แม้ว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และกลุ่มยูโรได้อนุมัติเงินช่วยเหลือกรีซมูลค่ารวม 110 พันล้านยูโร เพื่อใช้แก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะที่มีมูลค่ารวม 3 แสนล้านยูโร (โดยเป็นเงินจาก IMF มูลค่า 30 พันล้านยูโร และที่เหลือจากกลุ่มยูโรอีก 80 พันล้านยูโร) ซึ่งส่วนหนึ่งของเงินช่วยเหลือจะใช้ในการชำระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในวันที่ 19 พฤษภาคม นี้ ได้คลายความกังวลต่อปัญหาหนี้ของกรีซในระยะสั้นไปได้ นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ยังอนุมัติเงิน 5 แสนล้านยูโร เพื่อจัดตั้งกลไกสร้างเสถียรภาพแห่งยุโรปเพื่อปกป้องเสถียรภาพทางการเงินของยุโรปที่อาจลุกลามไปยังประเทศยุโรปอื่นๆ ได้ รวมทั้งเงินสมทบจาก IMF อีก 2.5 แสนล้านยูโร ซึ่งสร้างความมั่นใจให้เศรษฐกิจยุโรปได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ฐานะการคลังที่อ่อนแอของหลายประเทศในยุโรปอย่างไอร์แลนด์ โปรตุเกส และสเปน ที่มีหนี้สาธารณะและการขาดดุลการคลังต่อจีดีพีในระดับสูง ยังคงถือเป็นปัจจัยท้าทายสำคัญต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้และอาจฉุดรั้งให้การเติบโตของเศรษฐกิจยุโรปโดยรวมเป็นไปได้อย่างเชื่องช้าเมื่อเทียบภูมิภาคอื่นๆ แม้คาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจกลุ่มยูโรจะสามารถกลับมาขยายตัวได้จากปีที่ผ่านมาที่ต้องประสบภาวะเศรษฐกิจหดตัวร้อยละ 4 แต่ก็คาดว่ามีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่ากลุ่มจี 3 อย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น
ประเทศยุโรปที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อย่างเยอรมนี อังกฤษและฝรั่งเศส มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของประเทศยุโรปที่ประสบปัญหาหนี้สินทั้งหลาย แม้ผลกระทบในระยะสั้นจากการผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่มยุโรปที่ประสบปัญหาอาจบรรเทาลงในขณะนี้เนื่องจากกรีซได้รับเงินช่วยเหลือจาก IMF และกลุ่มยูโร ขณะที่ประเทศยุโรปที่มีปัญหาหนี้สาธารณะและการขาดดุลการคลังต่อจีดีพีในระดับสูงอย่างไอร์แลนด์ (ร้อยละ 14.3 ต่อจีดีพี) สเปน (ร้อยละ 11.2 ต่อจีดีพี) และโปรตุเกส (ร้อยละ 9.4 ต่อจีดีพี) อาจได้อานิสงส์จากกลไกสร้างเสถียรภาพแห่งยุโรปที่กลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) จัดตั้งขึ้นมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นวงเงินปล่อยกู้และค้ำประกันหนี้มูลค่า 4.4 แสนล้านยูโร ซึ่งอาจช่วยเหลือปัญหาหนี้ได้ในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม การจัดสรรเงินช่วยเหลือของประเทศยุโรปต่างๆ อย่างเยอรมนี และฝรั่งเศส อาจส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศเหล่านี้เติบโตชะลอลง เนื่องจากความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปอาจมีข้อจำกัด ซึ่งมีแนวโน้มอาจทำให้ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศรวมทั้งไทยชะลอลงตามไปด้วย ขณะที่ค่าเงินยูโรที่มีทิศทางอ่อนค่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่งผลให้เงินบาทเมื่อเทียบกับยูโรอยู่ในระดับแข็งค่า ทำให้สินค้าส่งออกของไทยไปกลุ่มยูโรมีราคาสูงขึ้นในสายตาของผู้นำเข้ายุโรป อย่างไรก็ตาม สินค้าประเทศคู่แข่งของไทยในเอเชียต่างก็ประสบปัญหาการแข็งค่าของเงินเมื่อเทียบกับเงินยูโรเช่นกันไม่ว่าจะเป็นเงินรูเปี๊ยะของอินโดนีเซีย และเงินวอนของเกาหลีใต้ ทำให้ศักยภาพการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกไทยในตลาดยูโรโดยเปรียบเทียบอาจได้รับผลกระทบไม่มากนัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าผลกระทบจากวิกฤตหนี้ในยุโรปที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปโดยรวม ทำให้การส่งออกของไทยไปประเทศยุโรปอาจเผชิญข้อจำกัดของการขยายตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้ แม้ว่าการส่งออกไปยุโรป (15) ในช่วงไตรมาสแรกสามารถกลับมาเติบโตได้ร้อยละ 24.5 จากช่วงเดียวกันของปี 2552 (YoY) โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
? แม้ว่าการส่งออกของไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการส่งออกไปกลุ่มประเทศยูโรที่มีปัญหาหนี้สินในระดับสูงอย่างกรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน และอิตาลี (กลุ่ม PIIGS) เนื่องจากมูลค่าการส่งออกของไทยไปประเทศเหล่านี้ในปัจจุบันค่อนข้างต่ำ คิดเป็นสัดส่วนรวมกันไม่ถึงร้อยละ 2 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย แม้ว่าในช่วงไตรมาส 1/2553 ไทยส่งออกไปกลุ่ม PIIGS สามารถพลิกมาเติบโตร้อยละ 28.6 (YoY) จากที่หดตัวร้อยละ 37.4 ในปี 2552 แต่เศรษฐกิจกลุ่ม PIIGS ที่อาจต้องประสบปัญหาจากวิกฤตการคลัง ทำให้ทางการต้องจำกัดการใช้จ่ายและปรับเพิ่มภาษีซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจของ 3 ประเทศกลุ่ม PIIGS ได้แก่ กรีซ ไอร์แลนด์ และสเปน ยังคงมีแนวโน้มหดตัวในปีนี้ที่ร้อยละ 2.6 ร้อยละ 1.1 และร้อยละ 0.4 ตามลำดับ เทียบกับปีที่ผ่านมาที่หดตัวร้อยละ 2.0 ร้อยละ 7.1 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ ขณะที่อิตาลีและโปรตุเกสอาจกลับมาเติบโตได้ร้อยละ 0.8 และร้อยละ 0.5 ตามลำดับ จากที่หดตัวร้อยละ 5.1 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ ในปีที่ผ่านมา ทำให้คาดว่าการส่งออกของไทยไปกลุ่ม PIIGS ในปี 2553 นี้อาจอยู่ระหว่างหดตัวร้อยละ 3 ถึงเติบโตร้อยละ 3 ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจกลุ่มยูโรในปีนี้อาจเติบโตได้ไม่มากนักจากผลกระทบของวิกฤตการคลัง ของหลายประเทศ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจยูโรอาจจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.6-1.0 ในปีนี้ ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปกลุ่มยุโรปที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทยอย่างเนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และเยอรมนีอาจเติบโตชะลอลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ เทียบกับที่ขยายตัวในไตรมาสที่ 1/2553 ค่อนข้างสูงกว่าร้อยละ 23 ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปยุโรปที่เหลือ (ยกเว้นกลุ่ม PIIGS) อาจเติบโตได้ร้อยละ 3.0-6.0 และทำให้การส่งออกของไทยไปตลาดยุโรปรวม 15 ประเทศ (กลุ่ม PIIGS และยุโรปที่เหลือ) อาจขยายตัวร้อยละ 2.0-5.0 ในปีนี้ เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 24.5 ในปี 2552 ที่ผ่านมา
? สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยุโรปที่อาจเติบโตชะลอลงตามเศรษฐกิจยุโรปที่อาจต้องประสบปัญหา เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์/ชิ้นส่วน อัญมณี/เครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ/ชิ้นส่วน รถยนต์/ชิ้นส่วน เสื้อผ้าสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์ยาง ทั้งนี้อัตราการชะลอตัวขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของผลกระทบจากวิกฤตหนี้สินต่อเศรษฐกิจประเทศยุโรปอื่นๆ ที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทยอย่างเนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และเยอรมนี ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย 3 อันดับแรกในกลุ่มยุโรป มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 5.6 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย หรือคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของการส่งออกไปกลุ่มยุโรป (15) โดยรวมที่มีสัดส่วนร้อยละ 10.5 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยในไตรมาสแรก ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 1/2553 แม้ไทยส่งออกไปกลุ่มยุโรป (15 ประเทศ) กลับมาเติบโตร้อยละ 21.6 (YoY) จากที่หดตัวร้อยละ 24.5 ในปี 2552 แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่าการเติบโตของการส่งออกรวมของไทยไปทั่วโลกที่ขยายตัวร้อยละ 31.6 (YoY) และต่ำกว่าการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกไปยังกลุ่มประเทศจี 3 อีก 2 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ที่ขยายตัวร้อยละ 22.8 และญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 29.4 ขณะที่การส่งออกไปตลาดในเอเชียอย่างจีนและอาเซียนเติบโตถึงร้อยละ 70 และร้อยละ 67 ตามลำดับ
สรุป
วิกฤตหนี้ในยุโรปดูเหมือนจะบรรเทาลงในระยะสั้นหลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และกลุ่มยูโรให้เงินช่วยเหลือรวม 110 พันล้านยูโรแก่กรีซ อีกทั้งกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ได้จัดตั้งกลไกสร้างเสถียรภาพแห่งยุโรปด้วยวงเงินมูลค่า 5 แสนล้านยูโร และเงินสมบทบจาก IMF อีก 2.5 แสนล้านยูโร เพื่อป้องกันปัญหาหนี้ในยุโรปที่อาจลุกลามจากกรีซไปประเทศยุโรปอื่นๆ อย่างไอร์แลนด์ สเปน อิตาลีและโปรตุเกส แต่ความกังวลของวิกฤตหนี้ยังคงมีอยู่ เนื่องจากหลายประเทศยุโรปมีฐานะการคลังอ่อนแอจากหนี้สาธารณะและการขาดดุลการคลังต่อจีดีพีที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของยุโรปโดยรวม และอาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรในปีนี้
สำหรับผลกระทบต่อไทย ผลกระทบทางตรงต่อภาคส่งออกไทยค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการส่งออกของไทยไปยังกลุ่ม PIIGS ที่ประสบปัญหาหนี้และการขาดดุลการคลังต่อจีดีพีในระดับสูง มีมูลค่าค่อนข้างน้อย สัดส่วนรวมกันไม่ถึงร้อยละ 2 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าอัตราขยายตัวของการส่งออกของไทยไปกลุ่ม PIIGS ในปีนี้อาจอยู่ระหว่างหดตัวร้อยละ 3.0 และเติบโตร้อยละ 3.0 (-3.0% ถึง +3.0%) อย่างไรก็ตาม วิกฤตหนี้ยุโรปที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศยุโรปโดยรวม โดยเฉพาะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้และยังต้องใช้เงินช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหาหนี้สิน ทำให้ความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในอาจมีข้อจำกัดมากขึ้น ทำให้แรงขับเคลื่อนความต้องการภาคการบริโภคและการลงทุนประเทศเหล่านี้อาจต้องอ่อนแรงลงและอาจฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจยุโรปโดยรวม และย่อมส่งผลให้การส่งออกของไทยไปยุโรปในช่วงที่เหลือของปีนี้ อาจต้องชะลอลงจากไตรมาสแรก
อย่างไรก็ตาม คาดว่าฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปี 2552 และการส่งออกของไทยไปยุโรป (15) ในไตรมาสแรกที่เติบโตค่อนข้างดีในอัตราร้อยละ 21.6 จะช่วยหนุนให้การส่งออกของไทยไปยุโรปอื่นๆ (ไม่รวมกลุ่ม PIIGS) ในปีนี้ ยังคงเติบโตได้ในแดนบวก โดยคาดการณ์ว่าการส่งออกไทยไปยังกลุ่มยุโรปที่เหลือ (ไม่รวมกลุ่ม PIIGS) ในปีนี้อาจขยายตัวร้อยละ 3.0-6.0 ส่งผลให้การส่งออกรวมของไทยไปยุโรป (15) ซึ่งรวมกลุ่ม PIIGS และยุโรปที่เหลือ อาจเติบโตได้ไม่มากนัก โดยอาจขยายตัวระหว่างร้อยละ 2.0-5.0 ในปีนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่คาดว่าอาจได้รับผลกระทบให้ชะลอตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์/ชิ้นส่วน อัญมณี/เครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ/ชิ้นส่วน และรถยนต์/ชิ้นส่วน
กล่าวได้ว่า แรงขับเคลื่อนสำคัญของภาคส่งออกที่ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ในภาวะที่ภาคการบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยวต้องประสบปัญหาจากเหตุการณ์ทางการเมือง อาจต้องเผชิญปัจจัยท้าทายสำคัญจากปัญหาความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจยุโรปในช่วงที่เหลือของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ไทยน่าจะได้อานิสงส์จากความตกลง FTA ที่มาช่วยบรรเทาผลกระทบจากแนวโน้มการส่งออกไปยุโรปที่อาจมีข้อจำกัด เนื่องจากในปีนี้ การลด/ยกเลิกภาษีตามความตกลง FTA ของไทยหลายฉบับมีความคืบหน้าไปมาก ได้แก่ ความตกลง FTA ของอาเซียน (AFTA) และ FTA อาเซียน-จีน ที่ภาษีสินค้าปกติ (Normal Track) ลดเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 ส่วนความตกลงฯ อีกหลายฉบับเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีนี้ ได้แก่ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ และ FTA อาเซียน-อินเดียที่เริ่มมีผลในเดือนมกราคม 2553 และ FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ ที่เริ่มมีผลในเดือนมีนาคม 2553 ทำให้การส่งออกของไทยไปประเทศคู่เจรจา FTA เหล่านี้มีแนวโน้มเติบโตได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยรองรับความต้องการภายในที่เพิ่มขึ้นของประเทศคู่เจรจาตามการเติบโตของเศรษฐกิจที่ส่วนใหญ่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในปีนี้ เมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก