณ์ไว้ในตอนต้นปีว่าการส่งออกจะหดตัว โดยพลิกกลับมาเป็นใกล้เคียงกับในปี 2552 หรืออาจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยได้อานิสงส์จากการขยายการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น แม้ว่าตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดที่มีความสำคัญเป็นอันดับสอง เกาหลีใต้และแคนาดา ซึ่งเป็นตลาดความหวังใหม่ของไทย จะมีแนวโน้มหดตัวก็ตาม คาดการณ์ว่าการส่งออกไก่แปรรูปในช่วงที่เหลือของปี 2552 มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ตลาดส่งออกไก่แปรรูป…ปรับเพิ่มขึ้นดีเกินคาด
การส่งออกไก่แปรรูปของไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 เท่ากับ 195,677 ตัน มูลค่า 26,851.70 ล้านบาท( 774.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 2.0 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 (แต่ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯหดตัวร้อยละ 1.2) นับว่าอยู่ในเกณฑ์ดีกว่าที่คาดไว้ในช่วงต้นปีว่าการส่งออกไก่แปรรูปมีแนวโน้มชะลอตัว อันเนื่องจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า แต่ปรากฏว่าการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญ คือ ญี่ปุ่น ยังคงมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากผู้นำเข้าญี่ปุ่นหันมานำเข้าไก่แปรรูปจากไทยทดแทนการนำเข้าจากจีน จากปัญหาภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยของสินค้าอาหารจากจีน
ผู้ประกอบการส่งออกไก่แปรรูปปรับประมาณการปี 2552 ใหม่ โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกในปี 2552 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.7-3.8 แสนตัน เมื่อเทียบกับปี 2551 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8-5.6 จากเดิมที่เคยคาดว่าปริมาณการส่งออกไก่แปรรูปจะลดลงถึงร้อยละ 7.0-9.0 ส่วนในแง่ของมูลค่าการส่งออกทั้งปี ปรับเพิ่มเป็น 53,000 ล้านบาท (1,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เมื่อเทียบกับปี 2551 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4(ในรูปของดอลลาร์สหรัฐฯแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0) จากเดิมคาดไว้ในช่วงต้นปีว่ามูลค่าการส่งออกไก่แปรรูปเท่ากับ 40,000-45,000 ล้านบาท ( 1,169.59-1,315.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าการส่งออกไก่แปรรูปในช่วงที่เหลือของปี 2552 ยังคงมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น รวมทั้ง ผู้ส่งออกไก่แปรรูปรายใหญ่ของไทยหันไปเจาะขยายตลาดตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น
ตลาดญี่ปุ่นยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไก่แปรรูป แม้ว่าในช่วง 7 เดือนแรกในปี 2552 มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นจะยังคงขยายตัว แต่ก็อยู่ในอัตราที่ชะลอตัวลง กล่าวคือ ในช่วง 7 เดือนแรกในปี 2552 มูลค่าการส่งออกไก่แปรรูปไปยังตลาดญี่ปุ่นเท่ากับ 381.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.1 ในขณะที่ช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.1 ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาภาพลักษณ์ทางด้านอาหารของจีน ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดญี่ปุ่น ทำให้ผู้นำเข้าญี่ปุ่นหันมานำเข้าไก่แปรรูปจากไทยแทน
ส่วนมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดที่มีความสำคัญเป็นอันดับสองของไทยมีมูลค่าลดลงอย่างมาก โดยในช่วง 7 เดือนแรกในปี 2552 มูลค่าการส่งออกไก่แปรรูปไปยังตลาดสหภาพยุโรปเท่ากับ 348.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 แล้วหดตัวร้อยละ 17.1 ในขณะที่ช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 73.1
จากการคาดการณ์ว่าการส่งออกไก่แปรรูปในปี 2552 มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปี ทำให้คาดว่าผู้เลี้ยงไก่เนื้อจะผลิตไก่เนื้อได้ 920 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ผลิตได้ 879 ล้านตัว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 นับว่าเป็นการเพิ่มปริมาณการผลิตไก่เนื้อจากที่เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปี 2552 ผู้ประกอบการจะปรับลดการผลิตให้สอดคล้องกับการส่งออกที่เคยคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัว
ตลาดญี่ปุ่น…ยังต้องจับตามองจีน
ไก่แปรรูปของไทยครองตลาดเป็นอันดับหนึ่งในตลาดญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2551 โดยแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดมาจากจีนที่เคยครองอันดับหนึ่งอยู่ เนื่องจากจีนประสบปัญหาภาพลักษณ์สินค้าอาหาร ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 มูลค่าการนำเข้าไก่แปรรูปจากไทยเพิ่มขึ้นเป็น 343.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.3 ในขณะที่ญี่ปุ่นชะลอการนำเข้าไก่แปรรูปจากจีน โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 มูลค่านำเข้าไก่แปรรูปของจีนเท่ากับ 209.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.9 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ยังต้องจับตามองในตลาดญี่ปุ่น คือ ญี่ปุ่นเพิ่มการนำเข้าไก่แปรรูปจากประเทศอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อกระจายตลาด โดยหันไปนำเข้าจากฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้ ทำให้ทั้งสองประเทศนี้จะกลายเป็นคู่แข่งที่ต้องจับตามอง แม้ว่าในปัจจุบันมูลค่าการนำเข้าไก่แปรรูปจากทั้งสองประเทศนี้ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับไทย นอกจากนี้ ผู้นำเข้าญี่ปุ่นก็ลดการนำเข้าไก่แปรรูปทั้งจากบราซิลและสหรัฐฯ
ไก่แปรรูปของไทยนั้นส่งเข้าป้อนตลาดกลุ่มภัตตาคาร อุตสาหกรรมอาหารและการจัดเลี้ยง รวมถึงการจำหน่ายปลีกในลักษณะของอาหารสำเร็จรูป คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ญี่ปุ่นจะยังคงนำเข้าไก่แปรรูปของไทยอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่ามูลค่าการนำเข้าไก่แปรรูปของญี่ปุ่นในปี 2552 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,680 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับในปี 2551 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.8 โดยคาดว่าญี่ปุ่นจะนำเข้าไก่แปรรูปจากไทย 1,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับในปี 2551 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.6 อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกไก่แปรรูปของไทยคงต้องระวังคู่แข่งสำคัญอย่างจีน ที่จะกลับเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดคืนไปในปี 2553 เมื่อจีนมีการปรับปรุงพัฒนาภาพลักษณ์ด้านอาหารให้เป็นที่ยอมรับของชาวญี่ปุ่น
ตลาดสหภาพยุโรป…ขยายตลาดเพิ่ม ต้องพึ่งการเจรจาทวิภาคี
ในตลาดสหภาพยุโรปไทยยังคงครองสัดส่วนตลาดเป็นอันดับหนึ่งในสินค้าไก่แปรรูปทั้งในพิกัด 160232 และ 160239 กล่าวคือ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 สหภาพยุโรปนำเข้าไก่แปรรูป(พิกัด 160232 เนื้อไก่แปรรูปที่เป็นเนื้อล้วน และอาหารแปรรูปที่มีเนื้อไก่เป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมจีบไส้ไก่ ปอเปี๊ยะ แกงไก่บรรจุในภาชนะที่อากาศผ่านเข้าไม่ได้ ฯลฯ) จากไทย 171.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.4 เนื่องจากหันไปเพิ่มการนำเข้าจากแหล่งอื่น โดยเฉพาะบราซิล โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 สหภาพยุโรปนำเข้าไก่แปรรูปจากบราซิล 98.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 ซึ่งเมื่อเทียบส่วนแบ่งตลาดแล้ว แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 ไทยยังครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งที่ร้อยละ 61.5 และบราซิลตามมาเป็นอันดับสองที่ร้อยละ 35.2 แต่เป็นที่สังเกตได้ว่าบราซิลเริ่มเข้ามาเบียดแย่งตลาดไก่แปรรูปของไทยในตลาดสหภาพยุโรป
สำหรับไก่แปรรูปพิกัด 160239(อาหารสำเร็จรูปที่มีเนื้อไก่เป็นส่วนประกอบ) ไทยครองตลาดเกือบทั้งหมด(ประมาณร้อยละ 97-98) แม้ว่ามูลค่าการนำเข้าไก่แปรรูปในพิกัดนี้จะน้อยกว่า แต่อัตราการขยายตัวน่าสนใจ กล่าวคือ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 มูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 24.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.5 โดยเป็นการนำเข้าจากไทย 23.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 28.4
สำหรับการเจาะขยายตลาดสินค้าไก่แปรรูปในตลาดสหภาพยุโรปนั้นต้องพึ่งการเจรจาในระดับทวิภาคี ในประเด็นที่สำคัญ คือ
1.เร่งเจรจาโอนโควตาไก่หมักเกลือมาเป็นโควตาไก่แปรรูป การส่งออกไก่แปรรูปจากไทยไปตลาดสหภาพยุโรปในครึ่งแรกของปีนี้ส่งออกไปแล้วถึง 86,843 ตัน จากโควตาที่ได้รับ 160,033 ตัน ดังนั้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 จากแนวโน้มการส่งออกที่ดีกว่าครึ่งปีแรก และขณะนี้คำสั่งซื้อจากสหภาพยุโรปเริ่มเพิ่มขึ้น จึงคาดว่าไทยจะส่งออกไก่แปรรูปไปสหภาพยุโรปเกินโควตาที่ได้รับ ซึ่งหมายความว่าส่วนที่เกินโควตาต้องเสียภาษีนำเข้าสูงถึง 1,024 ยูโรต่อตัน หรือราวร้อยละ 53 เมื่อเทียบกับภาษีในโควตาที่อยู่ในระดับเพียงร้อยละ 8 ซึ่งผู้ที่นำเข้าเป็นผู้ที่เสียภาษีคงต้องวางแผนการนำเข้าให้ดี คาดการณ์ว่าผู้ส่งออกไก่แปรรูปของไทยอาจถูกต่อรองราคาสินค้ามากขึ้น ดังนั้นไทยคงต้องเร่งเจรจาขอให้สหภาพยุโรปนำโควตาไก่หมักเกลือที่ให้กับไทยปีละ 92,610 ตัน อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 15.4 โอนมาเป็นไก่แปรรูป เนื่องจากนับแต่เกิดโรคไข้หวัดนกในปี 2548 ไทยไม่สามารถส่งออกไก่หมักเกลือไปสหภาพยุโรปได้ ดังนั้นควรนำโควตาดังกล่าวมาเพิ่มเติมในส่วนของโควตาไก่แปรรูปให้กับไทย ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกของไทยมีโอกาสในการส่งออกไก่แปรรูปภายใต้โควตามากขึ้น
2.เจรจาขอชดเชยจากการที่สหภาพยุโรปเปลี่ยนแปลงภาษีนำเข้า สหภาพยุโรปยื่นขอเปลี่ยนแปลงภาษีนำเข้าสินค้าสัตว์ปีกแปรรูปต่อองค์การการค้าโลก 8 รายการ ซึ่งในจำนวนนี้ 5 รายการ ไทยเป็นผู้ส่งออกไปสหภาพยุโรปมากเป็นอันดับหนึ่ง กระทรวงพาณิชย์ได้มีการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางในการดำเนินการ โดยจะต้องเร่งกำหนดกรอบเจรจาเพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เพื่อจะได้เจรจาขอชดเชยผลประโยชน์ที่เสียไปจากสหภาพยุโรปปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้า ขณะที่สินค้าสัตว์ปีกแปรรูป 8 รายการ ไทยเสียภาษีนำเข้าเฉลี่ยร้อยละ 10.9 แต่หากจะมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าผู้ส่งออกของไทยจะเสียประโยชน์
ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราภาษีใหม่ที่จะปรับขึ้น แต่มีรายละเอียดเฉพาะรายการสินค้าไก่แปรรูปที่จะปรับขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีเนื้อไก่ เป็ด ห่านเป็นส่วนประกอบ เช่น ในลักษณะขนมจีบที่มีเนื้อไก่อยู่ภายใน เปาะเปี๊ยะไก่ แกงไก่บรรจุภาชนะที่อากาศผ่านเข้าออกไม่ได้ เป็นต้น (ไม่ใช่เนื้อไก่แปรรูปล้วนๆ เหมือนที่ไทยได้ชดเชยโควตานำเข้าอียูปีละ 160,033 ตันก่อนหน้านี้) อย่างไรก็ตาม ในจำนวน 8 รายการนี้อียูมีการนำเข้าจากไทยมากที่สุด 5 รายการ และอีก 1 รายการไทยส่งออกเป็นอันดับสอง โดย 5 รายการ ประกอบด้วย เนื้อไก่แปรรูปที่มีสัดส่วนเนื้อไก่น้อยกว่า 25% (พิกัด 16023290) เนื้อเป็ด ห่าน ไก่กินีแปรรูป(ดิบ)ที่มีสัดส่วนเนื้อมากกว่า 57% (พิกัด 16023921)เนื้อเป็ด ห่าน ไก่กินีแปรรูป(ปรุงสุก)ที่มีสัดส่วนเนื้อมากกว่า 57% (พิกัด 16023929) เนื้อเป็ด ห่าน ไก่กินีแปรรูป(ดิบ) ที่มีสัดส่วนเนื้อมากกว่า 25% แต่ไม่เกิน 57% (พิกัด 16023940)และเนื้อเป็ด ห่าน ไก่กินีแปรรูปที่มีสัดส่วนเนื้อน้อยกว่า 25% (พิกัด 16023980) ส่วน 1 รายการที่นำเข้าเป็นอันดับสองคือ ตับเป็ด และตับห่านพิกัด (16022010) สหภาพยุโรปนำเข้าจากไทยไม่มากนัก
ผลจากการประชุมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2552 ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในกรณีที่สหภาพยุโรปแจ้งต่อองค์การการค้าโลก เพื่อขอขึ้นภาษีสินค้าสัตว์ปีกแปรรูป 8 รายการ สรุปได้ว่าจะต้องมีการตั้งคณะทำงานประสานงานกันเรื่อง กรอบการเจรจาขอชดเชยการปรับเปลี่ยนตารางข้อผูกพันในสินค้าไก่แปรรูป เพื่อกำหนดกรอบแนวทางเจรจา เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ และเสนอผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะต้องดำเนินการให้ทันในวันที่ 14 กันยายน 2552 นี้ โดยไทยจะยื่นขอเจรจา เพื่อชดเชยความเสียหาย เพราะเป็นสินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดมากเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการปรับภาษี หากมีการเจรจาเรื่องการชดเชยผลประโยชน์ สูตรในการขอชดเชยน่าจะคล้ายกับการเจรจาต่อรองที่ไทยเคยได้โควตาชดเชยไก่แปรรูปในพิกัดที่มีสัดส่วนเนื้อไก่ล้วนจำนวน 160,033 ตัน โดยสูตรในการให้โควตาอาจพิจารณาจากปริมาณนำเข้าไก่ของอียูใน 8 พิกัดที่จะมีการปรับเปลี่ยนอัตราภาษี ในปีที่ผ่านมา บวกกับอัตราการขยายตัวของการนำเข้าในปีเดียวกัน หลังจากนั้นจะแบ่งโควตาการนำเข้าให้แต่ละประเทศ รวมทั้งไทยตามส่วนแบ่งตลาด ซึ่งในโควตาอาจเสียภาษีเท่าเดิมคือเฉลี่ยร้อยละ 10.9 หรือต่ำกว่าขึ้นกับการเจรจา ส่วนนอกโควตาอาจเสียภาษีนำเข้าสูงกว่าร้อยละ 50 ซึ่งถือเป็นการจำกัดอัตราการขยายตัวของไก่ไทยในอนาคต
บทสรุป
วงการค้าไก่เนื้อคาดการณ์ว่าในปี 2552 การส่งออกไก่แปรรูปของไทยจะดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปี 2552 โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกในปี 2552 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.7-3.8 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8-5.6 จากเดิมที่เคยคาดว่าจะลดลงถึงร้อยละ 7.0-9.0 ส่วนในแง่ของมูลค่าการส่งออกเพิ่มเป็น 53,000 ล้านบาท (1,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เมื่อเทียบกับปี 2551 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4(ในรูปของดอลลาร์สหรัฐฯแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0) จากเดิมคาดไว้ในช่วงต้นปีว่ามูลค่าการส่งออกไก่แปรรูปเท่ากับ 40,000-45,000 ล้านบาท( 1,169.59-1,315.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ทำให้บรรดาเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อขยายการเลี้ยงไก่เนื้อเพิ่มขึ้น
การส่งออกไก่แปรรูปที่อยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น อันเป็นผลมาจากญี่ปุ่นหันมานำเข้าไก่แปรรูปจากไทยทดแทนการนำเข้าจากจีน จากการที่จีนประสบปัญหาในเรื่องภาพลักษณ์ความปลอดภัยสินค้าอาหาร อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปี 2552 ผู้ส่งออกไก่แปรรูปของไทยคงยังต้องจับตามองจีนที่มีโอกาสกลับเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดไก่แปรรูปกลับคืน
ส่วนการส่งออกไก่แปรรูปไปยังสหภาพยุโรป แม้ว่าไทยยังคงครองตลาดอันดับหนึ่ง แต่ในปี 2552 ผู้นำเข้าของสหภาพยุโรปเริ่มหันไปนำเข้าจากบราซิลเพิ่มขึ้น ซึ่งการเจาะขยายตลาดไก่แปรรูปในสหภาพยุโรปนั้นต้องอาศัยการเจรจาในระดับทวิภาคีในสองประเด็น คือ การโอนโควตาชดเชยที่สหภาพยุโรปให้ไทยในรูปของไก่หมักเกลือมาเป็นโควตาไก่แปรรูป เนื่องจากไทยไม่มีโอกาสในการส่งออกไก่หมักเกลือ ซึ่งถือว่าเป็นไก่สด เนื่องจากไทยยังไม่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ปลอดไข้หวัดนก ส่วนประเด็นในเรื่องการที่สหภาพยุโรปยื่นเรื่องขอปรับภาษีไก่แปรรูปบางรายการต่อองค์การการค้าโลก ไทยคงต้องเร่งเจรจาในเรื่องขอชดเชยผลประโยชน์ เนื่องจากผู้ส่งออกไก่แปรรูปของไทยได้รับผลกระทบ และไทยเป็นผู้ส่งออกที่ส่วนแบ่งตลาดมากเป็นอันดับหนึ่ง