จากกรณีที่ไทยจะต้องลดอัตราภาษีนำเข้าและยกเลิกมาตรการโควตาภาษีสินค้าเกษตรตามข้อตกลงการเปิดการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA จำนวนทั้งสิ้น 23 รายการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป เมล็ดกาแฟ และกาแฟสำเร็จรูปจัดเป็นสินค้าเกษตรที่จะต้องทำการลดอัตราภาษีนำเข้าตามข้อตกลงดังกล่าวด้วย โดยที่กาแฟสำเร็จรูปจะต้องทำการลดอัตราภาษีให้เหลือร้อยละ 0 ในขณะที่เมล็ดกาแฟ จัดเป็นสินค้าที่อยู่ในบัญชีสินค้าอ่อนไหวสูง จะยังคงอัตราภาษีนำเข้าที่ร้อยละ 5
สำหรับการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าของแต่ละประเทศในอาเซียนนั้น จะมีการปรับลดอัตราภาษีที่แตกต่างกัน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป แต่ละประเทศจะมีการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟ กาแฟสำเร็จรูป
ในปี 2552 ประเทศไทยผลิตเมล็ดกาแฟได้ประมาณ 56,315 ตัน ส่วนใหญ่ใช้แปรรูปเพื่อการบริโภคในประเทศถึงร้อยละ 89.0 ของปริมาณการผลิต หรือประมาณ 50,000 ตัน ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 11.0 จะเป็นการส่งออกไปยังตลาดสำคัญในรูปของเมล็ดกาแฟ และแปรรูปเป็นกาแฟสำเร็จรูป
แต่ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ในปี 2552 ความต้องการใช้เมล็ดกาแฟเพื่อบริโภคภายในประเทศนั้นจะมีประมาณ 68,000 ตัน ซึ่งผลผลิตที่ได้มีไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องมีการนำเข้าเมล็ดกาแฟจากต่างประเทศเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งปริมาณการนำเข้าเมล็ดกาแฟในแต่ละปีมีไม่สูงนัก เนื่องจากจะต้องเสียภาษีนำเข้าสูง และผู้ที่นำเข้าจะต้องมีใบอนุญาตจากหน่วยงานราชการเท่านั้น ซึ่งปริมาณการนำเข้ากว่าร้อยละ 84.0 เป็นการนำเข้ามาแปรรูปและบริโภคในประเทศ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 16.0 เป็นการนำเข้ามาแปรรูปเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ ไทยยังมีการนำเข้ากาแฟในรูปของกาแฟสำเร็จรูปเพื่อมาบริโภคในประเทศโดยตรง อาทิ กาแฟกระป๋อง กาแฟผงสำเร็จรูป เป็นต้น และไทยยังมีการนำเข้ากาแฟสำเร็จรูปมาผ่านกระบวนการปรุงแต่งเพื่อจำหน่ายในประเทศ และบางส่วนก็ส่งออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าโครงสร้างอุตสาหกรรมกาแฟของไทยมีความซับซ้อน หากมีการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าตามกรอบอาฟตาในปี 2553 คาดว่า จะเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในแต่ละภาคส่วนที่แตกต่างกันไป สำหรับผลกระทบที่คาดว่า จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากการลดอัตราภาษีนำเข้าตามกรอบข้อตกลงอาฟตา มีรายละเอียดดังนี้
เกษตรกร ในส่วนของเกษตรกรของไทยที่ผลิตเมล็ดกาแฟนั้น คาดว่า จากการลดอัตราภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทยที่จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนามซึ่งถือเป็นผู้ค้ารายใหญ่ติด 1 ใน 3 ของโลก รองจากบราซิล และโคลัมเบีย ซึ่งมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำกว่าไทยมาก แต่ทั้งนี้ ไทยยังมีข้อได้เปรียบในเรื่องของเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพ และมาตรฐานที่แตกต่างจากเมล็ดกาแฟของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งยังตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ และต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการแปรรูปในประเทศยังคงต้องการเมล็ดกาแฟของไทย