คาดดอกเบี้ยนโยบายไทยยังไม่เปลี่ยน … จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น

ในวันที่ 21 ตุลาคม 2552 คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) จะมีการประชุมรอบที่ 7 ของปีเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน หรือทิศทางอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กนง.คงจะมีมติให้ยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 ตามเดิม หลังจากที่ได้มีมติให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2552 โดยแม้ว่านักลงทุนจะเริ่มทยอยปรับตัวรับการคาดการณ์ถึงวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางสำคัญๆ ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 3.00 มาที่ร้อยละ 3.25 ในวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ก็เชื่อว่า กนง.จะพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทยโดยให้น้ำหนักที่พัฒนาการของพื้นฐานทางเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ซึ่งเหตุผลสนับสนุนการคาดการณ์ดังกล่าว สรุปได้ดังนี้

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำของ กนง.ยังมีความจำเป็นอยู่
แม้ว่าเศรษฐกิจไทยน่าที่จะได้ก้าวข้ามสภาวะที่เลวร้ายสุดหรือหลุดพ้นจากภาวะถดถอยทางเทคนิคมาแล้วในไตรมาส 2/2552 (โดยจีดีพีขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 2.3 (Quarter-on-Quarter, Seasonally Adjusted: QoQ, SA) หลังจากที่หดตัวร้อยละ 5.9 และ 1.8 ในไตรมาส 4/2551 และไตรมาส 1/2552 ตามลำดับ) แต่เนื่องจากเพิ่งจะเป็นช่วงแรกของการฟื้นตัวซึ่งพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังคงมีความเปราะบาง เห็นได้จากการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2552 ที่ยังมีทั้งดีขึ้นและแย่ลงจากเดือนก่อนปะปนกัน อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่การขยายตัวของเศรษฐกิจ (QoQ, SA) ในช่วงที่เหลือของปีนี้ อาจจะไม่ได้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งมากเท่าในไตรมาส 2/2552 เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านการใช้จ่ายงบประมาณกลางปีที่อาจทยอยลดบทบาทลงตามลำดับ กอปรกับยังคงมีปัจจัยความไม่แน่นอนอีกหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นเสถียรภาพการเมือง ที่รอท้าทายอยู่เบื้องหน้า

ดังนั้น กว่าที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ จึงน่าจะยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง รวมทั้งยังน่าจะต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังในเชิงผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมั่นใจว่าเศรษฐกิจมีหลักฐานการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น ขณะที่ การถอยออกจากนโยบายผ่อนคลายในเวลาที่เร็วเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะรับได้ อาจยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้เศรษฐกิจมีโอกาสจะทรุดตัวลงไปอีก

แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่อุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอและมาตรการของรัฐบาล น่าจะเอื้อให้ กนง.ยังมีความยืดหยุ่นที่จะดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไป
เป็นที่คาดการณ์ว่า แรงกดดันเงินเฟ้อโดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยมีแนวโน้มจะพลิกกลับมามีค่าเป็นบวกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 และอาจขยับตัวสูงขึ้นในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีต่อเนื่องถึงในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 หลังจากที่มีค่าอยู่ในแดนลบตลอด 9 เดือนแรกของปีนี้ อันเป็นผลจากปัจจัยหลายประการ ทั้งฐานเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แนวโน้มการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนการปรับขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรบางรายการ จากภาวะภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงไทย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยอาจมีแนวโน้มขยับเข้าหาระดับประมาณร้อยละ 3-4 ในช่วงปลายปี 2552

อย่างไรก็ตาม ภาวะการใช้จ่ายหรืออุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอ รวมทั้งการดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน (ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ที่จะถูกขยายกรอบเวลาออกไป) และมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนด้านพลังงานผ่านการตรึงระดับราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจี รวมถึงอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2553 ของรัฐบาล ตลอดจนทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท (นับจากต้นปีจนถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2552 เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯแล้วประมาณร้อยละ 4.1) น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยชะลอแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศและเอื้อให้ กนง.ยังพอมีความยืดหยุ่นที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำเช่นปัจจุบันต่อไปอย่างน้อยจนถึงราวกลางปี 2553

การคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ระบุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.อาจจะเกิดขึ้นในไตรมาส 2/2553 เป็นอย่างเร็ว
ในทิศทางที่สอดคล้องกับธนาคารกลางส่วนใหญ่ในโลก นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า ในท้ายที่สุด กนง.ก็คงจะต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะที่เป็นปกติเมื่อเทียบกับนโยบายผ่อนคลายอย่างมากเช่นในปัจจุบัน แต่จังหวะเวลาของแต่ละธนาคารกลางอาจจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยผลสำรวจของ Bloomberg ล่าสุด บ่งชี้ว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.อาจจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2/2553 เป็นอย่างเร็ว ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ กนง.มีความแน่ใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแล้วเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเร็วอย่างที่ตลาดคาดการณ์กันไว้ ทางด้านการปรับตัวของตลาดในช่วงที่ผ่านมา ก็ได้สะท้อนการคาดการณ์ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการไทยไปแล้วบางส่วน เห็นได้จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้โดยเฉพาะในตราสารระยะกลางและยาวที่เพิ่มขึ้นแล้วประมาณร้อยละ 0.08-0.53 นับตั้งแต่การประชุม กนง.รอบก่อนหน้าในวันที่ 26 สิงหาคม จนถึงขณะนี้ (15 ตุลาคม) อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนดังกล่าว ส่วนหนึ่งคงจะเป็นผลมาจากความกังวลต่อแนวโน้มอุปทานพันธบัตรที่จะเข้าสู่ตลาด และจากการโยกเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นของนักลงทุนตามความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอีกด้วย

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) คงจะมีมติให้ยืนอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ไว้ที่ร้อยละ 1.25 ตามเดิมในการประชุมรอบที่ 7 ของปีในวันที่ 21 ตุลาคม 2552 หลังจากที่ได้มีมติให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2552 โดยแม้ว่านักลงทุนจะเริ่มทยอยปรับตัวรับการคาดการณ์ถึงวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางสำคัญๆ ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 3.00 มาที่ร้อยละ 3.25 ในวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในระยะต่อไป แต่เชื่อว่า กนง.จะพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทยโดยให้น้ำหนักที่พัฒนาการของพื้นฐานทางเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก

ทั้งนี้ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจไทยที่โดยพื้นฐานยังคงมีความเปราะบางเพราะเพิ่งเป็นช่วงแรกของการฟื้นตัวจากภาวะถดถอย อีกทั้งอาจมีโอกาสที่การขยายตัวจากไตรมาสก่อนของเศรษฐกิจไทยในระยะที่เหลือของปีนี้จะไม่ได้แข็งแกร่งมากเท่าในไตรมาส 2/2552 (ที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 QoQ, SA) เนื่องจากยังมีปัจจัยลบอีกหลายประการโดยเฉพาะประเด็นเสถียรภาพการเมืองที่รอท้าทายอยู่ในระยะข้างหน้า ในขณะที่ แรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากความต้องการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังมีระดับไม่สูงนัก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะยังอยู่ภายนอกกรอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 0.5-3.0 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปจนถึงสิ้นปี 2552 และอาจขยับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเหนือร้อยละ 0.5 เล็กน้อยในช่วงไตรมาส 1/2553 ซึ่งทิศทางดังกล่าว ประกอบกับการดำเนินมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนของรัฐบาล ตลอดจนการแข็งค่าของเงินบาท น่าจะช่วยชะลอแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศและเอื้อให้ กนง.ยังพอมีความยืดหยุ่นที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำเช่นปัจจุบันต่อไปอย่างน้อยจนถึงราวกลางปี 2553 นอกจากนี้ แม้ว่าตลาดจะได้มีการปรับตัวรับการคาดการณ์ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ในอนาคตไปแล้วบางส่วน ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็คาดว่า กนง.อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2/2553 เป็นอย่างเร็ว แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ กนง.มีความมั่นใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแล้วเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเร็วอย่างที่ตลาดคาดการณ์กันไว้

สำหรับโจทย์ของ ธปท.ในระยะต่อไป นอกจากการดูแลภาวะสภาพคล่องให้มีความเหมาะสมในทุกภาคส่วนเศรษฐกิจแล้ว ความท้าทายคงจะอยู่ที่การบริหารจัดการการคาดการณ์ต่อภาวะเงินเฟ้อ (Inflation Expectation) ของนักลงทุน การถอยออกจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำในจังหวะเวลาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการดูแลสมดุลระหว่างเสถียรภาพทางด้านราคาและเสถียรภาพของค่าเงินบาท เนื่องจากการมาถึงเร็วกว่าเวลาที่ควรจะเป็นของการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อและ/หรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจมีผลผลักดันต้นทุนทางการเงินและฉุดรั้งให้เศรษฐกิจมีโอกาสทรุดตัวลงอีกได้

ส่วนอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์นั้น มติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมของ กนง.ในการประชุมวันที่ 21 ตุลาคม 2552 น่าจะเป็นสิ่งที่คาดการณ์กันไว้อย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไป คงจะขึ้นอยู่กับภาวะสภาพคล่องและการคาดการณ์ถึงแนวโน้มสภาพคล่องในอนาคตอันใกล้ของแต่ละธนาคารเป็นสำคัญ โดยนอกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจซึ่งจะมีผลต่อความต้องการสินเชื่อของภาคเอกชนแล้ว ยังคงต้องติดตามประเด็นความชัดเจนเกี่ยวกับแผนการขยายการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ โครงการในมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง และการประมูลโครงข่าย 3G เป็นต้น ซึ่งคงจะมีผลต่อการใช้วงเงินสินเชื่อของภาคธุรกิจในระยะถัดไป รวมไปถึงแผนการออกพันธบัตรของทางการ ที่ส่วนหนึ่งน่าจะมีการเสนอขายให้กับนักลงทุนรายย่อยด้วย อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันยังนับว่ามีอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง และน่าจะเพียงพอสำหรับรองรับการขยายสินเชื่อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีได้