แผนการช่วยเหลือกรีซของยูโรโซน … เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

แผนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับกรีซจากประเทศสมาชิกยูโรโซน เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วงระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำยูโรโซน (16 ประเทศ) ในวันที่ 25 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งแผนการช่วยเหลือกรีซดังกล่าวนั้น เป็นไปตามเจตจำนงของนายกรัฐมนตรีเยอรมนีที่ต้องการดึงให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างเครือข่ายความปลอดภัยทางการเงินแก่ประเทศกรีซ ทั้งนี้ ตลาดการเงินยังคงอยู่ในช่วงของการวิเคราะห์ผลสุทธิจากข่าวในเชิงบวกของกรีซในครั้งนี้ และดูเหมือนกับว่า ข้อตกลงช่วยเหลือกรีซ ซึ่งมี IMF เข้ามามีบทบาทด้วยนั้น ได้ก่อให้เกิดประเด็นสำคัญตามมาว่า ยูโรโซนไม่มีศักยภาพ และ/หรือไม่มีระบบที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะดูแลประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหา ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการรวบรวมประเด็นแวดล้อม และวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซไว้ดังนี้ :-

ประเด็นคืบหน้าล่าสุด…

ร่างแผนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับกรีซ…เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างยูโรโซน และ IMF โดยสาระสำคัญของข้อตกลงนี้ คือ ประเทศสมาชิกยูโรโซนจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินในกรณีที่กรีซตกอยู่ในภาวะฉุกเฉินไม่สามารถระดมทุนผ่านตลาดการเงินได้ โดยประเทศสมาชิกยูโรโซน และ IMF รับภาระในแผนการช่วยเหลือดังกล่าวในสัดส่วน 2 ต่อ 1 ทั้งนี้ เงินช่วยเหลือแก่กรีซจะอยู่ในรูปของเงินกู้ ซึ่งจะถูกประเมินความเหมาะสมอิงตามเกณฑ์ของคณะกรรมาธิการยุโรป และธนาคารกลางยุโรป (ECB) นอกจากนี้ แผนการช่วยเหลือใดๆ ที่เกิดขึ้นจะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่เข้มงวด และจะต้องได้รับการอนุมัติจากทุกประเทศในยูโรโซน (ซึ่งจะเป็นผู้ให้เงินสมทบตามสัดส่วนของแต่ละประเทศในธนาคารกลางยุโรป) ขณะที่ เงินช่วยเหลือในส่วนของ IMF ก็จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ ต้นทุนของเงินกู้ฉุกเฉินดังกล่าว จะสะท้อนค่าพรีเมี่ยมความเสี่ยงไว้ด้วย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ข้อตกลงช่วยเหลือกรีซดังกล่าวข้างต้นนั้น บ่งชี้ถึง ความเข้มงวดในการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้กรีซพยายามระดมทุนด้วยตัวเองในตลาด

ECB ช่วยลดแรงกดดันต่อกรีซ…ผ่านการขยายเวลาสำหรับกฎระเบียบที่ผ่อนคลายเรื่องหลักประกันเงินกู้ไปจนถึงปี 2554 ทั้งนี้ ตามกำหนดการเดิม ECB จะกลับไปใช้กฎระเบียบสำหรับหลักประกันเงินกู้ผ่าน ECB Refinancing Operations ที่เข้มงวดมากขึ้นในช่วงสิ้นปีนี้ หลังจากที่ได้ผ่อนคลายระเบียบดังกล่าวลงในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกในรอบล่าสุด

การดำเนินการของ ECB ดังกล่าว จะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศสมาชิกยูโรโซนยังคงสามารถใช้พันธบัตรที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ ‘BBB-‘ ขึ้นไป มาทำการกู้เงินจาก ECB ผ่านช่องทาง ECB Refinancing Operations ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การขยายการผ่อนคลายเกณฑ์เรื่องหลักประกันเงินกู้ของ ECB นี้ จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อกรีซ และธนาคารพาณิชย์ในกรีซ เนื่องจากพันธบัตรรัฐบาลกรีซจะยังคงสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ต่อไปในปี 2554 ตราบใดที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้ง 3 แห่ง ไม่ลดอันดับเครดิตของกรีซลงต่ำกว่า ‘BBB-‘ (ข้อมูล ณ วันที่ 26 มีนาคม 2553 สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส และฟิทช์ เรทติ้งส์จัดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซอยู่ที่ ‘BBB+’ ขณะที่ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส จัดอันดับกรีซอยู่ที่ระดับ ‘A2’)

มุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ข้อตกลงความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับกรีซของ “กลุ่มผู้นำในเขตยูโรโซน” ที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากกรีซกำลังอยู่ในช่วงเตรียมการรับมือกับโจทย์การระดมทุนระลอกใหม่ที่จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยหากนับรวมภาระการไถ่ถอนพันธบัตรและตั๋วเงินในช่วงระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 พบว่า มีมูลค่าสูงถึง 20.6 พันล้านยูโร แบ่งเป็น ภาระในส่วนของการไถ่ถอนพันธบัตรมูลค่า 8.2 พันล้านยูโร และมูลค่า 8.5 พันล้านยูโร ในวันที่ 20 เมษายน และวันที่ 19 พฤษภาคม ตามลำดับ ตลอดจนภาระในส่วนของตั๋วเงินที่จะครบกำหนดในช่วงเดือนเมษายน อีกมูลค่า 3.9 พันล้านยูโร ดังนั้น ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซที่มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นดังกล่าว น่าที่จะช่วยหนุนความเชื่อมั่นของตลาดการเงิน รวมถึงช่วยจำกัดการพุ่งขึ้นของต้นทุนการกู้เงินของกรีซได้บางส่วน ซึ่งก็อาจทำให้กรีซยังคงสามารถระดมทุนได้เองในตลาด โดยมิต้องพึ่งความช่วยเหลือจากเพื่อนสมาชิกยูโรโซน และ IMF ในระยะใกล้นี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโจทย์ในการระดมทุนของรัฐบาลกรีซ จะสามารถใช้ช่องทางการขอรับความช่วยเหลือจากข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิกยูโรโซน และ IMF เป็นทางออกสุดท้ายในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า วิกฤตของกรีซมีความซับซ้อนมากกว่านั้น และยังคงไม่มีสัญญาณใดๆ ที่สามารถบ่งชี้ได้ว่า ปัญหาการคลังของกรีซ (ฐานะการคลังที่ย่ำแย่ และหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง) ได้รับการเยียวยาแก้ไขแล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากแผนการรักษาวินัยทางการคลังของรัฐบาลกรีซที่จะพยายามจะลดยอดขาดดุลการคลังในปีนี้ลงสู่ 8.7% ต่อ GDP จากระดับ 12.7% ในปี 2552 นั้น อาจไม่สัมฤทธิ์ผลได้อย่างสมบูรณ์ หรือไม่ ก็อาจต้องแลกมาด้วยภาวะถดถอยอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจกรีซ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวย่อมสร้างความลำบากใจให้กับผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของกรีซ เนื่องจากไม่สามารถใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มเติม ขณะที่ นโยบายการเงินก็ต้องเป็นไปตามแนวทางของธนาคารกลางยุโรปที่ทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและการเงินของยูโรโซนโดยรวม (มิใช่เพื่อประเทศสมาชิกเพียงประเทศเดียว) นอกจากนี้ กรีซก็ไม่สามารถทำการลดค่าเงินเพื่อกระตุ้นการส่งออกได้ เนื่องจากกรีซเป็นประเทศหนึ่งที่ใช้สกุลเงินยูโร ร่วมกับประเทศอื่นๆ อีก 15 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ (ยกเว้น โปรตุเกส สเปน และไอร์แลนด์) ยังคงไม่เผชิญกับแรงกดดันจากปัญหาการคลังมากเทียบเท่ากับกรีซ

ดังนั้น สิ่งที่สะท้อนได้อย่างชัดเจนจากวิกฤตการคลังของบางประเทศในแถบยูโรโซนในรอบนี้ ก็คือ การรวมกลุ่มเศรษฐกิจภายใต้กรอบของกลุ่มยูโรโซน ซึ่งใช้นโยบายการเงินและสกุลเงินร่วมกันจะมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศไม่มีความแตกต่างกันมากนัก รวมทั้งประเทศที่เป็นสมาชิกก็จะต้องรักษาวินัยและเงื่อนไขทางด้านการคลังอย่างเคร่งครัด แต่หากประเทศสมาชิกบางรายประสบปัญหาอย่างที่กรีซเผชิญอยู่ในปัจจุบัน การใช้อัตราดอกเบี้ย และค่าเงินร่วมกันในกลุ่ม ก็อาจกลายเป็นข้อจำกัด ที่ทำให้ประเทศที่ประสบปัญหา เช่น กรีซ แทบจะไม่มีหนทางหรือเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากภาวะถดถอยได้เลย แต่ในทางกลับกัน ประเทศสมาชิกยูโรโซนรายใหญ่ (อาทิ เยอรมนี ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์) ที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และค่อนข้างมีความยืดหยุ่นในการใช้เครื่องมือทางการคลังมากกว่า ก็กำลังเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการอ่อนค่าของสกุลเงินยูโร และความเป็นไปได้ที่ ECB อาจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วนัก

โดยสรุป แม้ว่าปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับโจทย์การระดมทุนของรัฐบาลกรีซในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า จะมีทางออก หลังจากที่ผู้นำของประเทศสมาชิกในยูโรโซนสามารถบรรลุข้อตกลงในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซ พร้อมๆ กับดึงให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ที่ยาวนานในการให้ความช่วยเหลือและมีกลไกในการติดตามฐานะของประเทศที่ตนให้ความช่วยเหลือ) เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขวิกฤตของกรีซในรอบนี้ด้วย อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีหลากหลายประเด็นสำคัญที่สะท้อนได้จากวิกฤตทางด้านการคลังของประเทศในแถบยุโรป ก็คือ ยูโรโซนยังไม่มีความพร้อมเพียงพอที่จะรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างของพื้นฐานทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ ซึ่งกรณีของกรีซ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากวิกฤตในรอบนี้ ขณะที่ แนวทางหนึ่งที่จะเยียวยาปัญหาของกรีซ ก็คือ การที่กรีซอาจจะต้องออกมาจากกลุ่มยูโรโซนชั่วคราว เพื่อให้ทางการกรีซสามารถใช้เครื่องมือ “นโยบายการเงิน-การคลัง-อัตราแลกเปลี่ยน” ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและจัดการปฏิรูประบบการคลังของประเทศ แต่กระนั้นก็ดี ปัญหาของกรีซจะจบลงด้วยการแยกตัวออกจากกลุ่มยูโรโซนหรือไม่ หรือสมาชิกของกลุ่มยูโรโซนจะตัดสินใจแก้ไขปัญหาโดยการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่กรีซ ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป