อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์: คำสั่งซื้อเริ่มฟื้นตัวแต่แรงงานกลับขาดแคลน

นับตั้งแต่การเข้าควบคุมกิจการของสถาบันปล่อยกู้เพื่อที่อยู่อาศัยยักษ์ใหญ่ Fannie Mae และ Freddie Mac ของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อไม่ให้ความเสียหายกระจายเป็นวงกว้าง และการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส เมื่อเดือนกันยายน 2551 จวบจนถึงวันนี้ครบรอบ 1 ปี ปัญหาซับไพร์มที่เริ่มต้นขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยอย่างมากโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศโดยมูลค่าการส่งออกช่วง 8 เดือนแรกได้หดตัวไปกว่าร้อยละ 23.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งก็นำไปสู่การเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อคำสั่งซื้อเริ่มกลับมา สถานประกอบการหลายแห่งกลับประสบกับภาวะขาดแคลนแรงงาน ทำให้ไม่สามารถรับออเดอร์ได้ทั้งหมดเนื่องจากไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากอย่างทันทีทันใด ทำให้สูญเสียโอกาสในการส่งออกบางส่วนไปอย่างน่าเสียดาย ในช่วงหนึ่งปีของภาวะวิกฤติเศรษฐกิจศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและแรงงานในภาคอิเล็กทรอนิกส์ ดังต่อไปนี้

ารส่งออกหดตัวสูงทำให้การเลิกจ้างพุ่ง
จากรูปจะเห็นได้ว่าภาวะการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไทยเริ่มหดตัวลงช่วงไตรมาสที่ 4/2551 ซึ่งมีสาเหตุมาจากทั้งการปิดสนามบินและการที่ไทยเริ่มได้ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก โดยแม้ว่าปัญหาการเมืองจะคลี่คลายลงหลังมีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ผลของความถดถอยของเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 หดตัวสูงถึงร้อยละ 32.5 (YoY) โดยในช่วงเวลาตกต่ำสุด คือ เดือนมกราคม 2552 นั้น มูลค่าส่งออกลดลงถึงร้อยละ 40.4 (YoY)

วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทต่างพากันลดสต็อกสินค้าที่มีอยู่และชะลอการสั่งซื้อเพื่อลดต้นทุน ซึ่งกระทบกับโรงงานที่ผลิตและประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในไทยอย่างมาก โดยผู้ผลิตต้องลดกำลังการผลิตลงเพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งซื้อที่ลดต่ำ ผลของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกทำให้หลายโรงงานต้องปิดกิจการลง บางบริษัทมีการควบรวมระหว่างกันและลดพนักงาน เช่น บริษัทข้ามชาติผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟญี่ปุ่น ขณะที่บริษัทรับจ้างผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อีกหลายแห่งต้องปิดโรงงานบางส่วนลงและปลดพนักงานออก โดยแรงงานที่ได้รับผลกระทบมากส่วนใหญ่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือและรอบกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนจนถึงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ประเมินว่ามีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ถูกเลิกจ้างเป็นจำนวน 30,000-40,000 คน (รวมพนักงานชั่วคราว) หรือประมาณร้อยละ 8-11 จากจำนวนแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมประมาณ 3.5 แสนคน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าอัตราการหดตัวของการส่งออกที่ลดลงกว่าร้อยละ 30 ถึงร้อยละ 40 สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ประกอบการปรับตัวโดยการงดโอที ลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน และลดวันทำงานลง เพื่อพยายามรักษาบุคลากรที่เป็นพนักงานประจำไว้เนื่องจากงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นงานที่ต้องการทักษะเฉพาะ ซึ่งการสร้างบุคลากรใหม่ขึ้นมามีต้นทุนและต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรม

แรงงานขาดแคลนหลังคำสั่งซื้อเริ่มฟื้นตัว

หลังเริ่มเข้าไตรมาส 2/2552 ผลจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้า เช่น จีน ญี่ปุ่น ซึ่งมีการอุดหนุนการซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าไอที ประกอบกับการส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่ยังขยายตัวได้ และตลาดประเทศกลุ่มจี 3 (สหรัฐฯ, กลุ่มประเทศยุโรป, ญี่ปุ่น) ซึ่งเศรษฐกิจเริ่มหลุดพ้นจากช่วงที่เลวร้ายที่สุด ก็ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเริ่มเห็นคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อน โดยตัวเลขการส่งออกในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีการปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อนข้างชัดเจนโดยหดตัวในอัตราที่ชะลอลงน้อยกว่าร้อยละ 20 (YoY) ซึ่งการกลับมาของคำสั่งซื้อสินค้าทำให้โรงงานที่ได้รับออเดอร์เพิ่มต่างก็เร่งกำลังการผลิตขึ้น ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมล่าสุดเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 65 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 40 ในเดือนมกราคม และเป็นระดับการใช้กำลังการผลิตที่ใกล้เคียงกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน และหากมองในรายผลิตภัณฑ์จะพบว่าผลิตภัณฑ์บางกลุ่มมีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้นมาเกินกว่าร้อยละ 70 แล้ว ยกตัวอย่างเช่น แผงวงจรรวม ที่อัตราการใช้กำลังการผลิตขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 82 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งการเร่งขึ้นของการใช้กำลังการผลิตก็ทำให้โรงงานมีความต้องการคนงานกลับมาทำงานเพิ่มขึ้น จะเห็นได้จากที่ผ่านมาสถานประกอบการหลายแห่งได้มีการเปิดรับสมัครพนักงานใหม่ โดยจากผลสำรวจของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการจ้างงานในส่วนของพนักงานชั่วคราวเพิ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม ร้อยละ 62 หลังคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนยังคงระดับการจ้างงานไว้ในระดับเดิม

อย่างไรก็ดี แม้ว่าบริษัทจะเริ่มจ้างคนงานกลับเข้ามาเพื่อรองรับการผลิตแต่กลับปรากฏว่าไม่ได้รับความสนใจมากเท่าที่ควร สาเหตุน่าจะเนื่องมาจากแรงงานที่ถูกเลิกจ้างในช่วงก่อนได้รับเงินชดเชยการว่างงาน ขณะที่แรงงานบางส่วนยังอยู่ในโครงการต้นกล้าอาชีพซึ่งเป็นโครงการฝึกอบรมอาชีพโดยได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงและเงินอุดหนุนเพื่อประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการการช่วยเหลือแรงงานของภาครัฐ ทั้งนี้ ในโครงการต้นกล้าอาชีพระยะแรกซึ่งเริ่มไปเมื่อเดือนมีนาคม มีจำนวนแรงงานเข้าฝึกอบรมกว่า 300,000 คน และโครงการระยะที่ 2 มีกำหนดเริ่มลงทะเบียนในเดือนกันยายนนี้ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนแรงงานเข้าฝึกอบรมอีกไม่ต่ำกว่า 200,000 คน เป็นสาเหตุที่ทำให้แรงงานอาจยังไม่กลับมาทำงาน นอกจากนี้หลังการฝึกอาชีพแล้วแรงงานส่วนหนึ่งอาจต้องการเปลี่ยนไปทำอาชีพอิสระ อาทิ เป็นผู้ประกอบการเจ้าของกิจการรายย่อย เนื่องจากมองว่าสภาพการจ้างงานในโรงงาน/บริษัทมีความไม่แน่นอนสูง สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้มีจำนวนผู้สมัครเข้าทำงานน้อย ทำให้โรงงานและบริษัทอาจประสบความยากลำบากในการหาคนงานเข้ามาทำงานในระยะสั้น ซึ่งปรากฎการณ์นี้ไม่เพียงเกิดขึ้นแต่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้นแต่น่าจะยังพบได้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ ที่คำสั่งซื้อเริ่มทยอยกลับมา เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งผลของการที่ผู้ประกอบการหาแรงงานมาทำงานได้ไม่เพียงพอในระยะสั้นประกอบกับกรณีที่ผู้ประกอบการมีโรงงานหลายแห่ง และโรงงานบางแห่งยังถูกปิดอยู่เนื่อง จากผู้ประกอบการยังไม่แน่ใจในสภาพเศรษฐกิจในอนาคต ทำให้สถานประกอบการบางแห่งซึ่งได้ปลดคนงานออกไปในช่วงก่อนอาจไม่สามารถเพิ่มการผลิตเพื่อรับออเดอร์ที่กลับเข้ามาใหม่ได้อย่างเต็มที่

การฟื้นตัวของการจ้างงานในระยะยาวขึ้นกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

แม้ว่าในระยะสั้นผู้ประกอบการอาจประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือแรงงานของภาครัฐ แต่คาดว่าไม่น่าจะเกิดภาวะตลาดแรงงานตึงตัวหรือค่าจ้างปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราสูงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอีกส่วนหนึ่งยังคงลังเลที่จะจ้างงานเพิ่มและขยายการผลิต เช่น การเปิดโรงงานที่ได้ปิดไปชั่วคราวในช่วงที่คำสั่งซื้อหดตัวรุนแรง เนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของออเดอร์สินค้า เนื่องจากออเดอร์ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นผลมาจากการลดสินค้าคงคลังในช่วงก่อน ทำให้การกลับมาของออเดอร์เป็นผลชั่วคราว โดยในปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจำนวนผู้ที่มีงานทำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เฉลี่ยทั้งปีน่าจะอยู่ในช่วงประมาณ 320,000-326,000 คน ลดลงจากปี 2551 ที่เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 333,000 คน ร้อยละ 2 ถึงร้อยละ 4

อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไป อุปทานแรงงานน่าจะเพิ่มขึ้นภายหลังโครงการช่วยเหลือของภาครัฐเริ่มทยอยสิ้นสุดลงในปีหน้า ซึ่งน่าจะสอดรับกับการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตและการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมในกรณีที่เศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็จะช่วยดูดซับแรงงานกลับเข้าไปในระบบ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปอย่างล่าช้า ก็มีความเป็นไปได้ที่การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อาจมีการชะลอตัวลง

ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตรวมถึงอิเล็กทรอนิกส์ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาที่ผู้ประกอบการต้องผ่านกับทั้งภาวะน้ำมันแพงและการส่งออกที่หดตัวรุนแรง คือ การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับวิธีการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร โดยจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการมีการนำการประเมินผล อาทิ KPI มาใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้นเพื่อเพิ่มผลิตภาพของคนและประสิทธิภาพในการผลิตในโรงงาน โดยแนวโน้มของการใช้เครื่องมือต่างๆ เข้ามาผนวกในการบริหารจัดการคนน่าจะมีมากขึ้นในอนาคต ซึ่งในด้านหนึ่งแม้ว่าอาจมีประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนของผู้ประกอบการ แต่ก็จำเป็นที่องค์กรจะต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานให้เข้าใจถึงประโยชน์ของเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้ และนำมาใช้อย่างเป็นธรรมกับพนักงานด้วยเช่นกัน

สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมการผลิตอื่น เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน ที่มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะ ปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมประสบอย่างต่อเนื่องแม้ในยามที่มีภาวะการว่างงานสูง คือ การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะจำพวกช่างและวิศวกรที่มีฝีมือและมีความชำนาญ มีความสามารถในการปรับใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องจักรในการผลิตได้ และแรงงานกลุ่มนักออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) และนักการตลาด ซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มที่มีประสบการณ์และผ่านการฝึกอบรม ซึ่งการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือและมีคุณภาพเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวของประเทศและต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย เช่น ภาครัฐและสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพและเพิ่มจำนวนแรงงานในกลุ่มนี้ให้เพียงพอกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในอนาคต

สรุปและข้อเสนอแนะ

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นได้ส่งผลต่อการส่งออกและการจ้างงานของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยค่อนข้างมากโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งส่วนใหญ่ไทยเป็นผู้รับจ้างผลิตเพื่อส่งออก โดยในช่วงจุดต่ำสุดเดือนมกราคม 2552 การส่งออกหดตัวถึงร้อยละ 40.4 (YoY) ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 41 หรือประมาณครึ่งหนึ่งของอัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้บริษัทมีการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก โดยตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4/2551 ถึงไตรมาสที่ 2/2552 ประเมินว่ามีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนกว่า 30,000-40,000 คน (ร้อยละ 8-11 ของจำนวนแรงงานประมาณ 3.5 แสนคน) อย่างไรก็ดี สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปโดยในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่หลังเดือนเมษายนปรากฏว่าคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเริ่มกลับเข้ามา ทำให้สถานประกอบการเริ่มเร่งการผลิตขึ้นและประกาศรับคนงานกลับเข้าทำงานแต่กลับพบว่ามีแรงงานให้ความสนใจไม่มากเท่าที่ควร สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือแรงงานของภาครัฐในช่วงก่อน และจากการที่แรงงานส่วนหนึ่งอาจหันไปประกอบอาชีพอิสระแทนหลังการฝึกอาชีพเนื่องจากมองว่าการทำงานในโรงงานมีความไม่มั่นคงสูง ซึ่งจะทำให้สถานประกอบการจะประสบกับภาวะการขาดแคลนแรงงานเพื่อผลิตในระยะสั้นและอาจไม่สามารถรับออเดอร์ที่กลับเข้ามาได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ โดยรวมทั้งปี 2552 สืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าจำนวนผู้ที่มีงานทำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มอยู่ในช่วง 320,000-326,000 คน ลดลงประมาณร้อยละ 2-4 จากปี 2551 ที่เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 333,000 คน ส่วนแนวโน้มในปีหน้า คาดว่าน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังโครงการภาครัฐทยอยสิ้นสุดลงและเริ่มมีอุปทานแรงงานใหม่เข้ามาซึ่งน่าจะสอดรับกับการปรับตัวดีขึ้นของอุตสาหกรรมในระยะต่อไป จากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย มูลค่าส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 อาจขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.2 ถึงหดตัวเล็กน้อยในอัตราร้อยละ 2.8 ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกที่หดตัวไปร้อยละ 26.7 ก่อนจะกลับมาเติบโตในอัตราเลข 2 หลักในปี 2553

สำหรับผู้ประกอบการเพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระยะสั้น อาจต้องมีการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานชั่วคราวให้เป็นที่น่าดึงดูดมากขึ้นและ/หรือทำการจ้างงานในลักษณะที่มีเงื่อนไข เช่น หลังทำงานครบสัญญาชั่วคราวอาจมีการปรับเปลี่ยนสถานะให้กลายเป็นพนักงานประจำ เพื่อให้ความมั่นใจกับแรงงานเกี่ยวกับความมั่นคงของงาน ซึ่งประการหลังนี้ผู้ประกอบการอาจลังเลที่จะทำเนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของออเดอร์ อย่างไรก็ดี เนื่องจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือและทักษะซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแม้ในช่วงที่การส่งออกหดตัวสูง จึงอาจมีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องสร้างแรงจูงใจทั้งในแง่ของค่าตอบแทนและความมั่นคงในการทำงานเพื่อดึงดูดแรงงานเก่ากลับเข้ามาทำงานและแรงงานใหม่เพื่อเรียนรู้งานและฝึกอบรม ซึ่งแม้ว่าสิ่งนี้จะเป็นต้นทุนของบริษัท แต่ในระยะยาวการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์มีประสิทธิภาพและการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับแรงงานจะส่งผลให้เกิดการปรับปรุงผลิตภาพของแรงงานอย่างต่อเนื่องและเป็นผลดีในระยะยาวโดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจโลกกลับมาขยายตัวดี

ในแง่ของประเทศ การฟื้นตัวของคำสั่งซื้อซึ่งทำให้ภาคอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงานไม่สามารถเพิ่มการผลิตได้อย่างเต็มที่ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นนั้น หากเป็นปัญหายืดเยื้อก็อาจทำให้เป็นการเสียโอกาสโดยคู่ค้าอาจหันไปสั่งซื้อจากประเทศอื่นแทน ทั้งนี้ ในระยะยาว ปัญหาขาดแคลนแรงงานประเภทแรงงานกึ่งมีฝีมือ และแรงงานมีฝีมือประเภทช่างเทคนิคและวิศวกร ซึ่งเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมหลายสาขาจะไปผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ ซึ่งความขาดแคลนแรงงานนี้ได้นำไปสู่การแย่งชิงบุคลากรระหว่างภาคอุตสาหกรรมการผลิต เช่น อิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ และทำให้ต้นทุนแรงงานมีแนวโน้มสูงขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาโครงสร้างทางด้านแรงงาน ภาครัฐจึงควรร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาเร่งผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกัน การจัดการทางด้านแรงงานสัมพันธ์ที่ดี การปรับปรุงสภาวะในการทำงานในด้านของสวัสดิการและความมั่นคง น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาแรงงานออกไปทำงานในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิต แต่ในขณะเดียวกัน หากภาคอุตสาหกรรมสามารถพัฒนาคุณภาพสินค้าและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องก็น่าที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้าและสถานการณ์แข่งขันของอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืนได้