เปิดมุมมอง ‘สมชัย เลิศสุทธิวงค์’ CEO ‘AIS’ เมื่อโจทย์ของ ‘ปลาใหญ่’ ในยุคโควิดไม่ใช่กิน ‘ปลาเล็ก’ แต่ต้อง ‘โต’ ไปด้วยกัน


องค์กรธุรกิจในหลายประเทศกำลังฟื้นตัว โดยมีปัจจัยเรื่อง ‘วัคซีน’ มาเป็นตัวจุดประกายความหวังอีกครั้ง สำหรับในไทยเอง สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมจัดงานเสวนาในหัวข้อ ‘วัคซีนมา’ ธุรกิจไทยจะฟื้นไวหรือไต่ช้า ซึ่งคุณ ‘สมชัย เลิศสุทธิวงค์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ‘เอไอเอส’ ที่พึ่งคว้ารางวัล BEST CEO กลุ่มเทคโนโลยี ปี 2020 ก็ได้มาแสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งแนะแนวทางเพื่อการอยู่รอดในโลกยุคนี้อย่างน่าสนใจ

โควิดก็กระทบเอไอเอส

คุณสมชัย เล่าว่า แม้คนภายนอกอาจมองว่าธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจพื้นฐานที่ ‘ต้องใช้’ ดังนั้น คงไม่โดนผลกระทบจาก โควิด-19 แต่ในความจริงแล้ว ‘เอไอเอส’ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ถึงแม้ว่าการใช้งานจะเพิ่มขึ้น 30-40% แต่รายได้กลับลดลง 5% เนื่องด้วยภาวะทางเศรษฐกิจที่กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถ จับจ่ายได้เหมือนเดิม

“โควิดกระทบทุกอุตสาหกรรมไม่ต่างกัน เพียงแต่จะมากหรือน้อย แต่ข้อดีของโควิดก็มี เพราะเร่งให้องค์กรทรานซ์ฟอร์มไปสู่ดิจิทัลเร็วขึ้น ทำให้องค์กรดีขึ้นและแข็งแรงขึ้นในระยะยาว เพราะการใช้ดิจิทัลจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ ดังนั้น อย่ามองแต่แง่ลบ แต่ใช้ให้เป็นโอกาส โดยใช้ดิจิทัลไลเซชั่น (digitization) เข้ามาช่วย”

สำหรับเอไอเอสเอง ได้เตรียมตัวเรื่องทรานซ์ฟอร์มก่อนหน้าที่จะเจอ โควิด-19 แต่เพราะการระบาดที่เกิดขึ้น ทำให้เอไอเอสต้องปรับแผนต่างๆ ให้เร็วขึ้น ที่เห็นชัดเจนคือ เทคโนโลยี ‘5G’ ที่เคยมองว่า ไทยอาจต้องรออีก 2 ปี 5G ถึงจะเกิดการใช้งานจริง แต่เพราะโควิดทำให้ต้องเร่ง ในอนาคต ธุรกิจเอไอเอสจะไม่ใช่แค่โทรคมนาคม แต่เป็น ‘ดิจิทัลเซอร์วิส’ ดังนั้น ปีที่ผ่านมา บางบริษัทอาจจะชะลอการลงทุน แต่เอไอเอสมีการลงทุนเพิ่ม

“3G-4G เราอาจจะช้า แต่ 5G ไม่แพ้ใครในโลก เราถือเป็นประเทศต้นๆ ที่ทำ เป็นรองแค่ประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐ, จีน และญี่ปุ่น และแม้ไทยไม่ใช่ผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยี แต่ผู้บริโภคชาวไทยก็เรียนรู้และปรับใช้เทคโนโลยีได้เร็ว”

ทรานซ์ฟอร์มไม่ง่าย แม้แต่เอไอเอสก็ต้องใช้เวลา

หลายคนมองว่าองค์กรแข็งแรงแล้ว เลยยังไม่คิดที่จะทรานซ์ฟอร์มจริงจัง แต่ไม่ใช่สำหรับเอไอเอส เพราะได้เริ่มทรานซ์ฟอร์มมาแล้ว 6 ปี ตั้งแต่ตอนที่ยังแข็งแกร่งอย่างมากด้วยซ้ำ โดยเอไอเอสมีเป้าหมายในการก้าวข้ามบริษัทโทรคมนาคมสู่การเป็น ‘ดิจิทัล เซอร์วิส โพรไวเดอร์’

อย่างไรก็ตาม เอไอเอส ยังตั้งเป้าว่าจะทรานซ์ฟอร์มให้สำเร็จใน 5 ปี แต่ปัจจุบันทำได้เพียงครึ่งเดียว โดยที่สำเร็จแล้วคือ บริการ Fixed Broadband หรือ AIS Fibre ที่แม้จะยังเป็นอันดับ 3-4 ในตลาด แต่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกส่วนที่ไปได้ดีคือ บริการ Enterprise Business แต่ส่วนที่ยังไม่สำเร็จคือ การทำ ‘ดิจิทัลแพลตฟอร์ม’ แต่ไม่ใช่แค่เอไอเอส แต่ในประเทศไทยยังไม่มีใครสำเร็จ เพราะผู้ให้บริการที่ยึดตลาดก็คือ Google, Facebook, และ YouTube

“อย่างผู้บริโภคไทยที่ดู YouTube 80% ดูคอนเทนต์ไทย แต่กลับต้องไปพึ่งแพลตฟอร์ม YouTube ดังนั้น ถ้าเราสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองได้แล้วคนไทยยอมเข้ามาดู ผู้ผลิตคอนเทนต์เราอาจจะได้ประโยชน์มากกว่าด้วย ดังนั้น โพซิชั่นเราไม่ได้แข่งขันกับคนในประเทศ แต่แข่งกับคู่แข่งรายใหญ่จากต่างชาติในสนามของเรา

เติบโตพร้อมพาร์ทเนอร์

เอไอเอส มี 3 แนวคิดสำหรับการทำธุรกิจในยุคใหม่ ได้แก่

1. ต้องหา Business Model แบบใหม่ โดยธุรกิจดั้งเดิมอาจจะคำนวณต้นทุน เพื่อจะหากำไรจากการขาย แต่ในยุคใหม่นี้ ต้องมองถึงโอกาสอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้เหมือนธุรกิจ OTT

2. มองหา Skill Set ใหม่ๆ แม้คนของเอไอเอสเก่ง แต่อาจจะเก่งในด้านโทรคมนาคม ดังนั้น ต้องเพิ่มสกิลเซ็ตให้กับคนในองค์กร แต่ถ้าบางสกิลไม่สามารถเรียนรู้ได้ ก็ต้องหาบุคลากรที่มีความสามารถเข้ามา

3. สร้าง Ecosystem เอไอเอส อาจจะเก่งด้านโทรคมนาคม แต่ให้ทำเรื่องใหม่ เอไอเอสอาจไม่ถนัด ดังนั้น ต้องหา ‘Right partner’ ที่จะเติบโตไปด้วยกัน

“แม้ว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะมีโอกาสเติบโตอยู่มาก แต่แวร์ลู่ที่โทรคมนาคมเข้าไปในอุตสาหกรรมอื่นๆ มีมูลค่ามากกว่าโทรคมนาคมถึง ‘13 เท่า’ ดังนั้น เอไอเอสจึงมีแนวคิดที่จะ ‘ร่วมมือ’ โดยนำเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มไปช่วยในการทำงานแล้วแบ่งรายได้กัน โดยธุรกิจโทรคมนาคมเต็มที่ก็โตกว่า GDP 12% แต่ถ้าหาพาร์ทเนอร์และทำธุรกิจใหม่ ๆ ได้เราจะโตได้อีกเท่าตัว”

ปลาใหญ่ต้องพาปลาเล็กโตไปด้วย

วันนี้ เอไอเอส ไม่ได้แข่งกับผู้ประกอบการในไทย แต่กำลังแข่งขันกับผู้เล่นรายใหญ่จากต่างประเทศ ดังนั้น โอเปอเรเตอร์ก็ต้องพยายามปรับตัวเองเหมือนอย่างที่เอไอเอสทำ แต่การันตีได้ว่ายังไงก็ ‘สู้ไม่ได้’ เพราะสกิลเซ็ตต่างกัน ดังนั้นหากอยากจะชนะก็ต้องชนะในสนามบ้านเรา

ปัจจุบัน ทุกอุตสาหกรรมต้องการดิจิทัล แพลตฟอร์มมาก เอไอเอสก็พยายามเสนอตัวเข้าไปช่วยทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น ถ้าเอไอเอสทำได้ ทุกองค์กรก็จะมีเครื่องมือที่จะช่วยให้องค์กรเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งเอไอเอสไม่ต้องการเป็นปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่ปลาใหญ่ต้องช่วยปลาเล็ก เพราะถ้าในระยะยาวองค์กรต่าง ๆ ไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนได้จริงสุดท้ายก็จะตายหมด

“ถ้ารายเล็กตายหมด รายใหญ่อย่างเราจะตายตาม ดังนั้น องค์กรที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต้องเป็นพี่ใหญ่ช่วยน้องเล็กให้ได้ ต้องเป็นปลาใหญ่พาปลาเล็กว่ายผ่านคลื่นที่จะถาโถมเข้ามา ถ้าทำได้ทุกคนจะแข็งแรงทั้งหมด ถ้าเราไม่ช่วยรายเล็กการเติบโตจะไม่ยั่งยืน”