หนังสือพิมพ์ออนไลน์ : แนวโน้มพัฒนาสู่ระบบเก็บค่าบริการสมาชิก

ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสื่อสารในโลกปัจจุบัน เป็นตัวผลักดันให้การพัฒนาของสื่อหนังสือพิมพ์ทั่วโลก เริ่มปรับเปลี่ยนเข้าสู่รูปแบบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ ให้ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารได้สะดวกและรวดเร็วจากทั่วทุกมุมโลก โดยในระยะแรกๆเป็นการเริ่มพัฒนาในแถบประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูง อาทิ สหรัฐฯ และยุโรป โดยเริ่มให้บริการหนังสือพิมพ์รูปแบบออนไลน์ควบคู่กับการจำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับดั้งเดิม จนผู้อ่านมีความเคยชินกับการติดตามข่าวสารทางเว็บไซต์ ผู้ผลิตหนังสือพิมพ์จึงเริ่มหันมาพัฒนาสู่การเป็นสื่อออนไลน์มากขึ้น โดยมีการจัดเก็บค่าบริการสมาชิก เพื่อชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปจากการจำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับที่ลดลง และเห็นได้ว่าในบางสื่อหนังสือพิมพ์จำนวนสมาชิกที่สมัครในระบบออนไลน์มีมากกว่าจำนวนสมาชิกที่สมัครในแบบฉบับกระดาษหลายเท่าตัว

ส่วนหนังสือพิมพ์ของไทยคาดว่าอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้อ่านให้เคยชินกับการอ่านข่าวบนหน้าเว็บไซต์ โดยปัจจุบันให้บริการแก่ผู้อ่านโดยไม่คิดค่าบริการ แต่สร้างรายได้จากการขายพื้นที่โฆษณาในหน้าเว็บไซต์ที่มีแนวโน้มเติบโตจากปีที่แล้วถึง 2 เท่าตัว ซึ่งสวนทางกับมูลค่าตลาดโฆษณาโดยรวมในประเทศที่หดตัวลง ซึ่งเป็นการเติบโตตามจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต สอดคล้องกับข้อมูลการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยในปี 2551 ที่มีจำนวนถึง 18.3 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ถึงร้อยละ 18 โดยผู้ใช้ 1 คนใช้เวลาเข้าอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยประมาณวันละ 5-10 ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ถึงเท่าตัว จึงคาดว่าในช่วง 4-5 ปีนี้สื่อหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับต่างกำลังปรับตัว เตรียมพัฒนาระบบเว็บไซต์ข่าวให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น ทั้งระบบการจัดเก็บข้อมูลและการเรียกใช้ข้อมูล ซึ่งมีต้นทุนในการดำเนินการค่อนข้างสูง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับกับรูปแบบการบริการข่าวสารที่จะเข้าสู่ระบบเก็บค่าสมาชิกในอนาคต โดยเน้นการนำเสนอข่าวที่รวดเร็ว ละเอียด สามารถสืบค้นข่าวย้อนหลัง อีกทั้ง จากการพัฒนาความเร็วในการรับส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตทำให้สามารถรับชม/รับฟัง คลิปวิดีโอ/คลิปเสียงข่าวหรือเหตุการณ์สำคัญๆได้ หรือแม้กระทั่งการเปิดห้องสนทนาให้ผู้อ่านมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้สื่อข่าวแบบออนไลน์ เพราะเมื่อถึงเวลาที่สื่อหนังสือพิมพ์ต้องปรับเปลี่ยนจำเป็นต้องพัฒนารูปแบบการให้บริการที่ให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความคุ้มค่ากับค่าบริการที่ต้องจ่าย

นอกจากนี้ การพัฒนาด้านโทรคมนาคมสื่อสาร ประกอบกับในปัจจุบันจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขยายตัวอยู่ในระดับสูง การให้บริการข่าวสารในรูปแบบข้อความสั้น(Short Message Service : SMS) และข้อความมัลติมีเดีย(Multimedia Message Service : MMS) จึงเป็นช่องทางบริการข่าวสารที่ผู้ให้บริการข่าวเริ่มหันมาพัฒนาขยายตลาดในส่วนนี้มากขึ้น ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้บริการข่าวผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่มีอยู่ประมาณ 3 ล้านราย มีค่าบริการรายเดือน โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 30-50 บาทต่อเดือน อาจแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของผู้ให้บริการแต่ละราย นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการสามารถเลือกได้ว่าต้องการรับข่าวสารประเภทใด เช่น ข่าวด่วน/เศรษฐกิจ/การเมือง/กีฬา/ดารา โดยข่าวการเมืองและข่าวทั่วไปเป็นประเภทที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงปีที่ผ่านมา คิดเป็นกว่าร้อยละ 60-70 ของการรับบริการข่าวทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งคาดว่าปี 2552 นี้บริการข้อความข่าวบนโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมีมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 1,200 ล้านบาท ขยายตัวจากปีที่แล้วประมาณร้อยละ 30 ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราชะลอลง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลายลง แบ่งเป็นสัดส่วนเป็นบริการข่าว SMS ร้อยละ 90 และ MMS ร้อยละ 10

อนาคตเมื่อการให้บริการข่าวทางสื่อออนไลน์และส่งข้อความข่าวผ่านโทรศัพท์มือถือขยายตัวมากขึ้น ย่อมส่งผลต่อยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับลดลงอย่างแน่นอน ผู้ผลิตจึงต่างเร่งพัฒนารูปแบบการนำเสนอข่าวที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้อ่านในทุกรูปแบบ

ปัจจัยหนุนต่อการขยายตัวของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ของไทย
พัฒนาการของหนังสือพิมพ์ในรูปแบบฉบับจากกระดาษสู่การเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงด้วยระบบอินเทอร์เน็ตได้ทั่วโลก กลับกลายเป็นความนิยมในกลุ่มผู้อ่านข่าวของไทยในปัจจุบัน ด้วยปัจจัยสนับสนุน ดังนี้

1)ราคาคอมพิวเตอร์…ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้ผลิตต่างเร่งหาทางเพิ่มยอดขายภายใต้ภาวะกำลังซื้อที่ยังคงชะลอตัว รวมถึงตลาดคอมพิวเตอร์ก็เช่นกัน ผู้ผลิตต่างหันมาใช้กลยุทธ์การแข่งขันในด้านราคาเพื่อช่วงชิงตลาด โดยคาดว่าในปี 2552 ตลาดคอมพิวเตอร์ของไทยจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 4 ซึ่งเติบโตน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี  จากเดิมที่เคยขยายตัวที่ร้อยละ10-15 เป็นการลดลงเนื่องจากราคาขายลดต่ำลง แต่คาดว่ายอดจำหน่ายยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คราคาถูกหรือเน็ตบุ๊คนับเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญให้ตลาดยังขยายตัวได้ เนื่องจากมีราคาถูกลงกว่าในอดีต สะดวกในการพกพา ด้วยการพัฒนารูปลักษณ์ให้บางและเบาลงกว่าเดิมมาก ดังนั้น การที่ราคาคอมพิวเตอร์มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเริ่มเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ1 ที่ทำการสำรวจประชากรไทยในปี 2551 ในจำนวน 18.2 ล้านครัวเรือน มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตร้อยละ 24.8 และร้อยละ 8.6 ตามลำดับ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯที่มีสัดส่วนการมีคอมพิวเตอร์ของครัวเรือนสูงที่สุดมากกว่าร้อยละ 50 รองลงมา คือ ภาคกลาง และในภาพรวมของทั้งประเทศการมีคอมพิวเตอร์และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของครัวเรือนได้ขยายตัวสูงขึ้นกว่าปี 2550 จากจำนวนครัวเรือน 18.1 ล้านครัวเรือน ซึ่งมีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตร้อยละ 20.4 และร้อยละ 7.6 ตามลำดับ

