มูลค่าส่งออกของไทยไปจีนในเดือนเมษายนเติบโตร้อยละ 28 จากช่วงเดียวกันปี 2552 (YoY) มีทิศทางชะลอลงต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 48.8 ในเดือนมีนาคม ร้อยละ 75 ในเดือนกุมภาพันธ์ และร้อยละ 94 ในเดือนมกราคม สาเหตุสำคัญเนื่องจากฐานเปรียบเทียบปี 2552 ที่ต่ำในช่วงต้นปีและค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ตามแรงขับเคลื่อนสำคัญจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 และเศรษฐกิจโลกที่ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า การส่งออกไปจีนเดือนเมษายนหดตัวร้อยละ 14.4 (MoM) จากที่ขยายตัวร้อยละ 11 ในเดือนมีนาคมก่อนหน้า (MoM) นับว่ามูลค่าส่งออกไปจีนในเดือนเมษายนที่อยู่ที่ 1,551 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 สำหรับในช่วง 4 เดือนแรกในปีนี้ การส่งออกของไทยไปจีนเติบโตร้อยละ 57.3 (YoY) ชะลอลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 70 (YoY) สินค้าส่งออกสำคัญๆ ของไทยไปจีนในเดือนเมษายนยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องแต่อัตราเติบโตชะลอลง เมื่อเทียบกับไตรมาสที่1/2553 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์/ชิ้นส่วน ยางพารา เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า ไม้และผลิตภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า การส่งออกของไทยไปจีนในปี 2553 ยังมีแนวโน้มเติบโตในแดนบวกได้จากที่หดตัวร้อยละ 0.4 ในปี 2552 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยท้าทายหลายด้านที่อาจกระทบต่อการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ประกอบกับฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในไตรมาสแรกของปี 2552 อาจส่งผลให้การส่งออกของไทยมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่งผลให้การส่งออกไปจีนทั้งปี 2553 อาจเติบโตราวร้อยละ 18-25 หลังจากที่ขยายตัวถึงร้อยละ 70 ไตรมาสแรก (YoY) โดยมีปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกไปจีนในช่วงที่เหลือของปี 2553 ดังนี้
ทางการจีนมีแนวโน้มใช้มาตรการเข้มงวดในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการใช้นโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้นในระยะต่อไป
แม้ยอดค้าปลีกของจีนในเดือนเมษายนยังคงขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 18.5 (YoY) และภาคการผลิตและการลงทุนของจีนยังคงเติบโตต่อเนื่อง แต่ดัชนีสำคัญบางด้านสะท้อนถึงการขยายตัวชะลอลง สาเหตุหนึ่งน่าจะเป็นผลจากมาตรการคุมเข้มมากขึ้นในตลาดอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ต้นปีนี้ที่ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีแนวโน้มเติบโตชะลอลง เช่น วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน อีกทั้งการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นโดยการปรับขึ้นสัดส่วนสำรองเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio : RRR) อีกร้อยละ 0.5 ในวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ถือเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่ต้นปี เพื่อควบคุมการขยายตัวของสินเชื่อ ซึ่งมีแนวโน้มส่งผลให้ภาคการผลิตและการลงทุนในจีนอาจอ่อนแรงลง ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายนเติบโตร้อยละ 17.8 (YoY) ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 18.1 ในเดือนก่อนหน้า (YoY) เช่นเดียวกับปริมาณเงิน (M2) ในเดือนเมษายนอยู่ที่ 6.56 ล้านล้านหยวน เติบโตร้อยละ 21.5 (YoY) ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 22.5 ในเดือนก่อนหน้า (YoY) การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเขตเมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ถือว่าชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 26.4 ในไตรมาสแรก ขณะที่ยอดค้าปลีกยังคงขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 18.5 (YoY)
แรงขับเคลื่อนภาคส่งออกของจีนอาจถูกกระทบจากปัญหาหนี้สินในยุโรป
