ตลาดน้ำมันพืชปลายปี’52 : รับอานิสงส์กินเจ…ต่อเนื่องถึงปีใหม่

เทศกาลกินเจที่ถือปฏิบัติมาต่อเนื่องทุกปี จากเดิมในสมัยก่อนมักนิยมถือปฏิบัติกันเฉพาะในกลุ่มชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนที่เคร่งครัดในประเพณีเท่านั้น แต่ปัจจุบันกลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน ทั้งคนหนุ่มสาว ก็หันมากินเจกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหาซื้อได้ง่าย ทั้งประเภทอาหารปรุงเสร็จ อาหารกึ่งสำเร็จรูป และวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการทำอาหารเจ จากการพัฒนาในด้านการผลิตที่สามารถคิดค้นผลิตภัณฑ์อาหารเจให้มีความหลากหลาย ครอบคลุมอาหารแทบทุกชนิด และแลดูน่ารับประทาน ประกอบกับกระแสใส่ใจสุขภาพในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากตระหนักว่าการกินอาหารเจช่วยให้ระบบย่อยอาหารภายในร่างกายได้หยุดพักจากการที่ผู้คนบริโภคเนื้อสัตว์ อาหารรสจัด และเครื่องปรุงหรือผักมีกลิ่นฉุนบางชนิดอยู่เป็นประจำ เพื่อเป็นการชำระล้างร่างกายและจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ อีกทั้ง ยังทำให้ผิวพรรณสดใส ถึงแม้จะมีช่วงระยะเวลาเพียง 9 วัน ซึ่งในปีนี้จะตรงกับวันที่ 18-26 ตุลาคม แต่การที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มหันมานิยมกินเจกันมากขึ้น ถือเป็นผลดีอย่างมากต่อยอดขายผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลผลิตจากพืช ผัก และถั่ว โดยเฉพาะน้ำมันพืชซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำอาหาร จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตน้ำมันพืชที่จะได้รับอานิสงส์ในช่วงกินเจกระตุ้นยอดขายเพิ่มขึ้นดังเช่นทุกปี อีกทั้ง ในปีนี้ผู้บริโภคน่าจะลดความกังวลในปัญหาการเมืองลง ประกอบกับกระแสรักสุขภาพ น่าจะทำให้การร่วมเทศกาลกินเจคึกคักขึ้น จึงคาดว่าเทศกาลกินเจปีนี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ตลาดน้ำมันพืชขยายตัวดีขึ้นกว่าช่วงก่อนเทศกาลประมาณร้อยละ 5-10 และขยายตัวต่อเนื่องถึงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงแห่งการเฉลิมฉลองและจัดงานสังสรรค์รื่นเริง ดังนั้น ในช่วงปลายปีจึงถือเป็นช่วงไฮซีซั่นของผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ จึงเห็นว่าตลาดน้ำมันพืชบรรจุขวดจะมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในช่วงนี้ของทุกปี

ตลาดน้ำมันพืชในประเทศ…น้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลือง ยังเป็นที่นิยม
เนื่องจากน้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลืองเป็นน้ำมันพืชที่มีราคาถูกเมื่อเทียบกับน้ำมันพืชชนิดอื่น ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วมีราคาอยู่ที่ประมาณขวดละ 30-50 บาท(ขนาดบรรจุ 1 ลิตร) และมีผลิตภัณฑ์ให้เลือกซื้อมากมายหลายยี่ห้อในท้องตลาด โดยคาดว่าตลาดน้ำมันพืชบรรจุขวดของไทยในปี 2552 จะมีมูลค่าประมาณ 13,000 ล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 20 โดยแบ่งสัดส่วนเป็นน้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลืองรวมกันถึงร้อยละ 90 ส่วนน้ำมันพืชชนิดอื่นหรือน้ำมันพืชพรีเมี่ยมนั้นยังไม่เป็นที่นิยมมากนักในไทย ถึงแม้ว่าจะมีคุณประโยชน์สูง แต่ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงจึงเป็นข้อจำกัดของผู้บริโภค จึงมีสัดส่วนในตลาดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น

ดังนั้น การแข่งขันของตลาดน้ำมันพืชในประเทศ ยังคงเป็นการแข่งขันของน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์ม จากข้อมูลกรมการค้าภายใน ณ เดือนสิงหาคม 2552 แสดงให้เห็นว่าราคาน้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลือง(ขนาดบรรจุขวด 1 ลิตร) มีราคาที่แตกต่างกันมากกว่าช่วงสองปีที่ผ่านมา และแนวโน้มในปี 2552 นี้ราคาน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์มชะลอลงกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากความต้องการใช้ทั้งด้านการบริโภคที่ชะลอตามภาวะเศรษฐกิจ และต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลงตามราคาตลาดโลก (เทียบกับเมื่อปีที่แล้วที่ราคาวัตถุดิบถั่วเหลืองปรับตัวสูงขึ้นจากความผันผวนของสภาพอากาศ และราคาน้ำมันปาล์มก็สูงขึ้นเช่นกันจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากจีนและอินเดีย) อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันพืชในปีนี้มีราคาลดต่ำลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ผู้ผลิตจึงหันมาเน้นการแตกไลน์น้ำมันพืชเพื่อกลุ่มคนรักสุขภาพหรือน้ำมันพืชพรีเมี่ยม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับการทำการตลาดเชิงรุก เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเข้าใจและตระหนักถึงคุณประโยชน์และความแตกต่างในการเลือกใช้น้ำมันพืชแต่ละชนิด ทั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังจะชี้นำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่มักเลือกซื้อน้ำมันพืชโดยเปรียบเทียบจากราคาเป็นอันดับแรก รองลงมาจึงให้ความสำคัญกับส่วนประกอบ

ดังนั้น ผู้ผลิตจึงต้องเน้นการโฆษณาผลิตภัณฑ์ โดยนำเสนอจุดเด่น สร้างความแตกต่าง คุณประโยชน์ของส่วนผสม ระบุข้อมูลโภชนาการ รวมถึงชี้แจงให้ทราบถึงสมดุลของไขมันที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจและให้ความสำคัญในการเลือกซื้อน้ำมันแต่ละชนิดได้อย่างเหมาะสมกับวัตถุประสงค์หรือกรรมวิธีในการปรุงอาหาร เช่น การทอดควรใช้น้ำมันปาล์มเพราะมีคุณสมบัติทนความร้อนสูง ทำให้อาหารกรอบ มีสีสันน่ารับประทาน ไม่มีกลิ่นหืนและสามารถเก็บไว้ได้นาน นอกจากนี้ ยังเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสำเร็จรูป/กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว รวมถึงร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด แต่ไม่เหมาะสมที่จะใช้ในการปรุงอาหารประเภทผัดหรือเป็นส่วนผสมในอาหาร เพราะมีกรดไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการสะสมคอเลสเตอรอล ก่อเกิดโรคไขมันอุดตันในหลอดเลือดตามมา ส่วนการผัดและการใช้เป็นส่วนผสมของอาหาร ควรใช้น้ำมันถั่วเหลืองหรือน้ำมันเมล็ดพืชอื่นตามความเหมาะสม เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันงา น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันข้าวโพด น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา เป็นต้น เนื่องจากมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง อุดมไปด้วยวิตามินและสารอาหารที่สามารถป้องกันการเกิดโรคต่างๆได้ อาทิ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ ลดความดัน บำรุงสายตา ต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น

จากแนวโน้มความใส่ใจในสุขภาพของผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีมากขึ้น ประกอบกับปัญหาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆที่อาจเกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวันและอาหารการกินในปัจจุบัน น่าจะส่งผลให้ผู้บริโภคเล็งเห็นถึงความสำคัญในการเลือกใช้น้ำมันในการปรุงอาหารมากขึ้น และทำให้ในอนาคตน้ำมันพืชกลุ่มพรีเมี่ยมน่าจะมีสัดส่วนในตลาดน้ำมันบริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 10 ของตลาดน้ำมันพืชโดยรวม

ตลาดส่งออกน้ำมันพืชบริโภค…แนวโน้มขยายตัวในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลถึงปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันพืชของไทยในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ชะลอตัวตาม แต่จากที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องไปสู่ปี 2553 ประกอบกับอานิสงส์จากเทศกาลกินเจต่อเนื่องถึงปีใหม่ น่าจะส่งผลให้การส่งออกน้ำมันพืชของไทยกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และกลุ่มประเทศอาเซียน โดยได้รับผลดีจากข้อตกลงการเปิดเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศ รวมถึงการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนด้วย เพราะจะทำให้ผู้ผลิตของไทยสามารถนำเข้าวัตถุดิบได้ในต้นทุนต่ำลง รวมถึงการขยายตลาดของผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยมีภาพรวมการส่งออก ดังนี้

