“ไมเนอร์” ลุ้นโรงแรม “ยุโรป” ฟื้นเร็วครึ่งปีหลัง เมื่อ EU เปิดเสรีการเดินทางในภูมิภาค

2563 เป็นปีแห่งวิกฤตสาหัสของ “ไมเนอร์” หรือ MINT อย่างไม่ต้องสงสัย ทำให้บริษัทมีผลขาดทุนถึง 2.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปี 2564 ต้องลุ้นให้ธุรกิจโรงแรมฟื้นตัว โดยบริษัทคาดว่าโรงแรมในทวีปยุโรปซึ่งเป็นพอร์ตใหญ่ที่สุดของไมเนอร์ น่าจะฟื้นในช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป หากกลุ่ม EU ไฟเขียวเดินทางในภูมิภาคได้ปกติ ส่วนโรงแรมไทยยังต้องรอเปิดประเทศ วอนภาครัฐอนุญาตนักท่องเที่ยวที่รับวัคซีนแล้วไม่ต้องกักตัว

บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT รายงานผลประกอบการปี 2563 ประสบผลขาดทุนสุทธิ 21,407 ล้านบาท พลิกกลับจากปีก่อนหน้าที่เคยทำกำไรอู้ฟู่กว่า 1 หมื่นล้านบาท

ผลขาดทุนของไมเนอร์ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะหากวัดจากพอร์ตปี 2562 ไมเนอร์มีรายได้จากกลุ่มโรงแรม 76% จากกลุ่มร้านอาหาร 20% และกลุ่มไลฟ์สไตล์ 4% เมื่อเกิดโรคระบาด COVID-19 จึงส่งผลกระทบแบบ ‘เต็มๆ’ กับบริษัท

บอนชอน หนึ่งในแบรนด์ที่ไมเนอร์ขยายสาขาจำนวนมากเมื่อปีก่อน

“ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ของ MINT แจกแจงว่า ปีก่อนเหลือกลุ่มธุรกิจเดียวที่รวมทั้งปีแล้วยังทำกำไรให้กับบริษัทคือ “ร้านอาหาร” โดยเฉพาะในไตรมาส 4/63 ซึ่งไมเนอร์ ฟู้ดทำกำไรไป 540 ล้านบาท มากขึ้นเป็นเท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจร้านอาหารยัง ‘ไปได้’ แม้จะมีการระบาดระลอกสอง

อย่างไรก็ตาม กำไรจากไมเนอร์ ฟู้ดไม่สามารถครอบคลุมทั้งบริษัทได้ เพราะพอร์ตใหญ่ที่สุดยังเป็นกลุ่มโรงแรม ดังนั้น ปี 2564 นี้การฟื้นตัวของบริษัทต้องจับตากลุ่มโรงแรมว่าจะฟื้นได้เมื่อไหร่ แต่ชัยพัฒน์เชื่อว่าต่อจากนี้จะเป็นขาขึ้น เพราะปัจจัยบวกจากวัคซีนที่ทยอยฉีดแล้วทั่วโลก

 

“ยุโรป” ความหวังของปี 2564

สถานการณ์ ณ สิ้นปี’63 ของโรงแรมกลุ่มไมเนอร์ กลุ่มที่ฟื้นตัวดีที่สุดคือกลุ่มโอเชียเนีย (ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) ซึ่งมีอัตราเข้าพักขึ้นมาถึง 60% เข้าสู่จุดคุ้มทุนแล้ว เพราะมีการเดินทางภายในประเทศจำนวนมาก

แต่ในกลุ่มอื่นๆ ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน เช่น กลุ่มเอเชียและตะวันออกกลาง มีอัตราเข้าพัก 28% หรือกลุ่มยุโรปกับละตินอเมริกาอยู่ที่ 25% เท่านั้น

โรงแรม Tivoli Marina Vilamoura ประเทศโปรตุเกส

สำหรับปี 2564 ชัยพัฒน์ชี้จุดโฟกัสของพอร์ตจะอยู่ที่ทวีปยุโรป ซึ่งแม้จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดเมื่อปีก่อนแต่น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วที่สุด จากความคืบหน้าของการกระจาย “วัคซีน” ให้ประชาชน และแผนที่จะเริ่มเปิดประเทศภายในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ประชาชนน่าจะสามารถเดินทางข้ามแดนกันภายในได้ช่วงไตรมาส 2 และอาจจะเห็นภาพการท่องเที่ยวภายใน EU คึกคักราวไตรมาส 3 นอกจากนี้ เป็นไปได้ที่ EU จะเปิดรับนักท่องเที่ยวจากภายนอกและมีเที่ยวบินระยะไกลเข้ายุโรปได้ในช่วงไตรมาส 4

