เศรษฐกิจไต้หวันปรับตัวดีขึ้น: ผลดีต่อภาคส่งออกไทย

ตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไต้หวันอาทิ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ส่งผลให้ภาคส่งออกของไต้หวันปรับตัวดีขึ้นในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมและทำให้การนำเข้าในเดือนสิงหาคมของไต้หวันปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย โดยมีมูลค่านำเข้า 17 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 32.3 (y-o-y) เทียบกับในเดือนก่อนหน้าที่ลดลงกว่าร้อยละ 34 (y-o-y) ขณะที่การส่งออกมีมูลค่ากว่า 19 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 24.6 (y-o-y) ใกล้เคียงกับอัตราลดลงในเดือนก่อนหน้าเทียบกับอัตราหดตัวเฉลี่ยร้อยละ 34 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยไต้หวันได้เปรียบดุลการค้าต่างประเทศมูลค่า 1.96 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.- ส.ค.) ไต้หวันมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งสิ้น 230 พันล้านเหรียญสหรัฐ ฯ โดยมีจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 27.6 รองลงมา คือ ฮ่องกง สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับที่ 11 ขณะที่ไต้หวันนำเข้าจากญี่ปุ่นมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.7 รองลงมาได้แก่ จีน สหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบีย ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่อันดับที่ 15 นอกจากนี้ ภาคส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกระเตื้องขึ้นตามไปด้วย โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคมติดลบในอัตราที่ชะลอลงเป็นร้อยละ 8.11 (y-o-y) จากเดือนก่อนหน้าที่ติดลบร้อยละ 11.29 (y-o-y)

โดยผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ไต้หวันต้องเผชิญกับภาวะถดถอยของเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทำให้จีดีพีติดลบอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติไต้หวันรายงานว่า จีดีพีของไต้หวันในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้หดตัวร้อยละ 7.5 เทียบกับไตรมาสแรกของปี 2552 ที่หดตัวกว่าร้อยละ 10 (y-o-y) ถือเป็นอัตราติดลบน้อยที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาการเติบโตทางเศรษฐกิจของไต้หวันเป็นรายไตรมาสพบว่า เศรษฐกิจไต้หวันขยายตัวถึงร้อยละ 20.69 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (q-o-q annualized) ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไต้หวันฟื้นตัวจากภาวะถดถอยแล้ว อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นมรกตในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมและท่องเที่ยวเป็นมูลค่าสูงราว 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และปัญหาการว่างงานในอัตรากว่าร้อยละ 6 ในเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทำให้สำนักงานสถิติแห่งชาติไต้หวันคาดการณ์ว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เศรษฐกิจไต้หวันน่าจะยังคงหดตัวแต่อัตราติดลบมีแนวโน้มชะลอเหลือร้อยละ 3.5 และคาดว่าจีดีพีของไต้หวันในปี 2552 จะติดลบร้อยละ 4 ส่งผลให้รัฐบาลไต้หวันเตรียมทุ่มงบประมาณร้อยละ 6 ของจีดีพี (8.58 แสนล้านเหรียญไต้หวัน) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวันและการปรับตัวดีขึ้นของภาคส่งออกและนำเข้าของไต้หวันที่สะท้อนถึงภาคการผลิตและความต้องการภายในประเทศที่กระเตื้องขึ้นซึ่งน่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นทำให้ความต้องการนำเข้าของประเทศต่างๆ เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นส่งผลให้ภาคส่งออกและภาคการผลิตของไต้หวันปรับตัวดีขึ้น อีกส่วนหนึ่งเนื่องจากนโยบายกระตุ้นภาคการบริโภคภายในประเทศของรัฐบาลไต้หวันและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่ทุ่มงบประมาณมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน (586 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา กอรปกับบทบาทความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน-จีนที่ปรับตัวดีขึ้นในด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว หลังจากก้าวขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำประเทศของประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ที่ได้ดำเนินนโยบายและมาตรการกระชับความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศอาทิ การประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามการลงทุนของนักลงทุนชาวจีนในไต้หวัน การเปิดเส้นทางการบินระหว่างกันหรือแม้แต่นโยบายอุดหนุนการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องคอมพิวเตอร์จากไต้หวันของทางการจีนทำให้ปัจจุบันจีนกลายเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไต้หวันและเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าวัตถุดิบรายใหญ่ที่สุดของไต้หวันโดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าติดตามคือ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-ไต้หวัน (The Cross-Strait Economic Cooperation Framework Agreement: ECFA) ที่คาดว่าจะลงนามในเดือนตุลาคมของปีนี้ น่าจะช่วยผลักดันให้มูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างจีนและไต้หวันเติบโตได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันอาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-จีนให้ต้องแข่งขันดึงดูดการค้าและการลงทุนมากขึ้น ซึ่งจากกรอบความร่วมมือดังกล่าวคาดว่า จะผลักดันให้มูลค่าการส่งออกจากไต้หวันไปจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าพลาสติก ปิโตรเคมี เครื่องจักรกลและสิ่งทอ ซึ่งหากการลงนามข้อตกลงฯ ดังกล่าวเป็นผล จะส่งผลให้ภาษีนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมของจีนจากไต้หวันลดเหลือร้อยละ 4 จากร้อยละ 9 โดยจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกไต้หวันและผู้นำเข้าสินค้าจากไต้หวันในจีนซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนการผลิตสินค้าในจีนต่ำลง โดยทางการไต้หวันคาดการณ์ว่า หลังจากข้อตกลงฯ มีผลจะทำให้จีดีพีของไต้หวันในปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 และมีมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในไต้หวันเกือบ 9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปสถานการณ์การส่งออกและนำเข้าไทย-ไต้หวัน ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 (ม.ค.-ก.ค.) และแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยท้าทายดังนี้