การส่งออกน้ำมันถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ ในช่วง 8 เดือนปี 2552 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่า โดยหดตัวลงร้อยละ 54.1 และ 67 ตามลำดับ มาอยู่ที่ 2,039 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีตลาดหลัก คือ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ กัมพูชา ฮ่องกง พม่า และจีน ตามลำดับ ขณะที่ตลาดที่มีแนวโน้มการส่งออกขยายตัวสูง คือ กัมพูชา และปาปัวนิวกินี ซึ่งมีอัตราขยายตัวของปริมาณการส่งออกถึงร้อยละ 85 และ 422.2 ตามลำดับ จึงเป็นตลาดที่ผู้ผลิตไทยควรศึกษาและให้ความสำคัญ

การส่งออกน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ลดลงจากปีที่แล้วทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่า โดยหดตัวร้อยละ 78.8 และ 83.3 ตามลำดับ มาอยู่ที่ 56,355 ตัน คิดเป็นมูลค่า 47.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีตลาดหลัก คือ พม่า อินเดีย จีน เวียดนาม มาเลเซีย และลาว ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มการขยายตัวของตลาดส่งออกในหลายประเทศ อาทิ ไต้หวัน สิงคโปร์ และพม่า

จากที่การส่งออกน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์มของไทยในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้มีปริมาณลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากปีที่แล้วความต้องการด้านอาหารและพลังงานทดแทนของทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเป็นประวัติการณ์ จากปัญหาด้านวิกฤติอาหารที่เกิดจากความผันผวนของสภาพอากาศในหลายประเทศ ประกอบกับระดับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลต่อความต้องการใช้พลังงานทดแทนของโลกสูงขึ้นตาม ซึ่งในปีนี้ปัญหาดังกล่าวได้คลี่คลายลง ทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวของไทยชะลอตัวลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแสความใส่ใจการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ประกอบกับที่องค์การอนามัยโลก สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐฯ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ แนะนำว่าน้ำมันรำข้าวเหมาะที่จะเป็นน้ำมันบริโภค เนื่องจากมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงถึงร้อยละ 44 ช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลที่ดี(HDL) และลดคอเลสเตอรอลตัวที่ไม่ดี(LDL)ได้ นอกจากนี้ยังมีวิตามินและสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายชนิดที่มีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระ ที่สำคัญมีราคาไม่สูงมากนัก เพราะมีราคาใกล้เคียงกับน้ำมันถั่วเหลือง จึงกลายเป็นที่นิยมในหลายประเทศ เห็นได้จากยอดส่งออกน้ำมันรำข้าวของไทย ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 7.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 อยู่ที่ 6,680 ตัน โดยตลาดหลักส่วนใหญ่จะอยู่ในแถบอเมริกาและยุโรป รวมถึงบางประเทศในเอเชีย ได้แก่ เกาหลีใต้ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งปีที่ผ่านมาตลาดส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น พม่า ลาว และสหรัฐฯ จึงมีแนวโน้มว่าน้ำมันรำข้าวกำลังเป็นที่นิยมในแถบอเมริกาและยุโรปมากขึ้น และเป็นโอกาสดีที่ผู้ผลิตของไทยจะเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันรำข้าวรองรับการเติบโตของตลาดต่างประเทศในระยะต่อไป

ประเด็นที่ต้องจับตามอง…ของตลาดน้ำมันพืช
ความต้องการบริโภคน้ำมันพืชของไทยยังคงมีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์ม ถึงแม้ว่าไทยจะสามารถปลูกพืชน้ำมันทั้ง 2 ชนิดนี้ได้ แต่ด้วยข้อจำกัดในพื้นที่ปลูก สภาพภูมิอากาศ และประสิทธิภาพในการพัฒนาด้านผลผลิต ทำให้จำนวนผลผลิตที่ได้มีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ จึงต้องมีการนำเข้าทุกปี แต่ในขณะเดียวกันภาครัฐก็มีมาตรการควบคุมปริมาณการนำเข้าถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม และผลผลิตจากพืชน้ำมันทั้งสองชนิด เพื่อเป็นการคุ้มครองเกษตรกรในประเทศ ด้วยเหตุนี้ปัจจัยในด้านวัตถุดิบจึงถือเป็นประเด็นที่สำคัญที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์ม เพราะเป็นน้ำมันพืชที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลายมากกว่าน้ำมันพืชประเภทอื่นๆ

ถั่วเหลือง ปัจจุบันไทยต้องนำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันพืช อาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 80 ของความต้องการใช้ในประเทศ การนำเข้าถั่วเหลือง 8 เดือนแรกปี 2552 หดตัวลงร้อยละ 18.3 มาอยู่ที่ 950,297 ตัน คิดเป็นมูลค่าหดตัวลงร้อยละ 35.8 มาอยู่ที่ 428.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่แหล่งนำเข้าหลักของไทย ได้แก่ บราซิล สหรัฐฯ อาร์เจนติน่า และแคนาดา ซึ่งการปรับลดการนำเข้านั้นเนื่องมาจากปกติแล้วผู้ผลิตในอุตสาหกรรมจะมีการสต็อกเมล็ดถั่วเหลืองไว้ล่วงหน้าหลายเดือน โดยทำการสั่งซื้อล่วงหน้าในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต ดังนั้น การนำเข้าที่ลดลงอาจเป็นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อรักษาระดับสต็อกไว้ เนื่องจากในปีที่แล้วเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการบริโภคและความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆลดลง นอกจากนี้ ในช่วงต้นปีมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งในระยะเริ่มแรกรู้จักกันในชื่อ “โรคไข้หวัดหมู” จึงทำให้ผู้บริโภคตื่นตระหนกและลดการบริโภคเนื้อหมูลง ส่งผลต่อความต้องการอาหารสัตว์ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกลดลงตาม จึงส่งผลให้ผู้ผลิตยังคงมีปริมาณสต็อกวัตถุดิบคงเหลืออยู่มาก ส่วนราคาถั่วเหลืองในตลาดโลกช่วงครึ่งหลังของปี 2552 นี้มีแนวโน้มปรับตัวลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตถั่วเหลืองของประเทศผู้ผลิตหลัก อาทิ บราซิล สหรัฐฯ อาร์เจนติน่า และปารากวัย มีมากขึ้นจากการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงปริมาณน้ำฝนที่เอื้ออำนวย ประกอบกับในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนเป็นฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตถั่วเหลืองในประเทศ จึงน่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันถั่วเหลืองในระยะสั้นปรับตัวลดลง

น้ำมันปาล์ม ไทยมีผลผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มปี 2551-2555 โดยปาล์มน้ำมันที่ผลิตได้จะส่งเข้าโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบเพื่อใช้บริโภคในประเทศประมาณร้อยละ 64 เพื่อผลิตไบโอดีเซลประมาณร้อยละ 25 และส่งออกประมาณร้อยละ 11

ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2552 ปริมาณนำเข้าน้ำมันปาล์ม(ไม่ดัดแปลงทางเคมี)หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 95.6 อยู่ที่ 1,291.6 ตัน คิดเป็นมูลค่าลดลงร้อยละ 97.4 อยู่ที่ 0.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไทยนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากมาเลเซียและอินโดนีเซียมากเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งคิดรวมกันเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 99 ของการนำเข้าทั้งหมด การนำเข้าที่ลดลงเนื่องมาจากผลผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากการขยายพื้นที่เพาะปลูกตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันฯ แต่จะมีการอนุมัติให้นำเข้าในกรณีที่น้ำมันปาล์มในประเทศมีไม่เพียงพอหรือมีจำนวนในสต็อกต่ำ ดังเช่นในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2551 ที่มีการอนุมัติให้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 30,000 ตัน เพื่อแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศที่มีราคาสูง จากความต้องการบริโภคที่มีต่อเนื่อง ประกอบกับความต้องการใช้เพื่อผลิตพลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยในปีที่แล้วมีระดับสูง ทำให้เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปีนี้กับปีที่แล้วการนำเข้าน้ำมันปาล์มจึงหดตัวลงไปมาก ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกในระยะสั้นนี้ยังคงทรงตัว เนื่องจากมาเลเซียและอินโดนีเซียได้สต็อกน้ำมันปาล์มไว้เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม หากแนวโน้มราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกยังคงทรงตัว และปริมาณผลผลิตถั่วเหลืองของประเทศผู้ผลิตหลักของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในระยะสั้นอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันถั่วเหลืองลดลงมาจนใกล้เคียงกับราคาน้ำปาล์ม จนมีผลให้ผู้บริโภคตัดสินใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์น้ำมันถั่วเหลืองง่ายขึ้น เพราะการประกอบอาหารส่วนใหญ่ของผู้บริโภคมักจะเป็นการผัดหรือปรุงอาหารอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ ในระยะยาวยังคงมีปัจจัยความผันผวนของสภาพอากาศที่มีผลต่อปริมาณผลผลิตพืชน้ำมันของโลกให้เปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงที่พึงระวังจากการปรับตัวของราคาวัตถุดิบพืชน้ำมันในตลาดโลก ที่เกิดจากความต้องการใช้พืชน้ำมันเพื่อผลิตเป็นพลังงานทดแทนมากขึ้นในอนาคต ผู้ผลิตจึงควรติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อการวางแผนการบริหารวัตถุดิบอย่างเหมาะสม

สรุป
ในช่วงปลายปีของทุกปีถือเป็นช่วงไฮซีซั่นของผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลกินเจต่อเนื่องถึงเทศกาลปีใหม่ จึงเป็นช่วงที่ตลาดน้ำมันพืชบรรจุขวดเริ่มมีการแข่งขันกันสูงขึ้น โดยเฉพาะในเทศกาลกินเจ ซึ่งปัจจุบันได้ขยายวงกว้าง กลายเป็นความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย ประกอบกับกระแสใส่ใจสุขภาพในปัจจุบัน และถึงแม้จะมีช่วงระยะเวลาเพียง 9 วัน แต่การที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มหันมานิยมกินเจกันมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ผู้ผลิตน้ำมันพืชจะได้รับอานิสงส์ในช่วงกินเจหนุนดังเช่นทุกปี อีกทั้ง ในปีนี้ผู้บริโภคน่าจะลดความกังวลในปัญหาการเมืองลง ประกอบกับกระแสรักสุขภาพ น่าจะทำให้การร่วมเทศกาลกินเจคึกคักขึ้น จึงคาดว่าเทศกาลกินเจปีนี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ตลาดน้ำมันพืชขยายตัวดีขึ้นกว่าช่วงก่อนเทศกาลประมาณร้อยละ 5-10 และต่อเนื่องถึงเทศกาลปีใหม่

จากปัจจุบันที่ตลาดน้ำมันพืชมีการแข่งขันสูง ผู้ผลิตจึงหันมาให้ความสำคัญในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ โดยการเพิ่มสารอาหารที่มีประโยชน์ในน้ำมันถั่วเหลือง รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชน้ำมันและธัญพืชชนิดอื่นที่มีคุณประโยชน์สูง ซึ่งเป็นการสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ เพื่อสนองความต้องการผู้บริโภคในปัจจุบันที่หันมาใส่ใจสุขภาพและเพื่อขยายส่วนแบ่งตลาด ขณะเดียวกันผู้ผลิตยังควรเน้นการทำการตลาดเชิงรุก โดยนำเสนอจุดเด่น สร้างความแตกต่าง คุณประโยชน์ของส่วนผสม ระบุข้อมูลโภชนาการ รวมถึงชี้แจงให้ทราบถึงสมดุลของไขมันที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน เพื่อมุ่งหวังให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกซื้อ โดยคำนึงถึงคุณประโยชน์มากขึ้น เพราะน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์มอาจแข่งขันกันโดยใช้กลยุทธ์ด้านราคาได้ แต่น้ำมันพืชพรีเมี่ยมนั้นอาจเสียเปรียบหากขาดการทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันถั่วเหลืองของไทยที่ผ่านมาชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่อาจมีผลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่ในปลายปีนี้จากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลกินเจต่อเนื่องถึงเทศกาลปีใหม่ น่าจะมีส่วนช่วยให้การส่งออกกระเตื้องขึ้น ส่วนน้ำมันปาล์มมีปริมาณการส่งออกขยายตัวสูง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศในแถบเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์น้ำมันรำข้าวยังมีแนวโน้มการส่งออกขยายตัวต่อเนื่องในตลาดแถบประเทศอเมริกาและยุโรป อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตควรรักษามาตรฐานในการผลิตให้เป็นไปตามกำหนดข้อตกลงทางการค้า เพื่อประโยชน์ในการขยายตลาดสู่ต่างประเทศต่อไปในอนาคต