วินโดวส์ 7 เดิมพันไมโครซอฟท์

จากนี้ไปหมายเลข 7 น่าจะมีความหมายต่อทีมงานไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กับแผนการตลาดวินโดวส์ 7 ระบบปฏิบัติการตัวใหม่ล่าสุด ที่ไมโครซอฟท์เชื่อมั่นว่า ด้วยความเร็ว ความง่าย จะช่วยให้ วินโดวส์ 7 กลับมานั่งในใจผู้ใช้ได้อีกครั้ง

แม้ว่างานแถลงข่าวเปิดตัว “วินโดวส์ 7” ภาษาไทย ระบบปฏิบัติการตัวล่าสุดของไมโครซอฟท์ ซึ่งเป็นการแถลงพร้อมกันทั่วโลก จะจัดขึ้นค่อนข้างเรียบง่าย แถมยังจัดบนสำนักงานไมโครซอฟท์บน ชั้น 38 ตึกออลซีซั่นส์ ถนนวิทยุ หากเปรียบเทียบกับงานเปิดตัววินโดวส์วิสต้าเมื่อ 3 ปีที่แล้ว คงต้องเห็นถึงความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เพราะงานในครั้งนั้นเลือกจัดในสถานที่ทั้งขนาดใหญ่ และเต็มไปด้วยสีสันการตลาด

นั่นก็เป็นเพราะงานแถลงข่าวรอบนี้ เพียงแค่ “ส่วนหนึ่ง” ของกระบวนการวางตลาดวินโดวส์ 7 ที่ทีมงานไมโครซอฟท์ต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพราะเดิมพันครั้งนี้ ยิ่งใหญ่ และยากกว่าที่ผ่านมา งานแถลงข่าวแบบม้วนเดียวจบเหมือนกับในอดีตจึงไม่ใช่ทางเลือกสำหรับการทำตลาดในยุคที่ผู้บริโภคหลากหลาย และการบริโภคสื่อเปลี่ยนไปเช่นนี้

ไมโครซอฟท์ตั้งความหวังกับ “วินโดวส์ 7” ไว้มาก ด้วยความเร็ว ความง่ายในการใช้งาน การเพิ่มฟังก์ชันต่างๆ ทั้งการประหยัดแบตเตอรี่ ระบบสัมผัสหน้าจอ ทำให้ไมโครซอฟท์เชื่อว่าวินโดวส์ 7 จะช่วยให้ไมโครซอฟท์กลับมายืนอยู่ในใจผู้บริโภคได้อีกครั้ง หลังจากที่ผู้ใช้ต่างก็ผิดหวังกับวินโดวส์วิสต้ามาแล้ว

งานเปิดตัวออกสู่ตลาดรอบนี้ ไมโครซอฟท์จึงต้อง “คิดใหม่ ทำใหม่” ถึงแม้จะเชื่อมั่นในตัวผลิตภัณฑ์ (Product) มากแค่ไหนก็ตาม แต่ตลาดไทยก็ไม่ง่ายนัก คู่แข่งขันอย่างแอปเปิลอาจไม่ใช่สิ่งที่ไมโครซอฟท์กังวลมากนัก โดยมองว่าตลาดของคู่แข่งยังเป็นเพียง Niche Market แต่โจทย์ใหญ่และยากกว่านั้นคือ การทำให้ผู้ใช้ซอฟต์แวร์
ก๊อบปี้ คู่แข่งตัวที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับไมโครซอฟท์มาโดยตลอด จะหันมาใช้ซอฟต์แวร์ถูก

กฎหมาย ซึ่งกระแสตอบรับของวินโดวส์ 7 ในช่วงที่เปิดทดลองใช้ ได้จุดประกายความหวังให้กับไมโครซอฟท์กับการต่อกรกับคู่แข่งที่มองไม่เห็นเหล่านี้

“บางคนรับรู้ว่าโอเอสของเราดี แต่เขาไม่ซื้อ เราเลยต้องหาวิธีที่จะ Reach ให้คนรับรู้ได้มากที่สุด ตลาดพีซีโตเพิ่มขึ้นทุกปี ปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1 ล้านเครื่อง ซึ่งส่วนแบ่งตรงนี้เรายังทำตลาดได้อีกเยอะ และเราหวังว่าผู้ใช้จะเลือกใช้ลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องมากขึ้น” ปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จำกัด ซึ่งเคยเป็นลูกหม้อที่ร่วมงานทั้งในไทย และร่วมงานกับบริษัทแม่ไมโครซอฟท์ในสหรัฐอเมริกา บอกถึงเป้าหมาย

แม้ว่าในช่วงหลายปีมานี้ ไมโครซอฟท์เรียนรู้การเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป โดยไม่ได้มุ่งนำเสนอเทคโนโลยีที่เข้าใจยากเหมือนในอดีต แต่สำหรับวินโดวส์ 7 แล้ว พวกเขาต้องทำการบ้านหนักยิ่งขึ้น เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายซึ่งมีตั้งแต่เด็ก นักศึกษา ไปจนถึงนักพัฒนาซอฟต์แวร์ และลูกค้าทั่วไปรับรู้ถึงโอเอสตัวใหม่นี้ให้ได้มากที่สุด

“เมื่อสินค้าพร้อม เราต้องมาดูว่าจะเจาะกลุ่มไหนบ้าง เริ่มตั้งแต่ กลุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ก็ต้องคุยกับเขา ให้เขาทดสอบก่อน เพื่อเราจะมีแอพพลิเคชั่นที่ทำงานวินโดวส์ 7 ให้ลูกค้าได้ อีกกลุ่มที่มองข้ามไม่ได้คือ Gen y นักศึกษามหาวิทยาลัยที่เราต้องใช้อีเวนต์เป็นตัวนำ”

การกำหนดกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม และช่วงเวลาของการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายจึงมีความหมาย การสนับสนุนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นกลุ่มแรกๆ เมื่อเวลาที่วินโดวส์ 7 ออกสู่ตลาดจะมีแอพพลิเคชั่นหลากหลายที่ทำงานได้ ถัดไปเป็นกลุ่มนักศึกษา หรือกลุ่ม Gen Y เป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่สำคัญมากในยุคนี้ ไมโครซอฟท์ต้องสร้างการเรียนรู้ด้วยรูปแบบในการสื่อสารให้เหมาะสมกับพฤติกรรม คือ การจัดโรดโชว์ไปยัง 4 มหาวิทยาลัย เพื่อประกวดถ่ายภาพ โพสต์รูป

“บล็อกเกอร์” เป็นกลุ่มอิทธิพลใหม่ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าสินค้าต่างๆ หรือไมโครซอฟท์มองข้ามไม่ได้ เนื่องจากพฤติกรรมของคนยุคนี้ที่นิยมหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต บล็อกเกอร์จึงกลายเป็นสื่อใหม่ที่มีผลต่อกระตุ้นและโปรโมตสินค้า หรือในทางกลับกันอาจส่งผลด้านลบ งานบล็อกเกอร์เดย์จึงถูกจัดขึ้นถึง 2 ครั้งเพื่อเปิดวินโดวส์ 7 ให้กับบล็อกเกอร์โดยเฉพาะ ก็เพื่อเป้าหมายเหล่านี้ และดูเหมือนว่ากระแสตอบรับจากบรรดาบล็อกเกอร์ทำให้ไมโครซอฟท์แน่นใจแล้วว่ามาถูกทาง

งานแถลงกับผู้สื่อข่าว ที่เคยเป็นงานที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการสื่อสาร สร้างกระแสการรับรู้ให้ตลาดตื่นตัว ก่อนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ตุลาคม และ 1 พฤศจิกายน ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ถือเป็นงานใหญ่ที่วินโดวส์ 7 จะเปิดให้ลูกค้าทั่วไปได้สัมผัส ไฮไลต์จึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรให้ลูกค้าทุกกลุ่มตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้สูงอายุ ครอบครัวเข้าถึงได้ง่ายที่สุด นั่นคือ การนำเสนอในรูปแบบของไลฟ์สไตล์การใช้งาน ทั้งที่บ้าน สำนักงาน และใช้นอกสถานที่ ที่ไมโครซอฟท์นำมาจำลองให้ดูวันแถลงข่าว

เมื่อปลุกกระแสลูกค้าทั่วไปแล้ว มาถึงคิวของลูกค้าองค์กร ที่จะมีงานเปิดตัวสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้โดยเฉพาะในอีก 2 สัปดาห์

ใช่แต่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย การเลือกใช้ “สื่อ” ของไมโครซอฟท์ก็เปลี่ยนไป เมื่อพฤติกรรมการเสพสื่อของบริโภคหันไปหาโลกออนไลน์ การเข้าถึงข้อมูลจึงมีทั้งการเปิดไมโครไซต์ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์

“ในยุคนี้คนออนไลน์กันหมดแล้ว ทุกคนมีเฟซบุ๊ก มีทวิตเตอร์ ถ้าเราจะเลือกใช้สื่อแบบเดิมๆ ในวิทยุ สิ่งพิมพ์ คงไม่ได้แล้ว ออนไลน์จึงเป็นอีกทางเลือกที่จะ Reach คนเหล่านี้ให้ได้”

แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการทำตลาดผ่านสื่อออนไลน์จะไม่ได้ถูกลงก็ตาม แต่การที่สามารถเข้าถึงคนได้มากขึ้น สำหรับไมโครซอฟท์แล้วถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะการแพร่หลายไม่ได้จำกัดเฉพาะลูกค้าในกรุงเทพฯ แต่ยังเข้าถึงลูกค้าในต่างจังหวัดที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ไมโครซอฟท์ต้องการเผยแพร่วินโดวส์ 7 ให้กว้างที่สุด

ขณะเดียวกัน เป็นเรื่องปกติที่ทุกครั้งโอเอสตัวใหม่จะออกสู่ตลาด ย่อมส่งผลกระทบทำให้ยอดขายของโอเอสตัวเก่าอย่างวิสต้าชะงักลง เพราะลูกค้ามักจะรอระบบปฏิบัติการตัวใหม่ ไมโครซอฟท์จึงต้องแก้โจทย์นี้ โดยการเพิ่ม “เทคโนโลยีการรันตี” ให้ลูกค้าสามารถอัพเกรดมาใช้วินโดวส์ 7 ได้ทันทีที่ออกวางตลาด

“ตลาดโออีเอ็ม ต้องเตรียมพร้อม เพราะคนพอรู้ว่าจะมีโอเอสใหม่มามักจะหยุดซื้อ เราจึงต้องมี เทคโนโลยีการันตี ให้กับคนซื้อวิสต้า ส่วนพาร์ตเนอร์ที่เป็นผู้ผลิตพีซีก็ต้องเตรียมพร้อมให้เขามีเครื่องที่ติดตั้งโอเอสวินโดวส์ 7 อย่างโซนี่มี 30 โมเดล

ปัดฝุ่นตลาดรีเทล

เช่นเดียวกับตลาดรีเทล เป็นอีกช่องทางขายที่ไมโครซอฟท์ต้องปัดฝุ่นอีกครั้ง เนื่องจากตลาดใหญ่ของโอเอส คือลูกค้ากลุ่มใหญ่ของไมโครซอฟท์เป็นลูกค้าองค์กร ซึ่งจะมักขายผ่านตัวแทนจำหน่ายเป็นหลัก แต่เมื่อไมโครซอฟท์มั่นใจว่าปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงไปเรื่อยๆ และจะสร้างโอกาสให้กับลูกค้าทั่วไป ช่องทางขายรีเทลจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไมโครซอฟท์ต้องรีบอุดช่องว่างนี้ให้เร็วที่สุด

“ที่ผ่านมาการทำตลาดรีเทลต้องใช้เงินเยอะ และถ้าใช้เงินมากขนาดนั้นคนซื้อเยอะคงไม่มีปัญหา แต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตัวเลขการละเมิดลิขสิทธิ์มีถึง 80% คนซื้อของซอฟต์แวร์ปลอมมากขนาดนั้นและทีมงานก็มีจำกัด ตลาดรีเทลจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดี แต่เวลานี้ปัญหาการละเมิดลดลงไปในระดับที่น่าพอใจ รัฐบาลและหน่วยงานก็ให้ความสำคัญกับปัญหานี้มากขึ้น ผู้ใช้เองเริ่มตระหนักมากขึ้น ตลาดนี้จึงเป็นสิ่งที่เรามองข้ามไม่ได้อีกแล้ว”

ไอทีซิตี้ ร้านค้าปลีกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่มีสาขาในห้างสรรพสินค้าหลายแห่งทั่วกรุงเทพฯ คือ พันธมิตรที่ถูกเลือกสำหรับเป้าหมายใหม่ ที่ลูกค้าจะสามารถหาซื้อวินโดวส์ 7 และอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เมาส์ คีย์บอร์ดไร้สาย ที่รองรับวินโดวส์ 7 ซึ่งไมโครซอฟท์เปิดตัวไปก่อนหน้านี้ และเป็นหนึ่งใน แผนการเปิดตัวที่ต้องทำขึ้นเป็นซีรี่ส์

เปิดฉากกลยุทธ์ราคา

แม้กระแสตอบรับวินโดวส์ 7 จะผ่านฉลุย จากบรรดานักพัฒนาซอฟต์แวร์ บล็อกเกอร์ พันธมิตรที่เป็นผู้ผลิตพีซีหรือโออีเอ็ม แบรนด์หลักๆ อย่างเอเซอร์ อัสซุส เดลล์ โซนี่ จะมีเครื่องที่ติดตั้งโอเอสวินโดวส์ 7 พร้อมจำหน่าย แต่ “ราคา” เป็นปัจจัยสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดมาจากซอฟต์แวร์ก๊อบปี้ ซึ่งราคาถูกกว่าหลายเท่าตัว ราคาขายจึงต้องกระชากใจผู้ใช้ซอฟต์แวร์ปลอมเปลี่ยนใจมาใช้ของแท้ รวมถึงผู้ที่ใช้วินโดวส์ XP ซึ่งยังคงรีรออยู่ ให้อัพเกรดมาใช้วินโดวส์ 7 ทันที

กลยุทธ์การตั้งราคาของไมโครซอฟท์ครั้งนี้ นอกจากจะใช้เลข 7 เป็นลูกเล่นแล้ว ยังเปิดฉากด้วยแคมเปญที่ใช้กันทั่วโลก ราคา 2,777 บาท ให้กับลูกค้า 777 รายแรก ปรากฏว่ามีผู้จองซื้อหมดภายใน 24 ชั่วโมง ผลตอบรับดังกล่าว บวกกับความพยายามอย่างเต็มที่ขอไฟเขียวลดราคาเหลือเหลือ 3,777 บาท จากราคาปกติ ที่ขายกันอยู่ 5,000- 8,000 บาท และถูกกว่าวิสต้าถึง 60% น่าจะแก้ปัญหาเสียงเรียกร้องเรื่อง “ราคา” ไปได้ระดับหนึ่ง

“คนไทยอยากซื้อลิขสิทธิ์ที่ถูกต้อง แต่บางคนก็บอกว่าแพง แต่วันนี้ให้ราคา 3,777 ไม่ว่าเครื่องจะเป็นวิสต้า หรือ XP อัพเกรดมาเป็นวินโดวส์ 7 ได้หมด วันนี้เราใช้กลยุทธ์การทำราคาแบบน้ำตก Price Water Fall ราคาที่ลดลงมาต้องไม่ไปกระทบกับอีกตลาด คือ ตลาดโออีเอ็มที่ติดตั้งวินโดวส์ไปกับเครื่องซึ่งเราจะขายถูกที่สุด” ปฐมา เล่าถึงกลยุทธ์การตั้งราคาที่เธอเชื่อมั่นว่า จะได้รับการตอบรับอย่างดี

แม้ว่า ไมโครซอฟท์จะงัดกลยุทธ์การตลาด 4P มาใช้แบบครบเครื่อง และยังอุดช่องว่างที่เคยเป็นปัญหาให้มากที่สุด แต่เมื่อเป้าหมายการสู้รบไม่ใช่คู่แข่งขันปกติ เป็นซอฟต์แวร์เถื่อน นอกจากราคาแล้ว ไมโครซอฟท์จึงต้องเพิ่มมาตรการเข้มงวดมากขึ้น ด้วยฟีเจอร์ที่เรียกว่า “Reduce Functionality” โดยการตรวจสอบเครื่องที่ใช้

ซอฟต์แวร์เถื่อน เมื่อเครื่องไหนที่ถูกตรวจสอบได้ หากไม่เปลี่ยนไปใช้ซอฟต์แวร์ของแท้ ฟังก์ชันต่างๆ ที่ใช้จะถูกลบลงเรื่อยๆ จนใช้งานไม่ได้ เหลือแค่ก๊อบปี้ไฟล์เท่านั้น

ไมโครซอฟท์ปลอบใจผู้ที่ใช้ลิขสิทธิ์ถูกกฎหมาย จูงใจมากขึ้นด้วยการเปิดให้ดาวน์โหลดฟีเจอร์ใหม่ๆ มาใช้ได้ฟรี

เป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งว่า วินโดวส์ 7 ระบบปฏิบัติการล่าสุดจะทำให้ไมโครซอฟท์สามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด โดยเฉพาะในตลาดซอฟต์แวร์ก๊อบปี้ที่เป็นปัญหามาตลอด ได้มากน้อยแค่ไหน แต่สำหรับไมโครซอฟท์แล้ว งานนี้มีลุ้น

ของฟรีไม่มีในโลก

แม้ทฤษฎี “ฟรีมาร์เก็ตติ้ง” จะเริ่มแพร่หลายมากขึ้น แต่ไม่ใช่สำหรับธุรกิจซอฟต์แวร์ ซึ่งต้องเจอกับปัญหาซอฟต์แวร์เถื่อน ศัตรูตัวกลั่นที่ต้องเผชิญมาตลอด โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ดูอย่างไมโครซอฟท์ ยังไม่ทันจะเปิดตัววินโดวส์ 7 อย่างเป็นทางการ ก็ต้องเจอก๊อบปี้วางขายให้เกลื่อนตามร้านไอที แถมเว็บต่างๆ ยังเปิดให้ดาวน์โหลดฟรีได้อีก ถึงแม้มาตรการด้านการตลาดจะถูกเตรียมการณ์มาดีเพียงใดก็ตาม แต่ก็อาจไม่เพียงพอ ยิ่งภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลายองค์กรลดต้นทุน หันมาใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนมากขึ้นด้วยแล้ว งานนี้ไมโครซอฟท์จึงต้องใช้ไม้แข็งคู่กันไป

ประกาศเตือนจากไมโครซอฟท์ได้ถูกส่งไปยังผู้ที่ซื้อ “วินโดวส์ 7” เถื่อน หากยังคงใช้ต่อไป ก็อาจส่งผลทำให้คอมพิวเตอร์เสี่ยงต่อความปลอดภัยข้อมูล เพราะหลังจากนี้ไมโครซอฟท์จะออกโปรแกรม “Reduce Functionality” ซึ่งมาตรการนี้จะเริ่มในอีกไม่นานนี้ เร็วๆ นี้

ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีการขานรับจากรัฐบาล โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ได้ส่งจดหมายเตือนไปยังธุรกิจต่างๆ 3 หมื่นแห่ง ให้ใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย โดยจะเริ่มตรวจค้นซอฟต์แวร์เถื่อน ดีเดย์วันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเวลานี้ได้รายชื่อมาแล้วว่ามีบริษัทใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน 1 พันบริษัท สร้างความปั่นป่วน และตื่นตัวให้กับองค์กรต่างๆ ต้องรีบลุกขึ้นมาขยับลงทุนซื้อซอฟต์แวร์ของแท้ หรือ เลือกใช้ซอฟต์แวร์ของฟรี ประเภทOpen Source เพราะดูทีท่าแล้ว งานนี้ไมโครซอฟท์เอาจริงแน่

การออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งในความหวังของไมโครซอฟท์ เพราะยิ่งตัวเลขซอฟต์แวร์เถื่อนลดลงมากเท่าใด ย่อมหมายถึงส่วนแบ่งตลาดของไมโครซอฟท์ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น แต่ที่ไมโครซอฟท์ต้องไม่ประมาท คือ Open Source แบ่งปันให้ใช้ฟรี ก็อาจจะเป็นคู่แข่งสำคัญที่ไมโครซอฟท์ประมาทไม่ได้

แผน Launch วินโดวส์ 7

ช่วงแรก Build Awareness
– เปิดไมโครไซต์ รวบรวมข้อมูลวิดีโอ ดาวน์โหลดวอลเปเปอร์ บทวิเคราะห์ กิจกรรมต่างๆ ของวินโดวส์ 7 และการเชื่อมต่อไปยัง Facebook และ Twitter นอกจากใช้เผยแพ่รข้อมูลแล้ว ยังใช้สำรวจความคิดเห็นจากผู้บริโภคเกี่ยวกับวินโดวส์ 7
– จัดกิจกรรมเดินสายไปยัง 4 มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีปทุม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
– จัดประกวดภาพถ่ายนักศึกษา จากกิจกรรม Roadshow และเปิดให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมไมโครไซต์สามารถโหวตให้กับภาพที่ดูเข้ากับคอนเซ็ปต์ “รูปแบบ เจ็ด เจ็ด” มากที่สุด

ช่วงที่ 2 Educate Market
· จัดง· านวัน Blogger Day เป็นครั้ง· แรก โดยมีบล็อกเกอร์ร่วมง· าน 63 คน
· ให้นักศึกษาศรีปทุมผลิตวิดีโอสั้นเสนอเรื่อง· ราวเกี่ยวกับวินโดวส์ 7 และนำเสนอบนไมโครไซต์
· ประกวดวอลเปเปอร์จากภาพถ่ายฝีมือคนไทยร่วมกับเว็บไซต์ PixPro.net

ช่วงที่ 3 Generate Demand
*จัดงาน Partner Briefing ให้กับกลุ่มคู่ค้าของไมโครซอฟท์
*จัดกิจกรรมร่วมกับเว็บไซต์ต่างๆ เช่น ทิปส์เด็ดๆ จากเว็บไซต์ Pantip.com และ Mona Vista, ตามหาวินโดวส์ 7 ฮีโร่ กับเว็บไซต์ Notebook Spec
· เปิดพรีออเดอร์วินโดวส์ 7 เราคา 2,777 บาท ให้กับลูกค้า 777 คนแรก
· เปิดตัวอย่าง· เป็นทาง· การที่สยามพารากอนในวันที่ 31 ตุลาคม และวันที่ 1 พฤศจิกายน 2552
· เปิดตัวกับลูกค้าอง· ค์กร กลาง· เดือนพฤศจิกายน