2) การพัฒนาของอุปกรณ์สื่อสาร และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การพัฒนาของเครื่องมือสื่อสาร โดยเฉพาะมือถือรุ่นใหม่ๆที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สามารถรองรับระบบปฏิบัติการวินโดว์(Window Mobile/PDA Phone) จึงสามารถทำงานเสมือนมีคอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็กติดตัวไปด้วยทุกที่ สามารถเช็คอีเมลล์ เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต รวมถึงการดาวน์โหลดข้อมูล/แอปพลิเคชั่น/โปรแกรมเพิ่มเติมได้ โดยผ่านเทคโนโลยี WAP, GPRS, EDGE และ Bluetooth อีกทั้ง การแข่งขันกันระหว่างผู้ให้บริการรายใหญ่ในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด มีส่วนช่วยผลักดันให้การพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันขยายพื้นที่ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งในด้านการพัฒนาความเร็วในการรับส่งข้อมูล ด้วยค่าบริการที่ถูกลงและยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณ Wi-Fi ให้ใช้ได้ฟรีในบางสถานที่ หรือแม้แต่การจะเปิดให้บริการเทคโนโลยี 3G ที่มีแผนจะพัฒนาให้ครอบคลุมหลายพื้นที่ในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งจะทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือสามารถรองรับการรับส่งข้อมูลทั้งภาพและเสียง ให้มีคุณภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น

3) การขยายตัวของสื่อโฆษณาออนไลน์ จากแนวโน้มการขยายตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากปีที่แล้วมีจำนวน 13.4 ล้านคน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง หลายบริษัทจึงมีนโยบายตัดลดงบโฆษณาลง โดยหันมาเน้นช่องทางการตลาดออนไลน์มากขึ้น จึงคาดว่ามูลค่าตลาดสื่อโฆษณาออนไลน์ในปี 2552 จะขยายตัวถึง 2 เท่าจากปีที่แล้ว มาอยู่ที่ประมาณ 1,500-1,600 ล้านบาท และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2 ในตลาดโฆษณารวม ขณะที่ตลาดโฆษณาโดยรวมหดตัวลงร้อยละ 10-15 ซึ่งการที่บริษัทต่างหันมาใช้สื่อโฆษณาออนไลน์เนื่องมาจากใช้งบน้อยกว่า สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย และที่สำคัญสามารถวัดผลได้โดยตรง เนื่องจากการทำโฆษณาออนไลน์บริษัทจะเลือกลงโฆษณาในเว็บไซต์ที่คาดว่าเป็นที่สนใจของกลุ่มเป้าหมายของตัวผลิตภัณฑ์ และพัฒนารูปแบบจากเดิมที่เน้นทำโฆษณาเป็นแบนเนอร์ลงไว้ตามเว็บไซต์ ซึ่งอาจไม่ดึงดูดใจ ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้จดจำเท่าใดนัก เปลี่ยนมาเป็นลักษณะที่ให้ผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วมได้ อาทิ การโหวต การเข้าร่วมกิจกรรมกับบริษัท ขอรับผลิตภัณฑ์ทดลองใช้/ลุ้นรับส่วนลดและรางวัลต่างๆ รวมถึงสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ทั้งในรูปแบบรับส่งอีเมล์หรือการสนทนาออนไลน์ได้ทันที ซึ่งการใช้ช่องทางนี้บริษัทจะสามารถวัดผลตอบรับได้ทันทีที่ผู้บริโภคเข้าถึงโฆษณานั้น ดังนั้น การโฆษณาออนไลน์จึงเป็นช่องทางใหม่ที่หลายบริษัทต่างเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น เพื่อรองรับกับจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าตลาดโฆษณาออนไลน์ของไทยยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก เห็นได้จากสัดส่วนโฆษณาออนไลน์ของไทยที่คิดเป็นเพียงร้อยละ 2 ของตลาดโฆษณาทั้งหมด ขณะที่ทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 8 และจากในปัจจุบันบริการหนังสือพิมพ์ออนไลน์ของไทย ยังไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการจากผู้อ่าน แต่มีรายได้หลักมาจากการขายพื้นที่โฆษณาในหน้าเว็บไซต์ ดังนั้น ตราบใดที่แนวโน้มการทำการตลาดของบริษัทต่างๆเริ่มเน้นช่องทางตลาดออนไลน์มากขึ้น ก็นับเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับหนุนให้หนังสือพิมพ์ออนไลน์ยังคงขยายตัวได้เช่นกัน และช่วยสร้างรายได้ให้แก่สื่อหนังสือพิมพ์อีกช่องทางหนึ่ง

ปัจจัยเกื้อหนุนต่อการขยายตัวของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ล้วนส่งผลต่อการขยายตัวของเทคโนโลยีการสื่อสารในอนาคต ทำให้การติดตามข่าวสารต่างๆสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว จึงนับเป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้บริการข่าวออนไลน์ขยายตัวตามไปด้วย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าย่อมมีผลกระทบต่อรายได้ในการจำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับลดลงอย่างแน่นอน ดังนั้น ผู้ผลิตจึงมักมีกลยุทธ์ในการนำเสนอข่าวออนไลน์ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับ เช่น การนำเสนอข่าวออนไลน์ให้ล่าช้ากว่า หรือนำเสนอแต่เพียงหัวข้อพร้อมรายละเอียดโดยย่อของข่าวเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการแย่งตลาดกันเองระหว่างหนังสือพิมพ์ฉบับ กับบริการหนังสือพิมพ์ออนไลน์

ทั้งนี้ จากปัจจุบันการที่ผู้อ่านเริ่มหันมาอ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์กันมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย มีความสะดวก สามารถอ่านได้ทุกที่ที่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเข้าถึง ซึ่งเป็นการสร้างความเคยชินแก่ผู้อ่าน จึงคาดว่าต่อไปในอนาคตหนังสือพิมพ์ออนไลน์อาจพัฒนาเข้าสู่ระบบสมาชิกและมีการจัดเก็บค่าบริการ เพื่อแลกกับการที่ผู้อ่านข่าวสามารถรับรู้ข่าวสารได้รวดเร็วทันที พร้อมรายละเอียดอย่างครบถ้วนในทุกประเด็น

แต่ทั้งนี้ ยังคงมีปัจจัยที่อาจส่งผลให้การขยายตัวของธุรกิจออนไลน์ของไทยไม่รวดเร็วนัก เพราะต้องอาศัยระยะเวลาในการส่งเสริมการเข้าถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศของประชาชน และพัฒนาวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ทั่วถึงทั้งประเทศ เนื่องจากปัจจุบันการมีอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศในครัวเรือนยังคงกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคกลาง และตามกลุ่มจังหวัดที่เป็นเขตธุรกิจ เช่นเดียวกันกับการขยายตัวของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตยังไม่สามารถครอบคลุมได้ทั่วประเทศ จึงเป็นผลดีที่จะทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับยังสามารถจำหน่ายได้ต่อไป โดยเฉพาะในเขตนอกเมือง หรือสำหรับผู้อ่านที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่

ความนิยมหนังสือพิมพ์ออนไลน์เพิ่ม…ความต้องการใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ของโลกลด
จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลก รวมถึงการตระหนักในการลดการใช้กระดาษและทรัพยากรป่าไม้ ทำให้การขยายตัวของช่องทางเสนอข่าวในรูปแบบใหม่เติบโตอย่างรวดเร็ว จนทำให้ยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับในหลายประเทศชะลอตัวลง ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงกลุ่มผู้ผลิตกระดาษ ทั้งกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ใช้ในการผลิตหนังสือพิมพ์รายวัน และกระดาษพิมพ์เขียนที่ใช้ในการผลิตหนังสือพิมพ์ราย 3 วันและรายสัปดาห์

ภาพรวมการค้ากระดาษหนังสือพิมพ์ทั่วโลก มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง ประเทศผู้ส่งออกหลักของโลก ได้แก่ แคนาดา สวีเดน รัสเซีย เยอรมนี และสหรัฐฯ มีสัดส่วนส่งออกรวมกันกว่าร้อยละ 70 ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก ซึ่งในปี 2551 การส่งออกกระดาษหนังสือพิมพ์รวมในตลาดโลกมีปริมาณลดลงร้อยละ 2.3 และคาดว่าในปี 2552 นี้การส่งออกในตลาดโลกจะหดตัวลงประมาณร้อยละ 20 จากปีที่แล้ว ส่วนการนำเข้ากระดาษหนังสือพิมพ์รวมในตลาดโลกช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 มีปริมาณลดลงถึงร้อยละ 71.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 2,788,768 ตัน ซึ่งปริมาณการนำเข้ากระดาษหนังสือพิมพ์ในปีที่แล้วของทั้งโลกหดตัวลงร้อยละ 7.1 จากปีก่อนหน้า โดยมีแนวโน้มหดตัวลงต่อเนื่องทุกปี อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ภาพรวมความต้องการใช้กระดาษทุกชนิดในตลาดโลกชะลอตัวลง แต่ความต้องการใช้ยังคงขยายตัวในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อาทิ จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นต้น

ด้านการค้ากระดาษหนังสือพิมพ์ของไทย มีปริมาณการค้าขยายตัวสูงขึ้น โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ปริมาณและมูลค่าการส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 23.7 และ 3.8 ตามลำดับ มาอยู่ที่ 14,551 ตัน คิดเป็นมูลค่า 8.655 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ เวียดนาม พม่า ลาว กัมพูชา และอินเดีย ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มขยายตัวสูงในประเทศกลุ่มอาเซียน และกลุ่มตะวันออกกลาง ด้านการนำเข้าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 มีปริมาณและมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 และ 2.2 ตามลำดับ มาอยู่ที่ 84,509 ตัน คิดเป็นมูลค่า 53.734 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลาดนำเข้าหลักของไทย คือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ อินโดนีเซีย และรัสเซีย ตามลำดับ

โดยคาดการณ์ว่าทั้งปี 2552 ปริมาณการส่งออกและนำเข้ากระดาษหนังสือพิมพ์จะขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยขยายตัวที่ร้อยละ 30 และ 7 ตามลำดับ โดยการส่งออกของไทยยังเน้นส่งออกไปยังตลาดกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อาทิ อาเซียน และตะวันออกกลาง ส่วนการนำเข้ายังขึ้นอยู่กับความต้องการบริโภคหนังสือพิมพ์ของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่การบริโภคในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ ที่มีการขยายตัวของเทคโนโลยีสื่อสารสูงน่าจะทรงตัวหรือชะลอลง แต่ความต้องการอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับในนอกเขตจังหวัดที่กล่าวมา รวมถึงผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีก็ยังคงมีความต้องการอ่านอยู่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปลายปีเป็นช่วงเทศกาล และมีการจัดงานสำคัญโดยเฉพาะในเดือนธันวาคม ก็น่าจะมีส่วนช่วยให้ยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับยังประคองตัวอยู่ได้

สรุป
ในระยะยาวหากความนิยมสื่อหนังสือพิมพ์รูปแบบใหม่ขยายตัวสูงขึ้น คาดว่าในอนาคตผู้ผลิตของไทยต้องมีการปรับตัวเพื่อเตรียมรับการให้บริการในรูปแบบเก็บค่าสมาชิกจากผู้อ่าน แต่ด้วยข้อจำกัดในด้านเทคโนโลยีสื่อสาร และการพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ยังครอบคลุมไม่ทั่วทุกพื้นที่ ทำให้สื่อหนังสือพิมพ์ของไทยในปัจจุบันยังคงให้บริการออนไลน์โดยไม่เก็บค่าบริการ แต่สร้างรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายพื้นที่โฆษณาในหน้าเว็บไซต์ ประกอบกับยังคงมีกลุ่มผู้อ่านที่ชื่นชอบการอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับมากกว่าการอ่านแบบออนไลน์ จึงทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับยังคงประคองตัวอยู่ได้ แต่อาจต้องปรับลดการผลิตลง จนส่งผลต่อผู้ผลิตกระดาษหนังสือพิมพ์ในประเทศ ต้องปรับกลยุทธ์เน้นการส่งออกสู่ตลาดประเทศในแถบเพื่อนบ้าน ภูมิภาคอาเซียน และประเทศกำลังพัฒนา ที่ยังคงมีความต้องการใช้กระดาษหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อทดแทนตลาดในกลุ่มประเทศที่มีความต้องการใช้ชะลอตัวจากผลของการขยายตัวของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วเข้ามาแทนที่สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆ ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น เป็นต้น