ย้อนกลับไปเมื่อปี 2501 บ้านหลังเล็กๆ เเห่งหนึ่งในเมืองโคราช เริ่มทำหมูหยอง หมูเเผ่น กุนเชียง ส่งขายในท้องถิ่นจนเป็นที่เลื่องลือในรสชาติ ได้โอกาสขยายกิจการต่อ ด้วยการเปิดร้านขายของฝากในชื่อว่า ‘เตียหงี่เฮียง’
จากความอร่อยที่บอกเล่าปากต่อปาก ทำให้สินค้าของเตียหงี่เฮียง กลายเป็น ‘ของเด็ด’ ที่เหล่านักท่องเที่ยวเเละผู้สัญจรไปมาต้องเเวะซื้อ
หลายปีผ่านไป เเม้กิจการร้านขายของฝากจะไปได้สวย เเต่ก็เริ่มมีคู่เเข่งทำผลิตภัณฑ์เดียวกันออกมา ทำให้ ‘ทายาทรุ่นสอง’ ต้องคิดหา ‘เมนูชูโรง’ เพื่อสร้างความเเตกต่าง จึงนำมาสู่การเปิดตัว ‘ข้าวตังหมูหยอง’ ขึ้นในปี 2531 เเละเริ่มขยายตลาดไปวางขายในหลายจังหวัด รวมถึงส่งออกไปต่างประเทศด้วย
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ‘เตียหงี่เฮียง’ กลายเป็นชื่อจดจำได้ยากเเละดูไม่ทันสมัย ทางครอบครัวจึงตกลงกัน ‘เปลี่ยนชื่อใหม่’ ให้จำง่ายเเละคุ้นหูกันมากขึ้น โดยใช้ชื่อเเบรนด์ใหม่นี้ว่า ‘เจ้าสัว’ นับตั้งเเต่ปี 2531 เป็นต้นมา
เเละวันนี้ ‘เจ้าสัว’ การเปลี่ยนเเปลงเพื่อปรับตัวครั้งสำคัญก็มาเยือนอีกครั้ง ภายใต้การนำของ ‘ทายาทรุ่นสาม’ กับการ ‘รีเเบรนด์’ ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ เปลี่ยนภาพลักษณ์ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ขยายสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้น พร้อมใช้พรีเซ็นเตอร์ครั้งเเรกในรอบ 63 ปี
ก้าวออกจาก ‘ของฝาก’ สู่ตลาดสแน็ก
‘ณภัทร โมรินทร์’ หรือ กิ๊ฟ เริ่มเรียนรู้การทำงานในกิจการของครอบครัว มามากกว่า 10 ปี จากฝ่ายเซลส์ก้าวขึ้นมากุมบังเหียนเป็นซีอีโอ เเบรนด์ ‘เจ้าสัว’ ท่ามกลางความท้าทาย หลังธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาด
เธอยอมรับว่า การที่ผู้คนเดินทางท่องเที่ยวน้อยลงนั้นมีผลต่อการวางเเผนธุรกิจใหม่ในครั้งนี้ไม่น้อย เเต่ก็ทำให้รู้ว่าทิศทางต่อไปของ เเบรนด์ ‘เจ้าสัว’ จะไม่เป็นเเค่ร้านขายของฝากที่รอให้คนมาซื้ออีกต่อไป เเต่จะต้องเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค
จากไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เร่งรีบ เเข่งกับเวลา เเละคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น แม้จะเป็นอาหารทานเล่นหรือของขบเคี้ยวก็ตาม อีกทั้งตลาดในไทยยังมีของว่างทานเล่น ประเภท ‘เนื้อสัตว์แปรรูป’ ที่อร่อยและมีประโยชน์ทางสารอาหาร สามารถทานรองท้องระหว่างมื้อได้ ‘ไม่มากนัก’
จึงเป็นช่องว่างตลาดที่ ‘เจ้าสัว’ จะปรับภาพลักษณ์ใหม่ จากสินค้าของฝากสู่สินค้าอาหารที่ทานได้ทุกวัน ในรูปแบบสแน็ก และ Ready to eat และ Ready to cook meal ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มองหาของว่างเพื่อรองท้อง รวมไปถึงอาหารที่สามารถปรุงง่าย ๆ หรือพร้อมทานได้ที่บ้าน ช่วยประหยัดเวลา เเละดีต่อสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังมองเห็นโอกาสของตลาดสแน็กในประเทศไทย ที่มีมูลค่ามากกว่า 40,000 ล้านบาท เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เเต่เมื่อเจาะลึกลงไปในกลุ่มสแน็ก ที่เป็น Meat หรือเนื้อสัตว์นั้น กลับมีมูลค่ารวมตอนนี้เพียง 100 กว่าล้านบาทเท่านั้น เเละผู้ประกอบการคู่เเข่งยังน้อยจึงมองว่าเป็นโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก
ทั้งนี้ กลุ่มสเเน็กที่เป็นเนื้อสัตว์ ตอนนี้มีแบรนด์ ‘อองเทร่’ ของเจ้าใหญ่อย่าง ส. ขอนแก่นครองตลาดอยู่
เบรกขยายสาขา หันมาบุก ‘โมเดิร์นเทรด’
ในปี 2563 ที่ผ่านมา เเม้นักท่องเที่ยวจะหายไปอย่างมาก เเต่จากการที่เเบรนด์ได้ ปรับกลยุทธ์รองรับ โดยเฉพาะการขยายช่องทางจำหน่าย จากเดิมที่เน้นเพิ่มสาขา เปลี่ยนมาเป็นบุก ‘โมเดิร์นเทรด’ ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของชำต่างๆ ทำให้ยอดขายรวมของปีที่แล้วเติบโต 15% และมีรายได้รวม ‘เกินหลักพันล้านบาท’ เป็นครั้งแรก
“ปีนี้เราตั้งเป้าจะเติบโตถึง 30% จากการรุกตลาดขนมขบเคี้ยวเต็มตัว ทำตลาดทุกช่องทางเพื่อปั้นแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก เปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งให้ทันสมัย พกพาง่าย ออกสินค้าเละปรับราคาใหม่ ให้เข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม โดยเน้นเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่มากที่สุด”
ปัจจุบันร้านของฝาก ’เจ้าสัว’ มีจำนวนกว่า 100 สาขา เเบ่งเป็นร้านค้าของตัวเอง (Stand Alone) ประมาณ 14 สาขา และแฟรนไชส์ 80 กว่าสาขา กระจายอยู่ในปั๊มนำ้มันปตท. ทั่วประเทศ พร้อมช่องทางออนไลน์ในหลายแพลตฟอร์ม ทั้งโซเชียลมีเดียเเละมาร์เก็ตเพลส โดยมีผลิตภัณฑ์ 2 กลุ่มไลน์โปรดักต์ ได้แก่
กลุ่มขนมทานเล่น สัดส่วนรายได้ 50%
– ของว่างรองท้อง ได้แก่ ข้าวตัง, ข้าวแต๋น ราคาตั้งเเต่ 20-60 บาท
– ของว่างทานเพลิน ได้แก่ หมูแผ่นกรอบ, หมูแท่งกรอบ และหมูทุบ ราคาตั้งเเต่ 30-110 บาท
กลุ่มอาหาร สัดส่วนรายได้ 50%
–อาหารพร้อมปรุง ได้แก่ กุนเชียง, หมูยอ, แหนม และไส้กรอกอีสาน ราคาตั้งเเต่ 39-209 บาท
–อาหารพร้อมรับประทาน ได้แก่ หมูหยอง, หมูแผ่นใหญ่
สำหรับสินค้าขายดีที่สุดของเเบรนด์ ‘เจ้าสัว’ ก็คือเบอร์หนึ่งอย่าง ‘ข้าวตัง’ ตามมาด้วย หมูหยองเเละหมูแผ่น
ด้านการ ‘ส่งออกไปต่างประเทศ’ จะเน้นไปที่ตลาดเอเชียเป็นหลัก เช่น ฮ่องกง จีน เวียดนาม สิงคโปร์ ฯลฯ ขณะที่ตลาดในยุโรปนั้น ยังติดข้อจำกัดด้านการนำเข้าสินค้าที่ทำจากเนื้อหมู จึงจะหันไปเน้นส่งสินค้ากลุ่มธัญพืชอบกรอบไปทำตลาดเเทน
เมื่อถามถึงผลิตภัณฑ์อาหารเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช หรือ Plant-based ที่กำลังเทรนด์อาหารแห่งอนาคต ที่มีผู้ผลิตอาหารหลายเจ้าลงมาเล่นในตลาดนี้ ผู้บริหารเเบรนด์เจ้าสัว ตอบว่า ‘มีเเผนการจะพัฒนากลุ่มสินค้า Plant-based ในเร็วๆ นี้’
ทุ่ม 100 ล้าน พลิกโฉมใหม่รอบ 63 ปี
สิริณัฏฐ์ ชญาน์นันท์ กรรมการผู้จัดการ แบรนด์เจ้าสัว บอกว่า ตลอดทั้งปี 2564 บริษัทตั้งงบประมาณไว้ถึง 100 ล้านบาท เพื่อลุยทำการตลาดเเละขยับขยายธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นการ ‘รีเเบรนด์’ ครั้งใหญ่ที่สุด ไม่เคยทำขนาดนี้มาก่อน นับตั้งแต่เปิดกิจการมากว่า 63 ปี
โดยจะสื่อสารรอบด้านทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งโปรโมตผ่านหนังโฆษณาถึง 3 เรื่องในปีนี้
จากเเผนการโฟกัสไปที่กลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ เเละครอบครัวสมัยใหม่ จึงเป็นที่มาของการเลือกครอบครัวของ ลีเดีย ศรัณย์รัชต์–แมทธิว น้องดีแลนและน้องเดมี่ ดีน มาเป็นพรีเซ็นเตอร์เพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ของเเบรนด์ที่อบอุ่น เข้าถึงง่าย ทันสมัยเเละใส่ใจในสุขภาพ
“เเบรนด์เจ้าสัวเป็นเเบรนด์ที่มีลูกค้าคนไทยเป็นหลัก เเต่ในอนาคต หลังการท่องเที่ยวทั่วโลกกลับมาปกติ เราก็หวังจะเป็นเเบรนด์ที่ชาวต่างชาติหิ้วกลับบ้าน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน”
สำหรับกลยุทธ์หลัก ๆ ที่จะนำพาให้เเบรนด์เจ้าสัวเติบโตได้เเบบก้าวกระโดดในช่วง 3-5 ปีนี้ สิริณัฏฐ์ สรุปให้ฟังว่า
- ปั้นเเบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ผ่านการใช้พรีเซ็นเตอร์ การไปอยู่ในสายตาของผู้บริโภคในช่องทางต่างๆ ทั้ง
โซเชียลมีเดียเเละสื่อนอกบ้าน - ออกสินค้าให้หลากหลาย โดยตั้งเป้าจะจะมีสินค้าใหม่ 8-10 ตัวต่อปี เพิ่มปัจจุบันที่มีอยู่ราว 300 SKU พร้อมกับปรับไซส์เเละราคา ให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้นด้วย
- ขยายช่องทางการขายเพิ่มขึ้น เน้นเข้าไปกระจายในโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ ร้านโชห่วย โดยปีนี้จะไม่มีการขยายสาขาเพิ่มในประเทศไทย เเต่จะมีการเจรจากับพาร์ตเนอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหาโอกาสขยายตลาดในอาเซียนมากขึ้น
- ลงทุนขยายโรงงานแห่งใหม่ ในพื้นที่เดิมที่จังหวัดนครราชสีมา นำเครื่องจักรมาใช้มากขึ้น เพื่อเพิ่มกำลังผลิตมากขึ้นอีก 40% รวมถึงทุ่มงบใน ‘ระบบหลังบ้าน’ เพื่อให้ทันยุคดิจิทัล
ต้องจับตาดูว่าการ ‘รีเเบรนด์’ ของเจ้าสัว จากของฝากท้องถิ่น สู่ตลาดอาหารพร้อมทานอยู่ใกล้ๆ ในชีวิตประจำวัน จะสร้างอิมเเพคในใจผู้บริโภคได้มากน้อยเเค่ไหน…