“ไทยยูเนี่ยน” ย้ำทิศทางบริษัทก้าวสู่ปี 2025 ทำรายได้โตสม่ำเสมอปีละ 5% ที่สำคัญกว่านั้นคือ “อัตรากำไร” วางเป้าเพิ่มเป็น 10% ด้วยกลุ่มธุรกิจใหม่ “อาหารเสริม” และ “Plant-based” รวมถึงกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงที่กำลังเติบโตดี ยังคงเน้นการค้าแบบ B2B รับผลิตแบบ OEM พ่วงขายปลีกผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต
2563 เป็นหนึ่งในปีที่ท้าทายของ “ไทยยูเนี่ยน” จากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้บริษัทต้องบริหารจัดการสายการผลิตให้ปลอดภัย โดยเฉพาะช่วงสิ้นปีที่เกิดเหตุระบาดระลอกสองที่ จ.สมุทรสาคร แม้จะต้องลดกำลังผลิตบ้างเพื่อตรวจเชิงรุกทั้งโรงงาน แต่ยังคงเดินเครื่องได้และกลับมาโหมผลิตชดเชยได้ในภายหลัง
ขณะเดียวกัน ผลเชิงบวกของ COVID-19 ทำให้ผู้บริโภคซื้อปลากระป๋องเพื่อกักตุนไว้ในยามรัฐประกาศล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้ไทยยูเนี่ยนได้รับอานิสงส์จนมียอดขายที่ดีขึ้น สรุปถึงสิ้นปี 2563 บริษัทรายงานผลประกอบการมีรายได้ 1.32 แสนล้านบาท เติบโต 4.9% และทำกำไรสุทธิ 6.2 พันล้านบาท เติบโตแรง 63.7%
5 ปีข้างหน้าขอเน้น “บรรทัดสุดท้าย”
ปี 2563 เป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อของการก้าวสู่ยุคใหม่ของไทยยูเนี่ยนเช่นกัน โดย “ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กางแผนวิสัยทัศน์ “ไทยยูเนี่ยน 2025” หรืออีก 5 ปีข้างหน้านี้ ต้องการให้บริษัททำรายได้เติบโตสม่ำเสมอปีละ 5% ซึ่งจะทำให้รายได้ขึ้นไปแตะ 1.6 แสนล้านบาท
ที่สำคัญกว่านั้นคือเป้าหมาย “อัตรากำไร” วางเป้าอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มจากปัจจุบัน 17.5% เป็น 20% และ อัตรากำไรจากการดำเนินงานเพิ่มจากปัจจุบัน 7% เป็น 10%
การหันมาเน้น “บรรทัดสุดท้าย” ของงบผลประกอบการ เกิดจากทัศนคติที่เปลี่ยนไปในการบริหาร จากมองเรื่องการขยายขนาดบริษัท มาเป็นการทำกำไรที่ยั่งยืน ซึ่งจะเห็นได้ว่าไทยยูเนี่ยนมีการปรับตัวมาแล้วก่อนหน้านี้ 3 ปี โดยมุ่งเน้นลดต้นทุน ยุบสายผลิตที่ไม่ทำกำไร และรวมแผนกที่สามารถรวมได้ เป็นรากฐานที่แข็งแรงไปสู่อนาคต
ธุรกิจใหม่เป็นหัวหอกดันกำไร
จากวิสัยทัศน์ทำกำไรสูง ธีรพงศ์กล่าวว่า ธุรกิจดั้งเดิมคือ อาหารทะเลแช่เย็น-แช่แข็งและอาหารแปรรูป น่าจะทำรายได้เติบโตราวๆ 3% ต่อปี และปกติอัตรากำไรจะไม่สูงมาก เน้นขายปริมาณ ดังนั้น กลุ่มธุรกิจที่จะเติบโตสูงทั้งรายได้และกำไรจะเป็นธุรกิจอื่น ที่มีจำหน่ายในตลาดมานานคือ “อาหารสัตว์เลี้ยง” และมี “กลุ่มธุรกิจใหม่” เข้ามาเสริมทัพ ได้แก่
1. กลุ่มอาหารเสริม – ปัจจุบันกลุ่มอาหารเสริมของบริษัทที่มีจำหน่ายจะเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าที่เป็น by-products จากปลาทะเล เช่น น้ำมันทูน่าสกัด, คอลลาเจน, แคลเซียม, โปรตีนไฮโดรไลเซต ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นสารอาหารที่สามารถจำหน่ายเป็นอาหารเสริม หรือใช้เติมคุณค่าในผลิตภัณฑ์อื่นได้ เช่น นมผงทารก เครื่องดื่มเวย์โปรตีน ผลิตภัณฑ์ยา วางเป้าทำรายได้แตะ 1,500 ล้านบาท ภายใน 5 ปี
2.กลุ่มโปรตีนทางเลือก (Plant-based Food) – เนื้อทำจากพืชของไทยยูเนี่ยนจะผลิตจากถั่วลันเตาและถั่วเหลืองเป็นหลัก มีทั้งเนื้อเลียนแบบอาหารทะเล และเนื้อเลียนแบบเนื้อหมูหรือเนื้อไก่ เน้นการขายแบบ OEM รับผลิตให้แบรนด์ต่างๆ เป็นหลัก และเสริมด้วยแบรนด์ของบริษัทเอง วางเป้ารายได้กลุ่มนี้แตะ 1,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี
ส่ง Plant-based อาหารทะเลลงสนาม
ธีรพงศ์กล่าวว่า สินค้าแบบ Plant-based ของบริษัท ที่ผ่านมาเคยจำหน่ายแบบ B2B ให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารมาแล้ว แต่ปีนี้เป็นปีที่จะเปิดตลาดรายย่อยด้วย โดยมีแบรนด์ของตนเองเตรียมวางจำหน่ายครั้งแรก 15 มีนาคม 2564 ใช้ชื่อแบรนด์ “OMG” เริ่มจำหน่ายในกูร์เมต์ มาร์เก็ตก่อนจะขยายไปยังห้างค้าปลีกอื่นๆ หลังประเมินผลตอบรับในไทยแล้วจะขยายไปต่างประเทศในเขตทวีปเอเชียต่อไป
“การแข่งขันของธุรกิจนี้คือ ทำออกมาแล้วต้องเหมือนจริง ไม่เหมือนเนื้อเจสมัยก่อนที่ทานแล้วรู้ว่าไม่ใช่ หรือเหมือนทานเต้าหู้ธรรมดา” ธีรพงศ์กล่าว โดยมองว่าจุดแข็งของบริษัทคือ มีเนื้อทำจากพืชที่เลียนแบบ “อาหารทะเล” เช่น เนื้อปู ทำให้แตกต่างจากตลาด รวมถึงซุ่มวิจัยมานาน 6 ปีให้สินค้ามีรสชาติดี เชื่อว่าสินค้าจะแข่งขันได้ในตลาด
ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรมของไทยยูเนี่ยน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันตลาด Plant-based ทั่วโลกมีมูลค่า 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในมูลค่าดังกล่าวมีเนื้อที่ทำเลียนแบบอาหารทะเลเพียง 0.1% แต่ในตลาดเนื้อสัตว์ปกติจะมีสัดส่วนอาหารทะเลอยู่ 10% จึงมองว่า Plant-based ที่เทียบเคียงกับอาหารทะเล อนาคตน่าจะมีดีมานด์ใกล้เคียงกันซึ่งเป็นโอกาสของไทยยูเนี่ยน แต่บริษัทยังพัฒนาเนื้อ Plant-based เลียนแบบเนื้อหมูและเนื้อไก่ด้วย เพื่อรองรับความต้องการลูกค้า
หลังปักหลักในธุรกิจใหม่ ธีรพงศ์มองว่ารายได้กลุ่มนี้จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 10% ของรายได้รวม แต่จะมีสัดส่วนเป็น 15% ของกำไรทั้งบริษัท และยังเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพซึ่งคนทั่วโลกให้ความสำคัญสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย