S&P พลิกเกม! วางขาย “ขนมไหว้พระจันทร์” ทั้งปี เปลี่ยนขนมเทศกาลเป็นของฝาก

ใกล้วนมาถึงเทศกาลขนมไหว้พระจันทร์อีกแล้วในปีนี้ ในปีที่แล้วด้วยวิกฤต COVID-19 ทำให้ตลาดขนมไหว้พระจันทร์ไม่คึกคักเท่าที่ควร ในปีนี้คาดว่าจะได้เห็นสัญญาณที่ดีขึ้น S&P ได้ปรับทิศทางใหม่ วางขายขนมไหว้พระจันทร์ทั้งปี หวังสร้างดีมานด์ทานได้ทุกโอกาส และซื้อเป็นของฝากได้

วางขายทั้งปี เพิ่มโอกาสซื้อเป็นของฝาก

ในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ตลาดขนมไหว้พระจันทร์ค่อนข้างคึกคักเป็นพิเศษ เพราะเป็นตลาดที่ทั้งผู้เล่นร้านเบเกอรี่ทั่วไป และโรงแรมต่างลงมาจับตลาด แต่งตัวขนมให้ดูพรีเมียมกันมากขึ้น ในปี 2561 ตลาดมีมูลค่า 900 ล้านบาท และปี 2562 มีมูลค่า 950 ล้านบาท เมื่อเมื่อปี 2563 ที่เจอพิษ COVID-19 ทำให้มูลค่าตลาดลดลงเหลือ 800 ล้านบาท หดตัวถึง 15.7% เรียกว่าต่ำสุดในรอบหลายปีเลยทีเดียว

ในตลาดขนมไหว้พระจันทร์มีผู้ใหญ่ใหญ่ๆ 4-5 ราย ชื่อของ S&P ก็อยู่ในนั้นด้วย ครองส่วนแบ่งตลาด 30-35% เรียกว่าอยู่ในเบอร์ต้นๆ ของตลาด

S&P ได้จำหน่ายขนมไว้พระจันทร์มาตั้งแต่ปี 2531 หรือ 33 ปีมาแล้ว แต่เดิมได้ขายแค่ช่วงหน้าเทศกาลไหว้พระจันทร์ เท่ากับว่าจะมีช่วงเวลาขายเพียงแค่ 1-2 เดือนเท่านั้น แต่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา S&P ได้เริ่มจำหน่ายขนมไหว้พระจันทร์แบบตลอดทั้งปี เพิ่มเป็นการเพิ่มโอกาสการขาย และสร้างโอกาสในการทานมากขึ้น ไม่ใช่แค่ทานช่วงเทศกาลอย่างเดียว

ทาง S&P ได้เปิดผลวิจัยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ส่วนใหญ่คนไทยซื้อขนมไหว้พระจันทร์ไปกินเองถึง 39.2% รองลงมาคือ ซื้อไปไหว้ 33.5% ซื้อไปฝากเพื่อน หรือญาติ 23.3% และลูกค้าองค์กรอีก 4%

เท่ากับว่าโอกาสของการซื้อไปเป็นของฝากมีมากขึ้น ทาง S&P เลยจับทางตรงนี้ในการทำการตลาด

อรรถ ประคุณหังสิต

อรรถ ประคุณหังสิต ประธานเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการธุรกิจเอส แอนด์ พี บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เล่าว่า

“ทิศทางของ S&P ในปีนี้จะมีการปรับสินค้าเทศกาลออกมาขายทั้งปี เพราะมันมีโอกาสอยู่ ไม่จำเป็นต้องซื้อไหว้อย่างเดียว ส่วนใหญ่ครึ่งหนึ่งซื้อทานเอง และเป็นของฝาก เป็นโอกาสเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และทุกปีเมื่อหมดเทศกาลก็จะมีคนมาถามถึงขนมไหว้พระจันทร์อยู่บ่อยๆ อยากให้ทานขนมไหว้พระจันทร์เป็นเหมือนเบเกอรี่ที่ทานได้ทุกโอกาส ขนมอีกตัวหนึ่งก็คือคุกกี้ ปกติจะขายแค่ช่วงเทศกาลเหมือนกัน ก็มีปรับมาวางขายทั้งปี ตอนนี้วางขายมาได้ 3-4 เดือนแล้ว”

เพิ่ม 2 รสชาติ หวังสร้างความตื่นเต้น

ปัจจุบัน S&P มีขนมไหว้พระจันทร์รวมทั้งหมด 14 รสชาติ (19 ไส้) ได้แก่ ไส้หมอนทองล้วน/ไข่1/ไข่2, ไส้หมอนทองแมคคาเดเมีย, ไส้หมอนทองเจ, ไส้โหงวยิ้งล้วน/ไข่1/ไข่2, ไส้งาดำ, ไส้บัวล้วน/ไข่1, ไส้บัวแมคคาเดเมียไข่, ไส้แปดเซียน, ไส้อินทผาลัมธัญพืช, ไส้บัวทองไข่เค็มลาวา รวมถึง ไส้มัตฉะชาเขียวถั่วแดง และไส้ส้มช็อกโกแลตลาวา เป็นไส้ที่สร้างแความแปลกใหม่ สำหรับคนรุ่นใหม่

ในปีนี้ S&P ได้เปิดตัว 2 รสชาติใหม่ หวังกระตุ้นตลาดให้คึกคักมากขึ้น ได้แก่ ไส้หมอนทองเก๋ากี้ไข่เค็มลาวา และไส้หมูฮ่องเต้ซอสเอ๊กซ์โอ อรรถได้เล่าว่าที่มาของ 2 ไส้นี้ เกิดจากการที่นำ 10 รสชาติที่พัฒนาใหม่ทดลองกับลูกค้าโดยตรง แล้ว 2 รสชาตินี้ได้รับผลตอบรับดีที่สุด จึงนำมาจำหน่าย

รสชาติใหม่นี้จะเป็นการขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ทั้งกลุ่มคนทำงาน และซื้อเป็นของฝากได้

พฤติกรรมลูกค้าในการซื้อขนมไหว้พระจันทร์ 80% จะซื้อเฉลี่ย 4 ชิ้น เท่กับ 1 กล่องพอดี 6 ไส้ที่ขายดีที่สุด ได้แก่ ไส้หมอนทอง, ไส้บัว, ไส้โหงวยิ้ง, ไส้ไข่เค็มลาวา/หมอนทองไข่เค็มลาวา, ไส้งาดำ และไส้อินทผาลัม

S&P มียอดขายจากขนมไหว้พระจันทร์ 200-300 ล้านบาท คาดว่าปีนี้จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น พร้อมกับมูลค่าตลาดที่จะไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท