ธุรกิจแบงก์ไทยปีเสือ: แข่งขันเข้มข้น…รับเศรษฐกิจฟื้นตัว

สำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2552 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น แม้ในเชิงของผลประกอบการในภาพรวม ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย น่าจะสามารถรายงานกำไรสุทธิที่สูงกว่าของปี 2551 ที่จำนวน 8.4 หมื่นล้านบาทเล็กน้อย แต่ในเชิงของความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ ก็ถือว่ามีความซับซ้อนไม่น้อยไปกว่าปี 2551 ไม่ว่าจะเป็น (1) การหดตัวของสินเชื่อ โดยคาดว่าสินเชื่อของระบบ ณ สิ้นปี 2552 นั้น น่าจะมีโอกาสหดตัวเล็กน้อยประมาณ 0.5% (YoY) เทียบกับที่เคยขยายตัวสูงถึง 11.7% ในปี 2551 (2) การถดถอยของคุณภาพสินทรัพย์ ดังจะเห็นได้สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมที่ขยับขึ้นจาก 5.65% ณ สิ้นปี 2551 มาที่ 5.72% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 และ (3) ปริมาณสภาพคล่องส่วนเกินที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร ท่ามกลางภาวะที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศลดลงมาอยู่ในระดับต่ำในช่วงระหว่างปี 2552 ซึ่งส่งผลกดดันให้อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำตามไปด้วย ทั้งนี้ ปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว ทำให้ความสามารถในการทำกำไรที่วัดจากมิติของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin: NIM) ปรับตัวลดลงอย่างชัดเจนจาก 3.62% ในปี 2551 มาที่ 3.36% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 และคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.33% สำหรับทั้งปี 2552 เช่นเดียวกับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิสำหรับทั้งปี 2552 ที่คาดว่าจะหดตัวจากปีก่อนประมาณ 2.0% มาอยู่ที่ประมาณ 2.64 แสนล้านบาท ขณะที่ ค่าใช้จ่ายในการตั้งค่าเผื่อหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญในปี 2552 ก็ยังอยู่ในระดับสูงไม่น้อยไปกว่าของปี 2551 ที่มีจำนวน 5.2 หมื่นล้านบาท

ธุรกิจแบงก์ปีเสือ…กับโจทย์ที่แตกต่าง
เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2553 คาดว่าภาพเศรษฐกิจที่ปรากฏขึ้นคงจะมีความแตกต่างไปจากในปี 2552 ซึ่งในปี 2552 เศรษฐกิจไทยอยู่ในจังหวะขาลงเป็นส่วนใหญ่ ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี อีกทั้ง ตลาดเงินและตลาดทุนมีความผันผวนสูง และปรับทิศทางอย่างชัดเจนเมื่อนักลงทุนตอบรับในเชิงบวกกับข้อมูลเศรษฐกิจโลกที่สะท้อนว่าจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจได้ผ่านพ้นไปแล้ว ขณะที่ ในปี 2553 นั้น เศรษฐกิจไทยได้ก้าวเข้าสู่เส้นทางการฟื้นตัวแล้วด้วยอัตราการเติบโตที่คาดว่าจะอยู่ในกรอบประมาณ 2.5-3.5% (เทียบกับการคาดการณ์ว่าจะหดตัวประมาณ 3.1% ในปี 2552) แม้ว่าการฟื้นตัวดังกล่าวอาจไม่ได้ปรากฏขึ้นอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมอาจยังคงอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ประมาณ 4.0-5.0%
โดยปัจจัยเสี่ยงหลักที่อาจยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2553 นั้น นอกจากจะเชื่อมโยงกับปัจจัยภายนอกประเทศอย่างความต่อเนื่องและระดับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกภายหลังจากที่ทางการชาติต่างๆ ทยอยถอย (Exit) ออกจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายแล้ว ก็ยังได้รับอิทธพลจากปัญหาภายในประเทศ โดยเฉพาะปัญหาการเมืองและปัญหาความไม่ชัดเจนของกฏหมายในประเทศ (เช่น กรณีมาบตาพุด และการเลื่อนการออกใบอนุญาต 3G) ซึ่งอาจยังกดดันบรรยากาศการลงทุนในภาพรวม และในสาขาที่เกี่ยวเนื่องต่อเนื่องไปในอีกหลายเดือนข้างหน้า จนกว่าประเด็นปัญหาต่างๆ จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่ง อาจกดดันให้ ธปท.ปรับทิศทางของนโยบายการเงินในประเทศจากระดับที่ผ่อนคลายในปัจจุบัน ไปสู่ท่าทีที่เป็นกลาง (Neutral) มากขึ้น อันย่อมจะทำให้อัตราดอกเบี้ยในระบบ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้โจทย์ หรือความท้าทายในการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2553 คงจะมีมิติที่แตกต่างไปจากเดิม กล่าวคือ

• การแข่งขันในตลาดสินเชื่อคงจะทวีความเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีและลูกค้ารายย่อย
ทั้งนี้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นในปี 2553 ดังกล่าว คาดว่าจะทำให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนน่าจะมีความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ส่งผลตามมาให้สินเชื่อของระบบในปี 2553 น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมาที่ประมาณ 6.0-7.0% ซึ่งสูงกว่าของปี 2552 ที่สินเชื่อมีโอกาสทรงตัว หรือหดตัวเล็กน้อย อีกทั้งเป็นอัตราที่สูงกว่าการคาดการณ์เดิมของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ประมาณ 4.2%

มุมมองเศรษฐกิจและแนวโน้มสินเชื่อในเชิงบวกดังกล่าวได้สะท้อนออกมาผ่านการตั้งเป้าสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ในระดับที่สูงกว่า 5% ในปี 2553 ขณะที่ ทำให้คาดต่อไปได้ว่า การแข่งขันในบางกลุ่มลูกค้า หรือบางประเภทธุรกิจที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่เด่นชัดกว่าประเภทธุรกิจอื่นๆ น่าจะมีความเข้มข้นมากขึ้นในปี 2553 นี้เช่นกัน โดยสินเชื่อจำแนกตามกลุ่มลูกค้าที่น่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราค่อนข้างสูง ได้แก่ สินเชื่อรายย่อย ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่า 10% จากปีก่อน (เทียบกับ 8.3% ณ สิ้นไตรมาส 3/2552) ตามผลบวกของการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นผู้บริโภค รวมทั้ง เสถียรภาพด้านอาชีพและรายได้ที่สูงขึ้น กอปรกับ ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งคงช่วยหนุนรายได้เกษตรกร ส่วนสินเชื่อธุรกิจ (รวมทั้งลูกค้าเอสเอ็มอีและรายใหญ่) น่าจะพลิกกลับมาอยู่ในแดนบวกได้เช่นกัน แต่ก็อาจไม่เกิน 5% (เทียบกับ -5.0% ณ สิ้นไตรมาส 3/2552) โดยได้รับแรงสนับสนุนที่สำคัญ จากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น อันส่งผลตามมาให้ภาคธุรกิจอาจมีความต้องการสินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น (Working Capital Loans) เพิ่มขึ้น รวมถึงแรงหนุนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมในบางภาคธุรกิจ โดยเฉพาะที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศ ภาคเกษตร และโครงการภาครัฐ ขณะที่ แรงขับเคลื่อนหลักน่าจะยังคงมาจากลูกค้าเอสเอ็มอี มากกว่าลูกค้ารายใหญ่ เนื่องจากธุรกิจรายใหญ่หลายรายได้ระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ไปค่อนข้างมากแล้วในปี 2552 ที่ผ่านมา อีกทั้งความต้องการเบิกใช้สินเชื่อยังเผชิญอุปสรรคจากปัญหาเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการระงับโครงการลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและใบอนุญาต 3G

การแข่งขันด้านรายได้ค่าธรรมเนียมก็คงจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน
สำหรับในปี 2553 คาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียม ในปี 2553 น่าจะเติบโตเร่งขึ้นเข้าหา 15% เทียบกับที่คาดว่าจะทำได้ประมาณ 10.7% ในปี 2552
และ 8.5% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552โดยได้รับแรงส่งที่สำคัญจากการปรับตัวสูงขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อและบัตรเครดิต (โครงสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมในปัจจุบัน พึ่งพิงรายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อถึง 1 ใน 4 ของรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งหมด) นอกจากนี้ แนวโน้มการค้าระหว่างประเทศที่สดใสขึ้น ก็น่าจะหนุนรายได้ค่าธรรมเนียมการออกเล็ตเตอร์ออฟเครดิต เช่นเดียวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คึกคักขึ้น คาดว่าจะช่วยให้ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับบริการโอนเงิน เรียกเก็บเงิน และเช็ค ขยายตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน อาทิ รายได้จากบริการที่ปรึกษา และ/หรือนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จากธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์ในเครือ คงจะเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นค่อนข้างมาก ภายใต้แผนการเปิดเสรีรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ของ ก.ล.ต.ผ่านการบังคับใช้ระบบการคิดค่าธรรมเนียมแบบขั้นบันไดตั้งแต่ช่วงต้นปี 2553 ขณะที่ ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมดาวเด่นจากธุรกิจ Bancasurance นั้น แม้ว่าอาจสามารถรักษาการขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากในปี 2552 ตามการรุกตลาดอย่างหนักจากธนาคารพาณิชย์ แต่ก็อาจมีกรอบเวลาการทำตลาดที่จำกัดกว่า โดยเฉพาะเมื่ออัตราดอกเบี้ยในระบบเริ่มก้าวเข้าสู่จังหวะขาขึ้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาคุณภาพหนี้ ยังคงต้องได้รับการดูแล
เนื่องจากในปี 2552 ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ใช้กลยุทธ์เชิงรุกในการเข้าไปดูแลลูกค้าและธุรกิจลูกค้าในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ก่อนที่ลูกค้าดังกล่าวจะเริ่มผิดนัดชำระหนี้ ประกอบกับมีการปรับมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อให้มีความเข้มงวดขึ้นตามความเสี่ยงเครดิตของลูกค้าที่สูงขึ้น ดังนั้น จึงทำให้ปัญหาเอ็นพีแอลในปี 2552 อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้และไม่ได้เพิ่มขึ้นตามที่หลายฝ่ายเคยกังวลไว้ อย่างไรก็ตาม การที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2553 เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นและอาจยังไม่กระจายตัวดีขึ้นอย่างทั่วถึงในทุกภาคส่วน จึงอาจทำให้กิจการที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ หรือมีปัญหาการชำระคืนหนี้นั้น อาจต้องใช้เวลาในการปรับตัว นั่นหมายความว่า เอ็นพีแอลของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจไม่ได้ขยับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในทันที โดยเฉพาะหากไม่มีการขายหนี้เสียออกไปจากระบบ

สภาพคล่องคาดว่าจะปรับตัวลดลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง
แม้ว่าในหลักการแล้ว ปริมาณสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ 2.1 ล้านล้านบาท (ณ พ.ย.52) น่าจะสามารถรองรับการขยายสินเชื่อในปี 2553 ที่คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 3.7-4.3 แสนล้านบาทได้ โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องเร่งระดมเงินฝากเพิ่มเติม แต่ในทางปฏิบัติ คาดว่าธนาคารพาณิชย์ไทยจะยังคงเดินหน้าออกแคมเปญเงินฝากพิเศษ เพื่อรักษาฐานลูกค้าเงินฝากและชดเชยโครงการเดิมที่ครบกำหนด ตลอดจนอาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันกับทางเลือกในการออมอื่นๆ รวมถึงทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินที่ส่งผ่านผลกระทบของการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งกลไกการปรับตัวต่างๆ ดังกล่าว อาจทำให้เงินฝากที่ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยขยายตัวเร่งขึ้น จนส่งผลตามมาให้สภาพคล่องปรับตัวลดลงในขนาดที่น้อยกว่าการขยายสินเชื่อ ท้ายที่สุดแล้ว ปริมาณสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ก็ยังน่าจะยืนอยู่ในระดับที่ไม่หนีไปจาก 2 ล้านล้านบาทนัก

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2553 แต่จะมากน้อยเพียงใด…ขึ้นกับจังหวะและขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินให้กู้ยืม
สำหรับในปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจขยับขึ้นในกรอบประมาณ 8-13 จุดมาอยู่ในกรอบประมาณ 3.41-3.46% เทียบกับประมาณ 3.33% ในปี 2552 โดยได้รับอานิสงส์จาก (1) การแปลงสภาพคล่องส่วนหนึ่งไปเป็นเงินให้สินเชื่อที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นชัดเจน อีกทั้งสินเชื่อให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยจากสภาพคล่องค่อนข้างมาก (2) ต้นทุนเงินฝากประจำบางส่วน โดยเฉพาะในประเภท 6 และ 12 เดือนเดิม จะทยอยครบกำหนดลง ทำให้สามารถรับรู้ต้นทุนเงินฝากที่ต่ำลงจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทดังกล่าวตั้งแต่ปลายปี 2551

กระนั้นก็ดี ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย อาจมีอนาคตที่สดใสขึ้นอีก หากธนาคารพาณิชย์ไทยเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินให้กู้ยืม อันจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถรับรู้รายได้ดอกเบี้ยส่วนเพิ่มจากสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยลอยตัวในไตรมาสที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมทันที ขณะที่สามารถเลื่อนการรับรู้ต้นทุนเงินฝากประจำที่เพิ่มขึ้นออกไปในอีก 3, 6, 12 หรือ 24 เดือนข้างหน้า ตามระยะเวลาการครบกำหนดของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำแต่ละประเภท ดังนั้น ต้นทุนเงินฝากที่ปรับขึ้นในปีนี้ อาจไม่ได้มีผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในปี 2553 ทั้งหมด ขึ้นกับจังหวะและประเภทอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่ถูกปรับขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทและอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมรวม 0.75% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 นั้น คาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะขยับขึ้นมาที่ 3.50-3.55% ขณะที่ หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินให้กู้ยืมเพียง 0.25% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยก็จะขยับขึ้นมาที่ประมาณ 3.43-3.48%

โดยสรุป สำหรับแนวโน้มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2553 นั้น ภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น คงทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความมั่นใจต่อการขยายธุรกิจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านสินเชื่อ หรือรายได้ค่าธรรมเนียม ส่งผลให้การแข่งขันในธุรกิจหลักดังกล่าวน่าจะมีความเข้มข้นมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าศักยภาพ อาทิ ลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอีและลูกค้ารายย่อย ตลอดจนในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดี อาทิ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศ เกษตร และโครงการของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ได้กระจายตัวอย่างทั่วถึงในทุกภาคส่วน ดังนั้น จึงทำให้ปัญหาคุณภาพหนี้ยังต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ความจำเป็นในการรักษาฐานลูกค้า อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องดึงเงินฝาก ท้ายที่สุดแล้ว ก็อาจทำให้ปริมาณสภาพคล่องส่วนเกินไม่ได้ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ แม้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ตามการปล่อยสินเชื่อที่น่าจะเพิ่มขึ้น แต่ขนาดการเพิ่มขึ้นของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ยังขึ้นกับจังหวะการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งผันแปรตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต

นอกเหนือจากประเด็นระยะสั้นต่างๆ ข้างต้น ธนาคารพาณิชย์ไทยคงต้องเตรียมแนวทางเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระยะต่อไป ท่ามกลางเวทีการแข่งขันที่เปิดกว้างขึ้นทั้งสำหรับผู้เล่นในประเทศปัจจุบัน (อาทิ การสนับสนุนให้ธนาคารเพื่อรายย่อยยกระดับขึ้นมาเป็นธนาคารพาณิชย์ และการอนุญาตให้สาขาของธนาคารต่างชาติเปิดสาขาและมีเอทีเอ็มเพิ่มเติม) และผู้เล่นใหม่ที่จะตามมาในอนาคต ภายใต้แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่ 2 ขณะเดียวกัน ก็ต้องเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์จากทางการ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มเติมโดยรัฐบาล การเริ่มลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากโดยสถาบันประกันเงินฝากในปี 2554 การบังคับใช้มาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IAS และ IFRSs) กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลอดจน แนวทางการปรับปรุงมาตรฐานเงินกองทุนใหม่ Basel II ซึ่งธนาคารพาณิชย์ที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวและมีความพร้อมมากกว่า ก็คงจะสามารถครองพื้นที่ในการทำธุรกิจได้มั่นคงกว่า ด้วยระดับความสามารถในการทำกำไรที่มีเสถียรภาพมากกว่าตามไปด้วย 