พอร์ตโรงแรมทวีปยุโรปถือว่ามีความสำคัญมากกับไมเนอร์ เพราะเป็นพอร์ตใหญ่ที่สุดวัดจากจำนวนโรงแรม โดย ณ สิ้นปี 2563 ไมเนอร์มีโรงแรมที่บริหารอยู่ทั้งหมด 530 แห่ง แบ่งตามทวีป ดังนี้

– ยุโรป 320 แห่ง
– โอเชียเนีย 63 แห่ง
– ละตินอเมริกา 59 แห่ง
– เอเชีย 58 แห่ง
– แอฟริกา 31 แห่ง
– ตะวันออกกลาง 19 แห่ง

ชัยพัฒน์ระบุว่า ช่วงต้นปี 2564 อัตราเข้าพักของโรงแรมทวีปยุโรปตกลงเหลือ 20% แต่ถ้าหากการฟื้นตัวเป็นไปตามคาด อาจจะทำให้ค่าเฉลี่ยอัตราเข้าพักทั้งปีเกินกว่า 33-34% ซึ่งเท่ากับพอร์ตโรงแรมทวีปยุโรปจะเข้าสู่จุดคุ้มทุนในปีนี้

 

วอนรัฐเร่งเปิดประเทศไทยรับต่างชาติ

ส่วนสถานการณ์โรงแรมในไทย ชัยวัฒน์มองว่าขึ้นอยู่กับนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาล เพราะถึงแม้จะมีแพ็กเกจ “เราเที่ยวด้วยกัน” กระตุ้นนักท่องเที่ยวไทย แต่ก็ช่วยได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากปกติ MINT มีสัดส่วนลูกค้าไทยเพียง 15% อีก 85% คือชาวต่างชาติ แม้จะดันสุดตัวจนคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวแล้วก็ยังไม่เพียงพอ

อนันตรา เชียงใหม่ รีสอร์ท

ดังนั้น ควรจะเปิดประเทศให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเร่งฉีดวัคซีนให้คนไทยมี “ภูมิคุ้มกันหมู่” เพื่อเตรียมเปิดประเทศปกติ โดยเปิดนำเข้าวัคซีนได้หลายยี่ห้อและให้เอกชนนำเข้าเองได้ หรือจะเป็นการอนุญาตงดกักตัวให้ชาวต่างชาติที่รับวัคซีน COVID-19 ล้วนเป็นนโยบายที่บริษัทพูดคุยกับภาครัฐเสมอ

“ตราบใดที่ยังต้องมีการกักตัว แม้จะลดจาก 14 วันเหลือ 10 วันหรือ 7 วัน ก็ยังมากเกินไป กินเวลาลาพักร้อน และนักท่องเที่ยวแบบระยะสั้นของเราก็มีมาก ถ้าต้องกักตัวก็ยังเป็นประเด็น เราจึงอยากผลักดันให้นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้ว สามารถเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัวมากกว่า” ชัยพัฒน์กล่าว

 

ไมเนอร์ ฟู้ดเน้นเปิดสาขาเล็ก

ด้านกลุ่มธุรกิจอาหาร ชัยพัฒน์มองภาพว่าน่าจะยังใกล้เคียงกับปีก่อน โดยปีที่แล้วไมเนอร์ปรับทัพปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรไปหลายแห่ง เช่น เดอะ คอฟฟี่ คลับ ซึ่งมักจะตั้งอยู่ในย่านนักท่องเที่ยวต่างชาติ และหันไปเปิดสาขาแบรนด์ที่กำลังมาแรง เช่น บอนชอน

การเปิดสาขาจะไม่ใช่การเปิดสาขาใหญ่ที่มีที่นั่งทานในร้าน (dine-in) จำนวนมาก แต่จะเปลี่ยนมาเปิดสาขาเล็ก หรือเป็น Kiosk แบบซื้อกลับบ้าน จนถึงร้านแบบ Cloud Kitchen เจาะเดลิเวอรี่โดยตรง เพราะใช้เงินลงทุนน้อยกว่า และปีนี้จะยังเน้นการเปิดสาขาเล็กเหมือนเดิม โดยไตรมาส 1/64 มีแผนเปิดหลายแบรนด์รวมทั้งหมด 14-15 สาขา

พิซซ่าไซส์ XXXL จากเดอะ พิซซ่า คอมปะนี

อีกการปรับตัวหนึ่งของไมเนอร์ ฟู้ดคือการตั้งทีม Minor Food Innovation Team หรือ MFIT ทีมนี้จะเป็นผู้คิดค้นเมนูนวัตกรรมอาหารใหม่ๆ ให้แต่ละแบรนด์ ดังที่เห็นเมื่อปีที่แล้ว เช่น พิซซ่าไซส์ XXXL ของ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี หรือปีนี้ที่แบรนด์ เบอร์เกอร์ คิง ออกเมนูไก่ทอดกับเบอร์เกอร์ Plant-based ซึ่งสินค้าใหม่ๆ เหล่านี้จะช่วยผลักดันยอดขายได้

นอกจากนี้ COVID-19 ยังทำให้รายได้จากช่องทางเดลิเวอรี่ของไมเนอร์ ฟู้ดโตขึ้นมาก โดยมีสัดส่วน 30% ของรายได้เมื่อช่วงไตรมาส 4/63 และปีนี้บริษัทจะผลักดันช่องทางเดลิเวอรี่ต่อเนื่อง

 

กระแสเงินสดสำคัญที่สุด ลดการลงทุนอีก 2 ปี

การฝ่าฟันวิกฤตของไมเนอร์จะทำไม่ได้เลยถ้าไม่ระมัดระวังเรื่องกระแสเงินสด ลดค่าใช้จ่าย โดยปี 2564 บริษัทตั้งงบลงทุนไว้เพียง 4,000-5,000 ล้านบาท ลดลงจากปกติราว 52% เพราะจะไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ งบดังกล่าวเป็นเพียงการเปิดสาขาร้านอาหารขนาดเล็กและการซ่อมบำรุงรักษาเท่านั้น และปี 2565 จะยังตั้งงบลงทุนลดลงจากปกติราว 30% เพื่อเก็บกระแสเงินสดไว้ให้มากที่สุด

“เราจะกลับมาพิจารณาการลงทุนขนาดใหญ่อีกครั้งเมื่อวัคซีนแพร่หลาย คนเดินทางกลับมาเป็นปกติแล้ว” ชัยพัฒน์กล่าว

“ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

ในแง่การควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย ปีก่อนไมเนอร์สามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ถึง 35-40% และปีนี้จะยังคงรัดเข็มขัดต่อเนื่อง เพื่อทำให้บริษัทกลับมาทำกำไรได้เร็วเมื่อ COVID-19 คลี่คลาย

นอกจากนี้ บริษัทเตรียมแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยคัดเลือกโรงแรม 4-5 แห่งในเมืองหลักของทวีปยุโรป เจรจาดีลขายสินทรัพย์เพื่อนำมาลดหนี้สิน แต่ดีลที่เจรจาต้องการให้เป็นการขายโรงแรมออกโดยที่ไมเนอร์ยังได้สิทธิเช่ากลับคืนมาบริหารหรือเซ็นสัญญารับจ้างบริหารโรงแรมต่อไป เพราะต้องการให้แบรนด์โรงแรมยังอยู่ในตลาดและไมเนอร์ยังมีรายได้จากสินทรัพย์นั้นๆ คาดว่าจะจบดีลได้ภายในไตรมาส 2/64 และหากขายโรงแรมได้ทั้งหมดน่าจะมีมูลค่ารวม 1-1.5 หมื่นล้านบาท

ชัยพัฒน์ยังไม่ระบุว่าปี 2564 นี้ MINT จะกลับมาทำกำไรได้หรือไม่ แต่หากแผนการกระจายวัคซีนทั่วโลกไม่ผิดพลาด และไม่มีการระบาดจนต้องล็อกดาวน์บ่อยครั้ง เชื่อว่าปีนี้จะต้องดีขึ้นกว่าปี 2563 อย่างแน่นอน!