ท่องเที่ยวปี’53 เผชิญวิกฤต : พิษม็อบ …กระทบตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองในช่วงเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งยกระดับความรุนแรงขึ้นตามลำดับ ขณะที่รัฐบาลใช้มาตรการควบคุมตามสถานการณ์ เริ่มจากการประกาศพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในกรุงเทพฯและบางพื้นที่ในต่างจังหวัดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 และต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนพลเข้ามายึดพื้นที่การชุมนุมเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งจุดในย่านราชประสงค์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2553 เป็นต้นมา ทำให้รัฐบาลต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 7 เมษายน 2553 และได้เกิดเหตุการณ์ปะทะกันอย่างรุนแรงในวันที่ 10 เมษายน 2553 ได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทยในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต่างชะลอการเดินทางมายังประเทศไทยในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2553 เพื่อรอดูสถานการณ์ให้คลี่คลายลงสู่ภาวะปกติและมั่นใจด้านความปลอดภัยก่อน ทั้งนี้ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เปลี่ยนเป้าหมายปลายทางไปยังประเทศอื่นแทน

ผลกระทบต่อผู้ประกอบการ
ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คงหนีไม่พ้นโรงแรมต่างๆ ในย่านราชประสงค์กว่า 10 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว ที่มีลูกค้าหลักเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว/นักธุรกิจชาวต่างชาติ รวมไปถึงภัตตาคาร/ร้านอาหารหลายแห่งก็ต้องปิดให้บริการ ขณะที่การประชุม และการจัดเลี้ยง ก็ต้องประกาศยกเลิก นอกจากนี้ สถานบริการต่างๆ อาทิ สถานบันเทิงยามค่ำคืน สถานบริการสปา และร้านจำหน่ายสินค้าของที่ระลึก เป็นต้น ต่างก็พลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย

เม็ดเงินรายได้ที่สูญเสียไปส่วนใหญ่ คือ ประมาณร้อยละ 30 เป็นการใช้จ่ายในด้านที่พัก รองลงมา คือ ร้อยละ 23 เป็นการใช้จ่ายในด้านการจับจ่ายซื้อสินค้า และร้อยละ 16 เป็นการใช้จ่ายในด้านอาหารและเครื่องดื่ม นอกนั้นอีกประมาณร้อยละ 31 เป็นการใช้จ่ายในด้านค่าพาหนะเดินทาง และค่าใช้จ่ายในกิจกรรมบันเทิง เป็นต้น

สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง นอกจากที่กรุงเทพฯแล้ว ก็ยังส่งผลกระทบไปสู่ต่างจังหวัดด้วย เช่นเชียงใหม่ และจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสาน โดยหากสถานการณ์การชุมนุมเกิดความรุนแรง นักท่องเที่ยวจึงหลีกเลี่ยงที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว เพราะเกรงจะได้รับอันตราย

แม้ว่าเมืองท่องเที่ยวชายทะเลในภาคใต้และภาคตะวันออกอาจจะได้รับอานิสงส์เนื่องด้วยมีทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวชาวไทยบางส่วนเลือกที่จะหนีความวุ่นวายจากกรุงเทพฯหันมาจองห้องพัก และท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว แต่ผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวต่างก็เฝ้ารอความหวังให้เหตุการณ์ชุมนุมจบลงโดยเร็ว และไม่ต้องการเห็นความยืดเยื้อ เพราะอาจจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศได้

ทั้งนี้ หากสถานการณ์สามารถคลี่คลายลงได้ภายในครึ่งแรกของปี 2553 และนักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงปลายไตรมาส 3 ของปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 14.93 ล้านคน ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์ประมาณ 0.63 ล้านคน (เดิมคาดการณ์ไว้ที่ 15.56 ล้านคน)

แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อต่อเนื่องไปในครึ่งปีหลัง หรือความขัดแย้งทวีความรุนแรง และนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ จนยากที่จะฟื้นความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของประเทศไทยในสายตาของนานาประเทศ ให้กลับคืนมาได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 ย่อมส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางการท่องเที่ยวในช่วงฤดูการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งประเมินว่า กรณีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในปี 2553 อาจจะเหลือเพียง 14.0 ล้านคน ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์ประมาณ 1.56 ล้านคน (เดิมคาดการณ์ไว้ที่ 15.56 ล้านคน) ทั้งนี้ การประมาณการดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงไม่ได้ขยายตัวหรือส่งผลกระทบไปสู่ต่างจังหวัด หรือเกิดเหตุการณ์ปิดสนามบิน

แนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการ
ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวล้วนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองค่อนข้างรุนแรง จากปัญหาความไม่มั่นใจของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งรัฐบาลกับภาคเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือกันจัดเตรียมมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อนำมาใช้ได้ทันทีที่เหตุการณ์สงบลง และเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวให้กลับสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด ทั้งในส่วนของงบประมาณเพื่อการส่งเสริมการขายรูปแบบต่างๆในตลาดต่างประเทศ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ/ธุรกิจในพื้นที่การชุมนุมที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น

ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์ และสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจขององค์กรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ทันท่วงที เช่น จากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯเช่นปัจจุบัน ก็อาจจะเป็นช่องทางในการเสนอขายสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ต้องการหลีกเลี่ยงความวุ่นวายในกรุงเทพฯ ด้วยการจัดส่งโปรโมชั่นต่างๆบริการให้ถึงประตูบ้านกันเลย เพื่อกระตุ้นความสนใจของลูกค้า หรือในกรณีภัยธรรมชาติภูเขาไฟระเบิดที่ไอซ์แลนด์ จนต้องปิดน่านฟ้ายุโรปที่ทำให้มีผู้โดยสารจำนวนมากตกค้างสะสมที่สนามบินสุวรรณภูมิเป็นจำนวนมาก ก็อาจจะเป็นช่องทางในการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสได้ ด้วยการร่วมกันดูแลกลุ่มผู้โดยสารดังกล่าวเป็นอย่างดี ทั้งในส่วนของการอำนวยความสะดวก การให้บริการอาหารกล่อง ขนม ชา กาแฟ และบริการอินเทอร์เน็ตฟรี รวมถึงการอนุเคราะห์ผ่อนผันให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่วีซ่าหมดอายุขยายเวลาอยู่ต่อไป เป็นต้น เหล่านี้ก็น่าจะสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวได้ระลึกถึงและกลับมาเที่ยวเมืองไทยซ้ำอีกได้

ขยายการท่องเที่ยวในพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆทดแทนกรุงเทพฯ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวในพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆยังคึกคัก มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาร่วมกิจกรรมสงกรานต์จำนวนมาก โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลในภาคใต้ทั้งสมุยและแถบอันดามันรวมทั้งหาดใหญ่ และแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลในภาคตะวันออก หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมมือกันส่งเสริมการขายการท่องเที่ยวพื้นที่อื่นๆของไทยที่ยังมีความสงบและปลอดภัยจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง เพื่อเพิ่มพูนรายได้ด้านการท่องเที่ยวเข้าประเทศ และสามารถช่วยชดเชยรายได้ด้านการท่องเที่ยวที่ลดลงในพื้นที่กรุงเทพฯ

ขยายตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยเข้ามาชดเชยตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป ในช่วงที่มีปัจจัยลบมากระทบทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มชะลอการเติบโตลงเช่นปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจด้านการท่องเที่ยวจะต้องหันมามุ่งเน้นการขยายตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยในประเทศมากขึ้น เพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่และอยู่ใกล้มือ รวมทั้งยังมีตลาดซึ่งมีกำลังซื้อสูงที่สามารถขยายตัวได้อีกมาก ควบคู่กับกลยุทธ์การสร้างกระแสให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่สมดุล

การปลูกจิตสำนึกท่องเที่ยวและผู้ประกอบการในเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในแต่ละปีกิจกรรมการท่องเที่ยวก่อให้เกิดรายได้จำนวนไม่น้อย และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันการท่องเที่ยวก็ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบได้ เช่น การคุกคามสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม เป็นต้น การแสวงหาวิธีการและมาตรการที่เหมาะสมในการจัดการด้านการท่องเที่ยว เพื่อป้องกันปัญหาหรือผลกระทบเชิงลบและเป็นการรองรับกระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงมีความจำเป็น

การนำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวแนวใหม่ๆ ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนไม่น้อยเกิดแนวคิดที่จะเลือกท่องเที่ยวในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น การนำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวทางเลือก เพื่อรองรับพฤติกรรมการท่องเที่ยวนี้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

เน้นการพัฒนาในด้านคุณภาพของการบริการ เพื่อสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว และก่อให้เกิดความภักดีในกลุ่มลูกค้าเก่า หรือการใช้บริการซ้ำตามมา รวมถึงการบอกต่อปากต่อปากในกลุ่มเพื่อนฝูงและญาติมิตรด้วย

การบริหารจัดการภายในองค์กร เพื่อหาหนทางให้กิจการขาดทุนน้อยที่สุด ด้วยการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง และควบคุมรายจ่ายต่างๆไม่ให้เกิดการรั่วไหล

การหาพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการตลาด โดยอาจจะเป็นการเสาะหาพันธมิตรตั้งแต่ต้นน้ำจนกระทั่งถึงปลายน้ำหรือกลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันด้วย หรือทั้งในและนอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น บัตรเครดิต โรงแรม สายการบิน และบริษัทนำเที่ยว เป็นต้น เพื่อร่วมมือกันทำกิจกรรมกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ปรับช่องทางการตลาดให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะบทบาทของเทคโนโลยีสื่อออนไลน์ และไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่อินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์แทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน จึงควรนำมาประยุกต์ใช้กับกิจการ เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวซึ่งต้องการบริการที่ดี เร็ว ถูก และแน่นอน อีกทั้งยังเน้นการวางแผนหาข้อมูลด้วยตนเองด้วย

บทสรุป
สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีผลอย่างมากต่อการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2553 โดยหากสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยยังคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา และยังคงมีกระแสข่าวการนัดชุมนุมประท้วงทางการเมือง และการออกมาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมสถานการณ์ของภาครัฐ ก็จะยิ่งตอกย้ำให้นักท่องเที่ยว และเอเยนต์ทัวร์ที่เฝ้ามองประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เกิดความลังเลที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยในช่วงปลายปีนี้มากขึ้น ซึ่งคาดว่าการท่องเที่ยวในเขตกรุงเทพฯจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่ภาพรวมการท่องเที่ยวปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หากการชุมนุมสามารถคลี่คลายได้ภายในครึ่งแรกปี 2553 และทางการรวมทั้งผู้ประกอบการมีเวลาที่จะหันมาเร่งประชาสัมพันธ์ หรือทำการตลาดจนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 3 ก็เป็นไปได้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจโตได้ร้อยละ 5.5 ต่ำกว่าประมาณการในช่วงต้นปีที่คาดไว้ว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 10 แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อต่อเนื่องไปในครึ่งปีหลัง จนยากที่จะฟื้นความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของประเทศไทยในสายตาของนานาประเทศให้กลับคืนมาได้ในช่วงไฮซีซั่นปลายปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของปี 2553 อาจจะหดตัวเป็นปีที่สองติดต่อกันจากปี 2552 ในอัตราติดลบร้อยละ 1.0 (ภายใต้สมมุติฐานว่าไม่มีเหตุการณ์ปิดสนามบิน) โดยสรุปแล้ว นอกจากความยืดเยื้อของสถานการณ์ทางการเมืองแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ยังขึ้นอยู่กับกิจกรรมต่างๆในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทยโดยหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหากเข้มข้นและโดนใจนักท่องเที่ยว รวมถึงทันท่วงทีที่สถานการณ์คลี่คลายสู่ภาวะปกติ ก็มีโอกาสสูงที่จะสามารถกระตุ้นการขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในช่วงที่เหลือของปี ให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในปี 2553 ไม่ต่ำกว่าเป้าหมายมากนัก