จากรายงานผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุดตัวเลขผู้ว่างงานในเดือนตุลาคม 2552 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า และเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าคาด โดยอัตราการว่างงานขยับลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.1 เทียบกับร้อยละ 1.2 ในเดือนส.ค. และก.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ภาวะการจ้างงานยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีส่วนช่วยชะลอการเลิกจ้าง และลดปัญหาการว่างงานในประเทศ
สำหรับแนวโน้มในระยะต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าภาวะการมีงานทำของแรงงานไทยในช่วง2 เดือนสุดท้ายของปี 2552 ต่อเนื่องถึงปี 2553 ยังคงมีทิศทางการปรับตัวดีขึ้น ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามข้อสรุปเกี่ยวกับโครงการลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะโครงการในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งอาจมีผลต่อตัวเลขการจ้างงานในปี 2553 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์แนวโน้มการจ้างงานของไทยในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2552 และในปี 2553 โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
ภาวะการจ้างงานรวมยังคงปรับตัวดีขึ้น โดยผู้มีงานทำในเดือนต.ค. มีจำนวน 37.66 ล้านคน ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรมีการปรับตัวดีขึ้นในหลายอุตสาหกรรม เช่น โรงแรมและภัตตาคาร การขนส่งและคมนาคม และการศึกษา เป็นต้น อีกทั้งการจ้างงานในภาคเกษตรก็หดตัวน้อยลง ตามการปรับตัวดีขึ้นของผลผลิตและราคาพืชผลสำคัญในเดือนต.ค. ขณะที่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 1.7 ในเดือนก.ย. มาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นในหลายภาคอุตสาหกรรมทั้งการค้าส่งค้าปลีก โรงแรมและภัตตาคาร การขนส่ง และการศึกษา ส่วนการจ้างงานในภาคการผลิตก็ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ตัวเลขผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานขยับลดลง โดยผู้ว่างงานในเดือนต.ค. มีจำนวน 4.1 แสนคน ลดลง 5 หมื่นคน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่มีผู้ว่างงานจำนวน 4.6 แสนคน (พลิกกลับมาหดตัวร้อยละ 10.4 จากที่เคยขยายตัวร้อยละ 2.6 ในเดือนก.ย.) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) จำนวนผู้ว่างงานก็ลดลง 4 หมื่นคน (พลิกกลับมาหดตัวร้อยละ 9.1 จากที่เคยขยายตัวร้อยละ 6.0 ในเดือนก.ย.) ขณะที่อัตราการว่างงานในเดือนต.ค. ขยับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.1 หลังจากทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ในช่วง 2 เดือนก่อน ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนก.ค. 2552
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มภาวะการมีงานทำของแรงงานไทยในเดือนพ.ย. และธ.ค. ซึ่งเป็นช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2552 น่าจะยังคงมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยหนุนที่สำคัญส่วนหนึ่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาว่างงานของรัฐบาล อาทิ โครงการต้นกล้าอาชีพในระยะที่สอง เป็นต้น ซึ่งจากการประเมินตัวเลขการว่างงานล่าสุดในเดือนต.ค.ยังคงสะท้อนสัญญาณบวกที่ชัดเจน ประกอบกับในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ มักจะปรับตัวดีขึ้นตามปัจจัยด้านฤดูกาล ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขผู้ว่างงานเฉลี่ยในปี 2552 ลงอีกเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.76 แสนคน โดยมีอัตราการว่างงานเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลงที่ร้อยละ 1.5 (จากเดิมที่คาดว่าน่าจะมีผู้ว่างงานเฉลี่ยที่ 5.9 แสนคน) ซึ่งดีกว่าอัตราการว่างงานเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.6 ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552
สำหรับแนวโน้มในปี 2553 คาดว่าปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของการจ้างงานที่สำคัญยังคงมาจากความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจำนวนผู้ว่างงานเฉลี่ยในปี 2553 อาจมีแนวโน้มปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.6-5.0 แสนคน ขณะที่คาดว่าอัตราการว่างงานเฉลี่ยอาจจะอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 1.2-1.3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด (จากเดิมที่คาดว่าจะมีผู้ว่างงานเฉลี่ยประมาณ 5.0-5.4 แสนคน และมีอัตราการว่างงานเฉลี่ยอยู่ในกรอบร้อยละ 1.3-1.5) ซึ่งปรับตัวดีขึ้นกว่าในปี 2552
แม้ว่าภาวะการมีงานทำของแรงงานไทยในช่วงที่เหลือของปี 2552 ต่อเนื่องถึงปี 2553 จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม ซึ่งจะมีผลต่อการจ้างงานในปี 2553 นั่นคือ ผลการพิจารณาเกี่ยวกับโครงการลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะ 64 โครงการในพื้นที่มาบตาพุดที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งระงับโครงการชั่วคราวของศาลปกครองสูงสุด (เดิม 65 โครงการ แต่หัก 1 โครงการของบริษัทเหล็กสยามยามาโตะ จำกัด ที่ล่าสุดศาลฯ อนุญาตให้กลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติ) แม้มติครม.ในวันที่ 22 ธ.ค. 2552 ระบุว่ามี 26 โครงการ1ที่จะเข้าข่ายการยกเว้นการคุ้มครองชั่วคราว โดยเทียบเคียงกับการพิจารณาของศาลปกครองก่อนหน้านี้ที่ได้ผ่อนปรนให้ 11 โครงการจาก 76 โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้นั้น อันน่าจะทำให้จำนวนโครงการลงทุนที่ถูกระงับการลงทุนอาจลดลงไปอีกจากปัจจุบัน 64 โครงการ ทว่ายังมีโครงการอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องผ่านกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) กระทั่งการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชน (Public Hearing) และการพิจารณาขององค์กรอิสระ ซึ่งต้องใช้เวลา รวมไปถึงโครงการใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด และเขตพื้นที่อุตสาหกรรมอื่นๆ อาจต้องมีการทบทวนถึงประเด็นนี้ด้วย ซึ่งปัญหาการลงทุนที่ยังรอบทสรุปที่ชัดเจนขึ้นดังกล่าว อาจจะส่งผลกระทบต่อตัวเลขการจ้างงานของไทยในปี 2553 ซึ่งในเบื้องต้น ภาครัฐและภาคเอกชนได้ประเมินว่าอาจมีลูกจ้างได้รับผลกระทบประมาณ 4 หมื่นคน2 หากมีการระงับทั้ง 65 โครงการ นอกจากนี้ ยังมีการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจ3 ดังนี้ ในกรณีผลกระทบเล็กน้อย GDP จะลดลงประมาณร้อยละ 0.2 ต่อปี และการจ้างงานทั้งประเทศลดลง 6,600 คน และในกรณีผลกระทบรุนแรง GDP จะลดลงประมาณร้อยละ 0.5 ต่อปี และการจ้างงานทั้งประเทศลดลง 193,000 คน
ตลาดแรงงานไทยปี 2553 … โจทย์ที่รัฐบาลต้องดูแล
ถึงแม้ว่าปัญหาการว่างงานในปี 2553 น่าจะผ่อนคลายความกังวลลงไป แต่คงต้องยอมรับว่าในทางปฏิบัติประเด็นการว่างงานก็เป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายๆ ปัญหาหลักที่ยังรอการแก้ไขในตลาดแรงงานไทย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดแรงงานไทยในปี 2553 ยังมีอีกหลายประเด็นที่ภาครัฐอาจต้องเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ดังนี้
การขาดแคลนแรงงานระดับล่างและช่างฝีมือ
โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่คำสั่งซื้อเริ่มทยอยกลับเข้ามา ภายหลังจากที่เศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกฟื้นตัวขึ้น ซึ่งขณะนี้อุตสาหกรรมบางกลุ่มเริ่มประสบปัญหาบ้างแล้ว อาทิ ในการผลิตสิ่งทอรองเท้า ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ เป็นต้น โดยสาเหตุหนึ่งมาจากแรงงานเคลื่อนย้ายกลับสู่ภาคเกษตรหลังจากที่ถูกให้ออกจากงานในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ผ่านมา และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานในชุมชนท้องถิ่นของภาครัฐทั้งในรัฐบาลชุดก่อนหน้าและรัฐบาลชุดปัจจุบัน อาทิ กองทุนหมู่บ้าน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) วิสาหกิจชุมชน และต้นกล้าอาชีพ เป็นต้น นอกจากนี้ยังคาดว่าจะมีสาเหตุจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมากโดยเฉพาะข้าว และอ้อย ซึ่งอาจเป็นแรงจูงใจให้แรงงานเหล่านี้ลังเลที่จะกลับเข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมอีกก็เป็นได้ ดังจะเห็นได้จากผู้มีงานทำในภาคเกษตรที่เริ่มมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์ที่ภาคเกษตรดีขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2548-2551 โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 38.6 ของผู้มีงานทำในปี 2548 เป็นร้อยละ 39.7 ของผู้มีงานทำในปี 2551 (หลังจากที่เคยลดลงในช่วงปี 2541-2547) ขณะที่ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรก็มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 61.4 เป็นร้อยละ 60.3 ของผู้มีงานทำในช่วงเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากในช่วงที่เหลือของปี 2552 ต่อเนื่องถึงปี 2553 ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงจนทำให้รายได้เฉลี่ยจากการทำงานในภาคเกษตรไม่แตกต่างจากภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ มากนัก ก็อาจมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของแรงงานในการเคลื่อนย้ายกลับสู่ภาคเกษตรมากขึ้น อันอาจนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่อาจขยายวงกว้างไปสู่ภาคการผลิตอื่นๆ ก็เป็นได้
การว่างงานแฝง หรือการทำงานต่ำระดับในลักษณะที่ทำให้รายได้จากการทำงานต่ำกว่าที่ควรจะได้รับ อาจรุนแรงขึ้น4
โดยกลุ่มแรงงานจบใหม่ในระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะในสาขาวิชาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ดังจะเห็นได้จากผลการสำรวจความต้องการแรงงานของสถานประกอบการในปี 2551 (ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีการสำรวจ) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่พบว่ามีผู้ว่างงานในระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 2 เท่าของจำนวนแรงงานในระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าที่สถานประกอบการต้องการ ตรงข้ามกับระดับการศึกษาอื่นๆ ที่สถานประกอบการมีความต้องการแรงงานมากกว่า โดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษาหรือต่ำกว่า (มีสัดส่วนผู้ว่างงานต่อความต้องการแรงงานต่ำกว่า ยกเว้นกลุ่มประกาศนียบัตรวิชาชีพที่มีสัดส่วนเท่ากัน) ซึ่งอาจทำให้กลุ่มแรงงานจบใหม่ในระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าต้องยอมทำงานต่ำระดับในลักษณะที่ทำให้ใช้ความรู้ความสามารถต่ำกว่าวุฒิการศึกษาที่จบมา หรือรายได้จากการทำงานต่ำกว่าที่ควรจะได้รับ อย่างไรก็ตาม หากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ช่วยหนุนให้ภาวะการจ้างงานในปี 2553 ยังคงปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ก็น่าจะทำให้ปัญหาการว่างงานแฝงในเรื่องชั่วโมงการทำงานที่น้อยกว่าปกติโดยไม่สมัครใจน้อยลง
ปัญหาค่าจ้างที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ
ทั้งนี้ แม้จะมีการอนุมัติปรับค่าแรงขั้นต่ำประจำปี 2553 จำนวน 71 จังหวัด ในอัตรา 1-8 บาท เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับแรงงานไทยทั่วประเทศ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ทว่าคำถามสำคัญคงอยู่ที่ขนาดค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะเพียงพอกับอัตราเงินเฟ้อหรือค่าครองชีพที่ถูกคาดหมายว่าจะเพิ่มขึ้นในกรอบร้อยละ 3-4 ในปี 2553 หรือไม่ ขณะที่คงต้องยอมรับว่าประเด็นปัญหาค่าจ้างนั้นค่อนข้างอ่อนไหวเพราะเกี่ยวพันกับหลายภาคส่วนโดยนอกจากมีผลต่อแรงงานแล้ว ยังเชื่อมโยงไปถึงต้นทุนการผลิต ซึ่งอาจมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมด้วย ดังนั้น การแก้ปัญหานี้คงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการชั่งน้ำหนักถึงผลกระทบในทุกมิติรอบด้านเพื่อนำมากำหนดระดับค่าจ้างที่เหมาะสมต่อไป
ปัญหาแรงงานที่เริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุที่มีเพิ่มขึ้น และสวัสดิการแรงงานที่ยังไม่ครอบคลุมอย่างทั่วถึง
โดยปัญหาแรงงานที่เริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุนั้นส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคการเกษตร จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า อายุเฉลี่ยของเกษตรกรได้ค่อยๆ สูงขึ้นจาก 33 ปีในปี 2533 เป็น 40 ปีในปี 2545 และปัจจุบันอยู่ที่ 45 ปี ส่วนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอายุเฉลี่ยของแรงงานจะต่ำกว่าในภาคเกษตรคืออยู่ในช่วงอายุ 29 ปีขึ้นไป ขณะที่ประชากรวัยแรงงานของไทยมีแนวโน้มลดลง สวนทางกับประชากรวัยสูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งภาครัฐคงต้องเตรียมจัดหาสวัสดิการมารองรับแรงงานในวัยเกษียณที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ควรส่งเสริม/สนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีโอกาสในการทำงานที่เหมาะสมหลังเกษียณอายุโดยอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน หรือยืดอายุการเกษียณสำหรับบางสาขาอาชีพออกไปจากปัจจุบันที่ 60 ปี ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีวิตแล้ว ยังมีผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ที่สำคัญคือ ช่วยลดภาระด้านค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุของรัฐบาล นอกจากนี้ การเร่งแก้ปัญหาสวัสดิการแรงงาน และการประกันสังคมที่ยังไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ ควบคู่ไปกับการทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพในระยะยาวด้วยการส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของผลิตภาพการผลิตโดยรวมของปัจจัยต่างๆ (Total Factor Productivity: TFP) เนื่องจาก TFP หมายถึงการเพิ่มของผลผลิตโดยไม่มีการเพิ่มจำนวนปัจจัยการผลิต (แรงงาน ที่ดิน และทุน) ซึ่งในที่นี้หมายถึง ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมีมุมมองในเชิงบวกต่อภาวะการจ้างงานในระยะข้างหน้า โดยคาดว่า ภาวะการมีงานของแรงงานไทยน่าจะยังคงมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2552 และน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในปี 2553 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยที่ผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว ส่งผลให้ตัวเลขอัตราการว่างงานเฉลี่ยในปี 2553 น่าจะปรับตัวลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 1.2-1.3 เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.5 ในปี 2552
กระนั้นก็ดี แม้ปัญหาการว่างงานจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่คงต้องยอมรับว่าตลาดแรงงานไทยในปี 2553 ยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างอีกหลายประการ อาทิ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ปัญหาการว่างงานแฝง ปัญหาค่าจ้างที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ ตลอดจนปัญหาแรงงานที่เริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งโจทย์ต่างๆ ดังกล่าว นอกจากจะต้องอาศัยระยะเวลาในการเยียวยาแล้ว ก็ยังต้องใช้ความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้การผลักดันและการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นบังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต