สหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้ายางรถยนต์จีน : ไทยมีโอกาสได้อานิสงส์ 3,400 ล้านบาท

หลังจากที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจลงนามในวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อเห็นชอบในมติปรับเพิ่มภาษีสินค้านำเข้ายางรถยนต์นั่ง และรถบรรทุกขนาดเล็กทั้งหมดจากประเทศจีน เป็นระยะเวลาทั้งหมด 3 ปี ซึ่งตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน มาตรการดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้จริง โดยจะมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้ายางรถยนต์จากเดิมร้อยละ 4 เพิ่มเป็น ร้อยละ 35 ในปีแรก ร้อยละ 30 ในปีที่สอง และร้อยละ 25 ในปีที่สาม ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือแรงงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้ายางรถยนต์ราคาถูกเป็นจำนวนมากจากจีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กซึ่งได้มีการร้องเรียนว่าการนำเข้ายางรถยนต์จากจีนที่เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 3 เท่า จากปี 2547 ได้ส่งผลให้โรงงานเหล็กต้องปิดกิจการหลายแห่งและทำให้มีแรงงานตกงานถึง 5,100 อัตรา แม้จีนจะมีการออกมาตรการตอบโต้ โดยจะตรวจสอบการทุ่มตลาดของผลิตภัณฑ์เนื้อไก่และรถยนต์นำเข้าจากสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามสหรัฐฯยังคงยืนยันที่จะใช้มาตรการดังกล่าวต่อไป ซึ่งการนำเข้ายางรถยนต์จากจีนที่ลดลง อาจกลายมาเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกยางรถยนต์ไทยไปยังตลาดสหรัฐฯที่ปัจจุบันเป็นตลาดส่งออกยางรถยนต์ของไทยที่มีมูลค่าสูงที่สุด อย่างไรก็ตามการที่จีนส่งออกไปยังสหรัฐฯได้น้อยลงอาจทำให้มีการผลักสินค้าไปสู่ตลาดอื่นๆมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นตลาดส่งออกของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงโอกาสและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยางรถยนต์ไทย โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

สหรัฐฯนำเข้ายางรถยนต์จากจีนกว่า 1 ใน 3 ของการนำเข้าทั้งหมด

ในปี 2551 ที่ผ่านมา สหรัฐฯได้นำเข้ายางรถยนต์ประเภทต่างๆจากทั่วโลกเป็นจำนวนมากถึง 148,500,843 เส้น โดยนำเข้าเป็นยางรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดถึงประมาณร้อยละ 80 รองลงมาคือ ยางรถบรรทุกขนาดเล็ก มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 13.7 และที่เหลืออีกเพียงร้อยละ 6.3 เป็นปริมาณการนำเข้ายางรถบรรทุกขนาดกลางและรถบัส และเมื่อพิจารณาการนำเข้าเป็นรายประเทศพบว่าประเทศที่ถือครองส่วนแบ่งการตลาดส่วนใหญ่ของยางรถยนต์สหรัฐฯมีเพียงไม่กี่ประเทศ โดยมีจีนเป็นผู้นำตลาด ซึ่งสหรัฐฯนำเข้ายางรถยนต์จากจีนเป็นจำนวนสูงถึง 49,852,421 เส้น คิดเป็น 1 ใน 3 ของการนำเข้ายางรถยนต์ทั้งหมดของสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯนำเข้ายางรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจากจีนมากถึงร้อยละ 79.4 รองลงมาคือยางรถบรรทุกขนาดเล็ก ร้อยละ 13.1 และยางรถบรรทุกขนาดกลางและรถบัส ร้อยละ 7.5
การนำเข้ายางรถยนต์จากจีนในปริมาณที่สูงมากนี้ เหตุผลที่สำคัญมาจาก ราคาเฉลี่ยของยางรถยนต์ที่นำเข้ามาจากจีน เมื่อเทียบกับยางรถยนต์ที่นำเข้ามาจากประเทศอื่นแล้วมีราคาที่ถูกกว่าค่อนข้างมาก ทำให้สหรัฐฯมีการนำเข้ามาจากจีนในปริมาณที่สูงมาก ส่งผลให้เกิดการเรียกร้องจากอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งเส้นลวดเหล็กเป็นส่วนประกอบของยางรถยนต์ในชั้นใยเหล็ก ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 12 หรือประมาณ 1 กิโลกรัม ของน้ำหนักยางรถยนต์ 1 เส้น ที่โดยเฉลี่ยมีน้ำหนักประมาณ 8 กิโลกรัม ดังนั้นการที่ยางรถยนต์ผลิตในประเทศของสหรัฐฯลดลง ย่อมทำให้อุตสาหกรรมเหล็กได้รับผลกระทบ จนทำให้บางรายมีการปิดกิจการและคนงานจำนวนกว่า 5,000 ราย ต้องตกงาน ส่งผลให้ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ตัดสินใจปรับขึ้นภาษีนำเข้ายางรถยนต์ 2 ประเภท คือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถบรรทุกขนาดเล็ก ซึ่งมีสัดส่วนที่สูงมากในตลาดยางรถยนต์สหรัฐฯ โดยปรับขึ้นจากเดิมที่ร้อยละ 3.4 ถึง 4.0 เป็นร้อยละ 35 ในปีแรก ร้อยละ 30 ในปีที่สอง และร้อยละ 25 ในปีสุดท้าย ซึ่งการปรับขึ้นภาษีดังกล่าวย่อมจะกระทบกับปริมาณการนำเข้าของสหรัฐฯที่อาจจะลดลง เนื่องจากราคาขายที่เพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสให้ประเทศอื่นๆ เช่น ไทย อาจสามารถเพิ่มสัดส่วนการส่งออกมายังสหรัฐฯได้มากขึ้น

ภาษีนำเข้ายางรถยนต์จีนที่เพิ่มขึ้น…โอกาสการส่งออกยางรถยนต์ไทย

จากราคายางรถยนต์จีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ความแตกต่างด้านราคาจากเดิมที่เคยต่างกันค่อนข้างมาก เริ่มมีโอกาสที่จะขยับเข้ามาใกล้กันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยางรถยนต์จากประเทศไทย ซึ่งมีราคาเฉลี่ยที่ต่ำกว่ายางรถยนต์จากประเทศอื่นเกือบทุกประเภท ทำให้เมื่อภาษีนำเข้ายางรถยนต์จีนเพิ่มขึ้น ราคายางรถยนต์จากไทยจึงมีโอกาสที่จะปรับเข้ามาใกล้เคียงกับยางรถยนต์จากจีน ซึ่งจากสถิติที่เก็บรวบรวมโดยหนังสือพิมพ์ Tire Business ของสหรัฐฯพบว่า ราคายางรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และยางรถบรรทุกขนาดเล็กที่นำเข้าจากจีนมีราคาเฉลี่ยที่ 30.96 ดอลลาร์ฯ และ 50.97 ดอลลาร์ฯตามลำดับ ขณะที่ยางรถยนต์ประเภทเดียวกันที่นำเข้าจากไทยมีราคาเฉลี่ยที่ 39.82 ดอลลาร์ฯ และ 66.41 ดอลลาร์ฯ ตามลำดับ ซึ่งจากผลของมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯต่อยางรถยนต์ที่ผลิตจากประเทศจีน ไปอยู่ที่อัตราร้อยละ 35 ในปีแรกนั้น จะทำให้ราคายางรถยนต์นั่งส่วนบุคคลนำเข้าจากจีนจะสูงกว่าไทยอยู่เล็กน้อย ด้วยราคาประมาณ 40.3 ดอลลาร์ฯ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของยางรถยนต์นั่งของไทยเพิ่มขึ้น เป็นโอกาสให้ไทยเข้าไปชิงส่วนแบ่งการตลาดบางส่วนของยางรถยนต์นั่งจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯสูงกว่าไทยถึง 12 เท่า โดยเฉพาะในปีแรกที่มาตรการภาษีของสหรัฐฯมีผลบังคับใช้ (ช่วงตุลาคม 2552 ถึง กันยายน 2553) แต่ผลดังกล่าวจะค่อยๆลดลงในปีที่ 2 และ 3 เมื่ออัตราภาษีปรับลดลงมาเป็นร้อยละ 30 และ 25 ตามลำดับ