ภาวะค้าไทย-ไต้หวัน
ไต้หวันเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทยอันดับที่ 18 โดยเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยอันดับที่ 18 และเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าของไทยอันดับที่ 8 โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับไต้หวันในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 (ม.ค.-ก.ค.) หดตัวเกือบร้อยละ 33 มีมูลค่าการค้า 3,617 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ โดยการส่งออกมีมูลค่าทั้งสิ้น 1,180 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ลดลงร้อยละ 31.66 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 (y-o-y) ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่ารวม 2,437 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 33.36 จากช่วงเดียวกันของปี 2551 (y-o-y) ส่งผลให้ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับไต้หวันมูลค่า 1,257 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไต้หวันประสบภาวะหดตัวทำให้สินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรกของไทยไปยังไต้หวันขยายตัวติดลบทั้งหมด โดยสินค้าที่ขยายตัวลดลงมากที่สุดคือ เคมีภัณฑ์ มูลค่า 61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 50.12 รองลงมา ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า มูลค่า 137.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 44.56 เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง มูลค่า 34 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ลดลงร้อยละ 34.11 เม็ดพลาสติก มูลค่า 41.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ หดตัวร้อยละ 32.42 และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ มูลค่า 48.6 หดตัวร้อยละ 22.58 ส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษหดตัวร้อยละ 4.56 และร้อยละ18.47 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกสินค้าในกลุ่มเกษตรหดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย มูลค่า 64.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเกือบร้อยละ 4 และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มูลค่า 48.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเกือบร้อยละ 16

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การส่งออกแผงวงจรไฟฟ้า และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปไต้หวัน 2 อันดับแรก ครองสัดส่วนการส่งออกรวมกันกว่าร้อยละ 22 ของสินค้าส่งออกของไทยไปไต้หวันทั้งหมด ติดลบในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลดลงเหลือร้อยละ 4.56 จากเดิมซึ่งหดตัวสูงถึงร้อยละ 51.45 ในช่วงเดียวกันของปี 2551 ทั้งนี้ การส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบของไทยไปไต้หวันติดลบในอัตราที่ชะลอลงค่อนข้างมากน่าจะเป็นผลต่อเนื่องจากแผนสนับสนุนความสัมพันธ์จีน-ไต้หวันในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งทางการจีนได้ทุ่มงบประมาณมูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสั่งซื้อจอคอมพิวเตอร์ชนิดแบนจากบริษัทไต้หวัน ซึ่งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไต้หวันที่ได้รับผลกระทบจากพิษวิกฤตเศรษฐกิจโลกจนส่งผลให้เศรษฐกิจไต้หวันชะลอตัวอย่างรุนแรงในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ยอดขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไต้หวันดิ่งลงอย่างมาก นอกจากนี้ เศรษฐกิจไต้หวันยังได้รับมาตรการสนับสนุนการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและคอมพิวเตอร์ในเขตชนบทของจีนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชนบท โดยมาตรการช่วยเหลือของทางการจีนดังกล่าว น่าจะส่งผลดีทางอ้อมที่ช่วยให้ความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปที่ใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบของไต้หวันจากไทยปรับตัวดีขึ้นและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยไปไต้หวันในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้หดตัวชะลอลงค่อนข้างมาก อีกทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการของสินค้าคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกที่ปรับตัวดีขึ้นซึ่งช่วยขับเคลื่อนการส่งออกคอมพิวเตอร์ของไต้หวันอีกแรงหนึ่งด้วย

ส่วนการนำเข้าสินค้าไต้หวันของไทยนั้น สินค้านำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรกของไทยจากไต้หวันในช่วง 7 เดือนแรกติดลบทั้งหมดซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปจากไต้หวันเพื่อใช้ในการผลิตในภาคอุตสาหกรรมตามภาวะซบเซาของภาคส่งออกไทยทำให้ความต้องการนำเข้าลดลงตามไปด้วย โดยการนำเข้าคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวมากที่สุดร้อยละ 53.44 มูลค่า 91.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ส่วนสินค้านำเข้าอื่น ๆ ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งครองสัดส่วนการนำเข้ามากที่สุดกว่าร้อยละ 23 มีมูลค่า 567.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเกือบร้อยละ 32 เคมีภัณฑ์ มูลค่า 271.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ลดลงร้อยละ 38.41 เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ มูลค่า 205.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ลดลงร้อยละ 40.90 สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ มูลค่า 93.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ลดลงเกือบร้อยละ 40 และ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ มูลค่า 117.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ลดลงร้อยละ 36.61 ส่วนสินค้าเกษตรที่หดตัวคือ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่ง มูลค่า 125 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ หดตัวร้อยละ 36.84

สำหรับแนวโน้มการค้าไทย-ไต้หวัน ในช่วงที่เหลือของปีนี้นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่เป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลกและถือเป็นตลาดส่งออกหลักของไต้หวันมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น โดยน่าจะส่งผลขับเคลื่อนภาคส่งออกไต้หวันและช่วยให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวันเติบโตอย่างมั่นคงขึ้นในระยะต่อไป กอปรกับมาตรการกระตุ้นความต้องการภายในประเทศของรัฐบาลไต้หวันที่กำลังเดินหน้ากระตุ้นความต้องการของภาคบริโภคภายในประเทศแทนการพึ่งพาการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกสินค้าของไทยไปไต้หวันที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ สินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง และน้ำตาลทราย

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การค้าระหว่างไทย-ไต้หวันอาจได้รับผลกระทบจากข้อตกลงฯ ระหว่างจีน-ไต้หวัน (ECFA) ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ซึ่งครอบคลุมการเปิดเสรีภาคการค้าที่มีผลบังคับใช้แล้วทำให้การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศอาเซียนและจีนขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยส่งผลให้นักลงทุนชาวจีนสามารถใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าและเสาะหาแหล่งวัตถุดิบจากประเทศภาคีเพื่อผลิตสินค้าและส่งออกไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านภาษีนำเข้าสินค้าที่ปรับลดเป็นร้อยละ 0 แต่หากกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-ไต้หวัน (ECFA) ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามในเดือนตุลาคมของปีนี้ที่ช่วยให้ภาษีนำเข้าของจีนสำหรับสินค้านำเข้าจากไต้หวันปรับลดลง ส่งผลให้การส่งออกของไต้หวันไปจีนขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากมีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นในตลาดจีน แม้ว่าไทยอาจได้อานิสงส์ทางอ้อมจากการส่งออกสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปไปไต้หวันเพื่อใช้ผลิตส่งออกไปจีนที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย แต่อีกด้านหนึ่งการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคการแข่งขันที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นกับสินค้าส่งออกจากไต้หวันในตลาดจีน สินค้าส่งออกของไทยไปไต้หวันที่คาดว่าจะต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงกับสินค้าส่งออกของไต้หวันเช่น พลาสติก ปิโตรเคมี เครื่องจักรกลและสิ่งทอ โดยผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยควรติดตามความคืบหน้าของข้อผูกพันความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-ไต้หวันอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือและปรับตัวกับผลกระทบต่อการค้าของไทยทั้งด้านบวกและลบ

กล่าวโดยสรุป การส่งออกและการนำเข้าของไต้หวันในเดือนสิงหาคมปรับตัวดีขึ้นซึ่งสะท้อนถึงความต้องการในตลาดต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการไต้หวันส่งผลให้ภาคการผลิตและภาคการบริโภคภายในประเทศที่กระเตื้องขึ้น โดยมีมูลค่านำเข้า 17 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 32.3 (y-o-y) เทียบกับในเดือนก่อนหน้าที่ลดลงกว่าร้อยละ 34 (y-o-y) ขณะที่การส่งออกมีมูลค่ากว่า 19 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 24.6 (y-o-y) ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ตัวเลขล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติไต้หวันรายงานว่า จีดีพีในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้หดตัวร้อยละ 7.5 ซึ่งเป็นอัตราติดลบที่ชะลอลงจากไตรมาสแรกของปี 2552 ที่หดตัวกว่าร้อยละ 10 และถือเป็นอัตราการหดตัวที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา โดยเมื่อพิจารณาการเติบโตทางเศรษฐกิจของไต้หวันเป็นรายไตรมาสพบว่า เศรษฐกิจไต้หวันขยายตัวถึงร้อยละ 20.69 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (q-o-q annualized) ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจไต้หวันฟื้นตัวจากภาวะถดถอยแล้ว โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติไต้หวันคาดว่าจีดีพีของไต้หวันในปี 2552 จะติดลบร้อยละ 4 ซึ่งรัฐบาลไต้หวันเตรียมทุ่มงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจร้อยละ 6 ของจีดีพีหรือราว 8.58 แสนล้านเหรียญไต้หวัน ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 (ม.ค.-ก.ค.) มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับไต้หวันหดตัวเกือบร้อยละ 33 มีมูลค่า 3,617 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ โดยสินค้าส่งออกและนำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก ระหว่างไทย-ไต้หวันติดลบทั้งหมด โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป อาทิ อุตสาหกรรมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การส่งออกแผงวงจรไฟฟ้าและ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งครองสัดส่วนการส่งออกรวมกันกว่าร้อยละ 22 ของสินค้าส่งออกของไทยไปไต้หวันทั้งหมด ติดลบในอัตราที่ชะลอลงซึ่งน่าจะเป็นผลต่อเนื่องจากแผนสนับสนุนความสัมพันธ์จีน-ไต้หวันในช่วงปลายปีที่ผ่านมาภายใต้นโยบายอุดหนุนการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องคอมพิวเตอร์จากไต้หวันที่ทำให้การส่งออกสินค้าคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไต้หวันไปจีนเพิ่มขึ้น และปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการของสินค้าคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกที่ปรับตัวดีขึ้นด้วย

ส่วนแนวโน้มการค้าไทย-ไต้หวันในช่วงที่เหลือของปี 2552 นั้น คาดว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น กอปรกับมาตรการกระตุ้นความต้องการภายในประเทศของรัฐบาลไต้หวันที่กำลังเดินหน้ากระตุ้นความต้องการของภาคบริโภคภายในประเทศให้เพิ่มขึ้นแทนการพึ่งพาภาคส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของไต้หวันปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ คาดว่า สินค้าส่งออกของไทยไปไต้หวันที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ สินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง และน้ำตาลทราย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยควรติดตามความคืบหน้าของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-ไต้หวัน (ECFA) ที่คาดว่าจะลงนามในเดือนตุลาคมของปีนี้ ซึ่งแม้ว่าอาจส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปของไทยไปไต้หวันตามการส่งออกสินค้าของไต้หวันไปจีนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการปรับลดภาษีของจีนให้กับสินค้าไต้หวัน แต่อีกด้านหนึ่งอาจส่งผลให้ภาคส่งออกของไทยเผชิญกับอุปสรรคจากการแข่งขันทางการค้ากับสินค้าส่งออกของไต้หวันที่รุนแรงมากขึ้นในตลาดจีนเช่น พลาสติก ปิโตรเคมี เครื่องจักรกลและสิ่งทอ