วิกฤตหนี้สินในยุโรปหลายประเทศอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปโดยรวมในปีนี้ให้เติบโตได้ไม่มากนัก อาจทำให้การส่งออกของจีนไปยุโรปมีแนวโน้มอ่อนแรงลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังจากที่มูลค่าส่งออกของจีนไปกลุ่มอียูซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 1 ของจีน (สัดส่วนร้อยละ 20) ปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมากในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ โดยกลับมาเติบโตร้อยละ 30.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากที่หดตัวร้อยละ 19 ในปี 2552 สินค้าส่งออกสำคัญของจีนไปกลุ่มยุโรปล้วนปรับตัวดีขึ้นในช่วง 4 เดือนแรก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรกล อุปกรณ์/เครื่องไฟฟ้า และสิ่งทอ
แม้ว่ากลุ่มอียูและ IMF สนับสนุนเงินเพื่อใช้เป็นมาตรการปกป้องค่าเงินยูโรและช่วยเหลือปัญหาหนี้สินในกรีซมูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งได้ช่วยคลายความกังวลต่อวิกฤตหนี้สินของหลายประเทศในยุโรปอย่างกรีซ โปรตุเกส สเปน ไอร์แลนด์ และอิตาลี ไปได้บ้างในระยะสั้น แต่ยังคงต้องจับตามองผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปโดยรวมในระยะต่อไป เนื่องจากปัญหาทางการเงินยังมีความเปราะบาง รวมถึงการที่ธนาคารกลางสเปนเข้าเทคโอเวอร์ธนาคาร Cajasur ซึ่งเป็นธนาคารออมทรัพย์แห่งหนึ่งของสเปน หลังจากการควบรวมกิจการระหว่างธนาคาร Cajasur และธนาคารรายอื่นๆไม่ประสบความสำเร็จ นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ธนาคารกลางสเปนได้เข้าเทคโอเวอร์กิจการธนาคารในประเทศ ซึ่งสเปนถือเป็นหนึ่งในประเทศในยุโรปที่มียอดขาดดุลงบประมาณในระดับสูง
ผลกระทบจากการส่งออกไปยุโรปที่อ่อนแรง โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลักของจีนในกลุ่มอียู ได้แก่ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี อาจทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนจากไทยเพื่อใช้ผลิตส่งออกต่อไปยังยุโรปอาจต้องชะลอลงตามไปด้วย โดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญของจีนไปกลุ่มอียู ได้แก่ เครื่องจักรกล อุปกรณ์/เครื่องไฟฟ้า และสิ่งทอ
ภาคส่งออกของจีนยังมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากการเติบโตดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 2 ของจีน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาและยอดขายในตลาดอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์ (S&P/Case-Shiller Index) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 (YoY) สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2549 ขณะที่ยอดขายบ้านมือสองเดือนเมษายนที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน เนื่องจากได้แรงหนุนจากมาตรการลดหย่อนภาษีของรัฐบาล แต่ยังอาจต้องประเมินความต่อเนื่องของการฟื้นตัวในระยะต่อไปหลังจากมาตรการของทางการสหรัฐฯ ดังกล่าวหมดอายุลงในเดือนเมษายน
การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกเติบโตร้อยละ 3.6 (YoY) นับว่าสูงที่สุดซึ่งเป็นอัตราเท่ากับไตรมาสแรกปี 2550 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 สูงสุดในรอบกว่า 2 ปี สะท้อนถึงแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2553 เป็นร้อยละ 3.2-3.7 จากคาดการณ์เดิมเมื่อเดือนมกราคมอยู่ที่ร้อยละ 2.8-3.5 อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกของสหรัฐฯ อาจได้รับผลกระทบเช่นกันจากปัญหาหนี้สินในยุโรปในหลายด้าน ทั้งการส่งออกไปตลาดยุโรปอาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจยุโรปที่อ่อนแรงลง อีกด้านหนึ่งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับแข็งค่า ในภาวะที่เงินยูโรถูกปัจจัยกดดันให้อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สินค้าส่งออกของสหรัฐฯ มีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่ลดลงในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม การส่งออกของสหรัฐฯ ยังน่าจะได้แรงขับเคลื่อนจากการส่งออกไปประเทศเอเชียที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่ต้องประสบภาวะเศรษฐกิจหดตัวในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการบริโภคในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นด้วย แม้ว่ายังอาจเติบโตได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากปัญหาการว่างงานในสหรัฐฯ ที่คาดว่ายังอยู่ในระดับสูงในอัตราร้อยละ 9.6 ในปีนี้ ทำให้สินค้าส่งออกของไทยไปจีนเพื่อผลิตส่งออกไปยังสหรัฐฯ น่าจะมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้
ทั้งนี้ การส่งออกของจีนในเดือนเมษายนยังคงเติบโตสูงขึ้นเป็นร้อยละ 30.5 (YoY) จากที่ขยายตัวร้อยละ 24.3 ในเดือนก่อนหน้า (YoY) ส่วนการนำเข้าขยายตัวชะลอเหลือร้อยละ 49.7 (YoY) เทียบกับที่เติบโตร้อยละ 66 ในเดือนมีนาคมก่อนหน้า (YoY) สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเนื่องจากภาคก่อสร้างเติบโตชะลอลงตามมาตรการเข้มงวดมากขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาฟองสบู่ ทำให้ความต้องการวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลางที่ใช้ในภาคก่อสร้างชะลอลงไปด้วย รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ชะลอลง ทำให้มูลค่านำเข้าลดลง โดยจีนกลับมาเกินดุลการค้า 1.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนเมษายน หลังจากที่จีนขาดดุลการค้าในเดือนมีนาคมเป็นเครั้งแรกในรอบ 6 ปี ส่วนมูลค่าเกินดุลการค้าในช่วง 4 เดือนแรกลดลงร้อยละ 78.6 (YoY) เหลือ 16.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สรุป
การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนเมษายนชะลอลงเหลือร้อยละ 28 จากช่วงเดียวกันปี 2552 (YoY) และหดตัวร้อยละ 14 จากเดือนมีนาคมก่อนหน้า (MoM) โดยมูลค่าส่งออกไปจีนในเดือนเมษายนนี้ถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 ซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของทางการจีนเพื่อชะลอการปล่อยสินเชื่อ โดยการปรับขึ้นเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์เป็นครั้งที่ 3 ในเดือนพฤษภาคม นับจากต้นปีนี้ รวมถึงการใช้นโยบายเข้มงวดในภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อควบคุมภาวะฟองสบู่ ซึ่งมาตรการทั้งสองด้าน เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในเขตเมืองในเดือนเมษายนขยายตัวชะลอลง ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนอ่อนแรงลงไปด้วย โดยการส่งออกสำคัญของไทยไปจีนหลายรายการเติบโตอ่อนแรงลง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์/ชิ้นส่วน ยางพารา เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า ไม้และผลิตภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ อย่างไรก็ตาม จีนยังถือเป็นประเทศที่ไทยส่งออกไปมีมูลค่าสูงที่ในเดือนเมษายน และในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.3 ของการส่งออกรวมของไทย รองลงมา ได้แก่ ญี่ปุ่น (สัดส่วนร้อยละ 10) และสหรัฐฯ (สัดส่วนร้อยละ 9.7) ตามลำดับ
ปัจจัยท้าทายการส่งออกไปจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจยุโรปที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของจีน และประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของจีนอย่างสหรัฐฯ ประกอบกับแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของทางการจีนเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และมาตรการคุมเข้มภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อบรรเทาภาวะฟองสบู่ อาจทำให้การบริโภคและการลงทุนในจีนชะลอลง ทำให้ความต้องการนำเข้าของจีนจากประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย อาจต้องอ่อนแรงลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังริมทรัพย์ยังคงเป็นปัญหาความสำคัญต่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจจีน แต่ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจยุโรปที่หลายประเทศอย่างกรีซ โปรตุเกส สเปน ไอร์แลนด์ และอิตาลี ยังคงประสบปัญหาวิกฤตหนี้สิน เนื่องจากภาวะขาดดุลการคลังต่อจีดีพีและหนี้สาธารณะในระดับสูง ทำให้เศรษฐกิจยุโรปโดยรวมมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างเชื่องช้า การส่งออกของจีนไปยุโรปในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจขยายตัวไม่สูงนัก ทำให้คาดว่าทางการจีนอาจระมัดระวังมากขึ้นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าได้มากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออกที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน คาดว่าทางการจีนอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและปรับค่าเงินหยวนให้ยืดหยุ่นได้มากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อและฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้การส่งออกของไทยไปจีนอาจมีแนวโน้มขยายตัวอ่อนแรงลงไปด้วยในช่วงเดียวกัน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกไปจีนในปีนี้อาจเติบโตร้อยละ 18-25 ชะลอลงหลังจากที่ขยายตัวพุ่งขึ้นร้อยละ 70 ในไตรมาสแรก (YoY)