พวงมาลัยดอกมะลิ : ดอกไม้ขายดีช่วงเทศกาลสงกรานต์

ในช่วง “เทศกาลสงกรานต์” มีหลากหลายธุรกิจที่สามารถสร้างกำไรได้เพิ่มมากขึ้น และธุรกิจร้านขายดอกไม้ก็ถือเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์จากช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ โดยเฉพาะ “ดอกมะลิ” จัดเป็นดอกไม้ที่ถือว่าขายดีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยคนไทยนิยมซื้อพวงมาลัยดอกมะลิเพื่อนำไปใช้กราบไหว้พระ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไหว้ขอพรบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ และผู้ที่เคารพนับถือ โดยเฉพาะความต้องการในช่วงวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ถือเป็นวันผู้สูงอายุ และวันที่ 14 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันครอบครัวแห่งชาติ นอกจากนี้ ปัจจัยหนุนที่จะทำให้พวงมาลัยดอกมะลิในวันสงกรานต์ปีนี้ขายดีก็คือ วันที่ 13 เมษายน 2553 นี้ ตรงกับวันพระ ซึ่งโดยปกติแล้ววันพระนั้นพวงมาลัยดอกมะลิจะขายดีกว่าในวันธรรมดาอยู่แล้ว ส่งผลให้ความต้องการพวงมาลัยดอกมะลิในวันสงกรานต์ปีนี้ น่าจะเพิ่มมากขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดการณ์ว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ บรรดาร้านดอกไม้จะต้องจัดเตรียมพวงมาลัยดอกมะลิไว้รองรับกับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และคาดว่า พวงมาลัยดอกมะลิจะมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จึงเห็นได้ว่า เทศกาลสงกรานต์ถือเป็นอีกช่วงหนึ่งที่ความต้องการดอกมะลิเพิ่มขึ้น นอกจากในช่วงวันพระ และวันแม่ ซึ่งเป็นช่วงที่ความต้องการดอกมะลิเพิ่มขึ้นเช่นกัน

การผลิต และการตลาดของดอกมะลิ
ดอกมะลิ จัดเป็นไม้ดอกที่ให้ผลผลิตทั้งปี ส่วนใหญ่ใช้ภายในประเทศ โดยนำมาร้อยเป็นพวงมาลัย ทำดอกไม้แห้ง สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย พื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกดอกมะลิเพื่อการค้าในประเทศมีประมาณ 8,000 ไร่1 โดยแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญของไทยส่วนใหญ่กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยจังหวัดนครสวรรค์เป็นจังหวัดที่มีการปลูกดอกมะลิมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น ศรีสะเกษ อุดรธานี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช และสงขลา

ผลผลิตของดอกมะลิจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุของต้นมะลิ กล่าวคือ ถ้าต้นมะลิอายุ 1 ปี ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 1,000 -2,000 ลิตร2/ไร่ อายุ 2 ปี ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 3,000 – 4,000 ลิตร/ไร่ อายุ 3 ปี ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 3,000 ลิตร/ไร่ และหลังจากนั้นแล้วผลผลิตจะเริ่มลดลงเรื่อย ๆ

ตลาดใหญ่ที่เป็นแหล่งจำหน่ายดอกมะลิของกรุงเทพฯอยู่ที่ปากคลองตลาด ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมและกระจายดอกมะลิไปยังร้านดอกไม้โดยทั่วไปตามตลาดต่างๆ ซึ่งดอกมะลิจะให้ดอกมากในช่วงฤดูร้อน และฤดูฝน ส่วนในช่วงฤดูหนาวให้ดอกน้อยที่สุด ดังนั้น ราคาของดอกมะลิในช่วงฤดูหนาวจะมีราคาที่แพงกว่าฤดูอื่น ๆ โดยในช่วงฤดูหนาวบางปี ดอกมะลิจะมีราคาสูงถึงประมาณลิตรละ 600-700 บาท (ราคาจากปากคลองตลาด) หรือเคยสูงถึงลิตรละ 1,000 บาท ส่วนฤดูร้อน และฤดูฝน ราคาดอกมะลิเฉลี่ยลิตรละ 30 บาท

นอกจากนี้ ราคาดอกมะลิยังขึ้นอยู่กับเทศกาลต่างๆ กล่าวคือ โดยปกติราคาดอกมะลิเฉลี่ยช่วงวันธรรมดาจะอยู่ที่ลิตรละ 100 บาท วันพระ หรือวันโกน รวมทั้งช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีราคาเฉลี่ยลิตรละ 150 บาท สำหรับช่วงปีใหม่ และในช่วงวันแม่บางปีราคาพุ่งขึ้นไปถึงลิตรละ 700-1,000 บาท ทำให้เกษตรกรแต่ละรายมีรายได้เฉลี่ยในการปลูกดอกมะลิขายประมาณ 40,000-50,000 บาท/ไร่/เดือน3 หรือวันละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละฤดูกาล

ดอกมะลิ…ดอกไม้ขายดีช่วงสงกรานต์
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสอบถามบรรดาพ่อค้า แม่ค้าตามร้านขายดอกไม้ และพวงมาลัยต่างๆ พบว่า พวงมาลัยดอกมะลิถือเป็นดอกไม้ที่เป็นที่นิยม และขายดีมากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้ราคาดอกมะลิสดมีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น สำหรับเทศกาลสงกรานต์ในปี 2553 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาดอกมะลิจะปรับเพิ่มสูงขึ้นจากลิตรละ 100 บาท เป็น 150 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 50.0 เมื่อเทียบกับช่วงปกติ

ดังนั้น บรรดาพ่อค้า แม่ค้าที่ขายปลีกดอกไม้ และพวงมาลัยจึงมีการปรับกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การปรับขึ้นราคาดอกมะลิให้สูงขึ้นกว่าช่วงปกติ เช่น พวงมาลัยดอกมะลิพวงเล็กปรับขึ้นราคาจากพวงละ 10 บาท เป็น 15-20 บาท พวงมาลัยดอกมะลิพวงกลางปรับขึ้นราคาจากราคาพวงละ 20 บาท เพิ่มเป็น 25-50 บาท และพวงมาลัยดอกมะลิพวงใหญ่ปรับขึ้นราคาจากพวงละ 150 บาท เป็น 200-250 บาท เป็นต้น หรือบางรายไม่ปรับขึ้นราคาพวงมาลัยดอกมะลิ แต่จะเลือกวิธีลดปริมาณการใช้ดอกมะลิให้น้อยลง และขายราคาเดียวกันกับช่วงปกติ นอกจากนี้ บางรายยังมีการปรับกลยุทธ์โดยการนำดอกไม้ประเภทอื่น ๆ มาร้อยแซมในพวงมาลัย เช่น ดอกรัก ดอกดาวเรือง และดอกกุหลาบ เป็นต้น เพื่อลดปริมาณการใช้ดอกมะลิให้น้อยลง อันเป็นวิธีลดต้นทุนได้ทางหนึ่ง

โดยดอกมะลิที่ได้รับความนิยมในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น ได้แก่
พวงมาลัยดอกมะลิ นิยมนำไปกราบไหว้พระ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ ยังนิยมนำไปกราบไหว้บิดา มารดา และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถืออีกด้วย ซึ่งราคามีตั้งแต่พวงละ 10-250 บาท ตามขนาดและปริมาณดอกมะลิที่ใช้

ดอกมะลิสด นิยมนำไปโรยลงในน้ำอบให้มีกลิ่นหอม เพื่อใช้สำหรับสรงน้ำพระ และใช้รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งราคามีตั้งแต่ลิตรละ 150-200 บาท

พวงมาลัยดอกมะลิเส้นเดียวสำหรับคล้องคอ ส่วนใหญ่จะนิยมใช้คล้องคอให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติที่มาเที่ยวงานสงกรานต์ตามสถานที่สำคัญๆ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งบรรดาร้านอาหาร และโรงแรมจะนิยมสั่งไว้เพื่อนำมาต้อนรับบรรดานักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งราคามีตั้งแต่เส้นละ 15-30 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยาวของพวงมาลัยเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นตัวกำหนดปริมาณดอกมะลิที่ใช้

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาดอกมะลิสด และพวงมาลัยดอกมะลิในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2553 นี้ มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ดอกมะลิ และพวงมาลัยดอกมะลิจะเป็นที่ต้องการของลูกค้าจำนวนมาก ส่งผลให้ราคามีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแต่ละคนจะนิยมนำดอกมะลิ และพวงมาลัยดอกมะลิไปใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

สรงน้ำ และกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามขนมธรรมเนียมประเพณีของไทย จะนิยมใช้ดอกมะลิเพื่อสรงน้ำพระ และกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในช่วงวันสงกรานต์ และจากความต้องการดอกมะลิที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาดอกมะลิในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น

กราบไหว้บิดา มารดา และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ วันที่ 13 เมษายน 2553 ของทุกปีถือเป็นวันผู้สูงอายุ ดังนั้น คนไทยจึงนิยมซื้อพวงมาลัยดอกมะลิไปกราบไหว้บิดา มารดา และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เพื่ออวยพรท่านให้มีความสุข สุขภาพแข็งแรง และอายุยืนยาว อีกทั้งยังเป็นการขอพรจากท่านอีกด้วย

นอกจากความต้องการดอกมะลิภายในประเทศแล้ว ปัจจุบันไทยยังมีการส่งออกดอกมะลิไปสู่ตลาดต่างประเทศอีกด้วย โดยมูลค่าการส่งออกดอกมะลิในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 2 ล้านบาท โดยการส่งออกมะลิเกือบทั้งหมดอยู่ในรูปของพวงมาลัย กล่าวคือ ส่งออกในรูปพวงมาลัยร้อยละ 85.0 ส่งออกในรูปของดอกมะลิร้อยละ 10.0 และส่งออกในรูปของต้นมะลิร้อยละ 5.0 สำหรับตลาดพวงมาลัยที่สำคัญคือ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ส่วนตลาดของดอกมะลิ และต้นมะลิที่สำคัญ คือ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ และเบลเยี่ยม เป็นต้น โดยประเทศที่นำเข้าดอกมะลิจากไทยเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในงานต่าง ๆ เช่น การนำพวงมาลัยดอกมะลิมากราบไหว้พระในวันสำคัญทางศาสนา นอกจากนี้ ยังมีการนำเอาดอกมะลิมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น การผลิตเป็นสบู่ หรือการผลิตเป็นเครื่องหอมในร้านสปาต่างๆ เป็นต้น อีกทั้ง ชาวต่างชาติบางกลุ่มที่ชื่นชอบดอกมะลิ เนื่องด้วยดอกมะลิมีลักษณะเด่นเฉพาะตัว ที่สำคัญ คือ มีกลิ่นที่หอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และรูปทรงที่สวยงาม จึงนิยมซื้อต้นมะลิไปปลูก และประดับตามอาคารบ้านเรือนอีกด้วย ส่วนตลาดใหม่ที่น่าจับตามอง ได้แก่ มาเลเซีย สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และสหราชอาณาจักร เป็นต้น

บทสรุป
จะเห็นได้ว่า “ดอกมะลิ” นั้น กลายเป็นดอกไม้ที่สามารถสร้างรายได้เป็นจำนวนมากให้กับบรรดาพ่อค้า แม่ค้าขายพวงมาลัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งรายได้จากการจำหน่ายพวงมาลัยดอกมะลิ การจำหน่ายดอกมะลิสด หรือแม้แต่การจำหน่ายพวงมาลัยดอกมะลิเส้นเดียวสำหรับคล้องคอ ดังนั้น ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จึงทำให้ดอกมะลิมีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงปกติ ตามความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก