เจ.ดี. พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิก รายงาน

กรุงเทพฯ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 – เจ.ดี. พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิก เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยคุณภาพรถใหม่ในประเทศไทย ประจำปี 2552 (Initial Quality Study – IQS) ในวันนี้พบว่า อัตราการเกิดปัญหาด้านคุณภาพของรถยนต์ใหม่ประจำปี 2552 ลดลงถึง 17% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ ซึ่งเป็นการศึกษาปัญหาคุณภาพรถยนต์ใหม่ที่ลูกค้าได้ประสบในช่วง 2-6 เดือนแรกของการเป็นเจ้าของ การศึกษานี้ได้ตรวจสอบถึงปัญหาหรือความผิดปกติมากกว่า 200 รายการ และสามารถจัดกลุ่มปัญหาหรือความผิดปกติที่พบได้เป็น 8 หมวดหมู่ โดยเรียงตามลำดับของจำนวนปัญหาที่พบ ปัญหาด้านแรกได้แก่ ปัญหาด้านภายนอกรถยนต์ ตามด้วยปัญหาด้านเครื่องยนต์และระบบเกียร์ ปัญหาจากประสบการณ์การขับขี่รถยนต์ ปัญหาจากระบบฮีทเตอร์ ระบบระบายอากาศและระบบแอร์ (HVAC) ปัญหาด้านเครื่องเสียง ความบันเทิงและระบบนำทาง ปัญหาจากอุปกรณ์ ปุ่มควบคุม และแผงหน้าปัด ปัญหาจากภายในรถยนต์ และด้านสุดท้าย ปัญหาจากที่นั่ง ในการวัดผลด้านคุณภาพ ผลการศึกษานี้ได้คำนวณจากจำนวนปัญหาหรือความผิดปกติที่พบจากรถยนต์ใหม่ทุก 100 คัน (ในที่นี้ เรียกว่า PP100) ถ้ารถยนต์รุ่นใดได้คะแนนน้อย หมายความว่ารถยนต์รุ่นนั้นมีคุณภาพสูง

จากการศึกษาพบว่า คุณภาพรถยนต์ใหม่โดยรวมในประเทศไทยประจำปี 2552 มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 133 PP100 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงที่ดีขึ้น เพราะค่าเฉลี่ยที่ได้ในปี 2552 มีค่าลดลงจากปี 2551 ถึง 28 PP100 โดยผู้ใช้รถยนต์ใหม่ได้รายงานปัญหาด้านคุณภาพหรือความผิดปกติที่พบลดลง 7 ด้านจากปัญหาทั้งหมด 8 ด้าน (กล่าวคือปัญหาด้านคุณภาพหรือความผิดปกติที่พบได้ลดลงในทุกด้านยกเว้นปัญหาด้านภายนอกรถยนต์) และสิ่งที่มีการปรับปรุงอย่างชัดเจนที่สุดคือปัญหาด้านเครื่องยนต์และระบบเกียร์ ซึ่งปัญหาด้านนี้ในปี 2552 มีค่าเฉลี่ยลดลง 9 PP100 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551

ส่วนปัญหาด้านคุณภาพหรือความผิดปกติที่พบบ่อยครั้งที่สุด เป็นปัญหาด้านภายนอกรถยนต์ ได้แก่เรื่อง “เสียงลมดังเกินไป” ซึ่ง ร้อยละ 11 ของเจ้าของรถยนต์ใหม่ได้รายงานถึงปัญหาตรงจุดนี้

‘ประเทศไทยเป็นทั้งฐานการผลิตและฐานการส่งออกรถยนต์รายใหญ่ และเมื่อคำนึงถึงจุดนี้แล้ว บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ในไทยจึงมีความมุ่งมั่นและพิถีพิถันในความพยายามที่จะปรับปรุงคุณภาพของรถยนต์’ โลอิค เปอ็อง ผู้จัดการประจำประเทศไทย เจ.ดี. พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิก กรุงเทพ กล่าว ‘จะเห็นได้ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คุณภาพของรถยนต์ใหม่โดยรวม ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและ ดีขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายจุด ที่ผู้ผลิตรถยนต์สามารถปรับปรุงได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาหรือความผิดปกติด้านภายนอกรถยนต์ ซึ่งมักจะเจอปัญหาด้านคุณภาพที่เกิดขึ้นซ้ำๆ’

ผลงานของรถรุ่นต่างๆ แบ่งตามกลุ่ม
ในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น (Entry Midsize Car) พบว่า โตโยต้า ยาริส ครองอันดับหนึ่งด้วยคะแนน 117 PP100 ส่วนรถยนต์ของฮอนด้า 2 รุ่น คือ ซิตี้โฉมใหม่ (119 PP100) และแจ๊ซ (133 PP100) ได้คะแนนเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ
มาสด้า 3 (115 PP100) ได้รับคะแนนคุณภาพรถยนต์ใหม่สูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลาง (Midsize Car) ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยมีฮอนด้า ซีวิค (137 PP100) และ โตโยต้า โคโรล่า อัลติส (152 PP100) อยู่ในอันดับรองลงมา

ส่วน กลุ่มรถยนต์ SUV (รถอเนกประสงค์กึ่งสปอร์ต) ฮอนด้า ซีอาร์-วี ซึ่งได้คะแนน 102 PP100 ยังคงครองตำแหน่งสูงสุดติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ตามมาด้วยอีซูซุ มิว-7 (105 PP100) และโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ (112 PP100)

ในบรรดารถกระบะมีแค็บ (Pickup Extended Cab) โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ พรีรันเนอร์ สมาร์ทแค็บ ติดอันดับสูงสุด ด้วยคะแนน 124 PP100 ตามด้วยอีซูซุ ดีแมคซ์ ไฮแลนเดอร์ (127 PP100) และนิสสัน ฟรอนเทียร์ นาวารา (130 PP100)

ในส่วนของรถกระบะ 4 ประตู (Pickup Double Cab) โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ พรีรันเนอร์ ครองอันดับสูงสุด(117 PP100) ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ตามติดด้วย โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ (127 PP100) และอีซูซุ ดีแมคซ์ ไฮแลนเดอร์ (150 PP100)

ผลการศึกษาเพิ่มเติมสำหรับตลาดรถยนต์
การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงของการใช้งานรถยนต์ใหม่นั้น จำนวนปัญหาที่พบ ส่งผลอย่างมากต่อความพึงพอใจของเจ้าของรถยนต์ใหม่ และยังส่งผลต่อเนื่องถึงความตั้งใจที่จะกลับมาซื้อรถยนต์ยี่ห้อนั้นอีก สำหรับกลุ่มลูกค้าที่รายงานว่าไม่พบปัญหาใด ๆ ระหว่างการใช้งาน ร้อยละ 46 กล่าวว่า พวกเขา ‘พอใจมาก’ (โดยมีการให้คะแนน 10 เต็ม) กับรถยนต์ของตน ส่วนกลุ่มลูกค้าที่รายงานว่าได้พบปัญหา 1 อย่างหรือมากกว่านั้น มีเพียงแค่ร้อยละ 17 ที่กล่าวว่าพวกเขา ‘พอใจมาก’ กับรถยนต์ของตน

ยิ่งไปกว่านั้น ประมาณ 2 ใน 3 ของกลุ่มลูกค้าที่ ‘พอใจมาก’ กล่าวว่า พวกเขาจะกลับมาซื้อยี่ห้อเดิมอีก ‘อย่างแน่นอน’ ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้มีจำนวนมากกว่าลูกค้าที่กล่าวว่าพวกเขารู้สึก ‘ผิดหวัง’ หรือ ‘เฉยๆ’ กับรถยนต์ของตน (โดยให้คะแนนระหว่าง 1-7 จากจำนวนเต็ม 10 คะแนน) ถึง 2.5 เท่า

‘ประสบการณ์ในช่วงแรก ๆ ของการใช้รถยนต์มีความสำคัญอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่เป็นการสร้างการรับรู้ของลูกค้าใน ระยะสั้น แต่ประสบการณ์นี้ยังส่งผลกระทบในระยะยาวต่อความพึงพอใจของลูกค้า และความจงรักภักดีทีมีต่อยี่ห้อนั้นด้วย’ เปอ็องกล่าว

การศึกษาวิจัยคุณภาพรถใหม่ในประเทศไทย ประจำปี 2552 จัดทำขึ้นโดยประเมินผลจาก เจ้าของรถยนต์ใหม่จำนวน 3,460 ราย ที่ซื้อรถยนต์ระหว่างเดือนตุลาคม 2551 ถึงเดือนกรกฎาคม 2552 โดยทำการศึกษาผู้ซื้อรถยนต์นั่ง รถกระบะ และรถยนต์อเนกประสงค์ จำนวนทั้งสิ้น 58 รุ่น จากรถยนต์ 11 ยี่ห้อ การศึกษานี้ได้เก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามระหว่างเดือนเมษายน ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2552