เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจเผชิญปัจจัยเสี่ยงหากปัญหาหนี้สินในยุโรปยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น….กดดันการส่งออกของไทยไปตลาดสหรัฐฯ

แม้การส่งออกของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯและสหภาพยุโรปในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 ยังคงขยายตัวได้ร้อยละ 20.3 และร้อยละ 22.71 ตามลำดับ แต่แนวโน้มการส่งออกของไทยไปยังตลาดดังกล่าวในช่วงที่เหลือของปีอาจได้รับแรงกดดันให้ชะลอลงหากปัญหาวิกฤตหนี้ของยุโรปลุกลามและยืดเยื้อซึ่งจะฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจสหภาพยุโรปให้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้และกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลทางอ้อมไปสู่สหรัฐฯในภาวะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯเองในปีนี้ก็ยังมีการฟื้นตัวอย่างไม่มั่นคงนัก ทำให้การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯอาจได้รับผลกระทบในที่สุด คาดว่าผลกระทบครั้งนี้คงจะเห็นผลชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป โดยมีประเด็นสำคัญสรุปได้ ดังนี้

วิกฤตหนี้ภาครัฐบาลของยุโรปในครั้งนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจยุโรปยังคงเปราะบาง วิกฤตหนี้ของยุโรปเริ่มจากกรีซได้ลุกลามไปยังประเทศอื่นๆในยุโรปที่มีฐานะการคลังอ่อนแอหลายประเทศ เช่น ไอร์แลนด์ โปรตุเกส อิตาลี และสเปน นั่นถือเป็นปัจจัยท้าทายสำคัญต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้และอาจฉุดรั้งให้การเติบโตของเศรษฐกิจยุโรปโดยรวมเป็นไปได้อย่างเชื่องช้าเมื่อเทียบภูมิภาคอื่นๆ ในขณะที่ประเทศยุโรปที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อย่างเยอรมนี อังกฤษและฝรั่งเศส ที่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของประเทศยุโรปที่ประสบปัญหาหนี้สินทั้งหลาย อาจมีข้อจำกัดด้านความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป ซึ่งอาจทำให้ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศชะลอลงตามไปด้วยสะท้อนได้จากการส่งออกของสหรัฐฯไปสหภาพยุโรปที่เติบโตได้ไม่มากนักในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ทั้งนี้หนึ่งในสาเหตุสำคัญเนื่องมาจากค่าเงินเหรียญสหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้นในภาวะที่เงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้สินค้าส่งออกของสหรัฐฯมีความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่ลดลงในตลาดสหภาพยุโรป ซึ่งแนวโน้มเศรษฐกิจสหภาพยุโรปโดยรวมที่คาดว่าจะชะลอลงอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันการส่งออกและการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯในช่วงที่เหลือของปี

สหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 2 ของสหรัฐฯ(รองจากแคนนาดา) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.4 ของการส่งออกทั้งหมดของสหรัฐฯ โดยในไตรมาส 1/2553 สหรัฐฯส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมูลค่า 57.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.4(YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า72.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 7.9(YoY) แต่การขยายตัวด้านการส่งออกของสหรัฐฯอาจต้องเผชิญกับภาวะชะลอตัวมากขึ้น หากสถานการณ์เศรษฐกิจยุโรปยังถูกฉุดรั้งจากความยืดเยื้อของวิกฤตหนี้ยุโรปและกดดันให้ค่าเงินยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีกในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งค่าเงิน ยูโรในปัจจุบันอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ โดยแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ในระดับใกล้ 1.21 เหรียญสหรัฐฯ/ยูโร ซึ่งเป็นการอ่อนค่าลงไปประมาณร้อยละ 15.57 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2552 (1.4332 เหรียญสหรัฐฯ/ยูโร) ส่งผลให้การส่งออกสินค้าจากสหรัฐฯไปยังสหภาพยุโรปได้รับผลกระทบให้ราคาสินค้านำเข้าปรับตัวสูงขึ้น

สถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหภาพยุโรปถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐที่อาจทำให้เกิดความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนรวมทั้งกดดันให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐฯมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องในภาวะที่เงินยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ซึ่งหากปัญหาหนี้ในยุโรปยังมีความเปราะบางและกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ในกรณีนี้คาดว่าการส่งออกของสหรัฐฯไปยังสหภาพยุโรปอาจได้รับผลกระทบและจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯอาจเติบโตชะลอลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ ลดลงจากไตรมาส 1/2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.2(Annual rate) ถือเป็นปัจจัยลบที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจสหรัฐฯในปัจจุบันที่ยังมีความเปราะบางอยู่แล้วจากปัญหาการว่างงานที่อยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 9.9 ในเดือนเมษายน ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ยังฟื้นตัวอย่างไม่มั่นคงนัก ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ท้าทายการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และอาจส่งผลลบต่อตลาดแรงงานโดยทางการสหรัฐฯคาดว่าอัตราการว่างงานในปี 2553 จะยังคงอยู่ที่ร้อยละ 9.1-9.5

มูลค่าการส่งออกของสหรัฐฯที่ป้อนให้แก่ตลาดสหภาพยุโรปเป็นสินค้าในภาคการผลิตของสหรัฐฯกว่าร้อยละ 25 สร้างการจ้างงานในสหรัฐฯสูงถึง 11.6 ล้านคน หากการส่งออกของสหรัฐฯไปสหภาพยุโรปชะลอลงอาจกดดันภาวะการจ้างงานในประเทศให้ฟื้นตัวได้ช้าลง ประกอบกับแนวโน้มการถอนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯที่คาดอว่าจะอยู่ในช่วงปลายปี อาจกดดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้รวมถึงเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(FED)คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯในปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 3.2-3.7 อย่างไรก็ตาม ประเทศในยุโรปต่างตระหนักถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปโดยรวมหากปัญหาหนี้สินยังคงยืดเยื้อ โดยหลายประเทศต่างมีนโยบายลดการขาดดุลงบประมาณเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดดุลคลังต่อ GDP ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาด้านเสถียรภาพการคลังไปได้บ้าง ขณะที่นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหภาพยุโรปยังคงเติบโตได้เป็นบวกในปีนี้ แม้ว่าจะไม่สูงนักโดย Concensus Forecast เดือนมิถุนายน 2553 คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศในยุโรปจะเติบโตร้อยละ 1.1 ในปีนี้ ซึ่งคาดว่าผลกระทบของวิกฤตหนี้สินในยุโรปที่จะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและต่อเศรษฐกิจโลกคงต้องรอความชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

สรุปและผลกระทบต่อไทย

วิกฤตหนี้ในยุโรปที่เริ่มจากกรีซและอาจขยายวงกว้างไปยังหลายประเทศในยุโรปที่ประสบปัญหาหนี้สาธารณะและการขาดดุลการคลังต่อ GDP ในระดับสูง แม้ว่ามีกองทุนของสหภาพยุโรปเพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้ภาครัฐบาลที่เกิดขึ้นแต่จากความอ่อนแอในภาคการเงินและการธนาคารในยุโรปส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์รวมทั้งกดดันค่าเงินยูโรให้อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง และอาจกระทบต่อเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปโดยรวมเติบโตได้อย่างล่าช้าออกไปอีก ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าของสหภาพยุโรปชะลอลงอาจส่งผลกระทบหลายด้านกับประเทศคู่ค้าของสหภาพยุโรปโดยเฉพาะคู่ค้าที่สำคัญอย่างสหรัฐฯ รวมทั้งส่งผลต่อภาคการค้าของไทยไปยังสหภาพยุโรปและสหรัฐซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยอีกด้วย

การส่งออกของไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 32.4 ในขณะที่การส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยขยายตัวร้อยละ 22.7(YoY) และร้อยละ 20.3(YoY) ตามลำดับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การส่งออกสินค้าของไทยไปสหรัฐฯเพื่อใช้ผลิตส่งออกต่อไปยังสหภาพยุโรปน่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เนื่องจากสินค้าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้โอกาสที่ผลกระทบของวิกฤตหนี้ในยุโรปต่อการส่งออกของไทยผ่านสหรัฐฯจึงค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตาม หากปัญหาหนี้สินในยุโรปขยายวงกว้างมากขึ้นซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศยุโรปที่มีขนาดใหญ่และมีบทบาทสำคัญด้านการค้าอย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ ก็อาจทำให้การส่งออกของไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญของสหภาพยุโรป แต่อย่างไรก็ตามความรุนแรงของผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยคงต้องรอดูความชัดเจนของปัญหาหนี้ในยุโรปขณะนี้ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนหลายประเทศ โดยล่าสุดธนาคารกลางสเปนได้เข้าเทคโอเวอร์ธนาคาร Cajasur ซึ่งเป็นธนาคารออมทรัพย์แห่งหนึ่งของสเปน หลังจากการควบรวมกิจการระหว่างธนาคาร Cajasur และธนาคารรายอื่นๆไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งคาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปจากวิกฤตหนี้สินที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าคงเห็นชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

หากวิกฤตหนี้ในยุโรปยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยไปยังสหภาพยุโรปและสหรัฐฯในช่วงครึ่งหลังของปี โดยสินค้าส่งออกของไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ได้แก่ คอมพิวเตอร์/ส่วนประกอบ อัญมณี/เครื่องประดับ รถยนต์/ส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความต้องการในทั้งตลาดสหรัฐฯและสหภาพยุโรป มีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯและสหภาพยุโรปถึงร้อยละ 62 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังสหรัฐฯและสหภาพยุโรป นอกจากนี้การส่งออกของไทยยังมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนจากการที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐฯและเทียบกับยูโรที่มีทิศทางแข็งค่าในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งการค้าในตลาดยุโรปไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบด้านค่าเงินมากนักเนื่องจากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับประเทศอื่นในเอเชีย แต่สำหรับในตลาดสหรัฐฯแม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนของไทยจะค่อนข้างมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับสกุลเงินประเทศอื่นที่ค่อนข้างผันผวน แต่อัตราการแข็งค่าของค่าเงินบาทไทยเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐฯถือว่าสูงกว่าเมื่อเทียบกับเงินรูเปียะห์ของอินโดนีเซีย ดอลลาร์ของสิงคโปร์ ในขณะที่เงินวอนของเกาหลีใต้ค่อนข้างอ่อนค่า ทำให้ประเด็นอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่ายังเป็นปัจจัยท้าทายต่อการส่งออกไปสหรัฐฯในช่วงที่เหลือของปีนี้

กล่าวโดยสรุปได้ว่าปัญหาหนี้สินในยุโรปที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯถือเป็นปัจจัยท้าทายต่อภาคส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ดังนั้นการเร่งขยายตลาดการค้าไปยังตลาดใหม่นอกเหนือจากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ โดยเฉพาะตลาดใหม่ในเอเชียที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วและไทยมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี(FTA) ซึ่งน่าจะช่วยขยายโอกาสทางการส่งออกสินค้าของไทย ทางการไทยจึงควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ภาคธุรกิจใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA หลายกรอบให้สูงขึ้น เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการขยายตัวของการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยความตกลง FTA ที่มีความคืบหน้าสำคัญในปีนี้ ได้แก่ ความตกลง FTA ของอาเซียน (AFTA) และ FTA อาเซียน-จีน ที่ภาษีสินค้าปกติ(Normal Track) ลดเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 ส่วนความตกลงฯ อีกหลายฉบับเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีนี้ ได้แก่ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ และ FTA อาเซียน-อินเดียที่เริ่มมีผลในเดือนมกราคม 2553 และ FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ ที่เริ่มมีผลในเดือนมีนาคม 2553 เป็นต้น