ตัวเลขว่างงานเดือนกรกฎาคม 2552 … ลดลงมากกว่าคาด

จากรายงานผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุด ตัวเลขผู้มีงานทำในเดือนกรกฎาคม 2552 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยขยายตัว (MoM) เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ตัวเลขผู้มีงานยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ในเดือนก.ค. แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 ในเดือนมิ.ย. ขณะที่อัตราการว่างงานก็ขยับลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.2 เทียบกับร้อยละ 1.7 และ 1.4 ในเดือนพ.ค. และมิ.ย. 2552 หรือลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองว่าปัญหาการว่างงานในไทยน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว ทั้งนี้ การฟื้นตัวของตลาดแรงงานไทยดังกล่าว น่าจะเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย ตลอดจนมาตรการของภาครัฐที่มีส่วนช่วยชะลอการเลิกจ้าง และลดการว่างงาน

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้นในเดือนก.ค. ยังมีข้อสังเกตที่น่าสนใจอยู่หลายประการ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รวบรวมไว้ดังนี้

การจ้างงาน … ยังไม่ดีขึ้นในทุกภาคอุตสาหกรรม
ผู้มีงานทำในเดือนก.ค. มีจำนวน 38.79 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงจากเดือนมิ.ย. ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 2.7 ซึ่งเป็นผลมาจากการจ้างงานในภาคเกษตรที่หดตัวลง สวนทางกับการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เติบโตเร่งขึ้น โดยการจ้างงานในภาคเกษตรพลิกกลับมาหดตัวร้อยละ 0.6 ในเดือนก.ค. (YoY) เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 ในเดือนมิ.ย.แม้ว่าทั้งผลผลิตและราคาพืชผลจะหดตัวลดลงในเดือนก.ค.ก็ตาม ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 3.1 ในเดือนก.ค. เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากเริ่มมีคำสั่งซื้อมากขึ้นในบางอุตสาหกรรม เช่น แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ จึงช่วยชะลอการเลิกจ้าง นอกจากนี้ บางอุตสาหกรรมยังมีการเรียกแรงงานกลับเข้าทำงาน ดังสะท้อนได้จากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคาร การขนส่งและคมนาคม และการผลิต เป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาโรงแรมและภัตตาคารที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 2.6 แสนคน ทำให้มีการขยายตัวพลิกกลับมาเป็นบวกร้อยละ 11.6 จากที่เคยหดตัวร้อยละ 0.8 ในเดือนมิ.ย. การขนส่งและคมนาคม (พลิกกลับมาขยายตัวร้อยละ 2.2 จากที่เคยหดตัวร้อยละ 6.5 ในเดือนก่อน)

ส่วนผู้มีงานทำในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีสัดส่วนมากถึงเกือบ 1 ใน 4 ของผู้มีงานนอกภาคเกษตรทั้งหมด มีการจ้างงานที่พลิกกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 ในเดือนก.ค. จากที่เคยหดตัวร้อยละ 1.7 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะเน้นไปที่การผลิต ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะประดิษฐ์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่ายังมีการจ้างงานในบางสาขาย่อยของภาคการผลิตกลับปรับตัวตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อาทิ การผลิตเครื่องแต่งกาย การผลิตอุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตยานยนต์ การฟอกและตกแต่งฟอกหนัง เป็นต้น ทำให้ภาพรวมการจ้างงานในช่วง 7 เดือนแรกของภาคอุตสาหกรรมการผลิตยังคงหดตัวถึงร้อยละ 4.0 ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 59.0 ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับร้อยละ 67.7 ในปี 2551 นอกจากนี้ ยังมีการจ้างงานในบางสาขาที่ปรับตัวลดลงในเดือนนี้ อาทิ สาขาก่อสร้าง (จากที่เคยขยายตัวร้อยละ 5.6 ในเดือนมิ.ย. พลิกกลับมาหดตัวร้อยละ 2.6) สาขาการค้าส่ง ค้าปลีก (ขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 8.4 ในเดือนมิ.ย. ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.2)

ภาพดังกล่าว สะท้อนว่าการจ้างงานที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นอาจยังไม่กระจายตัวอย่างทั่วถึง โดยอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออก หรืออุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปัจจัยเฉพาะเจาะจงในช่วงสั้นๆ อาทิความไม่สงบทางการเมืองอย่างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้น มีการจ้างงานที่ฟื้นตัวขึ้นก่อนอุตสากรรมอื่น

? ภาวะตลาดยังมีความอ่อนแอ … แม้รายได้เฉลี่ยต่อเดือนเริ่มหดตัวในอัตราที่ชะลอลง แต่ชั่วโมงการทำงานยังคงลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ จากภาวะการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของแรงงานเริ่มหดตัวในอัตราชะลอลง โดยข้อมูลที่มีการรายงานเป็นรายไตรมาสล่าสุดพบว่า รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของแรงงานโดยรวมหดตัวร้อยละ 1.7 ในไตรมาส 2/2552 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ชะลอลงจากที่หดตัวสูงถึงร้อยละ 6.8 ในไตรมาส 1/2552 (แต่ยังคงต่ำกว่าที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 ในไตรมาส 4 ของปี 2551) อย่างไรก็ดี ยังเป็นที่น่าสังเกตว่าการที่รายได้เฉลี่ยต่อเดือนหดตัวลงจากปีก่อนส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าจ้างขั้นต่ำรายวันไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่กลางปี 2551 รวมถึงสถานประกอบการมีการปรับลดชั่วโมงการทำงานของแรงงานลงหลังเผชิญกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีแรงงานส่วนหนึ่งเปลี่ยนจากที่เคยเป็นผู้มีงานทำเต็มเวลามาเป็นผู้มีทำงานไม่เต็มเวลา จะเห็นได้จากจำนวนผู้มีงานทำไม่เต็มเวลาเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.6 (YoY) มากกว่าจำนวนผู้มีงานทำเต็มเวลาเฉลี่ยในช่วงเดียวกันที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.5

ขณะที่ เมื่อพิจารณาการจ้างงาน จำแนกตามชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ของผู้มีงานทำในเดือนก.ค. 2552 แม้จะพบว่าผู้มีงานทำส่วนใหญ่ทำงานตั้งแต่ 35 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ทำงานเต็มที่ในเรื่องชั่วโมงทำงาน มีจำนวน 33.18 ล้านคน หรือร้อยละ 85.5 ของผู้มีงานทำในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 85.0 ของผู้มีงานทั้งหมดในเดือนมิ.ย. ส่วนผู้มีงานทำที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ทำงานไม่เต็มที่ในเรื่องชั่วโมงทำงาน นับเป็นการว่างงานแฝงลักษณะหนึ่ง มีจำนวน 5.61 ล้านคน หรือร้อยละ 14.5 ของผู้มีงานทำในเดือนก.ค. ลดลงจากร้อยละ 15.0 ของผู้มีงานทำทั้งหมดในเดือนมิ.ย. แต่หากนำมาเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จะเห็นได้ว่าสัดส่วนของผู้มีงานทำเต็มเวลาลดลงร้อยละ 2.2 (จากร้อยละ 87.7 ในเดือนก.ค. 2551 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 85.5 ในเดือนก.ค. 2552) ขณะที่ผู้มีงานทำที่ทำงานไม่เต็มเวลากลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เช่นกัน (จากร้อยละ 12.3 ในเดือนก.ค. 2551 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 14.5 ในเดือนก.ค. 2552)

ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม … เริ่มทรงตัว
ในส่วนของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานแม้จะเริ่มทรงตัว โดยในเดือนมิ.ย มีจำนวน 189,866 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเพียง 515 คน แต่ยังคงเพิ่มขึ้นมากหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพียง 64,008 คน ซึ่งสวนทางกับอัตราการว่างงานเดือนมิ.ย. 2552 ที่ลดลงจากร้อยละ 1.7 ในเดือนพ.ค. มาที่ร้อยละ 1.4 ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการขยายระยะเวลาความคุ้มครองแรงงานที่ตกงานจาก 6 เดือนเป็น 8 เดือน ที่เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนม.ค. 2552

โดยสรุปแล้ว จากรายงานผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด ซึ่งตัวเลขผู้มีงานทำในเดือนกรกฎาคม 2552 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยขยายตัว (MoM) เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ตัวเลขผู้มีงานยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ในเดือนก.ค. แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 ในเดือนมิ.ย. ขณะที่อัตราการว่างงานก็ขยับลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.2 เทียบกับร้อยละ 1.7 และ 1.4 ในเดือนพ.ค. และมิ.ย. 2552 โดยลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมองว่าปัญหาการว่างงานของไทยน่าจะถึงจุดต่ำสุดไปแล้ว ทั้งนี้ ภาวะการว่างงานที่ดีขึ้นดังกล่าวน่าจะเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ตลอดจนมาตรการของภาครัฐที่มีส่วนช่วยชะลอการเลิกจ้าง และลดการว่างงาน

แม้ว่าสถานการณ์ตลาดแรงงานในเดือนก.ค. จะปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังมีข้อสังเกตที่น่าสนใจอยู่หลายประการ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์ตลาดแรงงานไทยที่ดีขึ้นอาจยังไม่ทั่วถึงในวงกว้าง โดยแม้การจ้างงานในภาคการผลิตจะพลิกกลับมาขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน แต่ยังมีหลายสาขาย่อยที่สำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้ภาพรวมการจ้างงานของภาคการผลิตในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ยังหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของแรงงานที่เริ่มหดตัวในอัตราที่ชะลอลงมาจากการทำงานต่ำระดับที่เพิ่มขึ้น (ทำงานน้อยกว่าต่ำกว่า 35 ชม.ต่อสัปดาห์) จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ จำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ เมื่อมองไปข้างหน้าในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าตลาดแรงงานของไทยน่าจะได้รับแรงหนุนต่อเนื่องจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อภาคการผลิต และการส่งออกของไทย ส่งผลต่อเนื่องให้การจ้างงานเต็มเวลามีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น และการว่างงานลดลงต่อเนื่อง แต่ก็คงปฎิเสธไม่ได้ว่าความท้าทายหรือปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น หรือแม้กระทั่งความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ก็ย่อมจะมีผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมต่อตลาดแรงงานไทยเช่นกัน โดยเฉพาะหากปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นทวีความรุนแรงขึ้นจนนำมาสู่ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยอาจจะกลับมาชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าอีกครั้ง นั่นหมายความถึงโอกาสที่การฟื้นตัวของการจ้างงานในประเทศอาจขาดความต่อเนื่องได้เช่นเดียวกัน

กระนั้นก็ดี คงต้องยอมรับว่าสถานการณ์แรงงานโดยรวมในเดือนก.ค. ปรับตัวดีขึ้นจริง โดยเฉพาะตัวเลขการว่างงานที่ดูดีขึ้นมากกว่าคาด ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีความเป็นไปได้ว่าการว่างงานในรอบนี้อาจใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวได้เร็วกว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่กว่าอัตราการว่างงานจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนวิกฤตในครั้งนั้นต้องใช้เวลานานถึงเกือบหนึ่งทศวรรษ โดยประเมินว่า อัตราการว่างงานเฉลี่ยในปี 2552 น่าจะอยู่ในกรอบร้อยละ 1.6-1.8 (จากเดิมคาดว่าจะมีอัตราการว่างงานเฉลี่ยร้อยละ 2.1-2.5) ซึ่งดีขึ้น/เท่ากับอัตราการว่างงานเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.8 ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ แต่ยังคงสูงกว่าร้อยละ 1.4 ในปี 2551 โดยจำนวนผู้ว่างงานในปี 2552 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 6.4-6.8 แสนคน จากในปี 2551 ที่มีผู้ว่างงานอยู่ที่ 5.2 แสนคน