กระดาษไหว้เจ้า ’53 : เงินสะพัด 120 ล้านบาท ในเทศกาลตรุษจีน

ในช่วงเทศกาลสำคัญของคนไทยเชื้อสายจีน กระดาษไหว้เจ้าถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นในพิธีการ เซ่นไหว้เทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และบรรพบุรุษ ตามความเชื่อถือที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา เพื่อเป็นการแสดงถึงความกตัญญูต่อเทพเจ้า บรรพบุรุษ เจ้าที่ รวมถึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ผีไม่มีญาติ โดยการเผากระดาษไหว้เจ้า ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการส่งเงินทอง เสื้อผ้า และของใช้ต่างๆไปให้

กระดาษไหว้เจ้าในปัจจุบันได้มีการผลิตออกมาหลากหลายรูปแบบ โดยแต่ละแบบนั้นจะจัดทำเฉพาะสำหรับการเซ่นไหว้ที่แตกต่างกัน เช่น ไหว้เทพเจ้า ไหว้บรรพบุรุษ และไหว้คนตาย ประกอบกับการปฏิบัติตามประเพณีที่เคร่งครัดของชาวไทยเชื้อสายจีน จึงทำให้ธุรกิจกระดาษไหว้เจ้าของไทยยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ทำการสำรวจ “พฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี’53ของคนกรุงเทพฯ” โดยในปีนี้ได้ทำการสำรวจเชิงคุณภาพระหว่างวันที่ 18-31 มกราคม 2553 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 455 คน สำหรับในประเด็นเกี่ยวกับกระดาษไหว้เจ้าพบว่า คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างตั้งงบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกระดาษไหว้เจ้าประมาณ 100 บาทต่อครัวเรือน คาดว่าในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2553 นี้ จะมีเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจกระดาษไหว้เจ้า 120 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 เนื่องจากราคากระดาษที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังพบว่า ค่าใช้จ่ายในการซื้อกระดาษไหว้เจ้าโดยเฉลี่ยของครัวเรือนที่ไหว้เจ้าคิดเป็นประมาณร้อยละ 3.0-5.0 ของค่าใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้ทั้งหมดในช่วงเทศกาลตรุษจีน ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการซื้อกระดาษไหว้เจ้าของแต่ละครัวเรือนนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามความเคร่งครัดในประเพณี และลักษณะการไหว้เจ้าของครัวเรือน โดยในครัวเรือนที่เคร่งครัดในประเพณีจะมีพิธีการไหว้เจ้าในหลายช่วงเวลา อาจทำให้ค่าใช้จ่ายในการซื้อกระดาษไหว้เจ้านั้นสูงถึงร้อยละ 10.0 ของค่าใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้ทั้งหมด ส่วนในบางครัวเรือนค่าใช้จ่ายในการซื้อกระดาษไหว้เจ้าอาจเป็นเพียงร้อยละ 5.0 ของค่าใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้ทั้งหมดเท่านั้น

มูลค่าธุรกิจกระดาษไหว้เจ้าทั้งปีเฉลี่ยปีละประมาณ 500 ล้านบาท เป็นการประเมินรวมการใช้กระดาษไหว้เจ้าทั้งปีของชาวไทยเชื้อสายจีน ในทุกเทศกาลต่างๆตามประเพณีจีน โดยคำนวณจากการสำรวจค่าใช้จ่ายในการซื้อกระดาษไหว้เจ้าของครัวเรือนชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งคาดว่าในช่วงตรุษจีนความต้องการใช้กระดาษไหว้เจ้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.0-30.0 ของการใช้กระดาษไหว้เจ้าทั้งปี

การผลิต และจำหน่ายกระดาษไหว้เจ้า
การผลิตกระดาษไหว้เจ้า แต่เดิมนิยมใช้วัตถุดิบจากไม้ไผ่ ดังนั้น โรงงานที่ผลิตกระดาษไหว้เจ้าของไทยส่วนใหญ่จึงตั้งอยู่ในภาคเหนือ เนื่องจากเป็นแหล่งเพาะปลูกไม้ไผ่ หรือเลือกใช้เศษไม้ไผ่จากโรงงานผลิตตะเกียบไม้ แต่ต่อมาด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ประกอบกับกระแสการลดใช้กระดาษ ทำให้ความนิยมในการใช้กระดาษรีไซเคิลขยายตัวสูงขึ้น ผู้ผลิตบางรายจึงเลือกหันมาใช้เศษกระดาษที่ผ่านการคัดแยกอย่างดีมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษไหว้เจ้าเช่นกัน

กรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม รายงานข้อมูล ณ 15 มกราคม 2553 จำนวนโรงงานผลิตกระดาษไหว้เจ้า 5 โรงงาน ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดลำปาง พิษณุโลก ปราจีนบุรี จังหวัดละ 1 โรงงาน และแพร่ 2 โรงงาน ส่วนโรงงานตัดและแปรรูปกระดาษไหวเจ้า 2 โรงงาน และโรงงานพิมพ์กระดาษไหว้เจ้า 1 โรงงานนั้นตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ

แหล่งจำหน่ายกระดาษไหว้เจ้าในปัจจุบัน จะกระจายตามชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนแหล่งใหญ่ๆ อาทิ ย่านวัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ ถนนเจริญกรุง ตลอดถึงแถบเยาวราช ที่มีการจำหน่ายเครื่องเซ่นไหว้ครบทุกชนิด ทั้งแบบขายส่งและขายปลีก โดยร้านค้าขนาดเล็กก็อาจรับไปจำหน่ายต่อในพื้นที่อื่นๆ แต่ทั้งนี้ชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนบางส่วนก็ยังนิยมไปหาซื้อเครื่องเซ่นไหว้ตามร้านค้าในแถบเยาวราช สำเพ็ง ตลาดสามย่าน สำหรับในกรุงเทพฯ เนื่องจากมีร้านค้าให้เลือกซื้อจำนวนมาก และมีสินค้าที่หลากหลาย สามารถหาซื้อได้ครบตามที่ต้องการในบริเวณเดียว อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันห้างสรรพสินค้าและห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ก็ได้กลายเป็นแหล่งจับจ่ายที่นิยมมากขึ้นเช่นกัน เพราะมีความสะดวกสบาย รวมถึงมีการจัดเตรียมของไหว้เจ้าครบทุกรูปแบบให้เลือกซื้อทั้งของคาว ขนม และผลไม้ รวมถึงกระดาษไหว้เจ้า พร้อมทั้งมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเป็นพิเศษด้วย

ความเชื่อและเคร่งครัดในประเพณี…ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจ
ปัจจัยที่ช่วยหนุน
ให้ธุรกิจกระดาษไหว้เจ้าของไทยยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง นอกเหนือจากความเชื่อและความเคร่งครัดในประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีนในไทยแล้ว ชาวจีนและชาวต่างชาติที่มีเชื้อสายจีนในต่างประเทศก็มีผลต่อการขยายตัวของตลาดส่งออกกระดาษไหว้เจ้าของไทยเช่นกัน ประกอบกับการสร้างสรรค์กระดาษไหว้เจ้าในรูปแบบใหม่ๆด้วยสีสันที่หลากหลาย เช่น แบงค์ฉบับต่างๆ บัตรเครดิต ตั๋วเครื่องบิน เหรียญทอง เสื้อผ้า เครื่องประดับ ของใช้และอุปกรณ์อำนวยความสะดวก อาทิ รถยนต์ โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆที่กำลังเป็นที่นิยม และบ้านสวยหรู เป็นต้น รวมถึงการเขียนตัวอักษรภาษาจีนที่มีความหมายเป็นมงคลใส่เพิ่มเติมลงไป และการพับกระดาษไหว้เจ้าในรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้สำหรับการไหว้ในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กระดาษไหว้เจ้า รวมถึงการจัดชุดกระดาษไหว้เจ้าไว้เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ไหว้ ตามวัตถุประสงค์ต่างๆในการไหว้เป็นการเฉพาะ ตามศาลเจ้าหรือสถานที่ประกอบพิธีไหว้เจ้าต่างๆ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจพบว่า ปัจจัยหลักในการเลือกซื้อกระดาษไหว้เจ้าของกลุ่มตัวอย่างครัวเรือนไทยเชื้อสายจีนในกรุงเทพฯ คือ ถูกต้องตามประเพณีร้อยละ 51.4 ระดับราคาร้อยละ 28.0 ความสวยงามร้อยละ 14.4 และที่เหลืออีกร้อยละ 6.2 เลือกซื้อจากความแปลกใหม่

กระดาษไหว้เจ้าของไทย…การส่งออกขยายตัวได้ต่อเนื่อง
การส่งออก กระดาษไหว้เจ้าของไทยที่ผ่านมานั้นมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งน่าจะเนื่องมาจากคุณภาพกระดาษไหว้เจ้าของไทยเป็นที่ยอมรับของชาวจีนในหลายประเทศ

