บลจ.ทิสโก้ ปลื้มผลงานกองหุ้นเด่นเข้าตา ชี้ปีเสือมุ่งเสนอกองทุนเพิ่มรับเศรษฐกิจฟื้นตัว

19 ม.ค. 53 – บลจ.ทิสโก้ โชว์ผลงาน “ธุรกิจกองทุนรวม” ปลื้มผลตอบแทนกองหุ้นเด่นเข้าตา ขนาดกองทุนน้ำมันใหญ่สุดในประเทศไทย พร้อมเปิดแผนธุรกิจกองทุนรวมปีเสือ มุ่งตอบโจทย์นักลงทุนเกาะกระแสภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว

นายธีรนาถ รุจิเมธาภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า การดำเนินงานธุรกิจกองทุนรวม (Mutual Fund) ของ บลจ.ทิสโก้ ในช่วงปี 2552 ที่ผ่านมานั้น มีผลงานอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจมาก โดยเฉพาะในส่วนของกองทุนหุ้นที่สามารถสร้างผลตอบแทนย้อนหลัง 12 เดือน ได้โดดเด่น โดยข้อมูลจาก สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ณ วันที่ 13 มกราคม 2553 ระบุว่า กองทุนเปิดทิสโก้ ทวีทุน ให้ผลตอบแทนย้อนหลังอยู่ที่ 91.276% กองทุนเปิดทิสโก้ หุ้นทุนปันผล ให้ผลตอบแทนย้อนหลังอยู่ที่ 90.899% และกองทุนเปิด ทีซีเอ็มหุ้นทุน ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 90.563% ซึ่งเป็นระดับผลตอบแทนที่ติดอันดับ 1 ถึง 3 ตามลำดับ ของกองทุนรวมประเภทตราสารทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด นอกจากนี้กองทุนเปิดทิสโก้แอ็กเกรสซีฟโกรทฟันด์ ซึ่งให้ผลตอบแทนย้อนหลังอยู่ที่ 91.589% กองทุนเปิดทิสโก้เฟล็กซิเบิ้ลฟันด์ ให้ผลตอบแทนย้อนหลังอยู่ที่ 89.445% และกองทุนเปิดทิสโก้ สแตรทิจิก ฟันด์ ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 91.906% ก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน

นอกจากผลงานของกองทุนหุ้นแล้ว ในปี 2552 กองทุนน้ำมันของ บลจ.ทิสโก้ ยังนับว่ามีขนาดของกองทุนน้ำมันใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งจากแนวโน้มที่ขนาดของกองทุนดังกล่าวยังจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทาง บลจ.ทิสโก้ ได้เตรียมรองรับความต้องการของนักลงทุนด้วยการเพิ่มทุน กองทุนเปิด ทิสโก้ ออยล์ ฟันด์ อีก 1,000 ล้านบาท พร้อมประเมินว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปี 2553 นี้ จะอยู่ที่ประมาณ 80 – 85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

สำหรับกองทุนรวมที่ บลจ.ทิสโก้ ได้นำเสนอตลอดปี 2552 จำนวน 23 กองทุนนั้น จะมุ่งเน้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนอย่างครบถ้วน ทั้งที่ต้องการความเสี่ยงน้อยจนไปถึงความเสี่ยงสูง ซึ่งจะให้ผลตอบแทนสูงตามไปด้วย เช่น กองทุนเปิด ทิสโก้ ยูเอส อิควิตี้ ฟันด์, กองทุนเปิด ทิสโก้ ตราสารหนี้ภาครัฐสกุลเงินออสเตรเลีย, กองทุนเปิด ทิสโก้ สเปเชี่ยล โบนัส, กองทุนเปิด ทิสโก้ เอเชีย แปซิฟิก เอ็กซ์ เจแปน เพื่อการเลี้ยงชีพ และกองทุนเปิด ทิสโก้ ตราสารหนี้ภาครัฐเกาหลี ซึ่งปัจจุบันเปิดขายถึงกองที่ 6 แล้ว เป็นต้น ส่วนผลงานของ กองทุนเปิด ทิสโก้ พันธบัตรนิวซีแลนด์ ซึ่งได้ขอมติผู้ถือหน่วยลงทุนขยายเวลาโครงการออกไปนั้น ผลตอบแทนได้เริ่มทยอยเข้าเป้าหมายจนทำให้ปิดบางกองไปแล้ว และคาดว่าเร็ว ๆ นี้น่าจะสามารถปิดกองได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ในปี 2553 นี้ ยังถือเป็นปีที่ยังต้องจับตาดูว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศไทยจะสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่องหรือไม่ โดยในส่วนของภูมิภาคเอเซียน่าจะมีการปรับตัวที่ดีขึ้นค่อนข้างมาก โดยบางประเทศ เช่น จีนและอินเดีย น่าจะเห็นตัวเลขการเติบโตถึงสองหลัก ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกก็คงจะเป็นขาขึ้น แต่คงจะเริ่มเห็นการทยอยปรับขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้หากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้น การลงทุนที่น่าใจสนใจปีนี้ ก็ยังคงเป็นการลงทุนทั้งในหุ้นของไทย เอเชีย สหรัฐอเมริกา รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันและทองคำ จึงยังเป็นส่วนที่น่าลงทุนอยู่ เพราะจะมีปัจจัยบวกมาสนับสนุนอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในส่วนของหุ้นในยุโรปและตลาดเกิดใหม่ในแถบเอเชียตะวันออกกลางนั้น ยังคงต้องมีความระมัดระวังเพราะยังมีปัจจัยลบกดดันอยู่ ดังนั้นกองทุนที่ บลจ.ทิสโก้จะนำเสนอนั้นจะยังมุ่งเน้นตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนที่เหมาะสมกับภาวะในตลาดเป็นหลัก

อนึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 ธุรกิจจัดการกองทุนของ บลจ. ทิสโก้ มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร จำนวน 123,286.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,301.23 ล้านบาท หรือ 15.2% เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่แล้ว โดยมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารแบ่งเป็นสัดส่วนของกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ 57.2% กองทุนส่วนบุคคล 30.7% และกองทุนรวม 12.2% และมีส่วนแบ่งตลาด ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 เป็นอันดับที่ 7 ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดเท่ากับ 5.1 % แบ่งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นอันดับ 3 โดยมีส่วนแบ่งตลาด 13.5 % สําหรับกองทุนส่วนบุคคลมีส่วนแบ่งตลาดมากเป็นอันดับที่ 2 มีส่วนแบ่งตลาด 17.6% และกองทุนรวมอยู่ที่อันดับที่ 15 มีส่วนแบ่งตลาด 0.9 %

ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจจัดการกองทุนในปี 2552 เท่ากับ 642.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 153.19 ล้านบาท หรือ 31.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมผันแปรจากผลประกอบการของกองทุนจํานวน 129.77 ล้านบาท หรือ 752.1% และมีรายได้ค่าธรรมเนียมจัดการกองทุนพื้นฐานเพิ่มขึ้น 23.42 ล้านบาท หรือ 5% โดยสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของยอดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร และผลตอบแทนของกองทุนที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก