Kantar เผยข้อมูลอินไซต์ตลาด “อาหารเสริม” สินค้าประเภทไหนขายดี? ตลาดภาคไหนขายดีที่สุด? และกลุ่มวัยที่ซื้ออาหารเสริมมากคือกลุ่มไหน? ติดตามได้ในรายงานชิ้นนี้
บริษัทวิจัยการตลาด Kantar จัดทำรายงาน Kantar: Health is Wealth: Thailand’s Supplement Market in 2023 ศึกษาตลาดสินค้า “อาหารเสริม” ซึ่งเติบโตดีในช่วงหลังโควิด-19 เพราะคนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น บวกกับสภาวะสังคมผู้สูงอายุในไทย ทำให้กลายเป็นสินค้าขายดี
สำหรับประเภท “อาหารเสริม” ที่มีสัดส่วนในตลาดมากที่สุด มีดังนี้
- 29% ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพแบบองค์รวม (general wellbeing) เช่น วิตามินรวม, สารสกัดจากโสม, สารสกัดจากพืช
- 21% อาหารเสริมเพื่อผิวพรรณและความงาม (skin & beauty) เช่น คอลลาเจน, แอล-กลูตาไธโอน
- 19% อาหารเสริมโปรตีน (protein) เช่น เวย์โปรตีน
- 8% อาหารเสริมภูมิคุ้มกัน (immunity) เช่น วิตามินซี, สังกะสี
- 7% อาหารเสริมเพื่อควบคุมน้ำหนัก (body care) เช่น ไฟเบอร์, ผลิตภัณฑ์ทดแทนอาหาร
- 6% อาหารเสริมบำรุงสายตา (eyes) เช่น สารสกัดจากพืช
- 4% อาหารเสริมบำรุงกระดูกและข้อ (bone & joint care) เช่น แคลเซียม
- 4% อาหารเสริมบำรุงสมอง บำรุงกำลัง และผ่อนคลายความเครียด (brain, energy & stress) เช่น สารสกัดจากถั่วเหลือง, วิตามินบี
- 2% อื่นๆ เช่น อาหารเสริมด้านการนอนหลับ
กลุ่ม “โปรตีน-คุมน้ำหนัก” กลับมาฮิต
รายงานของ Kantar พบว่า อาหารเสริมประเภทที่เติบโตดีในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาคือ กลุ่ม “โปรตีน” และ “ควบคุมน้ำหนัก” ซึ่งน่าจะเกิดจากการหมดช่วงล็อกดาวน์ ผู้บริโภคกลับมาใช้ชีวิตปกติ ทำกิจกรรมนอกบ้าน จึงหันมาออกกำลังกายและดูแลรูปร่างสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม เรื่องสุขภาพก็ยังสำคัญกับผู้บริโภค ทำให้ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพแบบองค์รวมยังคงมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด และมักจะเป็นอาหารเสริมประเภทแรกที่ผู้บริโภคกลุ่มใหม่เลือกซื้อ
ส่วนอาหารเสริมที่พบว่าลดความนิยมลงไปคือ อาหารเสริม “บำรุงสายตา” ซึ่งอาจจะเป็นเพราะคนไทยเริ่มใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น อยู่หน้าจอน้อยลง จึงกังวลเรื่องสุขภาพตาน้อยลงด้วย
“กรุงเทพฯ” ตลาดใหญ่ที่สุด กลุ่มวัย “50+” มาแรง
ด้านตลาดที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของอาหารเสริมคือ “กรุงเทพฯ และปริมณฑล” ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 33% ของตลาดรวม รองลงมาจะเป็น ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือ Kantar ยังรายงานด้วยว่า ยอดขายอาหารเสริมเติบโตขึ้นในทุกภาคของไทย ยกเว้น “ภาคใต้” ที่หดตัวลง
ส่วนกลุ่มผู้ซื้อในกรุงเทพฯ และปริมณฑลกลุ่มใหญ่ที่สุดของอาหารเสริมคือ วัย 35 ปีขึ้นไป มีการซื้อครอบคลุมทุกระดับรายได้ และมักจะเป็นครัวเรือนที่ไม่มีทารก (สมาชิกในครอบครัวมีอายุ 13 ปีขึ้นไป) ที่น่าสนใจคือ กลุ่มผู้ซื้อวัย 50 ปีขึ้นไปเป็นกลุ่มที่เติบโตแรงที่สุดในปีที่ผ่านมา โดยเติบโตถึง 60%
ในแง่รูปแบบ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ขายดีที่สุด จะเป็น “แบบผง” ยังคงมีสัดส่วนในตลาดสูงสุด ซึ่งเกิดจากอาหารเสริมทุกคุณสมบัติสามารถผลิตเป็นรูปแบบผงได้ และยังทำให้ผลิตเป็นขนาดบรรจุภัณฑ์แบบซองเล็ก (sachet) เพื่อบริโภคครั้งเดียวได้ เมื่อนำไปทำการตลาดจึงสามารถขายได้ง่ายขึ้นด้วยราคาต่อแพ็กเกจที่ถูกกว่า ดึงดูดผู้บริโภคหน้าใหม่ให้เข้ามาทดลอง ส่วนรูปแบบรองลงมาที่นิยมก็คือ “แบบเม็ด/แคปซูล” ซึ่งพกพาสะดวกไม่แพ้กัน ขณะที่ “แบบน้ำ” จะไม่นิยมในไทย เพราะพกพายาก
ตลาด “อาหารเสริม” นั้นเติบโตได้ดีมาก ดร.มลฤดี เลิศอุทัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่าย New Business, Health & Wellness บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) เคยประเมินไว้เมื่อปี 2565 ว่า ตลาดอาหารเสริมและวิตามินในไทยมีมูลค่ากว่า 64,000 ล้านบาท และเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ซึ่งทำให้ CRC เข้ามาลุยธุรกิจร้านขายยาและร้านขายวิตามิน-อาหารเสริมมากขึ้น (อ่านต่อได้ที่นี่)