ดังนั้น เกษตรกรไทยควรที่จะรักษาข้อได้เปรียบในส่วนนี้ไว้ อย่างไรก็ตาม จะต้องตระหนักอยู่เสมอว่าคู่แข่งที่สำคัญก็มีการพัฒนาคุณภาพของเมล็ดกาแฟด้วยเช่นกัน ดังนั้น ไทยควรที่จะส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อที่จะขยายโอกาสในการส่งออกเมล็ดกาแฟจากการเปิดการค้าเสรี และสามารถแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรไทย ในส่วนของภาครัฐก็ควรที่จะเข้ามาดูแล สำหรับในส่วนของการนำเข้าเมล็ดกาแฟนั้น การนำเข้าจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานสินค้า ซึ่งการนำเข้าเมล็ดกาแฟจะบริหารการนำเข้าโดยองค์การคลังสินค้า (อคส.) โดยกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในส่วนของเอกสารประกอบการนำเข้าที่ต้องมีใบรับรองปลอด GMOs และให้มีการนำเข้าได้เฉพาะช่วงเดือนพ.ค.-ส.ค. เท่านั้น ผู้มีสิทธินำเข้าจะต้องเป็นโรงงานแปรรูปที่ใช้เมล็ดกาแฟเป็นวัตถุดิบ และจะต้องรับซื้อเมล็ดกาแฟภายในประเทศให้หมดก่อนถึงจะนำเข้าได้
ผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์กาแฟ คาดว่า ในส่วนของผู้ประกอบการแปรรูปจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก และมีแนวโน้มว่า หากมีการเปิดนำเข้าเสรีภายใต้กรอบอาฟตา ผู้ประกอบการบางรายจะหันไปนำเข้าเมล็ดกาแฟจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีราคาถูกกว่า ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตกาแฟสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการในประเทศถูกลง อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในส่วนนี้จะเน้นในเรื่องของรสชาติและรสนิยมของผู้บริโภคมากกว่า และกาแฟสำเร็จรูปของไทยยังมีความได้เปรียบในเรื่องของรสชาติ และคุณภาพที่ดีกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ฉะนั้น หากนำเข้าเมล็ดกาแฟที่มีต้นทุนถูกกว่าจากต่างประเทศ มาผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟของไทย โดยอาศัยความได้เปรียบในเรื่องของเทคโนโลยีในการผลิต ประกอบกับคุณภาพ และรสชาติที่เป็นที่ต้องการแล้วนั้น คาดว่า จะส่งผลให้สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์กาแฟของไทย และสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเมล็ดกาแฟที่ปลูกโดยเกษตรกรของไทยนั้น ย่อมให้รสชาติและความหอมที่เป็นเอกลักษณ์กว่า ดังนั้น ก็ยังมีผู้ประกอบการแปรรูปบางรายที่ยังให้การสนับสนุน และต้องการเมล็ดกาแฟของไทยที่ปลูกโดยเกษตรไทยเช่นกัน
สำหรับประเด็นที่ผู้ประกอบการแปรรูปต้องพึงระวัง คือ จากการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟ อาจทำให้ผู้ผลิตหันไปนำเข้าเมล็ดกาแฟเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกกว่า และทำให้มีการผลิตกาแฟสำเร็จรูปด้วยต้นทุนที่ต่ำลงด้วย ซึ่งสิ่งที่ต้องพึงระวังในการผลิตกาแฟสำเร็จรูป คือ คุณภาพของเมล็ดกาแฟที่นำเข้ามาอาจไม่ได้คุณภาพตามเกณฑ์ อีกทั้งรสชาติของผลิตภัณฑ์อาจเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจทำให้ความเป็นเอกลักษณ์ในเรื่องของรสชาติ และความหอมของกาแฟไทยเสียไปได้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในประเทศยังต้องเผชิญกับการแข่งขันกับกาแฟสำเร็จรูปที่จะเข้ามาจากประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนด้วย เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรมีการรับมือกับกาแฟสำเร็จรูปที่อาจจะเข้ามาตีตลาดในประเทศ ทั้งนี้ ควรอาศัยความได้เปรียบในเรื่องของคุณภาพของรสชาติ และความหอมของกาแฟไทยในการแข่งขัน มากกว่าการแข่งขันทางด้านราคา ควรมีการคิดค้น และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายโดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นในการผลิต อีกทั้ง ผู้ประกอบการก็ควรที่จะศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในอาเซียนเพื่อที่จะทำการขยายผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้ คาดว่า กาแฟสำเร็จรูปของไทยจะสามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้า และขยายช่องทางในการส่งออกไปยังประเทศอาเซียนมากขึ้น
ผู้บริโภค ปัจจุบันพฤติกรรมการดื่มกาแฟของคนไทยมีอัตราเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 200 แก้วต่อปี จาก 50 แก้วต่อปี เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา จึงคาดว่า จากการเปิดเสรีการนำเข้ากาแฟสำเร็จรูปตามกรอบข้อตกลงอาฟตา ทำให้ผู้บริโภคในประเทศมีทางเลือกในการเลือกซื้อกาแฟสำเร็จรูปมาบริโภคมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นกาแฟสำเร็จรูปที่ผลิตในประเทศ หรือกาแฟสำเร็จรูปที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้บริโภคที่เน้นปัจจัยทางด้านราคาเป็นสำคัญจะมีทางเลือกที่หลากหลายจากกาแฟนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกกว่า อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้บริโภคบางรายที่นิยมบริโภคกาแฟสำเร็จรูปของไทยซึ่งมีคุณภาพ และรสชาติที่เป็นที่นิยม
สำหรับสิ่งที่ผู้บริโภคในประเทศต้องพึงระวัง คือ กาแฟที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน อาจไม่ได้คุณภาพ และมาตรฐาน ส่งผลให้ผู้บริโภคในประเทศอาจเสียประโยชน์จากกรณีที่ผู้ประกอบการบางรายมีการนำกาแฟที่ไม่ได้คุณภาพมาปลอมปนได้
จากการปรับลดอัตราภาษีตามข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียนเพื่อให้กาแฟของไทยมีศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งทางภาครัฐ ผู้ประกอบการแปรรูปกาแฟ รวมทั้งเกษตรกรควรมีการวางแผนเพื่อรองรับกับสถานการณ์การแข่งขันที่จะเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ดังนี้
ส่งเสริม ให้ปลูกกาแฟพันธุ์ดีทดแทนพันธุ์เก่า ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มคุณภาพของกาแฟ รวมทั้งเป็นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต อีกทั้ง เมล็ดกาแฟถือเป็นวัตถุดิบสำคัญที่จะกำหนดถึงคุณภาพของตัวผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่แปรรูปออกมา ดังนั้น การเริ่มต้นจากการพัฒนาพันธุ์กาแฟให้มีคุณภาพจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการลดการนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศอีกด้วย
ปลูกกาแฟในพื้นที่ที่เหมาะสม สนับสนุนให้ผู้ปลูกกาแฟมีการปรับตัวไปปลูกกาแฟที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในดอยอ่างขาง ดอยขุนวาง ดอยแม่พลูหลวง ซึ่งสามารถผลิตกาแฟที่มีคุณภาพสูงได้ เป็นต้น
กำหนดและบังคับใช้มาตรฐานการนำเข้าสินค้ากาแฟที่มีความชัดเจน เพื่อให้การบริโภคสินค้าชา และกาแฟของผู้บริโภคในประเทศมีมาตรฐานและปลอดภัยต่อสุขภาพ รวมทั้งควรมีมาตรการการออกใบอนุญาตอัตโนมัติ (Automatic Licensing) เพื่อเก็บข้อมูลการนำเข้ากาแฟด้วย
ให้ความรู้แก่เกษตรกร และส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและแปรรูป ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจในการเพาะปลูกที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการเพิ่มคุณภาพ และลดต้นทุนในการผลิต และให้กระบวนการผลิต และแปรรูปเป็นไปตามาตรฐานที่ตั้งไว้
วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟรูปแบบใหม่ ๆ ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศเพื่อที่จะสามารถเจาะกลุ่มผู้บริโภคได้ตรงกับความต้องการ เช่น กาแฟสำเร็จรูปรสชาติใหม่ ๆ ชนิดนอนชูการ์ เป็นต้น และต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ในระหว่างที่เรากำลังวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟของเรานั้น ประเทศคู่แข่งที่สำคัญต่าง ๆ ก็กำลังวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพด้วยเช่นกัน
กล่าวโดยสรุปแล้ว จากข้อตกลงภายใต้กรอบอาเซียนที่จะต้องทำการปรับลดอัตราภาษีนำเข้ากาแฟสำเร็จรูปให้เหลือร้อยละ 0 ยกเว้น เมล็ดกาแฟที่ถูกจัดให้อยู่ในบัญชีสินค้าอ่อนไหวสูงจะยังคงอัตราภาษีที่ร้อยละ 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 นั้น คาดว่า จะเปิดโอกาสให้สินค้าของไทยสามารถขยายช่องทางในการส่งออกไปยังประเทศอาเซียนได้มากขึ้น โดยอาศัยความได้เปรียบในเรื่องของคุณภาพ และมาตรฐานของกาแฟไทย ในขณะที่ผู้ประกอบการแปรรูปกาแฟสำเร็จรูป จะได้รับประโยชน์จากการนำเข้าวัตถุดิบเมล็ดกาแฟจากประเทศอาเซียนที่มีต้นทุนต่ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนาม และอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในส่วนนี้จะเน้นในเรื่องของรสชาติและรสนิยมของผู้บริโภคมากกว่า และกาแฟสำเร็จรูปของไทยยังมีความได้เปรียบในเรื่องของรสชาติ และคุณภาพที่ดีกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ส่วนผู้บริโภคในประเทศนั้น จะได้รับประโยชน์จากการมีทางเลือกในการเลือกซื้อกาแฟเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคที่เน้นปัจจัยด้านราคาเป็นสำคัญ แต่ก็ยังคงมีผู้บริโภคบางรายที่นิยมบริโภคกาแฟสำเร็จรูปของไทยซึ่งมีคุณภาพ และรสชาติที่เป็นที่นิยม ซึ่งทำให้ไทยสามารถขยายตลาดในกลุ่มผู้บริโภคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องระวังในเรื่องของการปลอมปนกาแฟที่ไม่ได้คุณภาพ
ในขณะเดียวกันผลจากการเปิดตลาดตามข้อตกลงอาฟตาดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟของไทย เนื่องจากต้นทุนในการผลิตสูงกว่าประเทศในอาเซียน แต่ทั้งนี้ ไทยยังมีข้อได้เปรียบในเรื่องของเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพ และมาตรฐานที่แตกต่างจากเมล็ดกาแฟของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งยังตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ และต่างประเทศ ดังนั้น เกษตรกรไทยควรที่จะรักษาข้อได้เปรียบในส่วนนี้ไว้ อย่างไรก็ตาม จะต้องตระหนักอยู่เสมอว่าคู่แข่งที่สำคัญของเราก็มีการพัฒนาคุณภาพของเมล็ดกาแฟด้วยเช่นกัน ดังนั้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ไม่ว่าจะเป็นส่งเสริม ให้ปลูกกาแฟพันธุ์ดี และปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม มีการกำหนดและบังคับใช้มาตรฐานการนำเข้ากาแฟที่มีความชัดเจน ควรให้ความรู้แก่เกษตรกร และส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและแปรรูป รวมทั้งมีการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟรูปแบบใหม่ ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้กาแฟของไทยสามารถแข่งขันได้