ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 เทียบกับสิ้นเดือนก่อนหน้า และสิ้นปี 2552 พร้อมประเมินแนวโน้มสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไป ดังนี้
ยอดสินเชื่อและเงินฝากเพิ่มขึ้นต่อในเดือน มี.ค. 53 โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 ยอดเงินให้สินเชื่อสุทธิ (หักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) ของ 14 ธนาคารพาณิชย์ไทย มีจำนวน 5.88 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.13 หมื่นล้านบาท จาก 5.81 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ (จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อในทุกกลุ่มธนาคาร1 นำโดยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่เป็นหลัก) ขณะที่ ยอดเงินฝากเพิ่มขึ้นด้วยขนาดที่น้อยกว่า คือ เพิ่มขึ้น 3.80 หมื่นล้านบาท จาก 6.51 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ มาอยู่ที่จำนวน 6.55 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม (ตามการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในทุกกลุ่มธนาคาร นำโดยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และขนาดกลาง)
สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ เป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ขณะที่การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 ยังส่งผลค่อนข้างจำกัดต่อการเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในเดือนมีนาคม ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลเนื่องจากในช่วงเวลานั้นภาคธุรกิจส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ อนึ่ง มุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังมีการดึงเงินผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษที่ให้ผลตอบแทนจูงใจออกมาเป็นระยะๆ เพื่อรักษาฐานลูกค้าและจัดเตรียมเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ ส่งผลให้ยอดเงินฝากปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันในเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตาม เงินฝากที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ ทำให้สภาพคล่องที่วัดจากการเปลี่ยนแปลงของเงินฝากและสินเชื่อ ในเดือนมีนาคม ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 สินเชื่อเพิ่มขึ้นด้วยขนาดที่มากกว่าเงินฝาก สะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของภาวะเศรษฐกิจ โดยเงินให้สินเชื่อสุทธิ (หักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) เพิ่มขึ้น 9.50 หมื่นล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 2552 ในขณะที่ เงินฝากเพิ่มขึ้น 4.66 พันล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 2552
ที่มา: ธ.พ.1.1 รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
อย่างไรก็ดี สินทรัพย์สภาพคล่อง (รวมเงินสด เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น และเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์)2 เพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนก่อนหน้า โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 สภาพคล่องดังกล่าวมีจำนวน 2.159 ล้านล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจำนวน 3.43 หมื่นล้านบาท จาก 2.125 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น ขณะที่เงินสดและเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ลดลง ในทิศทางที่สอดคล้องกัน สินทรัพย์สภาพคล่องในความหมายที่แคบลง คือ ไม่นับรวมเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ หรือมาจากผลรวมเฉพาะเงินสดและเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น มีจำนวน 8.06 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 เพิ่มขึ้นจำนวน 8.21 หมื่นล้านบาท จาก 7.24 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์
การเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าของสภาพคล่องในความหมายกว้างเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และขนาดกลาง โดยสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นจำนวน 1.79 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 1.45 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 ใกล้เคียงกับขนาดการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดกลางจำนวน 1.95 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 5.12 แสนล้านบาท ขณะที่สภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดเล็กลดลงจำนวน 3.10 พันล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 1.97 แสนล้านบาท
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 สภาพคล่องในความหมายกว้างของธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 3.76 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปี 2552 โดยมาจากการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่เป็นหลัก จำนวน 5.23 หมื่นล้านบาท และสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดกลางเพิ่มขึ้น 4.04 พันล้านบาท ขณะที่ สภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดเล็กลดลง 1.87 หมื่นล้านบาท
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 ซึ่งผลกระทบทางการเมืองต่อเศรษฐกิจยังมีจำกัด เพราะการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเริ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือนมีนาคม การดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะการขยายสินเชื่อ จึงเติบโตได้ในอัตราที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในเดือนเมษายน 2553 ซึ่งเป็นเดือนที่มีจำนวนวันทำการน้อย รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเพิ่มความซับซ้อนและส่อเค้าว่าจะไม่ยุติลงได้โดยง่าย กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศคงจะมีทิศทางที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะในส่วนที่เชื่อมโยงกับความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ที่คาดว่าจะหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ยาก คงหนีไม่พ้นสินเชื่อบัตรเครดิต รวมถึงสินเชื่อธุรกิจผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ค้าปลีก และบริการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์คงอยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อฐานะของลูกค้าแต่ละราย ไม่ว่าจะเป็นในมิติของคุณภาพสินเชื่อ ความต้องการเบิกใช้วงเงินเครดิต และกระแสเงินสด ที่อาจได้รับผลกระทบในขอบเขตที่แตกต่างกัน
ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ยังคุกรุ่น ผนวกกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายในลักษณะที่คุมเข้มมากขึ้นของทางการในประเทศต่างๆ ซึ่งคงจะมีผลต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะที่เหลือของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารพาณิชย์คงจะปรับกลยุทธ์และแผนการดำเนินธุรกิจไปในแนวทางที่ระมัดระวังมากขึ้น ขณะที่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับต่ำเป็นพิเศษในปัจจุบันสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทยที่อาจทำได้ในขอบเขตที่ค่อนข้างจำกัดในปีนี้ หรือมีโอกาสสูงที่จังหวะการดำเนินการจะถูกเลื่อนเวลาออกไป ประกอบกับการขยายสินเชื่อซึ่งเป็นธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ที่มีโอกาสจะไม่เติบโตสูงเท่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ ท้ายที่สุดแล้วคงจะส่งผลตามมาให้การแข่งขันในเชิงรุกโดยเฉพาะในด้านเงินฝากมีแนวโน้มจะไม่เกิดขึ้นอย่างเด่นชัดจนกว่าความเสี่ยงทางการเมืองจะลดระดับลงอย่างมีนัยสำคัญ นั่นหมายความว่า อัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินไทยคงจะยังมีแนวโน้มทรงตัวที่ระดับต่ำต่อเนื่องต่อไปอย่างน้อยก็ในระยะอันใกล้นี้