จีเอ็ม และเชฟโรเลตร่วมรณรงค์การหยุดยั้งภาวะโลกร้อน

กรุงเทพฯ –จีเอ็ม และเชฟโรเลต ประเทศไทย ขานรับนโยบายการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพของรัฐบาลอีกครั้ง ร่วมจัดแสดงนิทรรศการเนื่องในงานวันมาตรฐานโลก เพื่อร่วมรณรงค์การหยุดยั้งภาวะโลกร้อนด้วยมาตรฐาน ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ตอกย้ำความเป็นผู้นำจุดยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หลัง เชฟโรเลต เป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายแรกและรายเดียวในประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐาน ฉลากเขียวที่มีกระบวนการตรวจสอบอันเข้มงวด ติดต่อกันสามปีซ้อน

นอกจากเชฟโรเลต ออพตร้า เอสเตท จะเป็นรถยนต์คันแรกที่ได้รับเกียรติจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (สสท.) และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม(สมอ.) นับแต่มีการประกาศข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์ฉลากเขียวเมื่อปี 2548 แล้ว เชฟโรเลต อาวีโอ คอมแพกต์ ซีดานสำหรับคนรุ่นใหม่ และ เชฟโรเลต แคปติวา สุดยอดรถเอนกประสงค์ ก็ได้รับการรับรองมาตรฐานฉลากเขียวด้วยเช่นกันเมื่อ ปี 2550 และ 2551 ตามลำดับ

นายครรชิต ไชยสุโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจอาเซียน บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ว่า “ที่ผ่านมา เชฟโรเลต ภูมิใจและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่เราเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกและรายเดียวในประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐาน ฉลากเขียวอันทรงเกียรตินี้ถึงสามครั้งติดต่อกัน และการเข้าร่วมงานในวันนี้ก็เป็นการตอกย้ำถึงความต้องการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดและสิ้นเปลืองพลังงานน้อยที่สุดของเรา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และงานสัมมนา ‘เจาะลึกมาตรฐาน ISO / TISI เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และความต่อเนื่องทางธุรกิจ’ ที่จัดขึ้นในวันนี้โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศ เพื่อร่วมรณรงค์การหยุดยั้งภาวะโลกร้อนด้วยมาตรฐาน และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับมาตรการด้านมาตรฐานเพื่อแก้ไขภาวะโลกร้อน การจัดการสิ่งแวดล้อม และการจัดการพลังงาน เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสังคมของประเทศโดยรวมในที่สุด”

“ฉลากเขียว” เป็นเครื่องหมายที่แสดงคุณค่าของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ด้านสิ่งแวดล้อม โดยจะมอบให้แก่ผลิตภัณฑ์คุณภาพที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน ซึ่ง “ผลิตภัณฑ์สีเขียว” เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปล่อยสารเคมีหรือกากสารพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงานและทรัพยากรทั้งในระหว่างการผลิต การขนส่ง และการใช้งาน อีกทั้งไม่เป็นภาระในการกำจัดหลังทิ้งและไม่ก่อให้เกิดขยะมากนัก ผลิตภัณฑ์เหล่านี้นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคในการช่วยรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ข้อกำหนดของฉลากเขียว จะแตกต่างไปตามประเภทของผลิตภัณฑ์และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ โดยข้อกำหนดทั่วไปของฉลากเขียว สำหรับรถยนต์นั่งมีหลายประการด้วยกัน อาทิ โรงงานต้องมีระบบควบคุมคุณภาพมาตรฐาน ISO 9001:2000 กระบวนการผลิต การกำจัดของเสีย และคู่มือแนะนำการดูแลอุปกรณ์ควบคุมมลพิษ ต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ส่วนข้อกำหนดเฉพาะนั้น ได้แก่ สีและสารเคมีที่ใช้กับผลิตภัณฑ์ จะต้องไม่ผสมโลหะหนัก มีเอกสารแนะนำวิธีการจัดการของเสียจากการใช้งาน มีระดับมลพิษทางเสียงไม่เกินที่กำหนด และมีอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานไม่น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งต้องผ่านมาตรฐานการปล่อยไอเสียสู่อากาศ ยูโร 3 และ สารทำความเย็นที่ใช้ในระบบปรับอากาศต้องมี ค่าโอดีพี เท่ากับศูนย์ (ODP – Ozone Depletion Potential ระดับค่าการวัดสารทำความเย็นที่มีผลต่อการทำลายชั้นโอโซน)

นอกจากนั้น รถยนต์ฉลากเขียว ยังต้องให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับการกำจัดสารหล่อลื่น และสารเคมีอันตราย นอกจากนั้น ส่วนประกอบอื่นๆ และชิ้นส่วนพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ได้จะต้องมีสัญลักษณ์บ่งบอกอย่างชัดเจนอีกด้วย

คำบรรยายภาพ
(จากซ้ายไปขวา) นางรัตนาภรณ์ จึงสงวนสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายครรชิต ไชยสุโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจอาเซียน บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ถ่ายภาพร่วมกับนายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในงานสัมมนา“เจาะลึกมาตรฐาน ISO / TISI เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และความต่อเนื่องทางธุรกิจ” ในโอกาสเข้าเยี่ยมชมยานยนต์เชฟโรเลตมาตรฐานฉลากเขียว ที่บูธนิทรรศการของเชฟโรเลต ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา