ภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนเมษายน 2553 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนถึง ภาวะการชะลอลงของเครื่องชี้เศรษฐกิจในหลายภาคส่วน โดยการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองที่เริ่มปะทุขึ้นในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2553 และเพิ่มระดับความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ขณะที่ การขยายตัวของภาคการส่งออกชะลอตัวเล็กน้อย หลังจากที่ขยายตัวค่อนข้างสูงในช่วงหลายเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยทำการสรุปประเด็นสำคัญจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนเมษายน 2553 และประเมินภาพแนวโน้มในระยะถัดไปไว้ดังนี้ :-
การบริโภคภาคเอกชนเดือนเม.ย. 2553 พลิกกลับมาหดตัวร้อยละ 0.9 จากเดือนก่อนหน้า (MoM) หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 ในเดือนมี.ค.
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 7.0 ในเดือนเม.ย. ชะลอลงจากร้อยละ 8.7 ในเดือนมี.ค. ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ปี 2543 รวมถึงปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงอย่างพร้อมเพรียงกันท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ อย่างไรก็ดี ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งยังสามารถขยายตัวได้ดีในเดือนนี้ เนื่องจากมีการทยอยส่งมอบรถยนต์ตามยอดที่จองไว้ในเดือนก่อนหน้า
การลงทุนภาคเอกชนเดือนเม.ย. 2553 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเหลือร้อยละ 1.3 จากเดือนก่อนหน้า (MoM) หลังจากที่เร่งขึ้นอย่างมากร้อยละ 3.0 ในเดือนมี.ค.
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 20.3 ในเดือนเม.ย. ซึ่งนับเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2547 และเร่งขึ้นต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 18.1 ในเดือนมี.ค. โดยเครื่องชี้ด้านการลงทุนที่ยังคงสัญญาณเชิงบวกไว้ได้ท่ามกลางบรรยากาศเชิงลบทางการเมืองในเดือนเม.ย. ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ และการนำเข้าสินค้าทุน (ซึ่งรวมถึงเครื่องจักรและอุปกรณ์) ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของการลงทุนในหมวดก่อสร้าง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์
ความเชื่อมั่นภาคเอกชนถดถอยลงต่อเนื่องในเดือนเม.ย. 2553 ท่ามกลางการยกระดับความรุนของความเสี่ยงทางการเมือง โดยในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (จัดทำโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย) ปรับลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 75.0 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 8 เดือน (เทียบกับระดับ 77.3 ในเดือนมี.ค.) ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย) ดิ่งลงมาอยู่ที่ 46.0 จาก 55.7 ในเดือนมี.ค. ซึ่งนับว่าเป็นการปรับลดลงรายเดือนที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการเริ่มจัดทำผลสำรวจในปี 2542
การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. 2553 หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้า (MoM) เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนร้อยละ 2.0 หลังจากที่ขยายตัวสูงถึง 4.5 ในเดือนมี.ค. จากการเร่งผลิตก่อนเทศกาลสงกรานต์
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) แม้ว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องอีกร้อยละ 21.3 ในเดือนเม.ย. แต่ก็เป็นอัตราที่ชะลอลงจากร้อยละ 33.6 ในเดือนมี.ค. ทั้งนี้ การชะลอตัวเกิดขึ้นพร้อมเพรียงในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อขายในประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากความซบเซาของอุปสงค์ภายในประเทศจากปัญหาการเมือง อีกทั้งมีการเร่งผลิตไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า แต่กระนั้นก็ดี การผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกยังคงมีอัตราการขยายตัวที่ค่อนข้างสูงต่อเนื่อง โดยสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ และอาหารทะเลกระป๋อง ยังคงมีคำสั่งซื้ออยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. 2553 ที่ชะลอลงรุนแรงจากระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ในเดือนมี.ค. ได้ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนเม.ย.ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือนที่ร้อยละ 62.3 จากร้อยละ 75.0 ในเดือนมี.ค.
ผลผลิตพืชผลเดือนเม.ย. 2553 ลดลงร้อยละ 15.1 ขณะที่ ราคาขยับขึ้นร้อยละ 6.9 จากเดือนก่อนหน้า (MoM) และทำให้รายได้เกษตรกรยังคงปรับลดลง (MoM) เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ผลผลิตและราคาพืชผลยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องร้อยละ 5.4 และร้อยละ 15.6 ในเดือนเม.ย. ตามลำดับ ทั้งนี้ ผลผลิตข้าว ปาล์มน้ำมัน และยางพาราปรับตัวขึ้น และช่วยหนุนให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9 ในเดือนเม.ย. ต่อเนื่องจากร้อยละ 23.6 ในเดือนมี.ค.
การส่งออกและการนำเข้าหดตัวลงจากเดือนก่อนหน้า (MoM) โดยการส่งออกหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนที่ร้อยละ 2.5 ในเดือนเม.ย. 2553 (หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 ในเดือนมี.ค.) ขณะที่ การนำเข้าดิ่งลงถึงร้อยละ 7.5 ในเดือนเม.ย. (เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 ในเดือนมี.ค.) ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยงต่างชาติเดือนเม.ย. 2553 นั้น หดตัวร้อยละ 18.0 (MoM) และขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) โดยได้รับผลกระทบโดยตรงจากความไม่สงบของสถานการณ์การเมืองในประเทศ
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) การส่งออกขยายตัวร้อยละ 34.6 ในเดือนเม.ย. ชะลอลงหลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 41.0 ในเดือนมี.ค. ทั้งนี้ การชะลอตัวของการส่งออกกระจายไปในทุกกลุ่มสินค้า (ยกเว้นสินค้าใช้ที่เน้นใช้แรงงานที่ได้รับแรงหนุนสำคัญจากการส่งออกทองคำในเดือนนี้) ตลอดจนทุกตลาดส่งออกหลัก ทั้งกลุ่ม G-3 อาเซียน และจีน
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่ลดลงค่อนข้างมากในเดือนเม.ย. ได้ส่งผลให้ดุลการค้าบันทึกยอดขาดดุลที่ระดับ 190.5 ล้านดอลลาร์ฯ หลังจากที่เกินดุลประมาณ 1,089.9 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนมี.ค. และเมื่อรวมดุลการค้าที่ขาดดุลดังกล่าวเข้ากับยอดขาดดุล 232.1 ล้านดอลลาร์ฯ ในส่วนของดุลบริการฯ จึงส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดบันทึกยอดขาดดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 17 เดือนที่ 422.6 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนเม.ย. หลังจากที่เกินดุล 1,734.4 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนมี.ค.
โดยสรุป หลังจากที่เครื่องชี้เศรษฐกิจทางด้านความเชื่อมั่นของภาคเอกชนได้ปรับตัวสะท้อนถึงผลกระทบของปัจจัยลบทางด้านการเมืองตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 1/2553 มาแล้วนั้น ณ ขณะนี้ รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนเมษายน 2553 ของธปท. เป็นหลักฐานเพิ่มเติมที่บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนมากขึ้นว่า เศรษฐกิจไทยย่างเข้าสู่ไตรมาสที่ 2/2553 พร้อมๆ กับความเสี่ยงทางการเมืองซึ่งมีนัยสำคัญมากขึ้นต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ผลกระทบจากความเสี่ยงทางการเมืองที่สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (การใช้จ่ายภายในประเทศ และภาคการท่องเที่ยว) อย่างมากในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 น่าที่จะทำให้เส้นทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยสะดุดลงในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของไตรมาส 2/2553 โดยคาดว่า เศรษฐกิจไทยอาจหดตัวลงมากกว่าร้อยละ 5.0 จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ, s.a.) หรือขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาอยู่ที่กรอบร้อยละ 2.5-3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) หลังจากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.0 (YoY) ในช่วงไตรมาส 1/2553 ซึ่งก็จะทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยขยายตัวอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 7.3-7.8 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 โดยปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะถัดไปก็คือ ประสิทธิผลของมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมือง และความพยายามในการเร่งพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชน รวมถึงการกระจายตัวของวิกฤตหนี้ภาครัฐของบางประเทศในยูโรโซน และภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่อาจส่งผลกระทบต่อเส้นทางการขยายตัวของการส่งออกของไทยในระยะถัดๆ ไป