ตลาดอาหารแช่แข็งในจีน : โอกาสของสินค้าไทย

ปัจจุบันตลาดอาหารแช่แข็งในจีนเป็นตลาดที่น่าจับตามอง โดยยังมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของคนจีนที่เปลี่ยนมาดำเนินชีวิตในลักษณะคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่มากขึ้น กล่าวคือ ที่พักอาศัยนั้นเปลี่ยนเป็นคอนโดมิเนี่ยม หรืออาคารชุด ระยะเวลาในการประกอบอาหารรับประทานเองน้อยลง หรือไม่มีเวลาในการประกอบอาหารรับประทานเอง ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค โดยหันมานิยมอาหารจานด่วนหรืออาหารสำเร็จรูปแช่แข็งมากขึ้น ซึ่งตลาดนี้ยังมีช่องว่างทางการตลาดในการที่ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าอาหารของไทยจะรุกเข้าไปเจาะขยายตลาดได้อีกมาก แต่ผู้ประกอบการไทยต้องปฏิบัติตามระเบียบด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของสินค้าตามมาตรฐานของจีนให้ได้ เพราะแต่ละมณฑลของจีนค่อนข้างเข้มงวดในเรื่องนี้ ซึ่งการเจาะตลาดจีนน่าจะใช้ช่องทางจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ ประเภทคอนวีเนียนสโตร์ มินิมาร์ท หรือ เฟรชมาร์ท ซึ่งจะสะดวกต่อผู้บริโภคมากกว่าร้านค้าปลีกสมัยใหม่ เพราะอยู่ใกล้ที่พักอาศัยมากกว่า

เดิมตลาดส่งออกหลักๆ ของผู้ส่งออกอาหารแช่แข็งไทยอยู่ที่สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งที่ส่งออกไปในตลาดเหล่านั้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าพรีเมียมสำหรับตลาดบนเกือบทั้งหมด เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อียู และญี่ปุ่น ทำให้การนำเข้าสินค้าอาหารแช่แข็งมีแนวโน้มลดลง เพราะแม้ว่าอาหารจะเป็นสินค้าจำเป็น แต่ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าอาหารที่มีราคาถูกมากกว่า ดังนั้น ผู้ส่งออกอาหารแช่แข็งของไทยจึงหันมาขยายตลาดจีนทดแทน ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งที่ไทยส่งออกไปยังตลาดจีนนั้น ถือว่ายังมีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างน้อย เพียงประมาณร้อยละ 3-4 ของผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งส่งออกทั้งหมดเท่านั้น นับว่าไทยยังมีโอกาสในการเจาะขยายตลาดอาหารแช่แข็งในจีนได้อีกมาก โดยเฉพาะในปี 2553 ซึ่งคาดการณ์ว่าแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งของจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการฟื้นตัวของกำลังซื้อของคนจีน ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนี้ จีนยังมีการจัดงานเซี่ยงไฮ้เอ็กซ์โปในเดือนพฤษภาคม และงานเอเซียนเกมส์ในเดือนพฤศจิกายน รวมทั้งรัฐบาลจีนประกาศให้ปี 2553 เป็นปีท่องเที่ยวจีน คาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการสินค้าอาหารของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ตลาดอาหารแช่แข็งในจีนขยายตัว…ตอบสนองพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยน
ตลาดอาหารแช่แข็งในจีนมีแนวโน้มเติบโตอย่างน่าสนใจ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนจีนมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

-ผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ที่มีชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ ทำกิจกรรมต่างๆแข่งขันกับเวลา ดังนั้นเวลาในการปรุงอาหารน้อยลง และผู้บริโภคบางกลุ่มไม่สะดวกที่จะปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้าน เนื่องจากอาศัยอยู่ในห้องเช่าหรืออพาร์ตเม้นต์ ดังนั้น ผู้บริโภคกลุ่มนี้จึงหันไปรับประทานอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น

-ปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น ปัจจุบันสัดส่วนของเนื้อสัตว์ในแต่ละมื้ออาหารมากขึ้น ในขณะที่สัดส่วนอาหารประเภทแป้งลดลง รวมทั้งมีการเพิ่มความหลากหลายของประเภทอาหารที่บริโภคด้วยเช่นกัน เนื่องจากระดับรายได้เฉลี่ยของคนจีนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และมีโอกาสในการเลือกซื้ออาหารได้หลากหลายประเภทมากขึ้นด้วย