สำหรับโอกาสในการขยายการส่งออกของไทยนั้นหากประเมินจากศักยภาพกำลังการผลิตในปัจจุบัน ไทยมีกำลังการผลิตยางรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเต็มกำลังการผลิตทั้งปีที่ประมาณ 17 ล้านเส้น (ข้อมูลปี 2550 และ 2551 ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม) ขณะที่ปัจจุบันมีการผลิตจริงอยู่ที่ประมาณ 12 ถึง 13ล้านเส้น หรือประมาณร้อยละ 70 ถึง 75 ของกำลังการผลิตทั้งหมด ซึ่งหากความต้องการในตลาดสหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้น และผู้ประกอบการไทยสามารถปรับเพิ่มการผลิตขึ้นไปถึงระดับเต็มศักยภาพ อาจจะทำให้ในช่วง 1 ปีแรก นับจากมาตรการภาษีนำเข้าที่ใช้กับจีนของสหรัฐฯมีผลบังคับใช้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 กันยายนนี้ มูลค่าการส่งออกยางรถยนต์นั่งของไทยไปยังสหรัฐฯคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 225 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวกว่าร้อยละ 80 จากมูลค่าคาดการณ์ในช่วงเดียวกันก่อนหน้านี้ที่ 125 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นช่วงก่อนหน้าที่จะมีมาตรการดังกล่าว หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านดอลลาร์ฯ หรือ 3400 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มูลค่าที่คาดการณ์นี้จะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ไทยสามารถเพิ่มระดับการผลิตได้เต็มกำลังการผลิต และด้านการส่งออกไปสหรัฐฯก็สามารถแข่งขันดึงส่วนแบ่งตลาดยางรถยนต์นั่งนำเข้าจากจีน ให้หันมานำเข้าจากไทยได้ อย่างไรก็ตาม ในตลาดสหรัฐฯยังมีคู่แข่งผู้ผลิตยางรถยนต์นั่งราคาถูกจากประเทศอื่นๆด้วย เช่น อินโดนีเซีย และไต้หวัน ซึ่งมีราคาเฉลี่ยที่ 29.56 และ 33.04 ดอลลาร์ฯ ทำให้การส่งออกยางรถยนต์ของไทยไปยังสหรัฐฯอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันกับผู้ผลิตยางจากประเทศเหล่านั้นด้วย ซึ่งปัจจุบัน ไทยส่งออกยางรถยนต์ไปตลาดสหรัฐฯเป็นมูลค่าสูงที่สุด (มีสัดส่วนร้อยละ 17.3) ตามมาด้วยญี่ปุ่น (ร้อยละ 8.1) ออสเตรเลีย (ร้อยละ 5.4) และประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา และฟิลิปปินส์ เป็นต้น ซึ่งการที่ยางรถยนต์จีนถูกบีบให้ส่งออกไปยังสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของจีนได้น้อยลง ย่อมกดดันให้จีนต้องผลักสินค้าไปยังตลาดอื่นๆนอกเหนือจากสหรัฐฯมากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่ามีโอกาสที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางรถยนต์ไทยไม่มากก็น้อย

แต่ยางรถยนต์ราคาถูกจากจีนอาจรุกชิงส่วนแบ่งในตลาดส่งออกที่ไม่ใช่สหรัฐฯมากขึ้น

การที่ยางรถยนต์จากจีนถูกกีดกันจากตลาดสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยที่จากสถิติที่รวบรวมโดย World Economic Atlas พบว่า ในปี 2551 มูลค่าที่ได้จากการส่งออกยางนอกที่ใช้กับรถยนต์ (รวมรถยนต์นั่งเอนกประสงค์และรถแข่ง) ของจีน (HS: 401110) ไปยังสหรัฐฯ มีสัดส่วนถึงประมาณร้อยละ 43.3 ของมูลค่าการส่งออกยางประเภทนี้ของจีนไปยังตลาดทั่วโลก ซึ่งการถูกกดดันจากมาตรการปรับขึ้นภาษียางรถยนต์นำเข้าจากจีนของสหรัฐฯซึ่งเป็นประเทศนำเข้าหลักสูงขึ้นถึงประมาณ 9 ถึง 10 เท่าของอัตราภาษีเดิม ทำให้จุดแข็งเดิมด้านราคาแข่งขันที่ต่ำกว่าคู่แข่งประเทศส่งออกอื่นมากนั้นลดน้อยลงไปมาก ย่อมส่งผลกระทบอย่างมากตามมาต่อบริษัทผู้ผลิต และผู้ส่งออกยางรถยนต์จีน ทำให้มีโอกาสที่จีนจะผลักการส่งออกยางรถยนต์ส่วนเกินมายังตลาดส่งออกอื่นๆของจีนมีมากขึ้น ซึ่งในปี 2551 นอกจากสหรัฐฯแล้ว ตลาดส่งออกยางนอกที่ใช้กับรถยนต์ (รวมรถยนต์นั่งเอนกประสงค์และรถแข่ง) ของจีนที่สำคัญเรียงลำดับตามมูลค่าการส่งออก ได้แก่ อังกฤษ ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ เยอรมนี เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก และเนเธอร์แลนด์ ตามลำดับ ซึ่งพบว่ามีถึง 7 ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม 20 ประเทศส่งออกหลักของยางรถยนต์ไทย ยางรถยนต์จากจีนที่มีราคาต่ำกว่ายางรถยนต์ไทย จึงมีโอกาสที่จะเข้ามารุกชิงส่วนแบ่งตลาดส่งออกปัจจุบันของไทย โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่เน้นข้อได้เปรียบด้านราคามากกว่าคุณภาพ ทำให้ยางรถยนต์จากจีนอาจใช้ข้อได้เปรียบนี้ผลักการส่งออกยางรถยนต์ไปยังตลาดอื่นๆทดแทนการส่งออกไปยังสหรัฐฯที่ลดลง ซึ่งไทยหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกยางรถยนต์ย่อมมีโอกาสได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดของยางรถยนต์จากจีนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

โดยสรุป จากการที่สหรัฐฯได้ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้ายางรถยนต์จากจีน ทั้งประเภทยางรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และยางรถบรรทุกขนาดเล็ก เป็นเวลา 3 ปี จากเดิมที่ร้อยละ 3.4 ถึง 4.0 ขึ้นเป็นร้อยละ 35 30 และ 25 ลดหลั่นในแต่ละปีตามลำดับ ทำให้การส่งออกยางรถยนต์ไปสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของยางรถยนต์จีนคาดว่าจะได้รับผลกระทบพอสมควร เนื่องจากราคาขายได้ปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ยางรถยนต์นำเข้าจากไทย ซึ่งมีราคาเฉลี่ยปกติในสหรัฐฯต่ำกว่ายางรถยนต์นำเข้าจากประเทศอื่น มีโอกาสที่จะปรับเข้ามาใกล้เคียงกับยางรถยนต์นำเข้าจากจีนหลังปรับภาษี เป็นโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกยางรถยนต์ไปยังสหรัฐฯได้มากขึ้น ทำให้ในช่วง 1 ปีแรก นับจากมาตรการภาษีนำเข้าที่ใช้กับจีนของสหรัฐฯมีผลบังคับใช้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 กันยายนนี้ มูลค่าการส่งออกยางรถยนต์นั่งของไทยไปยังสหรัฐฯมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นได้ถึงกว่า 100 ล้านดอลลาร์ฯ หรือ 3400 ล้านบาท จากมูลค่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 125 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีมาตรการดังกล่าว ถ้าผู้ประกอบการไทยสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้เต็มศักยภาพ และสามารถแข่งขันชิงส่วนแบ่งตลาดจากเดิมที่นำเข้าจากจีนให้หันมานำเข้าจากไทยได้ ทว่าการที่ยางรถยนต์จีนถูกบีบให้ส่งออกไปยังสหรัฐฯได้น้อยลง ย่อมกดดันให้จีนต้องผลักสินค้าไปยังตลาดอื่นๆนอกเหนือจากสหรัฐฯมากยิ่งขึ้น ซึ่งยางรถยนต์จากจีนที่มีราคาต่ำกว่ายางรถยนต์ไทย มีโอกาสที่จะเข้ามารุกชิงส่วนแบ่งตลาดส่งออกปัจจุบันของไทย โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่เน้นข้อได้เปรียบด้านราคามากกว่าคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่อาจเกิดกับการส่งออกยางรถยนต์จีนไปสหรัฐฯอาจจะไม่รุนแรงมากอย่างที่คาด หากการเรียกร้องของสมาคมอุตสาหกรรมยางของจีน (CRIA) ประสบผลสำเร็จในการขอในรัฐบาลจีนเพิ่มการลดหย่อนภาษีส่งออก จากเดิมที่ให้ไว้ร้อยละ 9 เป็นลดหย่อนร้อยละ 15 รวมถึงการขอให้รัฐบาลลดการเรียกเก็บภาษีนำเข้ายางธรรมชาติ จากเดิมที่ร้อยละ 20 เหลือเพียงร้อยละ 9 ซึ่งหากรัฐบาลจีนยอมให้ความช่วยเหลือ จะทำให้การผลิตและการส่งออกยางรถยนต์จีนมีต้นทุนที่ถูกลง ดังนั้น แม้สหรัฐฯจะมีการเพิ่มภาษีนำเข้าก็จะไม่ส่งผลกระทบให้ราคานำเข้ายางรถยนต์จีนเพิ่มขึ้นมากอย่างที่คาด ทำให้การส่งออกยางรถยนต์จีนไปสหรัฐฯได้รับผลกระทบที่ลดลง และหากเป็นเช่นนั้นจะมีผลต่อการส่งออกยางรถยนต์ไทยไปสหรัฐฯที่แม้จะสามารถแข่งขันได้มากขึ้น แต่ก็จะไม่ทำให้การนำเข้าจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้นมากนัก แต่ก็จะส่งผลดีต่อไทยในอีกด้านหนึ่ง คือ ตลาดส่งออกอื่นของไทยก็อาจจะได้รับผลกระทบที่ลดลงจากการเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดของยางรถยนต์จีนด้วย

จากนโยบายด้านภาษีดังกล่าวของสหรัฐฯ ผู้ประกอบการส่งออกยางรถยนต์ควรมองหาโอกาสที่จะเข้าไปทำตลาดในสหรัฐฯเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่จีนเคยทำตลาดไว้เดิม ซึ่งไทยจะมีโอกาสจากราคาแข่งขันที่ปรับมาใกล้เคียงกันมากขึ้น ทว่าก็จำเป็นจะต้องหาทางรับมือกับปัญหาการเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากจีนในตลาดส่งออกอื่นๆ เนื่องจากจีนถูกกดดันจากสหรัฐฯทำให้ส่งออกยางรถยนต์ไปสหรัฐฯทำได้น้อยลง จึงต้องออกมาทำตลาดอื่นๆทดแทน ซึ่งยางรถยนต์ไทย นอกจากจะต้องพยายามลดต้นทุน และหลีกเลี่ยงการปรับขึ้นราคาแล้ว ควรนำเสนอจุดขายด้านคุณภาพซึ่งเป็นจุดแข็งที่เหนือกว่า ทั้งนี้เพื่อรักษาฐานตลาดเดิมไว้