โดยเฉพาะการส่งออกข้าวนึ่ง เนื่องจากไม่ต้องเผชิญการแข่งขันกับอินเดีย ประเด็นที่น่าสนใจ คือ กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯยังคาดการณ์ว่าในปี 2553 ไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้นเป็น 10.0 ล้านตัน เนื่องจากยังคาดว่าอินเดียน่าจะยังไม่กลับเข้ามาเป็นคู่แข่งในการส่งออกข้าวขาว ในขณะที่ปริมาณการผลิตข้าวของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงยังจูงใจให้ชาวนาขยายพื้นที่ปลูกข้าว แต่คาดการณ์ว่าปริมาณการบริโภคข้าวในประเทศมีแนวโน้มลดลงเหลือ 9.6 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับปี 2552
การส่งออกข้าวช่วงที่เหลือของปี 52 และปี 53 …ไทยยังต้องบริหารจัดการมาตรการแทรกแซงตลาดข้าว
การส่งออกข้าวของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2552 มีปัจจัยสำคัญ คือ
-การบริหารจัดการสต็อกข้าวของรัฐบาล รัฐบาลควรระบายสต็อกออกสู่ตลาดแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ภาคเอกชนได้มีข้าวไปส่งออกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ส่งออกจะมั่นใจในการรับคำสั่งซื้อ โดยเฉพาะในช่วงที่ข้าวนาปียังไม่ออกสู่ตลาด(ข้าวนาปีออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนตุลาคม) สิ่งที่กังวลในเวลานี้คือ สต็อกข้าวของภาคเอกชนที่จะทำข้าวนึ่งไว้เพื่อส่งออกมีเหลือพอขายอยู่ไม่เกิน 1-2 เดือนเท่านั้น จำเป็นที่รัฐจะต้องปล่อยข้าวออกสู่ตลาดบ้างล็อตละ 4-5 แสนตัน ถ้าไม่ระบายข้าวออกมาบ้าง เอกชนก็ไม่กล้ารับคำสั่งซื้อ นับว่าเป็นการเสียโอกาสอย่างยิ่งต่อการทำตลาดข้าวในเวลานี้ นอกจากนี้ การปล่อยให้ข้าวไทยถูกแย่งตลาดไปเรื่อยๆ ในระยะต่อไปประเทศคู่ค้าจะเกิดความคุ้นเคยกับข้าวของคู่แข่ง การจะเข้าไปทวงคืนตลาดในภายหลังก็จะทำได้ยากมาก ปัญหานี้รัฐควรหันมามองเพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายระบายข้าว
จากการคาดการณ์ว่าราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2552 ทำให้ไทยมีแต้มต่อที่มีปริมาณข้าวอยู่ในมือ ดังนั้น การบริหารจัดการระบายข้าวในช่วงเวลาที่เหมาะสมมีโอกาสจะส่งผลให้รัฐบาลไม่ประสบปัญหาการขาดทุนมากนัก เนื่องจากเป็นช่วงจังหวะราคาข้าวอยู่ในช่วงขาขึ้น
ปัจจุบันปริมาณข้าวส่วนใหญ่เป็นข้าวในสต็อกรัฐบาล อันเนื่องจากราคามาตรการรับจำนำสูงกว่าราคาตลาด ชาวนาหันไปจำนำข้าวกับรัฐบาล และเป็นภาระต่อภาคเอกชนต้องมีต้นทุนสูงตามไปด้วย ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายสำคัญอย่างเวียดนาม โดยเฉพาะการส่งออกข้าวขาว โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 มูลค่าการส่งออกข้าวขาวลดลงเหลือ 616.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วลดลงร้อยละ 64.8 อย่างไรก็ตาม การส่งออกข้าวนึ่งและปลายข้าวยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้สัดส่วนการส่งออกข้าวนึ่งปี 2552 นี้เพิ่มขึ้นจากเดิมสัดส่วนส่งออกมีอยู่ร้อยละ 19.4 ของปริมาณส่งออกข้าวทั้งหมด ขยับเพิ่มเป็นร้อยละ 29.6 ส่วนการส่งออกปลายข้าว ไทยก็ส่งออกได้มากเพราะเวียดนามไม่ได้ส่งออกด้วย ขณะนี้สัดส่วนการส่งออกข้าวขาวของไทยเหลือเพียงร้อยละ 21.7 จากเดิมมีมากถึงร้อยละ 31.6
-การเปลี่ยนมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวจากมาตรการจำนำเป็นมาตรการประกันราคา สำหรับข้าวนาปีของปีเพาะปลูก 2552/53 ที่จะออกสู่ตลาดประมาณปลายเดือนตุลาคมนี้ รัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวจากมาตรการจำนำมาเป็นมาตรการประกันราคา ซึ่งส่งผลให้ในช่วงปลายปีน่าจะมีข้าวออกสู่ตลาดมากกว่าช่วงปีที่ผ่านมา ขณะนี้ผู้ส่งออกข้าวน่าจะมั่นใจมากขึ้นในการรับคำสั่งซื้อ เพียงแต่ว่าจะต้องมีการคาดการณ์ราคาให้แม่นยำ เนื่องจากต้องพิจารณาทั้งราคาข้าวของเวียดนาม และราคาข้าวอ้างอิงในการประกันราคาที่รัฐบาลประกาศ
นอกจากนี้ ปัจจัยที่ต้องกังวล คือ การเกิดขึ้นของประเทศผู้ส่งออกหน้าใหม่ โดยเฉพาะพม่าและกัมพูชาที่กำลังจะเดินรอยตามเวียดนาม จากเดิมที่เคยผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ กำลังผันตัวเองสู่ตลาดโลกด้วยการเป็นผู้ส่งออกข้าว แม้ว่าในปัจจุบันปริมาณการส่งออกของทั้งสองประเทศจะไม่มากนัก แต่การเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวกระโดดอย่างน่าจับตามอง โดยเฉพาะพม่า
ในปี 2550 พม่าส่งออกข้าวเพียง 0.03 ล้านตัน หลังจากนั้นปริมาณการส่งออกข้าวของพม่าเพิ่มขึ้นในลักษณะก้าวกระโดด กล่าวคือ ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 0.54 ล้านตันในปี 2551 และคาดว่าในปี 2552 พม่าส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.0 ล้านตัน ในปี 2553 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านตัน ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จของพม่าคือ ความสำเร็จในการพัฒนาระบบชลประทาน การรุกขยายตลาดส่งออกข้าวของพม่านับว่าจะมีส่วนสำคัญในการแย่งตลาดข้าวของไทยบางส่วน
บทสรุป
การประกาศงดส่งออกข้าวขาวของอินเดียสร้างอานิสงส์ให้ราคาข้าวในตลาดโลกในช่วงปลายปีมีแนวโน้มพุ่งขึ้น เนื่องจากปริมาณการผลิตข้าวของอินเดียลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ จากการที่ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ สร้างความเสียหายให้กับผลผลิต นับเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการคาดการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวโลกอย่างมาก จากเดิมที่คาดว่าในช่วงปลายปีนี้อินเดียจะกลับเข้ามาเป็นผู้ส่งออกข้าวขาวอีกครั้ง เนื่องจากปริมาณสต็อกข้าวปลายปีของอินเดียอยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งจะเพิ่มความรุนแรงของการแข่งขันในตลาดข้าวโลก และราคาข้าวมีแนวโน้มลดต่ำลง
ทั้งไทยและเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกนี้ได้รับอานิสงส์ แต่การช่วงชิงจังหวะที่เหมาะสมของการส่งออกข้าวในช่วงที่เหลือของปี 2552 ต่อเนื่องถึงปี 2553 ซึ่งจะทำให้ได้ประโยชน์มากขึ้นในช่วงจังหวะราคาข้าวขาขึ้น เวียดนามนั้นน่าจะได้รับประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากในปัจจุบันราคาข้าวของเวียดนามยังต่ำกว่าไทยมาก แต่สำหรับไทยแล้วยังมีปริมาณข้าวที่อยู่ในสต็อกของรัฐบาลที่จะระบายออกมาในช่วงที่ประเทศผู้นำเข้าหันมาซื้อข้าวเพื่อทดแทนข้าวของอินเดีย และเป็นช่วงจังหวะที่ไทยเปลี่ยนนโยบายการแทรกแซงตลาดข้าวจากมาตรการจำนำเป็นมาตรการประกันราคา ซึ่งทำให้มีปริมาณข้าวในตลาดเพียงพอสำหรับภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องกังวล คือ ผู้ส่งออกข้าวรายใหม่อย่างพม่าและกัมพูชาที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2550 เป็นตันมา แม้ว่าปริมาณการส่งออกจะยังไม่มาก แต่ก็มีส่วนในการเบียดแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวของไทย