วาเลนไทน์ในกทม.ปี’53 : เงินสะพัด 1,020 ล้านบาท…เพิ่มขึ้น 8.5%

วันวาเลนไทน์ในปี 2553 นี้ตรงกับวันอาทิตย์ และยังตรงกับวันตรุษจีนหรือวันรับอั่งเปา ของบรรดาลูกหลานของคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยเอื้ออำนวยที่สำคัญสำหรับบรรดานักการตลาดทั้งหลายที่มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวันวาเลนไทน์ เนื่องจากบรรดาผู้ที่ให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์มีเวลาในการที่จะเลือกซื้อสิ่งของเพื่อมอบให้แก่กัน และยังมีเวลาที่จะทำกิจกรรมอื่นๆร่วมกัน เช่น การรับประทานอาหาร ชมภาพยนตร์ ช็อปปิ้ง ท่องเที่ยวระยะใกล้ เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่บรรดาธุรกิจต่างๆเริ่มมีการโหมโรงกระตุ้นผู้บริโภค ให้มีการจับจ่ายใช้สอยตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ บรรดาผู้ประกอบการต่างหวังเม็ดเงินที่จะสะพัดในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์และตรุษจีนนี้มาช่วยให้กิจการกระเตื้องขึ้น

โพลล์ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้…วาเลนไทน์ปีขาล เม็ดเงินสะพัดเพิ่มขึ้น 5.3%
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ “พฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาล วาเลนไทน์ปี 2553” ในระหว่างวันที่ 18-31 มกราคม 2553 จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 485 คน โดยเน้นกลุ่มเยาวชน กลุ่มนิสิตนักศึกษา และกลุ่มผู้ที่เพิ่งจะเริ่มเข้าทำงาน ซึ่งจะมีอายุอยู่ระหว่าง 11-25 ปี เนื่องจากผลการสำรวจในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของเทศกาลนี้ และเป็นกลุ่มกำลังซื้อหลักของเทศกาลนี้ คาดว่าในปี 2553 นี้จะมีเม็ดเงินสะพัดทั่วกรุงเทพฯในช่วงวันวาเลนไทน์ประมาณ 1,020 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาแล้วเม็ดเงินสะพัดในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 วันวาเลนไทน์ในปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ ซึ่งนับว่าเอื้อต่อโอกาสที่ธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวันวาเลนไทน์จะสร้างเม็ดเงินสะพัดได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมพิเศษ เช่น การรับประทานอาหาร การชมภาพยนตร์ และช็อปปิ้งร่วมกัน

สินค้าวันวาเลนไทน์…ดอกกุหลาบและช็อคโกแล็ตมาแรง
วันวาเลนไทน์ในปี 2553 นี้มีปัจจัยกระตุ้นสำคัญ คือ วันวาเลนไทน์ตรงกับวันอาทิตย์ ทำให้เวลาในการจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังตรงกับวันตรุษจีน ซึ่งทำให้บรรดาเยาวชนที่เป็นลูกหลานคนไทยเชื้อสายจีนเพิ่งได้รับอั่งเปา ทำให้เม็ดเงินสะพัดในช่วงวันวาเลนไทน์และวันตรุษจีนปีนี้คึกคักขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจพบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 76.7 ยังคงงบประมาณค่าใช้จ่ายเท่ากับในปี 2552 ร้อยละ 14.9 ปรับลดงบประมาณค่าใช้จ่ายในช่วงวันวาเลนไทน์ และมีเพียงร้อยละ 8.4 ของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเท่านั้น ที่ตั้งใจจะเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายในปี 2553 นี้ อย่างไรก็ตาม ในการคำนวณเม็ดเงินสะพัดในช่วงวันวาเลนไทน์นั้นทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย คำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในส่วนของการรับประทานอาหารนอกบ้าน นอกจากนี้ จากการสอบถามบรรดาพ่อค้าแม่ค้าดอกไม้พบว่าราคาของดอกกุหลาบในปีนี้มีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

นอกจากนี้ การจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าในเทศกาลวาเลนไทน์นั้นมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากเทศกาลอื่นๆ กล่าวคือ การให้ดอกกุหลาบและพาไปรับประทานอาหารนอกบ้าน นับเป็นค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะในสถานภาพการเป็นแฟน หรือสำหรับผู้ที่ให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์ ดังนั้น ในวันวาเลนไทน์ไม่ว่าราคาดอกกุหลาบจะพุ่งสูงขึ้นอย่างไร ดอกกุหลาบก็เป็นสินค้าอันดับหนึ่งที่จะถูกเลือกซื้อ รองลงมาคือ การใช้เวลาร่วมกันในการทำกิจกรรมต่างๆในช่วงวันวาเลนไทน์ โดยเฉพาะการรับประทานอาหารนอกบ้าน ช็อปปิ้ง และชมภาพยนตร์ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่าเม็ดเงินสะพัดในช่วงวันวาเลนไทน์ในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ค่าใช้จ่ายในช่วงวันวาเลนไทน์แยกเป็น ดังนี้
1.ค่าใช้จ่ายในการซื้อดอกไม้
ในช่วงวันวาเลนไทน์ดอกกุหลาบนับว่าเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมทุกปี โดยเฉพาะดอกกุหลาบสีแดงและสีขาว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจพบว่าในปีนี้บรรดาผู้ที่ต้องการมอบดอกกุหลาบในวันวาเลนไทน์นั้นตั้งงบประมาณในการซื้อดอกกุหลาบเฉลี่ย 257 บาทต่อคน อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการซื้อดอกไม้ในวันวาเลนไทน์นั้นแตกต่างกันอย่างมาก เมื่อแยกกลุ่มลูกค้าที่ซื้อให้เพื่อนและซื้อให้แฟน รวมทั้งยังแตกต่างกันในกรณีที่ซื้อเป็นดอกเดี่ยวโดยไม่จัดเป็นช่อ ซื้อดอกเดี่ยวและจัดเป็นช่อ และซื้อหลายดอกและจัดเป็นช่อ คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินสะพัดให้กับธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับดอกไม้วาเลนไทน์ถึง 270 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 แม้ว่าราคาดอกกุหลาบในปีนี้จะมีแนวโน้มแพงขึ้น แต่บรรดากลุ่มตัวอย่างที่ให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์ก็ยังเลือกที่จะให้ดอกไม้เช่นเดิม

2.ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าอื่นๆไม่รวมดอกไม้ จากการสำรวจค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ในปี 2553 พบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 25.7 เลือกซื้อดอกไม้ ร้อยละ 22.0 เลือกซื้อช็อคโกแล็ต ร้อยละ 13.0 ซื้อการ์ด ร้อยละ 11.9 เลือกซื้อลูกอม/ขนมหวาน ร้อยละ 6.9 เลือกชื้อตุ๊กตา ร้อยละ 4.4 ประดิษฐ์สิ่งของเอง และที่เหลืออีกร้อยละ 16.1 เลือกซื้อสินค้าอื่นๆ เช่น กี๊ฟช็อป เสื้อผ้า เครื่องประดับ สติ๊กเกอร์ เป็นต้น

โดยค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าไม่รวมการซื้อดอกไม้ในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์แยกเป็น ดังนี้
ค่าใช้จ่ายในการซื้อช็อคโกแล็ต
จากการสำรวจพบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างตั้งใจจะเลือกซื้อช็อคโกแล็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่าในปีนี้คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างตั้งงบประมาณในการซื้อช็อคโกแล็ตเฉลี่ย 292 บาทต่อคน คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินสะพัดถึง 310 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2552 นั้นเม็ดเงินสะพัดในการซื้อช็อคโกแล็ตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 โดยช็อคโกแล็ตที่นิยมซื้อคือ ช็อคโกแล็ตดำ รองลงมาคือ ช็อคโกแล็ตนมและช็อคโกแล็ตขาว ส่วนลักษณะของช็อคโกแล็ตที่นิยมเลือกซื้อคือ ช็อคโกแล็ตที่บรรจุกล่อง รองลงมาเป็นแบบแท่ง ก้อน/ชิ้น และอื่นๆ เช่น ลูกอมเคลือบช็อคโกแล็ต เป็นต้น

– ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าอื่นๆ(ไม่รวมค่าดอกไม้และช็อคโกแล็ต) สินค้ายอดฮิตคือ การ์ดวาเลนไทน์ ของประดิษฐ์ขึ้นเอง สินค้ากิ๊ฟช็อป โดยเฉพาะตุ๊กตาหมีและเสื้อผ้า และขนม อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเริ่มหันมานิยมของประดิษฐ์ขึ้นเองมากขึ้น โดยเตรียมหาซื้ออุปกรณ์มาประดิษฐ์เป็นของขวัญมอบให้กับเพื่อนๆ หรือผู้เป็นที่รักเอง หรือถ้าไม่มีฝีมือด้านประดิษฐ์ก็ระบุว่าจะหาซื้อของที่ประดิษฐ์ด้วยมือให้เป็นของขวัญ เนื่องจากมีคุณค่าทางจิตใจมากกว่าและยังเป็นของที่เป็นเอกลักษณ์มากกว่าด้วย รวมทั้งยังสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่าในปีนี้ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าอื่นๆก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัด 210 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0

3.ค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมพิเศษอื่นๆ นอกจากการซื้อสินค้าเพื่อมอบให้แก่กันในช่วงวันวาเลนไทน์แล้ว การทำกิจกรรมพิเศษอื่นๆร่วมกันก็เป็นที่นิยมเช่นกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจพบว่ากิจกรรมพิเศษยอดนิยมในช่วงวันวาเลนไทน์ในปี 2553 อันดับหนึ่งคือ การส่งข้อความผ่านมือถือและอินเทอร์เน็ต รองลงมาคือ ชมภาพยนตร์ การรับประทานอาหารนอกบ้าน การโทรศัพท์คุยกันเป็นกรณีพิเศษ และการช็อปปิ้งด้วยกัน ซึ่งในปี 2553 นี้วันวาเลนไทน์ตรงกับวันอาทิตย์นับว่าเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมพิเศษในวันวาเลนไทน์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจพบว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการทำกิจกรรมพิเศษในปี 2553 เท่ากับ 270 บาทต่อคน สร้างเม็ดเงินสะพัด 230 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2552 ที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 240 บาทต่อคน และสร้างเม็ดเงินสะพัดเพียง 210 ล้านบาท

บทสรุป
วันวาเลนไทน์เป็นอีกวันหนึ่งที่บรรดาธุรกิจต่างรอคอยด้วยความหวังว่าเทศกาลนี้จะมาช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายสินค้าและบริการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าในปี 2553 นี้เงินสะพัดทั่วกรุงเทพฯในช่วงวันวาเลนไทน์จะอยู่ที่ประมาณ 1,020 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2552 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ปัจจัยกระตุ้นจากที่วันวาเลนไทน์ในปีนี้ตรงกับวันตรุษจีน ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากการได้รับอั่งเปา รวมทั้ง ราคาดอกกุหลาบในปีนี้ที่คาดว่าเพิ่มสูงขึ้นกว่าในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะดอกกุหลาบนำเข้า อันเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิต แต่ไม่ว่าราคาดอกกุหลาบจะแพงมากขึ้นเท่าใด การให้ดอกกุหลาบเป็นสื่อแสดงความรักและเป็นสัญญลักษณ์ของวันวาเลนไทน์ นอกจากการให้ดอกกุหลาบแล้ว กิจกรรมยอดนิยมที่ต้องใช้เวลาร่วมกัน คือ การรับประทานอาหารนอกบ้าน และ/หรือการชมภาพยนตร์ ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าเม็ดเงินสะพัดในช่วงวาเลนไทน์ปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ในปี 2553 นี้วันวาเลนไทน์ตรงกับวันอาทิตย์ ทำให้คาดหมายว่ากิจกรรมต่างๆในวันวาเลนไทน์ปีนี้จะคึกคักตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ โดยบรรดาผู้ที่ให้ความสำคัญกับเทศกาลวาเลนไทน์ต่างนัดหมายกันไปจับจ่ายซื้อของกันล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม ในยุคเศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัว ทำให้ผู้บริโภคเน้นประหยัดรายจ่าย ทำให้ผู้บริโภคหันมาจัดอันดับความสำคัญของกิจกรรมในวันวาเลนไทน์ โดยกิจกรรมที่มีความสำคัญมากคือ การมอบดอกไม้ให้กับผู้เป็นที่รัก และการมีกิจกรรมพิเศษที่ใช้เวลาร่วมกัน โดยเฉพาะการชมภาพยนตร์ การรับประทานอาหารนอกบ้าน และการใช้เวลาเดินช็อปปิ้งร่วมกัน นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่าในวันวาเลนไทน์ปีนี้คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างหันมาใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย หรือกามเทพไฮเทค โดยการส่งข้อความหรือรูปภาพผ่านเครื่องมือสื่อสารเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน