การเปิดเสรีภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้าในวันที่ 1 มกราคม 2553 ในด้านหนึ่งนั้น จะส่งผลให้ผู้ผลิตของไทยมีโอกาสขยายตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปสู่ประเทศกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้นก็จะส่งผลกระทบต่อตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยเกิดการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นำเข้าจากประเทศกลุ่มอาเซียนเอง รวมไปถึงจากประเทศนอกกลุ่มอาเซียน ที่เข้าไปใช้ขั้นตอนการผลิตบางส่วนในประเทศอาเซียน เพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางด้านภาษี อาทิ ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากยุโรปและสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ทั้งนี้ ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยที่มีพื้นฐานการผลิตและการตลาดยังไม่เข้มแข็ง จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก อาทิ ผู้ผลิตรายเล็กที่ผลิตจากชุมชนท้องถิ่น เช่น สุราแช่และสุรากลั่นชุมชน ในขณะเดียวกัน ภาครัฐของไทยเองก็ต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีนำเข้า รวมทั้งภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปพอสมควร นอกจากนี้ การเปิดเสรีดังกล่าวอาจกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากขึ้น เพราะจะมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากประเทศสมาชิกอาเซียนให้เลือกหลากหลาย ทั้งทางด้านรสชาติและราคาที่เหมาะสมกับกำลังซื้อ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปัญหาทางสังคมที่ตามมา และเป็นภาระให้ภาครัฐต้องเข้ามาเยียวยาแก้ไขต่อไปในอนาคต
ไทย & สิงคโปร์…ประเดิมปรับลดภาษีนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงเหลือร้อยละ 0 ทันที
ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ประเทศสมาชิกอาเซียนเดิมอันได้แก่ สิงคโปร์และไทย จะปรับลดภาษีนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงเหลือร้อยละ 0 ทันทีในปี 2553 ยกเว้นอินโดนีเซีย มาเลเซียและบรูไน จัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใว้นอกกลุ่มสินค้าที่ต้องลดภาษี เนื่องจากเป็นสินค้าที่ขัดต่อหลักศาสนา ส่วนฟิลิปปินส์จัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 0-5 ในปี 2553 สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่นั้น เวียดนาม พม่า ลาวจะปรับลดภาษีลงมาเหลือร้อยละ 0 ในปี 2558 แต่อัตราภาษีที่จัดเก็บในปี 2553 ก็อยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ยกเว้นลาวที่จัดเก็บภาษีปี 2553 ในอัตราร้อยละ 3-40 สำหรับกัมพูชานั้นจัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใว้นอกกลุ่มสินค้าที่ต้องลดภาษี เช่นเดียวกันกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน
จากสถิติการค้าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าทางด้านการค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจาก 76.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 เพิ่มขึ้นมาเป็น 96.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2549 และ 104.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2550 ส่วนปี 2551 มูลค่าการค้ายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 169.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับปี 2552 ที่ผ่านมามีมูลค่าการค้า 157.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วง 5 ปี( 2548- 2552) ที่ผ่านมา ไทยได้เปรียบดุลการค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมกัน 336.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือเฉลี่ยประมาณ 67 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี
เป็นที่น่าสังเกตว่า ที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากกลุ่มประเทศอาเซียนในสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยเพียงร้อยละ 10.9 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด ทั้งนี้ส่วนใหญ่ไทยจะนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากสหภาพยุโรปในสัดส่วนที่สูงถึงประมาณร้อยละ 72.9 ของมูลค่าการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีราคาต่อหน่วยสูงได้แก่วิสกี้จากสหราชอาณาจักร(สก๊อตแลนด์) และไวน์จากฝรั่งเศส ในขณะเดียวกัน สำหรับทางด้านการส่งออกแล้ว อาเซียนนับเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยถึงร้อยละ 73.9 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมดของไทย เพราะสินค้าไทยมีความได้เปรียบทางด้านรสชาติและคุณภาพสินค้า ซึ่งเป็นที่รู้จักของประชาชนในประเทศเหล่านี้ รวมถึงราคาจำหน่ายก็สามารถแข่งขันกับสินค้าจากประเทศผู้ผลิตอื่นๆได้ ดังนั้น จึงคาดว่า ภายหลังจากการเปิดเสรีตามข้อตกลงอาฟตา จะทำให้ทิศทางการค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียนจะเปลี่ยนไปพอสมควรทีเดียว
ผลกระทบจากการเปิดเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายใต้ข้อตกลงอาฟตา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การปรับลดภาษีนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนนั้น จะส่งผลกระทบต่อไทยในหลายด้านทั้งผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ภาครัฐและภาคสังคม โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
ผลกระทบต่อผู้ประกอบการ
จะเห็นได้ว่าในปี 2553 ไทยจะปรับลดภาษีนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงเหลือร้อยละ 0 ให้กับทุกประเทศสมาชิกในอาเซียน แต่อีกด้านหนึ่งนั้นมีเพียงสิงคโปร์ที่ปรับลดภาษีนำเข้าลงเหลือร้อยละ 0 เช่นเดียวกับไทย นอกนั้นที่เหลือบางประเทศสงวนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้นอกกลุ่มที่จะปรับลดภาษี และบางประเทศจะปรับลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0 ในปี 2558 ดังนั้น ในช่วงเริ่มต้นของข้อตกลงในปี 2553 การส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยไปยังตลาดอาเซียน จะได้ประโยชน์ในระดับไม่สูงมากนักจนกว่าจะถึงปี 2558 ซึ่งประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว พม่า ซึ่งเป็นตลาดส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลักของไทยจะปรับลดภาษีลงมาเหลือร้อยละ 0 ซึ่งจะช่วยให้ไทยมีศักยภาพการแข่งขันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตในประเทศดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถแข่งขันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากประเทศนอกกลุ่มอาเซียนซึ่งมีความได้เปรียบทางด้านภาพลักษณ์สินค้าที่ดี โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตจากประเทศในแถบสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ที่มีชื่อเสียงและได้รับความความนิยมจากทั่วโลก สำหรับในส่วนของประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน นั้น โดยปกติไทยมีการส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปจำหน่ายในระดับไม่สูงมากนัก เนื่องจากเป็นสินค้าต้องห้ามทางศาสนาทำให้ความต้องการบริโภคจำกัดอยู่เพียงประชาชนบางส่วนที่ไม่ได้มีข้อจำกัดด้านศาสนา รวมถึงนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศเหล่านี้เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากไทยมีการปรับลดภาษีลงมาเหลือร้อยละ 0 ในปี 2553 คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดการนำเข้าเพิ่มขึ้น ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตจากประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากประเทศนอกกลุ่มอาเซียน ที่ย้ายฐานการผลิตเข้าไปตั้งโรงงานในประเทศอาเซียนหรือมีการนำเอาสินค้าไปผ่านขบวนการผลิตบางขั้นตอนประมาณร้อยละ 40 ของมูลค่าสินค้า ก็จะได้รับสิทธิทางภาษีเช่นเดียวกับประเทศสมาชิก ดังเช่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากประเทศในแถบยุโรปที่เข้าไปตั้งฐานการผลิตในฟิลิปปินส์แล้วส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายในไทย ทำให้มีต้นทุนภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตลดลง ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งหากเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่จะมีศักยภาพการแข่งขันพอสมควร เนื่องจากมีช่องทางการขายที่แข็งแกร่ง รวมทั้งมีงบประมาณด้านการจัดกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ทำให้ผู้บริโภคมีความภักดีต่อตราและรสชาติสินค้าอย่างเหนียวแน่น แต่สำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก โดยเฉพาะที่ผลิตในชุมชนท้องถิ่นทั้งประเภทสุราแช่และสุรากลั่นชุมชน ที่มีผู้ประกอบการทั่วประเทศรวมกัน 5,156 ราย(ข้อมูลกรมสรรพสามิต ณ เดือนกันยายน 2552) คาดว่า จะได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีในระดับที่สูงกว่า เนื่องจากฐานการผลิตและการตลาดที่เข้มแข็งเพียงระดับหนึ่ง แต่ต้องมาแข่งขันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งส่วนใหญ่มีต้นทุนการผลิตต่ำอยู่แล้ว และยิ่งได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีก็ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้สูงขึ้น
ผลกระทบต่อผู้บริโภค
สำหรับในด้านของภาคประชาชนแล้ว การเปิดเสรีอาฟตาจะทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลากหลายประเภทและหลากหลายราคา จากประเทศในกลุ่มอาเซียนทยอยเข้ามาจำหน่ายและทำตลาดในไทยมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศที่ต้องการรักษาส่วนแบ่งตลาดและฐานลูกค้าของตนเองไว้ บางรายอาจจำเป็นต้องปรับลดราคาลงมาหรือผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับราคาที่ถูกลงเพื่อให้สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้อำนาจซื้อและการต่อรองของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบเชิงลบต่อผู้บริโภคที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นำเข้ามามีความหลากหลายเป็นจำนวนมาก หากการควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าไม่เข้มงวด จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคได้ ในขณะเดียวกัน ด้วยปัจจัยด้านราคาที่ต่ำลง อาจกระตุ้นให้เกิดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็นำมาซึ่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและยังก่อเกิดปัญหาทางสังคมติดตามมาได้ด้วย
ผลกระทบต่อภาครัฐ
การเปิดเสรีอาฟตาจะส่งผลกระทบทางด้านภาษีที่รัฐต้องสูญเสียไป ทั้งในส่วนของภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิต โดยในส่วนของภาษีศุลกากรนั้นแต่เดิมไทยจัดเก็บภาษีนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มอาฟตาร้อยละ 5 และภาษีนอกกลุ่มอาฟตาร้อยละ 54-60 แต่เมื่อมีการปรับลดภาษีลงมาจะทำให้ภาษีนำเข้าในส่วนสินค้าที่ผลิตจากอาฟตาหายไปทั้งหมด ในขณะที่ภาษีนำเข้านอกกลุ่มอาฟตาก็มีแนวโน้มปรับลดลงเนื่องจากมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศกลุ่มอาเซียนเพื่อใช้ประโยชน์ด้านภาษี สำหรับภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นก็ลดลงด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากการคำนวณภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศนั้นจะรวมภาษีนำเข้าไว้เป็นฐานคำนวณด้วย โดยในปีงบประมาณ 2552 ที่ผ่านมา การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นำเข้าจากต่างประเทศมีมูลค่า 5,675.4 ล้านบาท(ภาษีสุรา5,572.5 ล้านบาท ภาษีเบียร์102.9 ล้านบาท)
และนอกเหนือจากผลกระทบทางด้านภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้าที่ปรับลดลงแล้ว ผลกระทบที่สำคัญมากอีกประการก็คือปัญหาทางด้านสังคม เนื่องจากจะมีสินค้าจากประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีราคาจำหน่ายไม่สูงมากนักเข้ามาให้ประชาชนได้เลือกบริโภคอย่างหลากหลาย และเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอัตราที่สูงขึ้น อันนำมาซึ่งอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว รวมทั้งปัญหาอุบัติเหตุจราจรอันเป็นผลมาจากการมึนเมาของผู้ขับขี่ที่เพิ่มขึ้น โดยท้ายที่สุดแล้ว ภาครัฐก็ต้องสูญเสียงบประมาณเพื่อรักษาและเยียวยาผู้เจ็บป่วย และสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่จะสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจในอนาคตเป็นจำนวนมาก
ภาครัฐ & ผู้ประกอบการ…ปรับตัวเตรียมพร้อมรับมือการเปิดเสรี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากกลุ่มประเทศอาเซียนจะเข้ามาเปิดตลาดในไทย ก็ไม่สามารถทำได้ง่ายในระยะเวลาอันสั้น แม้ว่าไทยจะปรับลดภาษีลงมาเหลือร้อยละ 0 ในปี 2553 ทันที ในขณะที่ประเทศสมาชิกอื่นๆส่วนใหญ่ยังไม่ปรับลดภาษีตาม ทั้งนี้เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายด้านไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดจาก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งควบคุมโฆษณา ประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อประเภทต่างๆอย่างเข้มงวด รวมถึงการห้ามจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายด้วยการลดแลกแจกแถม จึงนับเป็นอุปสรรรคต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหม่ๆจากต่างประเทศซึ่งภาพลักษณ์สินค้ายังไม่เป็นที่รู้จัก การรับรู้และการจดจำตราสินค้าของผู้บริโภคจึงมีน้อย ต่างจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยที่ได้ดำเนินการทุ่มงบโฆษณาประชาสัมพันธ์รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดมาอย่างต่อเนื่องก่อนกฎหมายจะบังคับใช้ ทำให้สินค้ามีภาพลักษณ์และชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและจดจำของผู้บริโภคอย่างเหนียวแน่น
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ในระยะยาวแล้ว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากประเทศอาเซียนก็จะค่อยๆสร้างการรับรู้ทางด้านสินค้าต่อคนไทยมากขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับความหลากหลายของประเภทสินค้าและราคาจำหน่ายที่ต่ำจะเป็นจุดเด่นและจุดแข็งสำคัญ ทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตจากประเทศอาเซียนมีบทบาทมากขึ้นในตลาดไทย ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ และต้องหามาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยในส่วนของผู้ประกอบการนั้นจำเป็นต้องมีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อถือของผู้บริโภคในระยะยาว และช่วยป้องกันตลาดในประเทศไม่ให้ถูกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศแย่งตลาดไป ในขณะเดียวกัน ก็เพื่อขยายตลาดสู่ต่างประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับภาครัฐนั้น ก็ควรมีมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศ รวมทั้งปกป้องสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคไปพร้อมๆกัน ด้วยการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งต้องดูแลและป้องกันไม่ให้สินค้าจากประเทศนอกกลุ่มอาเซียนเข้ามาใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าอย่างไม่ถูกต้อง โดยจำเป็นต้องมีการตรวจสอบใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า(rule of origin) จากประเทศสมาชิกให้เข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าเหล่านั้นมีขั้นตอนการผลิตในอาเซียนคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของมูลค่าสินค้า ประการสำคัญก็คือ การรณรงค์และกระตุ้นให้ประชาชนลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันหรือลดปัญหาทางสังคมที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
บทสรุป
กล่าวโดยสรุปแล้ว การเปิดเสรีภายใต้ข้อตกลงอาฟตา จะส่งผลให้การแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลจากมีสินค้าจากประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งประเทศนอกกลุ่มที่เข้าไปใช้ฐานการผลิตในอาเซียนส่งเข้ามาจำหน่ายในไทย โดยต้นทุนภาษีนำเข้าที่ลดลงจะช่วยให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากประเทศเหล่านี้มีจุดเด่นและข้อได้เปรียบทางด้านราคาที่ต่ำลง ซึ่งผู้ประกอบการของไทยที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากได้แก่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีราคาถูกจับตลาดผู้มีรายได้ไม่สูงมากนัก ซึ่งกลุ่มนี้จะคำนึงถึงราคาสินค้าเป็นปัจจัยในการตัดสินใจซื้อค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งที่ผลิตในประเทศและที่นำเข้าจากต่างประเทศจะสามารถมีบทบาทและประสบความสำเร็จในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยได้นั้น นอกเหนือจากปัจจัยทางด้านราคาจำหน่ายที่ต่ำแล้ว ยังต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยสนับสนุนด้านอื่นๆประกอบกันด้วย อาทิ การพัฒนารสชาติสินค้าให้ตรงกับรสนิยมผู้บริโภค รวมถึงการควบคุมมาตรฐานการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับจึงจะครองใจผู้บริโภคในระยะยาวไว้ได้
นอกจากนี้ ผลกระทบที่สำคัญอันเกิดจากการเปิดเสรีตามข้อตกลงอาฟตาก็คือ รายได้ของภาครัฐทางด้านภาษีนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตจากกลุ่มประเทศอาเซียนที่จะหายไป ซึ่งในระยะยาวแล้ว คาดว่ารายได้ภาษีนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากประเทศนอกกลุ่มอาเซียนก็มีแนวโน้มปรับลดลงด้วยเช่นเดียวกัน อันเป็นผลจากการย้ายฐานการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปในประเทศอาเซียน แล้วส่งเข้ามาจำหน่ายในไทย โดยใช้สิทธิทางภาษีภายใต้ข้อตกลงอาฟตา ในขณะเดียวกัน ปัญหาที่ภาครัฐจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดก็คือ ปัญหาทางด้านสังคมที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐต้องพึงระวังและเตรียมป้องกันภายหลังจากการเปิดเสรีก็คือ นโยบายหรือมาตรการต่างๆที่จะช่วยลดการมอมเมาและไม่ให้ประชาชนชนบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับที่มากเกินไป จนส่งผลถึงปัญหาสุขภาพอนามัยและอุบัติเหตุที่เกิดจากผลพวงของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสำคัญ