คาดส่งออกครึ่งปีแรกโต 30% … ความหวังนำพาเศรษฐกิจฝ่าวิกฤตการเมือง

การส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 1/2553 เติบโตสูงอย่างมาก และคาดว่าแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในตลาดโลกยังมีแรงส่งต่อเนื่องให้การส่งออกในไตรมาสที่ 2/2553 ขยายตัวได้ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะที่แรงขับเคลื่อนจากการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐอาจไม่สูงดังคาดหากรัฐบาลยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันทางการเมืองอย่างหนัก ดังนั้น ภาคการส่งออกจึงกลายเป็นความหวังสุดท้ายที่จะประคับประคองเศรษฐกิจไทยในปี 2553 นี้ ให้ฟื้นตัวต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง และจากความหวังที่ภาคส่วนต่างๆ ฝากไว้ที่การส่งออกนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงวิเคราะห์ถึงแนวโน้มปัจจัยต่างๆ ที่จะมีผลต่อการส่งออกในระยะข้างหน้า รวมทั้งมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐและธุรกิจควรดำเนินการเพื่อสนับสนุนภาคการส่งออก ดังมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2553 ขยายตัวร้อยละ 40.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) โดยเป็นอัตราสูงที่สุดในรอบ 20 เดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 ขณะที่มูลค่าการส่งออกในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 16,253 ล้านดอลลาร์ฯ จาก 14,404 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นระดับมูลค่าสูงที่สุดในรอบ 18 เดือน ทั้งนี้ การส่งออกที่ขยายตัวสูงดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งการเพิ่มระดับการผลิตและระดับสินค้าคงคลังของภาคธุรกิจในภูมิภาคต่างๆ ของโลกเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนได้รับอานิสงส์ของการลดอัตราภาษีศุลกากรเหลือ 0% ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีหลายกรอบ ซึ่งส่งผลให้การค้าภายในกลุ่มประเทศที่มีความตกลงทางการค้าเสรีดังกล่าวมีการขยายตัวสูง ด้านการนำเข้าในเดือนมีนาคมยังคงขยายตัวสูงถึงร้อยละ 59.7 (YoY) แม้ชะลอลงจากที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 71.2 ในเดือนก่อนหน้า โดยการนำเข้าเพิ่มสู่ระดับสูงสุดในรอบ 17 เดือน ขึ้นมามีมูลค่า 15,099 ล้านดอลลาร์ฯ สูงขึ้นจาก 13,964 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อนหน้า สำหรับดุลการค้าของไทยในเดือนมีนาคมเกินดุล 1,155 ล้านดอลลาร์ฯ สูงขึ้นจากระดับที่เกินดุล 440 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อน

ประเด็นที่น่าสังเกตสำหรับการส่งออกในเดือนมีนาคม คือ การส่งออกสินค้ารายการสำคัญส่วนใหญ่ยังขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ร้อยละ 48.5) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ร้อยละ 87.5) แผงวงจรไฟฟ้า (ร้อยละ 49.1) อัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่รวมทองคำ (ร้อยละ 35.8) ยางพารา (ร้อยละ 102.7) ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 73.3) เม็ดพลาสติก (ร้อยละ 31.1) และเคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 47.2) เป็นต้น ขณะเดียวกัน สินค้ากลุ่มอาหาร แม้ว่ายังคงขยายตัวเนื่องจากความต้องการในตลาดที่เพิ่มขึ้น แต่มีปัจจัยกดดันด้านค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้สินค้าบางรายการแข่งขันยากลำบากขึ้น เช่น ข้าว (ขยายตัวร้อยละ 12.1) ซึ่งข้าวไทยมีราคาสูงกว่าข้าวของเวียดนามมาก นอกจากนี้พบว่าสินค้าบางกลุ่มยังมีทิศทางไม่ดีนัก โดยสินค้าที่มีการส่งออกหดตัวในเดือนนี้ (YoY) ได้แก่ ทองคำ (หดตัวร้อยละ 57.3) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (หดตัวร้อยละ 5.0) ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน (หดตัวร้อยละ 7.8) และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (หดตัวร้อยละ 4.2) ส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อย (ร้อยละ 6.4) จากที่หดตัวมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

ในด้านตลาดส่งออก การส่งออกไปยังตลาดหลักกลับมาขยายตัวในอัตราเร่งเร็วกว่าตลาดใหม่ในช่วงปีนี้ โดยขยายตัวร้อยละ 50.1 ในเดือนมีนาคม สูงกว่าตลาดใหม่ที่ขยายตัวร้อยละ 33.5 โดยมีสาเหตุที่สำคัญคือการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปยังอาเซียนผู้ก่อตั้ง 5 ประเทศ (ที่มีการยกเลิกการจัดเก็บภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าเกือบทั้งหมด) เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 85 ในเดือนมีนาคม โดยตลาดอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนในด้านตลาดใหม่ การส่งออกไปยังจีนและอินเดียชะลอลงแต่ยังเป็นอัตราสูงที่ร้อยละ 48.8 และ 58.9 ตามลำดับ โดยจีนยังคงรักษาตำแหน่งตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ การส่งออกไปยังประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วยนั้น มีการเติบโตสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ค่อนข้างมาก โดยในเดือนมีนาคม ตลาดที่มีความตกลง FTA ร่วมกับไทยมีการขยายตัวสูงเฉลี่ยร้อยละ 55 ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉลี่ยขยายตัวร้อยละ 27

โดยภาพรวมในไตรมาสที่ 1/2553 การส่งออกของไทยมีมูลค่า 44,381 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 31.6 (YoY) ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 42,270 ขยายตัวร้อยละ 58.1 และดุลการค้าเกินดุล 2,110 ล้านบาท กล่าวได้ว่าปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และอานิสงส์จาก FTA ได้ผลักดันให้การส่งออกของไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจนกลับขึ้นมายืนเหนือระดับในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้แล้ว (เห็นได้จากการส่งออกในไตรมาสแรกนี้ มีระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2551 ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่มีมูลค่า 42,522 ล้านบาท) อย่างไรก็ดี การที่การส่งออกจะขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่เคยทำไว้เหนือ 17,000 ล้านดอลลาร์ฯ ได้หรือไม่นั้น อาจยังคงเป็นความท้าทายสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการช่วยเร่งผลักดัน โดยก่อนหน้านี้ การส่งออกของไทยเคยขึ้นไปทำสถิติสูงสุดที่ 17,370 ล้านดอลลาร์ฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2551
สำหรับแนวโน้มในระยะต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกในไตรมาสที่ 2/2553 น่าจะขยายตัวในอัตราสูงประมาณร้อยละ 30 ใกล้เคียงกับในไตรมาสแรก และน่าที่จะมีการเติบโตต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี ถ้าเศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะชะลอลง โดยมีสาเหตุจากปัจจัยหลายด้าน ได้แก่ ผลของฐานเปรียบเทียบของปีก่อนที่จะขยับสูงขึ้น ขณะที่คำสั่งซื้อเพื่อการปรับเพิ่มระดับสินค้าคงคลังที่ลดลงมาต่ำในช่วงเศรษฐกิจถดถอยนั้นน่าจะชะลอลง นอกจากนี้ ในด้านทิศทางราคาส่งออก แม้ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางรายการยังคงมีทิศทางขาขึ้นแต่ก็คงไม่ขึ้นไปสูงเท่ากับระดับที่เคยสูงสุดในปี 2551 ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรบางชนิดอาจเริ่มทรงตัวหรืออ่อนตัวลง

โดยสรุป ภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสที่ 1/2553 ที่ผ่านมา ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเหนือความคาดหมาย โดยมีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 31.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกในไตรมาสที่ 2/2553 จะยังคงขยายตัวในอัตราสูงใกล้เคียงกัน ส่งผลให้การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีแรก มีโอกาสขยายตัวสูงถึงร้อยละ 30

อย่างไรก็ดี การเติบโตของการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะชะลอลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบ (Base Effect) ที่จะขยับสูงขึ้น ขณะที่ในด้านความต้องการสินค้าในต่างประเทศยังต้องติดตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ซึ่งหลายประเทศเริ่มทยอยถอยออกจากมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ดังที่เห็นธนาคารกลางของหลายประเทศเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และน่าจะมีทิศทางที่เข้มข้นขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องจับตานโยบายคุมเข้มทางการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ซึ่งที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าจีนเป็นหัวจักรขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย หากอุปสงค์ของจีนชะลอลงจะมีผลต่อทั้งความต้องการและราคาสินค้าในตลาดโลกค่อนข้างมาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกโดยรวมในปี 2553 อาจจะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 17.0-24.0 ถ้าเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund) ก็ได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2553 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 4.2 จากคาดการณ์เดิมเมื่อเดือนมกราคมอยู่ที่ร้อยละ 3.9 และยังคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 4.3 ในปี 2554 ซึ่งน่าจะเป็นที่คาดหวังได้ว่าภาคการส่งออกจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

จากการที่การส่งออกเป็นความหวังหลักในการนำพาเศรษฐกิจไทยฝ่ามรสุมทางการเมืองที่กำลังเผชิญอยู่นี้ การดูแลภาคการส่งออกให้เติบโตต่อไปได้โดยไม่สะดุดจึงเป็นมาตรการสำคัญอันหนึ่งสำหรับรัฐบาลที่จะผลักดันเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2553 แนวทางเร่งด่วนที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในด้านการส่งออกควรดำเนินการ คือ ในยามที่คู่ค้าในต่างประเทศอาจมีความกังวลต่อปัญหาการเมืองในไทย การประชาสัมพันธ์เชิงรุกเป็นมาตรการสำคัญอันหนึ่งที่จะช่วยลดความกังวลของลูกค้าในต่างประเทศ ขณะที่ควรมีการจัดกิจกรรมในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้าเข้าถึงคู่ค้าในตลาดเป้าหมายได้โดยตรง ซึ่งจะเป็นการรักษาออร์เดอร์ไม่ให้ได้รับผลกระทบ เช่น งานแสดงสินค้า การจัดเวทีผู้ซื้อพบผู้ขาย หรือ Business Matching ทั้งนี้เนื่องจากการจัดงานแสดงสินค้าในประเทศในช่วงระยะนี้อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ที่จะส่งผลให้บรรดาผู้นำเข้าในต่างประเทศบางส่วนอาจมีความกังวลต่อการเดินทางเข้ามาร่วมกิจกรรมหรือการเจรจาธุรกิจในประเทศไทย ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรมีการเตรียมแผนรองรับด้านระบบโลจิสติกส์ในกรณีฉุกเฉินหากมีเหตุการณ์ที่อาจกระทบต่อเส้นทางลำเลียงสินค้าส่งออกและนำเข้า เพื่อไม่ให้การส่งออกต้องสะดุด และควรมีการจัดเตรียมศูนย์ให้ข้อมูลข่าวสารแก่เอสเอ็มอีในกรณีดังกล่าว เนื่องจากเอสเอ็มอีไม่มีเครือข่ายธุรกิจที่เข้มแข็งเหมือนกับธุรกิจขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ธุรกิจใช้ประโยชน์จาก FTA อย่างเต็มที่ในการขยายตลาดส่งออก สำหรับประเด็นเรื่องค่าเงินบาทซึ่งเป็นข้อกังวลของผู้ประกอบการหลายกลุ่มนั้น ทางการคงจะมีการติดตามดูแลให้เงินบาทมีการเคลื่อนไหวไม่ผันผวนหรือแข็งค่ารวดเร็วกว่าสกุลเงินอื่นๆ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการคงต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งปรับตัวและปรับกลยุทธ์ในด้านต่างๆ ทั้งการลดต้นทุน การขยายตลาดใหม่ๆ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อหลีกหนีตลาดที่แข่งขันสูงในด้านราคา เพื่อรักษาศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก