เทศกาลไหว้พระจันทร์ได้เวียนมาครบวาระอีกครั้งหนึ่งในปีนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 3 ตุลาคม 2552 โดยสถานการณ์ด้านการตลาดของขนมไหว้พระจันทร์ในปีนี้ คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอารมณ์ทางด้านการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ดีขึ้น ภายหลังได้รับปัจจัยหนุนจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ประกอบกับสถานการณ์ด้านการเมืองที่ลดความรุนแรงลงเมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอารมณ์การจับจ่ายของประชาชนจะเริ่มดีขึ้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในปี 2552 ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่กดดันทำให้ยอดจำหน่ายเติบโตได้ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ทั้งปัญหาทางด้านราคาน้ำมันที่เริ่มปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 รวมถึงความมั่นใจของประชาชนที่ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ทำให้ประชาชนยังคงค่อนข้างระมัดระวังการใช้จ่ายพอสมควร โดยคาดว่ามูลค่าตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในปี 2552 จะอยู่ที่ประมาณ 525-550 ล้านบาทปรับเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5-10 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาซึ่งมีมูลค่าตลาดประมาณ 500 ล้านบาท ในขณะที่การแข่งขันในตลาดขนมไหว้พระจันทร์ยังคงมีความรุนแรงจากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ทั้งผู้ประกอบการร้านอาหาร และโรงแรม ในขณะที่ตลาดยังคงจำกัดอยู่ในกลุ่มที่ซื้อไปใช้ในพิธี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ซื้อประจำและปริมาณในการซื้อค่อนข้างคงที่ และกลุ่มผู้ซื้อไปรับประทานหรือฝากญาติมิตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนวัยทำงาน ซึ่งกลุ่มนี้ปริมาณการซื้อจะขึ้นอยู่กับกำลังซื้อเป็นสำคัญ ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการสามารถขยายตลาดไปสู่กลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีฐานจำนวนประชากรมากและมีกำลังซื้อสูงได้ จะช่วยให้ตลาดขนมไหว้พระจันทร์ขยายตัวและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดิมได้อีกมาก
ตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา(2548-2551)ไม่สดใสมากนัก แม้ว่าจะมีกลุ่มลูกค้าประจำที่ซื้อขนมไหว้พระจันทร์อย่างต่อเนื่องทุกปี คือกลุ่มที่ซื้อไปใช้ในพิธีไหว้ ซึ่งมีจำนวนค่อนข้างคงที่ แต่สำหรับกลุ่มที่ซื้อไปรับประทานหรือฝากญาติมิตรซึ่งมีบทบาทเพิ่มขึ้นในตลาดขนมไหว้พระจันทร์นั้นได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวจากปัจจัยกดดันทั้งทางด้านปัญหาเศรษฐกิจซบเซา ปัญหาทางด้านราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และปัญหาความขัดแย้งทางด้านการเมือง ทำให้อารมณ์การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนลดลง มีความระมัดระวังการใช้จ่ายและเก็บออมเพื่อใช้ยามฉุกเฉินมากขึ้น โดยเฉพาะในปี 2551 ที่ผ่านมา ตลาดขนมไหว้พระจันทร์ต้องเผชิญกับปัจจัยลบที่กระทบตลาดรุนแรงกว่าปีอื่นๆ ทั้งปัญหาราคาน้ำมันที่ขึ้นไประดับสูงสุด 147 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2551 ปัญหาการเมืองที่รุนแรงที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ช่วงกลางปีต่อเนื่องไปถึงปลายปี 2551 ส่งผลให้มูลค่าตลาดขนมไหว้พระจันทร์ทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2550
สำหรับตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในปี 2552 จะมีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2551 แม้ว่า ช่วงครึ่งแรกของปี 2552 เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญมรสุมหลายด้านทั้งวิกฤตเศรษฐกิจโลกถดถอย ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศ และการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่งผลให้ภาคธุรกิจเอกชนปรับลดการผลิตและเลิกจ้างพนักงานจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2552 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นมามีระดับเฉลี่ยประมาณ 780,000 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว อันเป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคส่งออกภายหลังจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยค่อยๆฟื้นตัวดีขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทำให้มีเม็ดเงินกระจายไปสู่ภาคประชาชนเพิ่มขึ้น ซึ่งจากสภาพแวดล้อมทางการตลาดที่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมการขายดังกล่าว นับเป็นผลดีต่อตลาดขนมไหว้พระจันทร์ที่คาดว่ายอดจำหน่ายมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้คาดว่ามูลค่าตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในปี 2552 จะมีมูลค่าประมาณ 525-550 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 5-10 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนหนึ่งนอกจากเป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการปรับราคาจำหน่ายขนมไหว้พระจันทร์ขึ้นอีกประมาณชิ้นละ 2-4 บาทตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นผลจากการคาดว่ายอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นของลูกค้ากลุ่มที่ซื้อไปรับประทานหรือซื้อไปฝากญาติมิตร ซึ่งกลุ่มนี้พฤติกรรมการซื้อจะขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านเศรษฐกิจและกำลังซื้อเป็นตัวกำหนด ในขณะที่กลุ่มที่ซื้อขนมไหว้พระจันทร์เพื่อใช้ในพิธีไหว้นั้น ส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่ซื้อขนมไหว้พระจันทร์ในจำนวนที่ใกล้เคียงกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในปี 2552 แม้ว่าจะมีทิศทางที่ดีกว่าปีก่อน แต่ก็ยังมีปัจจัยบางประการที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิต การจำหน่าย รวมทั้งทิศทางการแข่งขันที่ผู้ประกอบการพึงระวัง ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
ปัจจัยทางด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภค แม้ว่าอารมณ์ความต้องการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น จากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่เริ่มคลี่คลายลงไปบ้างแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้บริโภคอีกเป็นจำนวนมากที่กังวลถึงความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลต่อภาวะการจ้างงานในระยะต่อไป ประกอบกับปัจจัยทางด้านราคาน้ำมันที่มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกก็ส่งผลด้านจิตวิทยาต่อประชาชน ส่งผลทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากยังคงมีความระมัดระวังการใช้จ่าย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้ตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในปี 2552 เติบโตได้ไม่สูงมากนัก โดยคาดการณ์ว่าจะเติบโตเพียงประมาณร้อยละ 5-10 นับว่าชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตนั้นตลาดขนมไหว้พระจันทร์ขยายตัวถึงร้อยละ 10-15
ปัจจัยทางด้านต้นทุนการผลิต แม้ว่าต้นทุนการผลิตขนมไหว้พระจันทร์หลายประเภทจะปรับลดลง อาทิ แป้งสาลีราคาปรับลดลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 เป็นต้นมา และราคาทุเรียนหมอนทองซึ่งปรับลดลงตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันพืช อย่างไรก็ตาม ยังคงมีวัตถุดิบบางส่วนที่ปรับเพิ่มขึ้นอาทิ ไข่แดง ลูกบัว รวมทั้งต้นทุนด้านค่าจ้างเงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ส่งผลทำให้ต้นทุนโดยรวมของผู้ประกอบการปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการแข่งขันที่มีสูง ประกอบกับกำลังซื้อของประชาชนยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนมไหว้พระจันทร์จำเป็นต้องแบกรับภาระบางส่วนไว้ ไม่สามารถปรับขึ้นราคาจำหน่ายตามต้นทุนที่ปรับขึ้นได้
ปัจจัยทางด้านการแข่งขันที่รุนแรง ในช่วงที่ปัจจัยด้านการตลาดไม่เอื้ออำนวยทั้งปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองดังเช่น 3-4 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการขนมไหว้พระจันทร์บางรายชะลอการทำกิจกรรมการตลาดหรือบางรายก็หยุดผลิตชั่วคราว แต่สำหรับเทศกาลไหว้พระจันทร์ในปี 2552 นี้ จากสถานการณ์ด้านการตลาดที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนมไหว้พระจันทร์ทั้งรายดั้งเดิมที่ผลิตและทำการตลาดมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผู้ประกอบการที่เข้ามาในตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในภายหลังทั้งโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม เบเกอรี่ และธุรกิจขายตรง ต่างมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายกันอย่างคึกคักมากกว่าปีก่อน ทั้งการพัฒนาไส้ขนมไหว้พระจันทร์ให้มีความแปลกใหม่ หลากหลายมากขึ้นอาทิ ไส้ครีมรังนก ไส้ช็อกโกแลต ไส้ครีมคัสตาร์ด ไส้ลูกพรุน ไส้กาแฟ ไส้ผลไม้หลากชนิด และไส้ฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นสมุนไพรที่นำมาใช้ป้องกันไข้หวัด เป็นต้น ขณะเดียวกัน ก็มีการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงาม เพื่อใช้เป็นของฝากกับลูกค้าหรือผู้ใหญ่รวมทั้งเก็บสะสมเป็นที่ระลึก ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ส่งผลทำให้ตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในปี 2552 มีการแข่งขันที่รุนแรงพอสมควร โดยผู้ประกอบการรายใหม่ๆที่เข้าสู่ตลาด ส่วนใหญ่จะมุ่งจับตลาดกลุ่มลูกค้าเฉพาะที่เข้ามาใช้บริการร้านค้าของตนเองเพื่อเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการขนมไหว้พระจันทร์ยังมีการใช้กลยุทธ์การตลาด แจกแถมของรางวัล รวมทั้งกลยุทธ์ลดราคาเมื่อซื้อในปริมาณมาก เป็นต้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า ที่ผ่านมา มีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลทำให้ตลาดขนมไหว้พระจันทร์ขยายตัวได้ไม่สูงมากนัก เนื่องจากมีช่วงเวลาการจำหน่ายค่อนข้างสั้นเพียง 1-2 เดือนก่อนช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ ประกอบกับจำนวนกลุ่มลูกค้าก็จำกัดอยู่เพียงกลุ่มที่ซื้อไปใช้ไหว้ในพิธี ซึ่งเป็นลูกค้าประจำ และในอนาคตกลุ่มนี้มีแนวโน้มปรับลดลงเหลือเพียงคนไทยเชื้อสายจีนรุ่นเก่าที่ค่อนข้างมีอายุ ส่วนคนไทยเชื้อสายจีนรุ่นใหม่ที่มีอายุไม่สูงมากนักและส่วนใหญ่มีการแยกครอบครัวออกไป เริ่มลดการประกอบพิธีกรรมตามบรรพบุรุษ สำหรับตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในกลุ่มผู้ที่ซื้อไปกินหรือฝากญาติมิตร แม้ว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แต่กลุ่มนี้ก็มีปริมาณการซื้อที่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อเป็นสำคัญ หากภาวะเศรษฐกิจรุ่งเรือง การซื้อขนมไหว้พระจันทร์เพื่อฝากญาติมิตร รวมทั้งเพื่อเป็นของฝากให้กับลูกค้าของบริษัทจะมีเพิ่มขึ้น แต่หากช่วงใดเศรษฐกิจตกต่ำ ปริมาณการซื้อก็จะปรับลดลงตามไปด้วย ประการสำคัญ ด้วยข้อจำกัดทางด้านระยะเวลาจำหน่ายที่สั้น ประกอบกับผู้ประกอบการเห็นว่างบประมาณที่ใช้ทางด้านการตลาดไม่ได้ช่วยให้ตลาดมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นตามเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งที่ผ่านมา ขนมไหว้พระจันทร์ก็สามารถจำหน่ายได้ในช่วงเทศกาลอยู่แล้ว ทำให้การจัดกิจกรรมโฆษณา ประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการขายมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเน้นโฆษณา ณ จุดขายหรือสื่อสิ่งพิมพ์ มากกว่าจะโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ที่เข้าถึงประชาชนได้มากกว่า รวมทั้งระยะเวลาการโฆษณาก็ค่อนข้างจำกัด ซึ่งปัจจัยดังที่กล่าวข้างต้น ส่งผลให้ผู้บริโภคเป็นจำนวนมากไม่ทราบความเคลื่อนไหวของเทศกาลไหว้พระจันทร์ ทำให้มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นได้ไม่สูงนักในแต่ละปี
ดังได้กล่าวมาแล้วเบื้องต้นว่า การขยายตลาดขนมไหว้พระจันทร์ให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันทำได้ไม่ง่ายนักเนื่องจากลูกค้าเป้าหมายที่มีจำกัด รวมทั้งระยะเวลาจำหน่ายที่สั้น ฉะนั้น หากผู้ประกอบการต้องการให้ตลาดขนมไหว้พระจันทร์เติบโตเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน ก็ควรต้องมีการพัฒนาปรับปรุงรวมทั้งขจัดจุดอ่อนของขนมไหว้พระจันทร์ที่มีอยู่เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำตลาดให้มากขึ้น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
การขยายฐานลูกค้าในประเทศ ตลาดขนมไหว้พระจันทร์มีลูกค้าสำคัญคือคนไทยเชื้อสายจีนที่ซื้อไปไหว้ซึ่งเป็นตลาดดั้งเดิม และกลุ่มคนวัยทำงานที่ซื้อไปรับประทานและเป็นของฝาก แต่หากสามารถขยายตลาดไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้หันมานิยมบริโภคขนมไหว้พระจันทร์เช่นเดียวกับการนิยมขนมหวาน เช่น ลูกอม ช็อกโกแลต ขนมขบเคี้ยว หรือเบเกอรี่ จะช่วยให้ตลาดขนมไหว้พระจันทร์เติบโตจากปัจจุบันได้อีกมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีจำนวนฐานลูกค้ากว้างและมีกำลังซื้อสูง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็มีผู้ประกอบการหลายรายที่เริ่มปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อจับตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ได้หันมาทดลองรับประทาน ด้วยการพัฒนาเพิ่มไส้ของขนมไหว้พระจันทร์ให้มีความหลากหลายของรสชาติมากขึ้นจากไส้ดั้งเดิมอย่างไส้ทุเรียน โหวงยิ้ง ถั่วแดงหรือเม็ดบัวพัฒนามาเป็นไส้ที่คนรุ่นใหม่นิยมทานกันเช่นไส้ช็อกโกแลต กาแฟ สตรอเบอรี่ ผลไม้รวม เป็นต้น รวมทั้งพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์หีบห่อให้ทันสมัยสวยงาม ซึ่งการปรับตัวดังกล่าวก็ช่วยดึงความสนใจช่วยขยายตลาดขนมไหว้พระจันทร์ไปยังกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าหากผู้ประกอบการขนมไหว้พระจันทร์มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างจริงจังเพื่อเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยซื้อหรือทดลองรับประทานขนมไหว้พระจันทร์มาก่อน อาทิ การพัฒนาสินค้าที่อิงกระแสสุขภาพที่กำลังได้รับความสนใจจากประชาชน เช่น การผลิตขนมไหว้พระจันทร์ที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำ หรือไส้ขนมที่บำรุงสุขภาพรวมถึงการอิงกระแสความนิยมของวัยรุ่นทางด้านบันเทิงด้วยการนำนักร้อง นักแสดง ที่เป็นที่ชื่นขอบมาเป็น พรีเซ็นเตอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ในช่วงนอกเทศกาลไหว้พระจันทร์ ผู้ประกอบการก็อาจจะพัฒนารูปแบบของขนมให้แตกต่างจากที่ผลิตอยู่เดิม อาทิ การผลิตเป็นรูปการ์ตูนหรือรูปทรงแปลกใหม่ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ก็อาจสร้างโอกาสในการขยายตัวของสินค้าขนมไหว้พระจันทร์ในอนาคต
การขยายตลาดส่งออก ตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในประเทศยังมีมูลค่าไม่สูงมากนัก แต่หากพิจารณาตลาดโลกจะพบว่า ขนมไหว้พระจันทร์มีมูลค่าที่สูง เนื่องจากปัจจุบันมีประชากรจีนไปอาศัยหรือค้าขายอยู่ทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศจีนเอง ทั้งนี้ แม้ว่าจีนจะเป็นประเทศต้นกำเนิดขนมไหว้พระจันทร์และมีการผลิตไส้ขนมและบรรจุภัณฑ์ออกมาในหลากหลายรูปแบบ แต่ไทยเองก็มีจุดเด่นทางด้านไส้ขนมไหว้พระจันทร์ที่ใช้วัตถุดิบแตกต่างจากที่ผลิตในจีนซึ่งเป็นแบบดั้งเดิม อาทิ ไส้โหวงยิ้ง ไส้ลูกบัว ไส้ถั่วดำ โดยในส่วนของไทยนั้นมีไส้ทุเรียน รวมทั้งผลไม้ท้องถิ่น ซึ่งกำลังได้รับความนิยมบริโภคจากคนจีนพอสมควร ทั้งนี้ การนำวัตถุดิบประเภทผลไม้ท้องถิ่นมาผลิตเป็นไส้นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสทางด้านการส่งออกขนมไหว้พระจันทร์ให้กับไทยแล้ว ยังเป็นการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลไม้ของไทยอีกทางหนึ่ง ในขณะเดียวกัน หากสามารถออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย จะช่วยให้กลุ่มลูกค้าที่ต้องการความแตกต่างสินค้าจากแหล่งผลิตอื่นๆสนใจซื้อมากขึ้น ซึ่งหากผู้ประกอบการขนมไหว้พระจันทร์ของไทยสามารถเปิดตลาดไปยังจีนได้จะช่วยเพิ่มยอดจำหน่ายจากที่มีอยู่เดิมได้อีกมาก
กล่าวโดยสรุปแล้ว ตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในปี 2552 มีความแตกต่างจากปี 2551 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมทางการตลาดที่เอื้ออำนวยมากกว่า ทั้งปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งปัญหาการเมืองที่เริ่มคลี่คลายไปมากในช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์พอดี จึงส่งผลโดยตรงต่ออารมณ์ทางด้านการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ดีขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มผู้ที่ซื้อไปรับประทานหรือฝากญาติมิตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในตลาดขนมไหว้พระจันทร์ ส่งผลให้คาดว่า ตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในปี 2552 อาจมีมูลค่าประมาณ 525-550 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5-10 ขณะที่ กลุ่มลูกค้าที่จะก้าวขึ้นมามีบทบาทกำหนดทิศทางตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในอนาคตได้แก่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยซื้อหรือลองรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ เพราะเป็นกลุ่มซึ่งมีฐานลูกค้าที่กว้างและมีกำลังซื้อสูงพอสมควร ดังนั้น หากผู้ประกอบการสามารถกระตุ้นให้กลุ่มดังกล่าวหันมาสนใจขนมไหว้พระจันทร์ได้ ก็จะส่งผลดีต่อการขยายมูลค่าตลาดให้สูงขึ้นจากเดิมได้อีกมากทีเดียว