เฟดเอ็กซ์เผยเทรนด์การค้าใหม่สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีในเอเชีย

เฟดเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (เฟดเอ็กซ์) ผู้ให้บริการขนส่งด่วนรายใหญ่ที่สุดของโลกในเครือของเฟดเอ็กซ์ คอร์ป (หรือมีชื่อในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กว่า FDX) เผยผลการวิจัยใหม่ล่าสุดเรื่อง “Towards the Recovery : Challenges and Opportunities facing Asia’s SMEs” ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับอุปสรรคและโอกาสทางการค้าของธุรกิจเอสเอ็มอี นับตั้งแต่หลังจากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจจนถึงช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว นอกจากนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวยังระบุว่า การควบคุมต้นทุนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการอยู่รอดของธุรกิจ ขณะที่ธุรกิจส่งออกเอสเอ็มอีจะได้รับประโยชน์จากตลาดผู้บริโภคใหม่ๆ ในจีนที่มีอุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงการได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากข้อตกลงทางการค้าเสรี

ทั้งนี้ เฟดเอ็กซ์ได้มอบหมายให้ดิ อิโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (The Economist Intelligence Unit: EIU) เป็นผู้ดำเนินการวิจัยในหัวข้อดังกล่าว โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยแบบสัมภาษณ์ผู้บริหารของบริษัทเอสเอ็มอีและผู้เชี่ยวชาญชื่อดังในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ตลอดจนการศึกษาจากเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องของผู้วิจัยชั้นนำ อาทิ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) และหน่วยราชการในประเทศต่างๆ

มร. เดวิด แอล คันนิ่งแฮม จูเนียร์ ประธานบริษัท เฟดเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า “ปัจจุบัน ธุรกิจขนาดกลางและเล็กหรือเอสเอ็มอี มีสัดส่วนสูงถึง 95% ของธุรกิจทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและมีพนักงานเกือบ 80% ของแรงงานในภาคธุรกิจทั้งหมด โดยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมในภูมิภาค ทั้งยังจะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างการเติบโตและสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปี 2553 นี้”

“สำหรับผลการวิจัยดังกล่าว จะช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับทิศทางการค้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคแห่งนี้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจรวดเร็วกว่าตลาดในซีกโลกตะวันตก และเฟดเอ็กซ์ ในฐานะองค์กรที่มีบทบาทในการสนับสนุนและส่งเสริมการค้าทั่วโลก เชื่อมั่นว่าผลการศึกษาเชิงลึกดังกล่าวจะช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถศึกษาวิเคราะห์ลู่ทางธุรกิจใหม่ๆ และสร้างแต้มต่อในการแข่งขันได้มากขึ้นเพื่อขานรับสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอยู่ในขณะนี้” มร. คันนิ่งแฮม กล่าวเสริม

นอกจากนี้ การวิจัยดังกล่าวยังนำเสนอคุณประโยชน์ที่เอสเอ็มอีจะได้รับจากสองมาตรการใหม่ที่มีการทำงานประสานกัน ได้แก่ 1) มาตรการสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยให้ความสำคัญกับตลาดภายในภูมิภาคดังกล่าวแทนการพึ่งพาตลาดในภูมิภาคตะวันตก และ 2) มาตรการส่งเสริมการค้าภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีในประเทศขนาดเล็ก ให้สามารถดำเนินการตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนได้มากขึ้น

ขณะที่เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตะวันตกมีการฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่ธุรกิจเอสเอ็มอีในเอเชียกลับได้รับประโยชน์จากการเติบโตของฐานลูกค้าใหม่ๆ ในภูมิภาค โดยมีสัญญาณที่บ่งชี้ว่า จีนอาจเป็นหนึ่งในฐานลูกค้าใหม่ดังกล่าว เนื่องจากมีชนชั้นกลางที่มีฐานะดี ทั้งยังมีการออกนโยบายสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจด้วยการมุ่งให้ความสำคัญกับความต้องการภายในประเทศแทนการพึ่งพาการส่งออก

ในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2552 ที่ผ่านมา จีนมียอดขายปลีกดีดตัวพุ่งขึ้น 15.1% จากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเกือบเทียบเท่ากับอัตราการเติบโตของยอดขายปลีกก่อนที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และด้วยความมั่งคั่งและแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้จีนก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าแห่งใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเป็นทั้งศูนย์กลางการส่งออกไปยังตลาดตะวันตก และเป็นแหล่งรวมสินค้าจากนานาประเทศในภูมิภาคเอเชีย

“ที่ผ่านมา เฟดเอ็กซ์พบว่า มีสินค้าจำนวนมากไหลเวียนเข้าสู่ประเทศจีน เนื่องจากจีนทำหน้าที่เสมือนเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าของภูมิภาคเอเชีย ทั้งยังมีการส่งออกสินค้าจากจีนไปสู่ตลาดตะวันตกอย่างต่อเนื่อง โดยผลการวิจัยล่าสุดของเฟดเอ็กซ์ระบุว่า ระบบบริโภคนิยมในภูมิภาคเอเชียนี้เองที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนความเจริญรุ่งเรืองกลับสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกครั้ง ดังนั้น เฟดเอ็กซ์จึงมีนโยบายมุ่งช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการหาลู่ทางทางการค้าใหม่ๆ ทั้งภายในและนอกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผ่านเครือข่ายการขนส่งข้ามทวีปของเฟดเอ็กซ์ที่ครอบคลุมจุดหมายปลายทาง 22 แห่งทั่วภูมิภาคเอเชีย และด้วยบริการขนส่งอันรวดเร็วและยืดหยุ่นของเฟดเอ็กซ์ ได้ช่วยสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีแต้มต่อในการแข่งขันมากขึ้นในสภาวะการทำธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน” มร. คันนิ่งแฮม กล่าว

นอกจากนี้ การขยายตัวทางการค้าข้ามทวีปยังเกิดจากการลงนามในข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าหรือเอฟทีเอเพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศคู่สัญญา โดย ณ กลางปี 2552 กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียได้มีการบรรลุข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกันและกับประเทศในภูมิภาคอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 54 ฉบับ ล่าสุด มีการลงนามบรรลุข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศจีนและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (The Association of Southeast Asian Nations) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ส่งผลให้มีตลาดร่วมแห่งใหม่ ซึ่งมีประชากรรวมประมาณ 1,700 ล้านคน และทำให้สินค้าที่จำหน่ายระหว่างประเทศจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ มีอัตราภาษีศุลกากรเป็นศูนย์

สิทธิพิเศษทางด้านการค้าที่ได้รับจากเอฟทีเอจะช่วยเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีในภูมิภาคเอเชีย และเสริมสร้างการเติบโตให้แก่การค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคของตน นอกจากนี้ ผลการวิจัยดังกล่าว ยังบ่งชี้ถึงข้อเท็จจริงที่ว่าธุรกิจเอสเอ็มอีหลายรายที่มีทรัพยากรจำกัดในการดำเนินการตามพิธีการศุลกากรและเอกสารที่เกี่ยวข้องต่างๆ นั้น ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากระเบียบข้อบังคับเอฟทีเอ ดังนั้น คำแนะนำที่ชัดเจนอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยรายละเอียดข้อมูลที่เกี่ยวข้อง จึงมีความจำเป็นสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องการนำระบบการค้าแบบใหม่ของเอเชียมาใช้สนับสนุนการทำงานของตน

มร. คันนิ่งแฮม เปิดเผยว่า “เฟดเอ็กซ์เป็นผู้สนับสนุนการดำเนินการหรือมาตรการที่อำนวยความสะดวกในการทำการค้าและธุรกิจ ซึ่งความซับซ้อนและสับสนของระเบียบพิธีศุลกากร ภาษีศุลกากรและภาษีอื่นๆ นับเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ทำให้เอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงตลาดระหว่างประเทศ เฟดเอ็กซ์จึงได้ช่วยแก้ไขอุปสรรคดังกล่าวด้วยการพัฒนาโซลูชั่นใหม่ที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กให้สามารถเข้าถึงตลาดต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย”

เฟดเอ็กซ์ได้พัฒนาระบบเฟดเอ็กซ์ โกลบอล เทรด แมเนเจอร์ (FedEx Global Trade Manager) ซึ่งเป็นโซลูชั่นระบบขนส่งระหว่างประเทศแบบออนไลน์ที่ใช้งานง่าย โดยสามารถกำหนดเอกสารที่จำเป็นสำหรับการขนส่งสินค้าและพัสดุไปยังจุดหมายปลายทางในมากกว่า 200 ประเทศ พร้อมทั้งให้บริการคำนวณภาษีและภาษีศุลกากรที่จำเป็นโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

“เฟดเอ็กซ์มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้งานวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาถึงความสำคัญของธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย รวมถึงบทบาทของเอสเอ็มอีในการสนับสนุนการพัฒนาตลาดขนส่งด่วนในอนาคต ปัจจุบัน ผู้ส่งออกสินค้าไปยังนานาประเทศไม่ใช่บริษัทข้ามชาติรายใหญ่อีกต่อไป แต่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก” มร. คันนิ่งแฮม เผย

“เฟดเอ็กซ์สนับสนุนเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กให้สามารถขยายตลาดได้ทั่วโลกนับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำธุรกิจ ด้วยการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการหลากหลายประเภทของเฟดเอ็กซ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของเอสเอ็มอีได้อย่างตรงจุด ทั้งทางด้านบริการส่วนบุคคล นวัตกรรม เครื่องมือต่างๆ และส่วนลดค่าบริการ เพื่อมอบความคุ้มค่าและความมีเสถียรภาพในการเข้าถึงบริการและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นว่า บริการของเฟดเอ็กซ์มีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เศรษฐกิจเอเชียมีการเติบโตอย่างโดดเด่น” มร. คันนิ่งแฮม กล่าวทิ้งท้าย

ท่านสามารถศึกษารายละเอียดและผลการวิจัยในหัวข้อ “Towards the recovery: Challenges and opportunities facing Asia’s SMEs” ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพียงคลิกที่ http://www.eiu.com/sponsor/fedex/towardstherecovery
หรือ ftp://fedexEIU:fedexEIU7tp@ketchum.com.hk

เกี่ยวกับเฟดเอ็กซ์ คอร์ป
เฟดเอ็กซ์ คอร์ป (มีชื่อเรียกในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กว่า FDX) เป็นผู้ให้บริการขนส่ง อี-คอมเมิร์ซ และบริการเสริมอื่นๆ ให้แก่ลูกค้าและธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก โดยมีรายได้ปีละ 33,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เฟดเอ็กซ์ให้บริการโซลูชั่นธุรกิจครบวงจรผ่านเครือข่ายบริษัทในเครือ ที่มีการบริหารงานและแข่งขันในตลาดภายใต้แบรนด์เฟดเอ็กซ์อย่างเป็นเอกภาพ เฟดเอ็กซ์ได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้จ้างงานที่ได้รับความไว้วางใจและเป็นที่ชื่นชอบสูงสุดของโลก โดยได้รับการยอมรับจากพนักงานและผู้รับเหมามากกว่า 275,000 ราย ให้เป็นผู้ให้บริการขนส่งที่ยึดถือและปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย หลักจริยธรรม และความเชี่ยวชาญระดับมืออาชีพอย่างเคร่งครัด ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและชุมชนต่างๆ ทั่วโลกได้อย่างครบถ้วน ท่านสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ NEWS.FEDEX.COM.