บรรยายภาพ จากซ้ายไปขวา
1. นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
2. นายธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
3. ศ.ดร. ศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4. รศ. สุปราณี จิราณรงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายประถม)
5. รศ.ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
8 กันยายน 2552 – ไอบีเอ็มเปิดตัว “Reading Companion” โปรแกรมฝึกภาษาอังกฤษผ่านเว็บไซต์ฟรีตลอด 24 ชม. เตรียมเผยแพร่ให้โรงเรียนต่างๆ หวังติดอาวุธทางปัญญาให้เด็กไทยเก่งภาษาและคอมพิวเตอร์ พร้อมนำร่องมอบโปรแกรมให้ 2 โรงเรียน “สาธิตจุฬาฯ – สาธิตเกษตรฯ”
หนึ่งในวิสัยทัศน์ของไอบีเอ็มคือการสนับสนุนการศึกษาและการพัฒนาบุคลากร เพราะไอบีเอ็มตระหนักดีว่าการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกทุกวันนี้เชื่อมโยงถึงกันหมด จึงทำให้การศึกษาและความสามารถด้านภาษาอังกฤษเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราอยู่ได้เวทีโลก ดังนั้น การพัฒนาทักษะทางภาษาจึงเป็นหนึ่งในโครงการที่ไอบีเอ็มดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
นายธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า “สำหรับประเทศไทย เรายังไม่สามารถผลิตบุคลากรให้เพียงพอทั้งคุณภาพและปริมาณเพื่อรองรับกับความเจริญรุดหน้าของประเทศ โดยเฉพาะปัญหาการขาดความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ ไอบีเอ็มจึงเห็นโอกาสที่เราจะสามารถนำความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทย เนื่องจากเรามองว่าการศึกษาเพื่อบุคลากรในศตวรรษใหม่ หรือ Education for 21st Century นั้น ควรมุ่งเป้าหมายไปที่การผลิตให้เยาวชนมีความสามารถในด้านต่างๆ อย่างรอบด้าน ทั้งด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงด้านภาษา จึงเป็นที่มาของการเปิดตัวโปรแกรม Reading Companion เป็นครั้งแรกในประเทศไทยในวันนี้”
นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงรายละเอียดของโปรแกรม Reading Companion (รีดดิ้ง คอมพาเนียน) ว่า “Reading Companion เป็นซอฟต์แวร์เพื่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านเว็บไซต์ ด้วยการใช้เทคโนโลยีจดจำเสียง (Voice Recognition Technology) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ไอบีเอ็มได้พัฒนามานานกว่าทศวรรษ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลกให้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ เน้นกลุ่มเป้าหมายคือเด็กอายุตั้งแต่ 5-7 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ใหญ่ที่ต้องการเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง ซึ่งปัจจุบันไอบีเอ็มได้มอบสิทธิการใช้โปรแกรมดังกล่าวให้แก่โรงเรียนและองค์กรไม่แสวงผลกำไรกว่า 750 แห่งใน 26 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ
สำหรับการมอบสิทธิการใช้โปรแกรม Reading Companion ให้แก่โรงเรียน 2 แห่ง คือโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายประถม) และโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา นั้น นางอรอุมากล่าวถึงที่มาว่า ก่อนหน้านี้ไอบีเอ็มได้เคยเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาการเรียนการสอนให้แก่ทั้งสองโรงเรียนนี้มาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ในครั้งนี้ไอบีเอ็มจึงได้ร่วมมือกับทั้งสองโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการมอบสิทธิการใช้โปรแกรม Reading Companion ซึ่งภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ทั้งสองโรงเรียนจะนำโปรแกรม Reading Companion เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษต่อไป
รศ. สุปราณี จิราณรงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายประถม) กล่าวว่า “ในยุคปัจจุบันที่อินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ ทำให้ภาษาอังกฤษมีความสำคัญมากในฐานะที่เป็นสื่อกลางในการเรียนรู้ในทุกๆ สาขา อย่างไรก็ตามนักเรียนไทยปัจจุบันยังขาดทักษะภาษาอังกฤษโดยเฉพาะการฟังและการพูด ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเรียนภาษาอังกฤษ และได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้มีความก้าวหน้าและทันสมัยมาโดยตลอด”
ถึงแม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยเริ่มมีการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันมากขึ้นก็ตาม แต่จากข้อมูลขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) ในปี 2549 พบว่า การใช้ภาษาอังกฤษที่ถูกต้องในโรงเรียนไทยอยู่ในอัตราที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศลาวและประเทศเวียดนาม
“การสนับสนุนจากไอบีเอ็มในครั้งนี้นับเป็นที่น่ายินดีที่โรงเรียนได้สิทธิการใช้โปรแกรม Reading Companion ซึ่งเชื่อว่าจะเข้ามาเป็นส่วนเสริมที่สามารถช่วยให้นักเรียนมีเครื่องมือในการฝึกฝนด้วยตนเอง นอกเหนือไปจากการเรียนจากครูผู้สอนเพียงอย่างเดียว โดยโรงเรียนจะนำโปรแกรม Reading Companion เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนมีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีขึ้น และในระยะยาว เมื่อเยาวชนไทยรู้ภาษาอังกฤษมากขึ้น ก็จะเปรียบเสมือนได้ติดอาวุธสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระดับสากลได้”
รศ. ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ อาจารย์ใหญ่ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “หนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของโรงเรียนสาธิตเกษตรฯ คือการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา โปรแกรม Reading Companion จึงถือเป็นอีกนวัตกรรมเพื่อการศึกษาที่จะช่วยเพิ่มทักษะในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ตลอดจนเสริมสร้างทักษะทางด้านการใช้คอมพิวเตอร์ของนักเรียน เพื่อสร้างนักเรียนให้มีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง ตลอดจนชุมชนและประเทศชาติต่อไป
ทั้งนี้ ในการเรียนภาษาอังกฤษที่ได้ผล การฝึกฝนเท่านั้นที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จ ไม่ว่านักเรียนจะเรียนหลักสูตรใดมาก็ตาม ซึ่งโปรแกรม Reading Companion สามารถตอบโจทย์ที่ว่านี้ เพราะนักเรียนสามารถเข้ามาฝึกอ่านและฝึกออกเสียงแบบตัวต่อตัวกับโปรแกรมได้ตลอดเวลาในเว็บไซต์ และนอกจากจะได้ฝึกภาษาแล้วยังเป็นการสร้างทักษะทางด้านการใช้เทคโนโลยีให้แก่เด็กอีกด้วย จึงเชื่อว่าโปรแกรม Reading Companion จะทำให้เด็กนักเรียนของโรงเรียนมีพื้นฐานทั้งด้านภาษาและคอมพิวเตอร์ที่ดีต่อไปในอนาคต”
ทั้งนี้ นายธันวา กล่าวต่อไปถึงแผนการสนับสนุนการศึกษาของไอบีเอ็มในอนาคตว่า ความร่วมมือของทั้งสองโรงเรียนในวันนี้ถือเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งต่อไปไอบีเอ็มจะมอบสิทธิการใช้โปรแกรม Reading Companion ให้โรงเรียนต่างๆ เพื่อขยายโอกาสทางด้านการศึกษา โดยเบื้องต้นจะเน้นที่โรงเรียนรัฐบาล จากนั้นจึงขยายไปสู่โรงเรียนและสถาบันต่างๆ ที่สนใจต่อไป โดยโรงเรียนที่ร่วมโครงการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
“ทุกวันนี้โลกเราเชื่อมโยงถึงกันทั้งทางด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคม และการศึกษาก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาโลกนี้ให้ฉลาดขึ้น ความร่วมมือในวันนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่ไอบีเอ็มได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและส่งเสริมการศึกษาของไทย และไอบีเอ็มจะทำอย่างต่อเนื่องต่อไป” นายธันวา กล่าว
สำหรับโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ Reading Companion สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งขอเอกสารเพื่อรับการพิจารณามอบสิทธิในการใช้โปรแกรมได้ที่ ฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด โทร. 02-273-4633
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมเพื่อสังคมของไอบีเอ็ม สามารถเข้าไปที่ http://ibm.com/ibmgives
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโปรแกรม Reading Companion สามารถเข้าไปที่ http://www.readingcompanion.org