-การยอมรับการบริโภคอาหารแบบตะวันตกมากขึ้น นับเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของอาหารแช่แข็ง ประเภทผลิตภัณฑ์มันฝรั่ง และพิซซ่า ในขณะที่สินค้าอาหารแช่แข็งประเภทผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

-การกระจายตัวอย่างรวดเร็วของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ทั้งซุปเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีจำนวนตู้แช่ที่สามารถเก็บรักษาคุณภาพของสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นอย่างมากตามไปด้วย รวมทั้งมีการพัฒนาและปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ในการส่งสินค้าแช่เย็น (Cold Chain Infrastructure)

-จำนวนครัวเรือนที่มีตู้เย็นเพิ่มขึ้น เดิมนั้นจำนวนครัวเรือนที่มีตู้เย็นของจีนจำกัดอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ในปัจจุบันจำนวนครัวเรือนที่มีตู้เย็นเริ่มกระจายไปในเขตชนบท โดยได้รับอานิสงส์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนที่สนับสนุนสินเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะตู้เย็น นับเป็นแรงผลักดันสำคัญของการเติบโตของสินค้าอาหารแช่แข็งในเขตชนบทของจีน ซึ่งหมายถึงจำนวนครัวเรือนที่มีประสิทธิภาพในการเก็บอาหารแช่แข็งได้เท่าเทียมกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่มีมากขึ้น นับเป็นโอกาสของอาหารแช่แข็งที่จะได้รับการยอมรับมากขึ้น และเข้าถึงผู้บริโภคในแต่ละท้องถิ่นได้มากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันมีโรงงานผลิตอาหารแช่แข็งในจีนประมาณ 3,000 โรงงาน โดยที่ตั้งของโรงงานผลิตอาหารแช่แข็งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ในจำนวนโรงงานผลิตอาหารแช่แข็งมี 2 แบรนด์ใหญ่ที่ครองตลาดร้อยละ 16 ของตลาดอาหารแช่แข็งทั้งประเทศ คือ “Synear” และ “Sanquan” ซึ่งทั้งสองโรงงานตั้งอยู่ในจังหวัด Henan เนื่องจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดอาหารแช่แข็ง ทำให้มีการขยายการลงทุนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ในช่วงระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์ ในเขตShuanghui , Jinluo, Yurun และ Zhongpin นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนจากต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนในจีน ในลักษณะการร่วมทุนระหว่างนักลงทุนจากญี่ปุ่น สหรัฐฯ และนักลงทุนของจีน ในการผลิตสินค้าอาหารแช่แข็งประเภทติ่มซำและเกี๊ยว ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมของชาวจีน โดยลูกค้าเป้าหมายคือ ผู้มีรายได้ระดับสูงในเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และกวางโจว

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก โดยเริ่มมีสัญญาณตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 ซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในหลายประเทศลดลง และผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่าย ซึ่งส่งผลให้ความสนใจเลือกซื้อสินค้าอาหารประเภทใหม่ๆที่เข้าสู่ตลาดลดน้อยลง สินค้าอาหารประเภทใหม่ๆเหล่านี้จึงมียอดจำหน่ายลดลงอย่างมาก แต่ในตลาดจีนเหตุการณ์นั้นกลับแตกต่างออกไป สินค้าประเภทอาหารแช่แข็ง ซึ่งนับว่ายังเป็นสินค้าที่ค่อนข้างใหม่ในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราการขยายตัวจะลดลง แต่ก็ไม่ถึงกับหดตัวเช่นเดียวกันตลาดในสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะของสินค้าอาหารแช่แข็งในตลาดจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มุ่งลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้ระดับกลาง และตอบสนองพฤติกรรมการบริโภคและวิถีชีวิตของคนจีนเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น นิยมอาหารจานด่วนหรืออาหารสำเร็จรูปมากขึ้น เนื่องจากระยะเวลาในการปรุงอาหารรับประทานเองลดลง และไม่สะดวกในการปรุงอาหารรับประทานเองเนื่องจากชาวจีนในเมืองใหญ่ต้องพักอาศัยคอนโดมิเนียม หรืออาคารชุด หรือแฟลตมากขึ้น

คาดการณ์ว่าในปี 2552 มูลค่าตลาดสินค้าอาหารแช่แข็งในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 15,207.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเมื่อเทียบกับปี 2551 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2556 มูลค่า 19,528.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยในช่วงปี 2552-2556 ประมาณร้อยละ 7.1 ต่อปี โดยอิงอัตราการบริโภคต่อหัว แสดงให้เห็นว่าตลาดอาหารแช่แข็งของจีนยังเป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากยังมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

จีนปรับมาตรฐานสินค้าอาหาร…ข้อมูลต้องเร่งปรับตัวตาม
ในช่วงระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา “จีน” ในฐานะผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกประสบปัญหาด้านภาพลักษณ์การผลิตสินค้าอาหาร เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าหลายประเทศตรวจสอบพบการปนเปื้อนในสินค้าอาหาร เช่น สารพิษตกค้างในเกี๊ยวซ่าที่ตรวจสอบพบในตลาดญี่ปุ่น ปัญหาผลิตภัณฑ์นมปนเปื้อนสารเมลามีน ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าสินค้าอาหารจากจีน รวมถึงผู้บริโภคในจีนเองขาดความเชื่อมั่นต่อสินค้าอาหารที่ผลิตจากจีน กระทบกับทั้งการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารของจีน

รัฐบาลจีนต้องเร่งแก้ปัญหายกระดับมาตรฐานสินค้าอาหาร โดยการประกาศใช้กฎหมาย Food Safety Law (FSL) ฉบับใหม่ ซึ่งผ่านการรับรองจากสมาชิกรัฐสภาจีน และกำหนดให้มีผลบังคับใช้แทนที่กฎหมาย Food Hygiene Law 1995 มาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2552 เป็นต้นมา โดยกฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อกำกับดูแลการออกใบอนุญาต การจดทะเบียน การพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน เฝ้าระวัง ตรวจสอบย้อนกลับ และดำเนินการด้านกฎหมายอย่างเข้มงวด ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบและอาหารจนกระทั่งถึงผู้บริโภค ผลจากการออกกฎหมาย FSL กระทบกับการส่งออกไทย ในแง่ที่จีนจะกลายเป็นคู่แข่งในด้านการส่งออกอาหารที่สำคัญของไทยไปยังตลาดหลักเดิมคือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น เพราะหากจีนสามารถยกระดับมาตรฐานสินค้าได้ย่อมจะได้รับความเชื่อมั่นจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามจะทำให้การแข่งขันเปลี่ยนไปในด้านคุณภาพ เพราะสินค้าจากจีนจะมีต้นทุนในด้านนี้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

ส่วนการส่งออกสินค้าอาหารไทยไปจีนนั้นปัจจุบันไทยพยายามเข้าไปเจาะตลาดจีน โดยเน้นว่าสินค้าอาหารจากไทยมีมาตรฐานสูงอยู่แล้ว เพราะมีการส่งออกไปตลาด สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นซึ่งตลาดเหล่านี้มีมาตรฐานสูง จึงเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่กระทบกับการส่งออกจากไทยมากนัก และในอีก 3-5 ปีข้างหน้าไทยสามารถขยายการส่งออกสินค้าอาหารแช่แข็งไปจีนได้ จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนการส่งออกไปจีนเพียงร้อยละ 3-4 เท่านั้น

นอกจากการปรับมาตรฐานด้านสินค้าอาหารแล้ว รัฐบาลจีนออกมาตรการซื้อสินค้าจีน (Buy Chinese) เพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลท้องถิ่นซื้อสินค้าภายในประเทศ ซึ่งอาจจะกระทบกับการส่งออกสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการของไทย ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวมีสาระสำคัญระบุว่า

1.การจัดซื้อของรัฐบาลจะต้องซื้อสินค้าและบริการที่ผลิตในประเทศจีน ยกเว้นกรณีที่สินค้า/บริการนั้นๆ ไม่มีการผลิตในจีน หรือมีปริมาณไม่เพียงพอ โดยการจัดหาซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศจะต้องขออนุมัติจากหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะทำการจ่ายเงิน

2. รัฐบาลจีนได้จัดตั้งหน่วยงานสืบสวนข้อเท็จจริง ในกรณีที่มีการร้องเรียนจากสมาคมอุตสาหกรรมภายในประเทศว่า รัฐบาลท้องถิ่นมีการใช้เงินงบประมาณของโครงการที่ดำเนินการภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน เพื่อจัดซื้อสินค้าบริการที่ไม่ได้ผลิตในประเทศ

3.คำสั่งดังกล่าวรวมถึงการห้ามหน่วยงานของรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นให้เลือกปฏิบัติในการจัดซื้อสินค้าบริการจากธุรกิจในท้องถิ่นและบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในท้องถิ่น

ซึ่งผู้ส่งออกสินค้าอาหารของไทยต้องเร่งติดตามผลกระทบของทั้งการปรับมาตรฐานสินค้าอาหาร และการปรับนโยบายซื้อสินค้าจีน รวมทั้งต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานสินค้าอาหารของจีน และเร่งเจาะขยายตลาดสินค้าอาหารแช่แข็งในจีน เนื่องจากเป็นตลาดที่ยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก

โอกาสสินค้าอาหารแช่แข็งในตลาดจีน
จีนเป็นตลาดส่งออกอาหารที่สำคัญลำดับที่ 4 ของไทย รองจากสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เมื่อแยกพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งแล้ว ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งไปยังจีน 52.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2551 แล้วหดตัวร้อยละ 27.3 ทั้งนี้เนื่องจากการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งประเภทผักแช่แข็ง กุ้งแช่แข็ง และปลาแช่แข็ง อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งที่ยังคงมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ผลไม้แช่แข็ง ปลาหมึกแช่แข็ง เนื้อปลาแช่แข็ง และปูแช่แข็ง

สัดส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งไปยังตลาดจีนเฉลี่ยในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาคิดเป็นเพียงร้อยละ 4.0 ของการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งทั้งหมด แต่ก็ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจที่จะมาเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพการขยายตัวเพื่อทดแทนการส่งออกไปยังตลาดหลักเดิม คือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น

นอกจากนี้ สินค้าอาหารแช่แข็งที่น่าสนใจสำหรับตลาดจีน คือ อาหารแปรรูปและอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง ซึ่งอาหารทั้งสองประเภทนี้ยังไม่มีการแยกพิกัดศุลกากร แต่จากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนแล้ว อาหารทั้งสองประเภทนี้มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง และผู้ประกอบการของไทยมีโอกาสในการเข้าไปเจาะขยายตลาดอย่างมาก โดยต้องเริ่มตั้งแต่การเข้าไปสำรวจพฤติกรรมและรสนิยมการบริโภคของชาวจีนในแต่ละท้องที่ ทั้งนี้เพื่อผลิตสินค้าอาหารแปรรูป และอาหารสำเร็จรูปให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในแต่ละท้องที่ด้วย

บทสรุป
แม้ว่าในปัจจุบันไทยส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งไปจีนเพียงร้อยละ 4.0 ของผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งทั้งหมดของไทย แต่ตลาดอาหารแช่แข็งในจีนก็ยังเป็นตลาดใหม่ที่ผู้ประกอบการของไทยมีโอกาสในการเจาะขยายตลาด สินค้าที่มีศักยภาพคือ ผลไม้แช่แข็ง ปลาหมึกแช่แข็ง เนื้อปลาแช่แข็ง และปูแช่แข็ง รวมไปถึงอาหารแปรรูปและอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการแยกพิกัดศุลากร แต่สินค้าทั้งสองประเภทนี้มีโอกาสเติบโตในตลาดจีน เนื่องจากในปัจจุบันคนจีนเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเป็นคนเมืองมากขึ้น โดยอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมหรือห้องชุด ระยะเวลาในการปรุงอาหารรับประทานเองลดลง หรือไม่สะดวกในการปรุงอาหารรับประทานเอง ดังนั้น จึงหันมานิยมบริโภคอาหารจานด่วนหรืออาหารสำเร็จรูปมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดอาหารแช่แข็งในจีนนั้นมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ อัตราการขยายตัวของตลาดอาหารแช่แข็งในจีนก็ยังเติบโตแม้จะชะลอตัวลงบ้างก็ตาม อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าในปี 2553 จีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการฟื้นตัวของกำลังซื้อของคนจีน ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนี้ จีนยังมีแผนการจัดงานเซี่ยงไฮ้เอ็กซ์โปในเดือนพฤษภาคม และงานเอเซียนเกมส์ในเดือนพฤศจิกายน รวมทั้งรัฐบาลจีนประกาศให้ปี 2553 เป็นปีท่องเที่ยวจีน คาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการสินค้าอาหารของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น