ย้อนหลังกลับไปในช่วงเวลานี้ของปี 2551 พัฒนาการของวิกฤตการเงินโลกได้ถดถอยลงอย่างรุนแรงไปสู่ระดับที่สร้างความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ จนทำให้ธนาคารกลางชั้นนำทั่วโลก นำโดย ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ธนาคารธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางแคนาดา ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ ธนาคารกลางสวีเดน ธนาคารกลางจีน และธนาคารกลางบางแห่งในเอเชีย พร้อมใจกันประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการลุกลามของวิกฤตการเงิน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้เริ่มสะท้อนให้เห็นผลในช่วงเวลา 1 ปีหลังจากนั้น
โดยในขณะนี้ เศรษฐกิจในหลายๆ ภูมิภาคของโลก ได้ทยอยฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอยเป็นที่เรียบร้อยแล้วในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ขณะที่ เศรษฐกิจของประเทศชั้นนำอย่างสหรัฐฯ และยูโรโซน ก็อาจพลิกกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ส่วนพัฒนาการของตลาดการเงินโลกก็นับได้ว่า มีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งสวนหนึ่งสามารถสะท้อนได้จากการที่นักลงทุนมีความกล้าที่จะกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกดังกล่าวได้ถูกตอกย้ำภาพให้ชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่ธนาคารกลางออสเตรเลียได้นำร่องแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นแห่งแรกในกลุ่มประเทศ G-20 ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าว ได้ส่งผลต่อเนื่องทำให้ค่าเงินบาทและสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียที่ล้วนได้รับอานิสงส์จากกระแสการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ทะยานแข็งค่าขึ้นทุบสถิติสูงสุดในรอบหลายเดือน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อประเด็นเหล่านี้ ดังนี้ :-
สถานการณ์ล่าสุด: เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบกว่า 14 เดือน
หลังจากที่เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ใกล้ระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ อย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-ต้นกันยายน 2552 ทำให้นักวิเคราะห์ และผู้เล่นอื่นๆ ประเมินมุมมองการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทค่อนข้างลำบาก แม้ว่าเงินบาทในขณะนั้นจะยังคงอยู่ในแนวโน้มการแข็งค่าตามทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคก็ตาม โดยในช่วงเวลานั้น ดูเหมือนว่า การเข้าดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทไม่ให้หลุดระดับสำคัญทางจิตวิทยาดังกล่าว เนื่องจากคงต้องยอมรับว่า การแข็งค่าของเงินบาทที่ค่อนข้างรวดเร็วย่อมไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่พึ่งจะหลุดพ้นจากภาวะถดถอยในช่วงไตรมาส 2/2552 ขณะที่ แนวโน้มการส่งออกของไทยยังคงมีความเปราะบาง โดยสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดสินค้าส่งออกหลักของไทยทั้งกลุ่ม G-3 และหลายๆ ประเทศในเอเชีย ยังไม่ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนมากนัก
แต่กระนั้นก็ดี หลากหลายปัจจัยลบที่สนับสนุนแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ อาทิ ความต้องการเสี่ยงของนักลงทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น ความกังวลต่อสถานะของเงินดอลลาร์ฯ ที่ทำหน้าที่เป็นสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศ ปัญหาการขาดดุลการคลังที่เรื้อรังของรัฐบาลสหรัฐฯ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการด้านสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้กระตุ้นให้กระแสการเทขายเงินดอลลาร์ฯ ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และทำให้เงินบาททะยานแข็งค่าทะลุระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 34.00 และ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามลำดับ ซึ่งล่าสุด (ณ วันที่ 9 ต.ค. 52) เงินบาทปรับตัวขึ้นทุบสถิติแข็งค่าสุดในรอบกว่า 14 เดือนมายืนที่ระดับประมาณ 33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยมีปัจจัยสำคัญที่หนุนเงินบาทในช่วงนี้ ได้แก่
ปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งจากการเกินดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัด ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ไทยบันทึกดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลราว 1.477 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ และ 1.483 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ตามลำดับ ซึ่งส่งผลทำให้มีแรงขายมากกว่าแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ในตลาด และทำให้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
เงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดเงิน-ตลาดทุนไทย กระแสการหมุนเวียนของเงินลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชียเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ความต้องการเสี่ยงของนักลงทุนได้ทยอยฟื้นตัวกลับมาท่ามกลางความเชื่อมั่นที่มีต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ตลาดหุ้น-ตลาดพันธบัตรไทย ได้รับอานิสงส์จากปัจจัยดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยนักลงทุนต่างชาติมีสถานะเป็นผู้ซื้อสุทธิหุ้นไทยถึง 6.485 หมื่นล้านบาท นับตั้งแต่ต้นปี 2552 เป็นต้นมา เทียบกับสถานะเป็นผู้ขายสุทธิประมาณ 1.623 แสนล้านบาทในปี 2551 ขณะที่ นักลงทุนต่างชาติมีสถานะถือครองพันธบัตรไทยเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 8.109 หมื่นล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 9 ต.ค. 52) จากระดับ 5.624 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของปีนี้ที่ทำไว้ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2552
ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจเอเชีย เป็นความจริงที่ว่า หลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย อาทิ จีน อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ สามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยทางเทคนิคได้ ขณะที่ เศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย ก็ได้หลุดพ้นออกจากนิยามของภาวะถดถอยทางเทคนิคแล้วในช่วงไตรมาส 2/2552 ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียที่แข็งแกร่งกว่าภูมิภาคอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ เป็นปัจจัยที่สำคัญในการประเมินอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในภูมิภาคเอเชียของนักลงทุนต่างชาติ เพราะเนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดเงิน-ตลาดทุนเอเชียจะสูงกว่าโดยเปรียบเทียบแล้ว นักลงทุนก็ยังอาจได้รับผลพลอยได้จากแนวโน้มการแข็งค่าของสกุลเงินในภูมิภาคอีกด้วย
แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ สัญญาณเสถียรภาพของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่ทยอยปรากฏขึ้น เป็นสภาวะแวดล้อมที่บั่นทอนความน่าสนใจของเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะที่เป็นสกุลเงินที่ปลอดภัยในยามวิกฤต อีกทั้งทำให้ปัจจัยลบที่รอกดดันค่าเงินดอลลาร์ฯ มีความเด่นชัดมากขึ้น ได้แก่ การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของเฟด ความกังวลต่อสถานะของเงินดอลลาร์ฯ ในการทำหน้าที่เป็นสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศ และสกุลเงินที่ใช้ในการชำระค่าการค้าระหว่างประเทศ และปัญหาการขาดดุลการคลังที่เรื้อรังของรัฐบาลสหรัฐฯ
การส่งออกทองคำ เป็นปัจจัยเพิ่มเติมที่หนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม 2552 เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกที่พุ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ที่ระดับ 1,062.70 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ (ณ วันที่ 8 ต.ค. 52) นั้น ได้ส่งผลต่อเนื่องทำให้ราคาทองคำในประเทศทะยานขึ้นทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตามไปด้วยเช่นกัน และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาอีกระลอก ก็คือ การส่งออกทองคำไปต่างประเทศ ซึ่งทำให้ความต้องการเงินบาทเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีการแลกเปลี่ยนรายได้จากการส่งออกทองคำที่อยู่ในรูปเงินดอลลาร์ฯ กลับมาเป็นเงินบาท
แนวโน้มระยะข้างหน้า: มุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจัยภายนอกซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมหลายๆ ปัจจัย น่าที่จะมีบทบาทหลักในการกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระยะถัดไป แม้จะเป็นความจริงที่ว่า การฟื้นตัวขึ้นของการนำเข้าที่เป็นไปตามแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทยโดยรวม ตลอดจนแนวโน้มการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนสถาบัน (เมื่อตลาดการเงินโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น) เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น จะช่วยบรรเทาการแข็งค่าของเงินบาทลงบางส่วน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปัจจัยที่สนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่าในช่วงที่ผ่านมาหลายปัจจัย จะยังคงมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระยะถัดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งอาจถูกกดดันจากการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และจากการสูญเสียความเชื่อมั่นต่อสถานะของเงินดอลลาร์ฯ ที่ทำหน้าที่เป็นสกุลเงินหลักของโลก (ทั้งในส่วนของการสะสมความมั่งคั่งในรูปทุนสำรองของธนาคารกลางต่างๆ และบทบาทในการทำธุรกรรมทางการค้าและการเงินระหว่างประเทศ) ซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะเอเชียที่มีแนวโน้มแข็งแกร่งมากกว่าโดยเปรียบเทียบ และจะกลายเป็นจักรกลตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปีนี้ และต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ซึ่งอาจเป็นนัยว่า ตลาดเงิน-ตลาดทุนในเอเชีย จะยังคงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจของนักลงทุน ภายใต้สภาวะที่สภาพคล่องทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูง และเตรียมที่จะกลับเข้าลงทุนใหม่อีกครั้งหลังจากที่สถานการณ์วิกฤตสิ้นสุดลง
ทั้งนี้ 2 ประเด็นหลักที่น่าที่จะเป็นจุดสนใจของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในระยะถัดไป ก็คือ ความเสียเปรียบด้านอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ (ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินในภูมิภาคอื่นๆ) ตลอดจนความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ฯ ที่กำลังถูกบั่นทอนลงจากปัจจัยรอบด้าน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินภาพของทั้ง 2 ประเด็นไว้ดังนี้
ประเด็นแรก ความเสียเปรียบด้านอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่เน้นย้ำบทบาทของเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะที่เป็นสกุลเงินระดมทุน (Funding Currency) ในธุรกรรม Carry Trades ทั้งนี้ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ กับอัตราดอกเบี้ยในภูมิภาคอื่นๆ กลายเป็นจุดสนใจของตลาดการเงินมากขึ้นภายหลังจากที่ธนาคารกลางออสเตรเลียมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 3.25% ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นที่คาดการณ์ว่า เฟดจะยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็ววันนี้ แม้จะส่งสัญญาณว่า จะทำการคุมเข้มนโยบายการเงิน หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องก็ตาม
และแม้ว่าล่าสุด ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจะยังคงมีน้ำหนักในการพิจารณานโยบายการเงินของธนาคารกลาง 2 แห่งในเอเชีย คือ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ และธนาคารกลางสิงคโปร์ ซึ่งได้มีมติคงนโยบายการเงินไว้ตามเดิม (โดยในส่วนของธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 7 วันไว้ที่ระดับ 2.00% ในการประชุมวันที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา ขณะที่ ธนาคารกลางสิงคโปร์ ก็ไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนในเชิงผ่อนคลายของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนในการประชุมวันที่ 12 ตุลาคม 2552 เช่นกัน) อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้อาจจะมีความจำเป็นต้องเริ่มคุมเข้มนโยบายการเงินภายในไตรมาส 4/2552 นี้ เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ เศรษฐกิจเกาหลีใต้ฟื้นตัวขึ้นจากภาวะวิกฤตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ในปัจจุบันก็ได้เคลื่อนไหวใกล้กรอบด้านแข็งค่าของกรอบอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารกลางสิงคโปร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของภูมิภาคอื่นๆ จะยังไม่ถูกปรับขึ้น และยังคงยืนที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ แต่ก็เป็นระดับที่สูงกว่าโดยเปรียบเทียบ อีกทั้งยังมีความเป็นได้ว่า วัฎจักรการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศ จะเริ่มต้นขึ้นก่อนการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด ซึ่ง ณ ตอนนี้ถูกคาดการณ์ว่า อาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2/2553 เป็นอย่างเร็ว ดังนั้น แนวโน้มการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำของเฟดนั้น อาจเป็นสภาวะแวดล้อมที่เน้นย้ำบทบาทของเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะที่เป็นสกุลเงินระดมทุน (Funding Currency) อย่างต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง
ประเด็นที่สอง ความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ฯ กำลังถดถอยลง ปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอของเงินดอลลาร์ฯ ที่นำไปสู่ปัญหาความไม่สมดุลของระบบการเงินโลกในช่วงที่ผ่านมา กำลังกลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารืออย่างจริงจังในเวทีระดับโลกอีกครั้ง ซึ่งแม้ว่าประเด็นดังกล่าวจะไม่ใช่ประเด็นที่แปลกใหม่ แต่หลักฐานที่ปรากฏขึ้นในขณะนี้ ก็ทำให้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ประเด็นนี้กำลังส่งผลกระทบต่อบทบาทของเงินดอลลาร์ฯ ในการทำหน้าที่เป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลก ขณะที่ บทบาทด้านอื่นๆ ของเงินดอลลาร์ฯ ในการรองรับการทำธุรกรรมทางการค้าและการเงินระหว่างประเทศ ก็อาจลดน้อยลงในระยะถัดไป
ทั้งนี้ รายงานล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) สะท้อนว่า บทบาทเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะเป็นสกุลเงินหลักในทุนสำรองระหว่างประเทศ มีแนวโน้มลดน้อยลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยสัดส่วนของสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯ ในทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางทั่วโลกในไตรมาส 2/2552 ลดลงมาที่ระดับ 62.4% (จากระดับ 65.0% ในไตรมาส 1/2552) เทียบกับระดับ 71.0% ในปี 2542 ขณะที่ บทบาทของเงินดอลลาร์ฯ ในด้านการค้าและการเงินระหว่างประเทศ ได้เริ่มถูกท้าทายมากขึ้นโดย SDRs และเงินหยวน หลังจากที่ทางการจีนได้เสนอให้ใช้ระบบสิทธิถอนเงินพิเศษ (Special Drawing Rights: SDRs) เป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลกแทนเงินดอลลาร์ฯ พร้อมๆ กับเพิ่มบทบาทของเงินหยวนในระบบการเงินโลก ทั้งในด้านการค้าผ่านการทำข้อตกลงสว็อปสกุลเงินหยวนกับประเทศคู่ค้าสำคัญ และด้านการเงินระหว่างประเทศผ่านการใช้เงินหยวนชำระค่าพันธบัตร SDRs ที่ออกโดย IMF นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวเกี่ยวกับการใช้สกุลเงินอื่นๆ และ/หรือตะกร้าสกุลเงิน เข้ามาแทนที่เงินดอลลาร์ฯ ในการค้าน้ำมัน (และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ) อีกด้วย เนื่องจากแนวโน้มเงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนค่าลงนั้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน และอาจเป็นชนวนให้เกิดการเก็งกำไรขึ้นในตลาดน้ำมันโลก ซึ่งในท้ายที่สุด การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดความผันผวนขึ้นในตลาดน้ำมันเท่านั้น แต่ยังจะเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อขึ้นด้วยอีกทางหนึ่ง
โดยสรุป ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่คาดว่า ความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ กับภูมิภาคอื่นๆ (โดยเฉพาะเอเชีย ซึ่งมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าโดยเปรียบเทียบ) ตลอดจนการลดทอนบทบาทของเงินดอลลาร์ฯ ในระบบการเงินโลก จะเป็นประเด็นสำคัญของตลาดการเงินในระยะถัดไป ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เงินบาทจะยังคงโน้มแข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค โดยมีความเป็นไปได้ว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 33.00 และ 32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามลำดับ ภายในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากหลักฐานการฟื้นตัวและแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกมีความชัดเจนมากขึ้น และกระตุ้นให้กระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าสู่ตลาดเงิน-ตลาดทุนของเอเชียเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
สำหรับทางการไทยแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเคลื่อนไหวและผลกระทบของเงินบาทจะยังคงถูกติดตามอย่างใกล้ชิดจากธปท.และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยการเข้าดูแลเสถียรภาพของค่าเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อบรรเทาผลกระทบทางลบของแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกของไทย จะยังคงมีความสำคัญ และเป็นโจทย์ที่ทางการไทยต้องตั้งรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากประเมินในภาพรวมแล้ว จะพบว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาค ทำให้ผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าออกไทยน่าจะมีจำกัด ในขณะเดียวกัน การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาและอาจมีความต่อเนื่องในระยะถัดไปนั้น น่าจะช่วยชะลอแรงกดดันในช่วงขาขึ้นของเงินเฟ้อลงบางส่วน ซึ่งอาจช่วยให้ ธปท.สามารถยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำได้นานมากขึ้น แต่ทั้งนี้ คงจะต้องอยู่ที่ดุลยพินิจของธปท.ซึ่งจะเป็นผู้ที่ต้องสร้างความสมดุลระหว่างโจทย์ในการดูแลเสถียรภาพของระดับราคา ควบคู่ไปกับเสถียรภาพของค่าเงินบาท เพื่อช่วยประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม แม้เงินดอลลาร์ฯ จะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง แต่ความเสี่ยงมีอยู่เสมอในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน โดยโอกาสของการปรับฐานอย่างรุนแรงของของตลาด (ซึ่ง ณ ขณะนี้ เต็มไปด้วยสถานะการขายสุทธิเงินดอลลาร์ฯ ที่สูงถึง 2.02 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ต.ค. 52) ที่อาจหนุนให้เงินดอลลาร์ฯ ดีดตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นนั้น อาจเกิดขึ้นได้ หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะต่อไปสะท้อนภาพแนวโน้มการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งมากเกินคาดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกลายเป็นจุดหักเหของแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ในกรณีนี้ ยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ณ เวลานี้ ยังคงต้องแบกรับภาระทั้งความอ่อนแอของตลาดแรงงาน และการขาดดุลงบประมาณในระดับสูงของภาครัฐ ตลอดจนปัญหาในภาคการเงินที่ยังคงมีการปิดตัวของธนาคารขนาดเล็กให้เห็นอยู่