เครื่องใช้ไฟฟ้าส่งออกคาดเติบโตได้ดี … ตลาดในประเทศรอการเมืองนิ่ง

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงส่งสัญญาณแสดงถึงการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องทั้งในตลาดส่งออก และตลาดในประเทศ ซึ่งขยายตัวสูงเป็นตัวเลข 2 หลักในช่วง4 เดือนแรก ของปี 2553 โดยปัจจัยสนับสนุนการเติบโตมาจากภาวะเศรษฐกิจที่มีทิศทางที่ดีขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น และจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเป็นลำดับนี้ จะเห็นว่าผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของโลกต่างเริ่มเปิดตัวผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ ออกมาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2553 ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภทจะมีปัจจัยหนุนต่อการเติบโต อาทิเช่น กระแสฟุตบอลโลก “World Cup 2010” ที่เป็นที่แพร่หลายทั่วโลก ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทผู้ผลิตโทรทัศน์ชั้นนำของโลกคงจะออกมาเร่งทำแคมเปญ โทรทัศน์รุ่นใหม่ไปยังหลายประเทศทั่วโลก หรือจะเป็นกระแสรักษ์โลก และท่ามกลางภาวะที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของโลกต่างนำผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดพลังงานออกมาทำตลาด เป็นต้น ทำให้คาดว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงที่เหลือของปี 2553 น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยที่อาจมีผลต่อแนวโน้มตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งตลาดส่งออก และตลาดภายในประเทศ ดังนี้

ตลาดส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าทิศทางยังสดใส … คาดเติบโตร้อยละ 15.0 – 20.0

ประเทศไทยนับได้ว่าเป็นประเทศที่มีการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ามากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยจุดแข็งของไทยอยู่ในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ซึ่งมีบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของโลกต่างเข้ามาลงทุนในไทยและขยายฐานการผลิตในประเทศ ทำให้ไทยมีศักยภาพในการเป็นฮับการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2552 ที่ผ่านมา ทำให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของโลก ต่างเริ่มกลับมาทำตลาดเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ๆ ออกมากระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง

จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ภาพรวมการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงเดือนมกราคม ถึง เดือนเมษายน ของปี 2553 มีการเติบโตสูงถึงร้อยละ 36.3 หรือมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 5,889.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากจะเป็นการเติบโตในประเทศคู่ค้าหลักที่สำคัญของไทยแล้ว ยังมีการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไปยังตลาดใหม่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สาธารณรัฐเช็ก บางประเทศทางแถบตะวันออกกลาง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย รวมทั้งประเทศแถบแอฟริกา เช่น อียิปต์ แอฟริกาใต้ เป็นต้น

สำหรับศักยภาพของการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในระยะที่เหลือของปี 2553 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ตลาดส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าน่าจะมีทิศทางที่เติบโตได้ดี โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ คือ การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย และตลาดใหม่อื่นๆ รวมถึงเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประชาชนในประเทศ นอกจากนี้การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยยังได้รับปัจจัยบวกจากการทำข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งทำให้อัตราภาษีของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และส่วนประกอบหลายประเภทปรับลดลงเป็นร้อยละ 0.0 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา จึงส่งผลให้ราคาเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ส่งออกจากไทยมีราคาถูกลง ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดที่มีความตกลงการค้าเสรีกับไทย รวมทั้งยังเป็นผลมาจากการขยายการลงทุนของบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของต่างชาติหลายราย ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศในอาเซียนและภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก อาทิ บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ในช่วงระยะที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพของกำลังการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มในระยะต่อไป คาดว่าปัจจัยหนุนดังกล่าวข้างต้น น่าจะยังคงมีแรงขับเคลื่อนให้การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยขยายตัวได้ แต่ยังคงต้องติดตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ของโลก โดยเฉพาะยุโรป ซึ่งมีความกังวลว่า ปัญหาวิกฤตหนี้ของกรีซจะลุกลามจนส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศในยูโรโซนโดยรวม ทั้งนี้ ตลาดยุโรปโดยรวมทั้งภูมิภาคนั้นนับว่าเป็นตลาดส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบที่สำคัญของไทย โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 18 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบโดยรวมของไทย โดยภาพรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยในปี 2553 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 15.0 ถึงร้อยละ 20.0 หรือคิดเป็นมูลค่าส่งออก 17,870-18,650 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับประเด็นสำคัญที่จะมีผลต่ออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในระยะปานกลางถึงระยะยาว คือ

ภาวะการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในตลาดในประเทศ แม้ว่าการเปิดเสรีทางการค้าจะมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดส่งออก และสามารถใช้ชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบนำเข้าในต้นทุนที่ต่ำลง แต่ในอีกด้าน ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบที่ผลิตป้อนตลาดในประเทศ อาจจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันกับสินค้านำเข้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการคนไทยที่อาจไม่มีแบรนด์ของตนเอง หรือการยอมรับในแบรนด์อาจยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ ก็จำเป็นต้องปรับตัวรับมือกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น

ความท้าทายในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยผลพวงของการเปิดการค้าเสรี ทำให้ผู้ผลิตซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติมีการปรับกลยุทธ์การลงทุน โดยแนวทางรวมศูนย์การผลิตในภูมิภาคไว้ในประเทศใดประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพในการผลิตสูงสุด ซึ่งในการผลิตสินค้าบางประเภท ไทยอาจยังมีศักยภาพการผลิตเหนือกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เช่น สินค้าเครื่องปรับอากาศและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสินค้าบางกลุ่มไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีสาเหตุ เช่น ค่าจ้างแรงงานที่อาจสูงกว่าบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม และระบบอัตราภาษีสำหรับวัตถุดิบต้นน้ำที่สูงกว่ามาเลเซีย นอกจากนี้อาจมีประเด็นด้านความได้เปรียบ-เสียเปรียบในการเข้าถึงตลาดในบางภูมิภาค เช่น อุปสรรคในเรื่องของแหล่งกำเนิดสินค้าที่ต้องมีสัดส่วนตามที่ประเทศคู่ค้ากำหนด เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของสินค้า ซึ่งบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำต่างพัฒนา คิดค้นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น เช่น เทคโนโลยีการประหยัดพลังงานของเครื่องใช้ไฟฟ้า เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาโทรทัศน์ระบบ 3 มิติ หรือ ที่เรียกว่า 3D Television ซึ่งสินค้าใหม่ๆ เหล่านี้ ต่างมีเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน และอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงมากขึ้น ซึ่งผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของโลกมีการปรับเปลี่ยนฐานการผลิตสินค้าไปยังประเทศที่มีความพร้อม เช่น จีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสนับสนุนอยู่ในทุกระดับของห่วงโซ่การผลิต (Value Chain) และทุกระดับเทคโนโลยี รวมอยู่ในประเทศเดียวกัน

ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศยังมีความเสี่ยงทางการเมือง … คาดเติบโตร้อยละ 2.7- 6.7

ภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีการฟื้นตัวแข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ทำให้ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 มีอัตราการเติบโตที่ดี จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ปริมาณการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศมีการขยายตัวดีกว่าปีก่อนหน้า สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการเติบโตของยอดขายสูง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และพัดลม เนื่องจากภาวะอากาศที่มีอุณหภูมิสูงมาตั้งแต่ต้นปี ทำให้ผู้บริโภคหาซื้อเครื่องปรับอากาศและพัดลมเพื่อบรรเทาความร้อน ในขณะที่ตู้เย็น โทรทัศน์ เครื่องซักผ้า และหม้อหุงข้าวขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างดี

สำหรับแนวโน้มตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศในปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะมีมูลค่าประมาณ 84,750-88,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.7-6.7 จากที่หดตัวร้อยละ 1.7 (หรือมีมูลค่าประมาณ 82,500 บ้านบาท) ในปี 2552 โดยตลาดมีแรงหนุนหลักจากภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับจากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศให้ดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ การเติบโตของปริมาณเครื่องใช้ไฟฟ้ายังมาจากปัจจัยเฉพาะทางธุรกิจ เช่น สภาวะอากาศที่ร้อนจัดในปีนี้ ส่งผลต่อปริมาณการชื้อเครื่องปรับอากาศและพัดลมให้เติบโตได้ดี หรือการเติบโตของยอดขายโทรทัศน์ที่คาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากการการโหมแคมเปญการตลาดในช่วงมหกรรมฟุตบอลโลก 2010 รวมถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จ อาจมีผลต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นตามมาเช่นกัน

อย่างไรก็ตามสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่มีความรุนแรง โดยแม้ว่าผู้ชุมนุมจะยุติการชุมนุมที่ย่านราชประสงค์ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ก็ตาม แต่เหตุการณ์การเผาศูนย์กลางธุรกิจและการค้าหลายแห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงศาลากลางจังหวัดในต่างจังหวัด ได้สร้างความสูญเสียทางธุรกิจ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านค้าที่ถูกเผา และรายได้ของลูกจ้างแรงงาน ที่บางกรณีได้ถูกเลิกจ้าง รวมถึงธุรกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง จึงอาจจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นให้กลับฟื้นคืนมา แต่อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคงมีความเสี่ยงสูง อาจจะยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้

สำหรับแนวโน้มตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงที่เหลือของปี 2553 ตลาดคงจะมีการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะเมื่อการลดภาษีการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภทเหลือร้อยละ 0.0 ตามกรอบข้อตกลงการเปิดเสรีอาเซียน และอาเซียน-จีน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมานั้น ผลจากการลดภาษีดังกล่าวทำให้ราคาสินค้านำเข้ามีราคาถูกลง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคทำให้สามารถเลือกซื้อสินค้าที่หลากหลาย และสามารถเปรียบเทียบราคาและคุณสมบัติของสินค้าก่อนที่จะตัดสินใจ อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติไทยซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีแบรนด์เป็นที่รู้จักเท่ากับแบรนด์ต่างชาติ อาจต้องเผชิญการแข่งขันและแรงกดดันราคาเพิ่มขึ้นจากการเข้ามาของเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบจากประเทศจีนและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย มากขึ้น

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงที่เหลือของปี 2553 นี้ คาดว่าจะสามารถเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดการส่งออก และตลาดในประเทศ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในปีนี้ น่าจะมีมูลค่าประมาณ 17,870-18,650 ล้านดอลลาร์ฯ โดยมีอัตราการเติบโตร้อยละ 15.0-20.0 เพิ่มขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 13.8 ในปี 2552 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย และการเพิ่มสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่มีการเติบโตที่เร็ว ในขณะที่ประเทศคู่ค้าหลัก เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากการเปิดการค้าเสรีอาเซียน และอาเซียน-จีน ที่มีผลให้สินค้าของไทยมีราคาต่ำลงในตลาดของประเทศคู่เจรจา รวมทั้งยังมีสาเหตุจากการขยายการลงทุนในไทยของบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำจากต่างประเทศในระยะที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในปีนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ปัญหาวิกฤตหนี้ในกรีซ ที่อาจจะลุกลามไปยังประเทศสมาชิกยูโรโซนอื่นๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปที่เป็นตลาดส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สำคัญของไทย

สำหรับแนวโน้มตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศในช่วงที่เหลือของปี 2553 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศยังมีปัจจัยสนับสนุนการขยายตัว ที่สำคัญคือ ภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น การกระตุ้นตลาดจากการทำแคมเปญของผู้ประกอบการแบรนด์ต่างๆ เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด และปัจจัยอื่นๆ เช่น มหกรรมฟุตบอลโลกปี 2010 และการลดภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ปัญหาการเมืองที่ยังคงยืดเยื้ออาจจะยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปี 2553 นี้ ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจึงเผชิญกับความท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการที่จะต้องปรับแผนการดำเนินธุรกิจและกลยุทธ์การตลาด เพื่อกระตุ้นยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศให้เป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2553 อาจจะขยายตัวร้อยละ 2.7-6.7 (มีมูลค่า 84,750-88,000 ล้านบาท) จากที่หดตัวร้อยละ 1.7 ในปี 2552

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า เนื่องจากอุตสาหกรรมไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากประเทศไทยต้องการที่จะดึงให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ต่างชาติเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคแทนที่จะเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่นๆ ในอาเซียน หรือจีนนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจต้องมีการปรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในด้านอื่นๆ ที่เอื้อต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย เพื่อให้มีความน่าดึงดูดสำหรับการลงทุนมากขึ้น เช่น โครงสร้างระบบภาษี ระบบการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ และการพัฒนาความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรม

ในขณะที่ผู้ผลิตไทยเองควรพัฒนาศักยภาพในการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าไปอยู่ในสายการผลิตของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าของโลก ไม่ว่าจะโดยการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงการมองหาตลาดใหม่ๆ ในการขยายฐานตลาด ควบคู่ไปกับการรักษาฐานลูกค้าเดิม รวมถึงการหาจุดแข็งของผลิตภัณฑ์แทนการลงมาแข่งขันในเรื่องราคากับสินค้าจีน โดยผู้ประกอบการควรปรับกระบวนการผลิตโดยหันไปผลิตสินค้าที่มีความแตกต่าง มีจุดเด่นของตนเอง การรักษาคุณภาพไว้โดยใช้จุดแข็งของไทยที่การผลิตมีความยืดหยุ่นสูงให้เป็นประโยชน์ และเน้นในเรื่องคุณภาพ ซึ่งจะทำให้สามารถยกระดับสินค้าของไทย รวมถึงสามารถขายสินค้าได้ในราคาที่สูงกว่า