ในปี 2552 ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ไต้หวัน ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐฯ มาเลเซีย และปากีสถาน มีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 98.5 ของปริมาณการส่งออกกระดาษไหว้เจ้าของไทย โดยเฉพาะปริมาณการส่งออกไปไต้หวันที่มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 90 ต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดส่งออกดังกล่าวยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย ถือเป็นโอกาสที่ไทยจะได้พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ และรูปแบบที่สร้างสรรค์เพื่อเร่งทำตลาดต่อไป รวมถึงหาช่องทางขยายสู่ตลาดอื่นๆ ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง คือ ประเทศในแถบยุโรป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดส่งออกกระดาษไหวเจ้า คือ ในปี 2552 ไทยส่งออกกระดาษไหว้เจ้าไปซาอุดิอาระเบีย ด้วยปริมาณและมูลค่าที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งในปี 2552 ทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 9 เท่าตัว และ 6 เท่าตัวตามลำดับ จากปีก่อนหน้า ทำให้ซาอุดิอาระเบียกลายมาเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยในอันดับ 2 ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากที่ซาอุดิอาระเบียและจีนได้มีข้อตกลงความร่วมมือต่อกันในหลายๆด้าน อาทิ การลงทุนของบริษัทจีนที่ได้ทำสัญญาลงทุนก่อสร้างทางรถไฟรางเดี่ยวความเร็วสูงในซาอุดิอาระเบีย การลงนามทำข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับการพัฒนาและการค้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมีและสินแร่ เพื่อเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในระยะยาว นอกจากนี้ ยังร่วมเป็นพันธมิตรในการสร้างโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า และโรงงานชะล้างเกลือเพื่อนำน้ำทะเลมาใช้ เป็นต้น ปัจจัยต่างๆเหล่านี้อาจส่งผลให้มีนักลงทุนจากจีนและแรงงานชาวจีนเข้าไปอาศัยอยู่ในซาอุดิอาระเบียมากขึ้น ทำให้ความต้องการกระดาษไหว้เจ้า เพื่อใช้ในพิธีการต่างๆตามประเพณีจีนในประเทศซาอุดิอาระเบียขยายตัวตามไปด้วย

จากสถิติขององค์การสหประชาชาติ(United Nations) รายงานว่า ในปี 25511 เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนในซาอุดิอาระเบีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4 ของจำนวนเงินลงทุนทั้งหมดที่เข้าไปลงทุนในซาอุดิอาระเบีย หรือประมาณ 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การนำเข้ากระดาษไหว้เจ้า แหล่งนำเข้ากระดาษไหว้เจ้าที่สำคัญของไทยคือ ญี่ปุ่นและจีน ในปี 2552 ที่มีปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมกันเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 98 ของการนำเข้ากระดาษไหว้เจ้าทั้งหมดของไทย ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไทยจะนำเข้ากระดาษไหว้เจ้าจากจีนสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง แต่ในปี 2552 นี้ไทยได้นำเข้ากระดาษไหว้เจ้าจากญี่ปุ่นมาเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากคุณภาพและรูปแบบกระดาษไหว้เจ้าจากญี่ปุ่นที่น่าจะเป็นที่ต้องการของผู้ไหว้มากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีราคาโดยเฉลี่ยแล้วสูงกว่ากระดาษไหว้เจ้าจากประเทศจีนถึงประมาณ 5 เท่าตัวก็ตาม

สรุป
การปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณีจีนอย่างเคร่งครัด การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ๆ ล้วนมีส่วนช่วยผลักดันให้ธุรกิจกระดาษไหว้เจ้าสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ไหว้ส่วนใหญ่เห็นว่ากระดาษไหว้เจ้านั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นในการประกอบพิธี แต่อาจจะมีการปรับเพิ่มหรือลดปริมาณตามสภาวะการเงินของครัวเรือน

ส่วนด้านการผลิตนั้น จากข้อจำกัดในด้านวัตถุดิบไม้ไผ่ของไทย ประกอบกับมีความต้องการใช้ในหลายอุตสาหกรรม อาทิ กระดาษ ไหมเทียม ไม้ไผ่อัด และเฟอร์นิเจอร์ ถึงแม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกไม้ไผ่เพื่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องทั่วประเทศแล้วก็ตาม ผู้ผลิตกระดาษไหว้เจ้านำกระดาษรีไซเคิลมาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการผลิตกระดาษไหว้เจ้า เพราะนอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบแล้ว ยังมีส่วนช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งด้วย