-
ไทยยูเนี่ยน (TU) รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/63 เป็นไตรมาสที่ดีที่สุดในรอบหลายปี เติบโตขึ้นจากปีก่อนถึง 49.7% YoY หลังตลาดอาหารแช่แข็งฟื้นตัว และผลจากการรีดไขมันองค์กรต่อเนื่อง 2 ปี
-
ปี 2564 เดินหน้าลงทุน 6,000 ล้านบาท โดยงบลงทุน 25 ล้านเหรียญสหรัฐในจำนวนนี้จะลงทุนโรงงานคอลลาเจนเปปไทด์และโปรตีนไฮโดรไลเซต ที่จังหวัดสมุทรสาคร
-
ผลิตภัณฑ์กลุ่ม “อินกรีเดียนท์” เพื่อเป็นอาหารเสริมมีมูลค่าสูงและกำไรสูง เป็นทิศทางใหม่ของไทยยูเนี่ยน รวมถึงบริษัทมีการลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีโอกาสโตได้แบบก้าวกระโดด
หนึ่งในบริษัทยักษ์ที่รอดพ้นช่วงสถานการณ์วิกฤตมาได้ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/63 เป็นหนึ่งในไตรมาสที่ดีที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา วัดจากผลกำไรสุทธิ โดยไตรมาสล่าสุดนี้ TU มียอดขาย 3.48 หมื่นล้านบาท เติบโต 9.3% YoY และกำไรสุทธิ 2,056 ล้านบาท เติบโตถึง 49.7% YoY และนับเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ของบริษัทที่มีกำไรสุทธิมากกว่า 2 พันล้านในไตรมาสเดียว
เมื่อรวมผลประกอบการช่วง 9 เดือนแรก TU มียอดขายสะสม 9.89 หมื่นล้านบาท เติบโต 5.9% YoY และกำไรสุทธิ 4,789 ล้านบาท เติบโต 74% YoY
ปัจจุบัน ไทยยูเนี่ยนมีธุรกิจหลักวัดตามรายได้มาจาก ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป เช่น ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง แมคเคอเรลกระป๋อง สัดส่วน 45-50% ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง แช่เย็น เช่น กุ้ง แซลมอน ล็อบสเตอร์ สัดส่วน 35-40% และส่วนที่เหลือเป็น ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและสินค้ามูลค่าเพิ่มอื่นๆ อีกประมาณ 15%
ช่วงที่เกิดสถานการณ์ COVID-19 ขึ้นในไตรมาส 2/63 ไทยยูเนี่ยนได้รับผลบวกในกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปเติบโต 16.8% เนื่องจากมีการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ คนอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้กลุ่มอาหารกระป๋องเติบโต ขณะที่ยอดขายกลุ่มอาหารแช่แข็ง แช่เย็น กลับติดลบ 14% กลุ่มนี้ได้รับผลลบเพราะปกติเป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งตามร้านอาหาร ภัตตาคาร ซึ่งต้องปิดชั่วคราวในช่วงล็อกดาวน์
เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 3/63 ไทยยูเนี่ยนพบว่ายอดขายอาหารกระป๋องยังเติบโตสม่ำเสมอ ส่วนยอดขายกลุ่มอาหารแช่แข็งเปลี่ยนจากติดลบมาเป็นการเติบโต 4.7% เพราะร้านอาหารส่วนใหญ่กลับมาให้บริการแล้ว ทำให้ยอดขายโดยรวมสูงขึ้น
“ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TU กล่าวถึงผลประกอบการไตรมาสนี้ว่า COVID-19 ไม่ใช่เรื่องเดียวที่ส่งผลบวกต่อกำไรบริษัท แต่การที่บริษัทมีกำไร เกิดจากการลดต้นทุน-รีดไขมันองค์กรที่บริษัทได้ทำมาตลอด 2 ปีทำให้จากเดิมที่เคยมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) สูง 1.35-1.40 เท่า ขณะนี้ลดเหลือ 0.97 เท่า
สิ่งที่บริษัทดำเนินการคือการเลิกกิจการที่ไม่ทำกำไร เช่น การปิดโรงงานแซลมอนที่สกอตแลนด์ตั้งแต่ปี 2561 มีการยุบรวมออฟฟิศหลายแห่งให้เล็กลง เช่น ปิดออฟฟิศในเมืองซานดิเอโก สหรัฐฯ และปรับมาใช้ระบบ Shared Office แทนสำหรับแผนกไอที การเงิน กฎหมาย เพื่อใช้พื้นที่เช่่าให้น้อยลง ลดการเดินทางของบุคลากร เน้นใช้เทคโนโลยีสื่อสาร เป็นต้น
ธีรพงศ์ประเมินว่าปี 2563 ยอดขายบริษัทน่าจะเติบโตราว 5% และเชื่อว่าปี 2564 น่าจะเติบโต 5% เช่นกัน เนื่องจากบริษัทตั้งสมมติฐานว่าตลอดปี 2564 ภาวะ COVID-19 น่าจะคงตัวเช่นนี้ตลอดทั้งปี
ปี 2564 เดินหน้าลงทุน 6,000 ล้านบาท
สำหรับการลงทุนปี 2563 ธีรพงศ์กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้บริษัทลดงบการลงทุนลงจาก 4.9 พันล้านบาทเหลือ 3.7 พันล้านบาท แต่ในปี 2564 บริษัทจะกลับมาลงทุนอย่างเต็มที่ โดยตั้งงบลงทุนรวมกว่า 6 พันล้านบาท
สัดส่วนหลักของการลงทุนราว 4.5 พันล้านบาทจะใช้สำหรับการซ่อมแซมบำรุงสายการผลิตที่มีการลงทุนอยู่ 13 ประเทศทั่วโลก ส่วนที่เหลือจะเป็นการลงทุนสายการผลิตใหม่ ดังนี้
1) โรงงานผลิตโปรตีนไฮโดรไลเซตและคอลลาเจนเปปไทด์ จ.สมุทรสาคร มูลค่าลงทุน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ
2) โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป จ.สมุทรสาคร มูลค่าลงทุน 1,000 ล้านบาท
3) ห้องเย็นในประเทศกานา มูลค่าลงทุน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ บริษัทยังไม่เปิดเผยกำลังการผลิตหรือข้อมูลเชิงลึกในการผลิต แต่โปรตีนไฮโดรไลเซตและคอลลาเจนเปปไทด์เป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารเสริมที่มีราคาสูง และสามารถสกัดได้จากปลาทะเล สินค้าหลักของ TU
มุ่งสู่กลุ่ม “อาหารฟังก์ชัน-อาหารอนาคต”
“เทรนด์ผู้บริโภคทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ดังนั้น ต่อไปสินค้าอาหารจะต้องเจาะเรื่องอาหารฟังก์ชัน เช่น Medical Food อาหารที่เหมาะกับช่วงวัยหรือผู้ป่วยโรคต่างๆ Beauty Food อาหารที่เน้นเพื่อความงาม” ธีรพงศ์กล่าว
ด้วยมุมมองนี้ทำให้ TU เริ่มลงทุนหน่วยธุรกิจ ไทยยูเนี่ยน อินกรีเดียนท์ ตั้งแต่ปี 2560 เพื่อนำ by-products จากซัพพลายเชนการผลิตผลิตภัณฑ์เดิมมาสร้างให้เป็นสินค้ามูลค่าสูง มีโรงงานและผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จพร้อมจำหน่ายแล้ว คือ น้ำมันปลาทูน่า และ แคลเซียมจากกระดูกปลาทูน่า ทั้งสองผลิตภัณฑ์เน้นหนักการขายแบบ B2B ให้กับผู้ผลิตนมและนมผงนำไปผสมกับอาหารสำหรับทารกและเด็ก เพื่อเสริมคุณค่าทางโภชนาการ
อย่างไรก็ตาม หน่วยธุรกิจนี้เพิ่งเริ่มต้น ดังนั้นแม้จะมีมูลค่าสูงแต่ยังมีสัดส่วนน้อยมากในยอดขายรวมของไทยยูเนี่ยน แต่ธีรพงศ์มองว่า ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะเป็นอนาคตให้กับบริษัท เพราะเป็นสินค้ากำไรสูง ต้องมีกำไรขั้นต้นอย่างน้อย 20% จึงจะลงทุนพัฒนา ซึ่งสูงกว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่บริษัทผลิตอยู่ขณะนี้จะมีกำไรขั้นต้น 16-17% เท่านั้น
- ต่อยอดความฝัน FoodTech โปรแกรม SPACE-F ดัน 23 ทีมสตาร์ทอัพไทย-เทศไประดับโลก
- NRF : เราขอเป็น Foxconn แห่งตลาด Plant-based Food กางแผนขยายโรงงานทั่วโลก
นอกจากการผลิตสินค้ามูลค่าสูงจาก by-products ของผลิตภัณฑ์เดิมคือสัตว์ทะเล ไทยยูเนี่ยนยังลงทุนในสตาร์ทอัพด้วย โดยจัดตั้งกองทุนเวนเจอร์แคปิตอล มูลค่ารวม 30 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปี 2562 กรอบการลงทุนระยะ 3-5 ปี ซึ่งธีรพงศ์บอกว่า ปัจจุบันเริ่มลงทุนไปไม่ถึง 10 ล้านเหรียญ เนื่องจากมีนโยบายกระจายความเสี่ยง จะลงทุนให้กับสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งๆ ไม่เกิน 3 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสตาร์ทอัพที่ได้รับเงินลงทุนจาก TU แล้วมี 4 บริษัท ได้แก่
1) บริษัท อัลเคมีฟู้ดเทค บริษัทสิงคโปร์ที่ทำธุรกิจนวัตกรรมอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
2) บริษัท มันนา ฟู้ดส์ จำกัด บริษัทโปรตีนจากแมลงและอีคอมเมิร์ซ จากสหรัฐอเมริกา
3) บริษัท ไฮโดรนีโอ บริษัทเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยและเยอรมัน
4) บริษัท วิสไวร์ส นิวโปรตีน บริษัทเงินทุนสัญชาติสิงคโปร์ที่ทำธุรกิจบริหารกองทุนที่มองหาโอกาสความร่วมมือและร่วมลงทุนในเทคโนโลยีอาหาร
จะเห็นได้ว่าบริษัทไม่ได้ลงทุนสตาร์ทอัพเฉพาะที่เกี่ยวกับสินค้าเดิมของบริษัท แต่มีการลงทุนในบริษัทโปรตีนจากแมลงด้วย เพราะพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ดีมานด์อาหารอื่นของโลก ซึ่งอาจจะสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดได้
“เราต้องเปลี่ยน mindset ตามโลกให้ได้ เมื่อก่อนเราเคยมีมุมมองว่าเราต้องมี economy of scale ผลิตให้ได้ปริมาณมาก แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว เรามองว่า Less is more ทำน้อยแต่ต้องได้กำไรเยอะ ไม่ต้องเน้นการเติบโตที่บรรทัดแรก แต่เน้นที่บรรทัดสุดท้าย ซึ่งเราเริ่มปรับมุมมองใหม่เหล่านี้ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา” ธีรพงศ์กล่าว